รายงานประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2554 และ 2555

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday December 29, 2011 09:46 —กระทรวงการคลัง

“เศรษฐกิจไทยปี 2554 มีแนวโน้มขยายตัวชะลอลงมาก เนื่องจากได้รับผลกระทบจากวิกฤติอุทกภัย แต่คาดว่าจะฟื้นตัวขึ้นในปี 2555”

นายสมชัย สัจจพงษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง แถลงข่าวประมาณการเศรษฐกิจไทย ณ เดือนธันวาคม 2554 ว่า “เศรษฐกิจไทยในปี 2554 คาดว่าจะขยายตัวชะลอลงมาอยู่ที่ร้อยละ 1.1 เนื่องจากวิกฤติอุทกภัยในช่วงปลายปีได้ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อการผลิตในภาคอุตสาหกรรมและเกษตรกรรมให้หดตัวลง และส่งผลกระทบต่อเนื่องให้ผู้ผลิตสินค้าและบริการจำนวนมากประสบปัญหาขาดแคลนชิ้นส่วนในการผลิต โดยการบริโภคภาคเอกชนคาดว่าจะชะลอลงจากการที่เหตุการณ์อุทกภัยได้ส่งผลให้การจับจ่ายใช้สอยของประชาชนในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบชะลอตัวลง โดยเฉพาะในหมวดอาหาร เครื่องดื่ม และโรงแรมภัตตาคาร และยังส่งผลให้รายได้เกษตรกรลดลงตามผลผลิตทางการเกษตรที่เสียหาย ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนคาดว่าจะชะลอลงตามปัญหาการหยุดชะงักของการผลิตสินค้าอุตสาหกรรม โดยเฉพาะบริเวณนิคมอุตสาหกรรมในแถบภาคกลางที่ได้รับผลกระทบอย่างมากจากเหตุการณ์อุทกภัย สำหรับปริมาณการส่งออกสินค้าและบริการคาดว่าจะขยายตัวชะลอลงเช่นกัน เนื่องจากเหตุการณ์อุทกภัยก่อให้เกิดอุปสรรคต่อการผลิตสินค้าเพื่อส่งออกไปยังตลาดต่างประเทศ ประกอบกับปัญหาความไม่แน่นอนของการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกจากปัญหาภาคอสังหาริมทรัพย์และการจ้างงานในสหรัฐฯ และปัญหาหนี้สาธารณะในกลุ่มประเทศยุโรป ในด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจภายในประเทศ คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2554 จะอยู่ที่ร้อยละ 3.9 เร่งตัวขึ้นจากทั้งต้นทุนในหมวดสินค้าเกษตรจำพวกเนื้อสัตว์ ผัก และผลไม้ ที่ได้รับแรงกดดันจากสภาพภูมิอากาศที่ไม่เอื้ออำนวยต่อการเจริญเติบโต และต้นทุนในหมวดพลังงานที่เร่งขึ้นตามทิศทางราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกเป็นสำคัญ

สำหรับเศรษฐกิจไทยในปี 2555 สำนักงานเศรษฐกิจการคลังคาดว่า เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวขึ้น โดยคาดว่าจะกลับมาขยายตัวในอัตราเร่งที่ร้อยละ 5.0 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 4.5 — 5.5) โดยมีแรงขับเคลื่อนหลักจากอุปสงค์ภายในประเทศที่คาดว่าจะยังคงขยายตัวเร่งขึ้น ตามความจำเป็นในการเร่งฟื้นฟูอาคารบ้านเรือนและเครื่องมือเครื่องจักรในภาคอุตสาหกรรม ภายหลังจากวิกฤติอุทกภัยคลี่คลายลง ประกอบกับนโยบายของภาครัฐในการสนับสนุนการใช้จ่าย เช่น มาตรการปรับเพิ่มรายได้แรงงานรายวันและเงินเดือนข้าราชการ และโครงการจำนำข้าวเปลือก ขณะที่อุปสงค์จากต่างประเทศคาดว่าจะชะลอลงเล็กน้อย ตามการขยายตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าหลักที่มีแนวโน้มชะลอลง ในด้านเสถียรภาพภายในประเทศ คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2555 จะอยู่ที่ร้อยละ 3.5 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 3.0 — 4.0) ตามอุปสงค์น้ำมันในตลาดโลกที่คาดว่าจะชะลอลง”

ตารางสรุปสมมติฐานและผลการประมาณการเศรษฐกิจปี 2554 และ 2555 (ณ เดือนธันวาคม 2554)

เอกสารแนบ

รายงานประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2554 และ 2555

1. เศรษฐกิจไทยในปี 2554

1.1 ด้านการขยายตัวทางเศรษฐกิจ

เศรษฐกิจไทยในปี 2554 คาดว่าจะขยายตัวในอัตราร้อยละ 1.1 ซึ่งเป็นการขยายตัวชะลอลงจากปีก่อนหน้า เนื่องจากปัญหาวิกฤติมหาอุทกภัยในช่วงปลายปีที่ได้ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อการผลิตในภาคอุตสาหกรรมและเกษตรกรรมให้หดตัวลง และส่งผลกระทบต่อเนื่องให้ผู้ผลิตสินค้าและบริการจำนวนมากประสบปัญหาขาดแคลนชิ้นส่วนในการผลิต โดยการบริโภคภาคเอกชนคาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 2.3 ชะลอลงจากปีก่อนหน้า เนื่องจากเหตุการณ์อุทกภัยได้ส่งผลให้การจับจ่ายใช้สอยของประชาชนในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบชะลอตัวลง โดยเฉพาะในหมวดอาหาร เครื่องดื่ม และโรงแรมภัตตาคาร และยังส่งผลให้รายได้เกษตรกรลดลงตามผลผลิตทางการเกษตรที่เสียหาย นอกจากนี้ ระดับราคาสินค้าที่ปรับตัวสูงขึ้นอันเนื่องมาจากเกิดภาวะขาดแคลนสินค้าในช่วงอุทกภัยยังส่งผลให้ภาระค่าครองชีพของประชาชนปรับตัวเพิ่มขึ้น และมีส่วนทำให้การบริโภคภาคเอกชนชะลอลง ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนคาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 8.4 ชะลอลงตามปัญหาการหยุดชะงักของการผลิตสินค้าอุตสาหกรรม โดยเฉพาะบริเวณนิคมอุตสาหกรรมในแถบภาคกลางที่ได้รับผลกระทบอย่างมากจากปัญหาอุทกภัย โดยคาดว่าการลงทุนภาคเอกชนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักรจะลดลงมากในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี สำหรับปริมาณการส่งออกสินค้าและบริการมีแนวโน้มขยายตัวชะลอลงเช่นกัน โดยคาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 9.3 อันมีสาเหตุสำคัญมาจากปัญหาอุทกภัยที่เกิดขึ้นบริเวณนิคมอุตสาหกรรมในภาคกลางซึ่งเป็นฐานการผลิตสินค้าเพื่อส่งออกในสัดส่วนสูง ได้ก่อให้เกิดอุปสรรคต่อการผลิตสินค้าเพื่อส่งออกไปยังตลาดต่างประเทศในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี ประกอบกับความไม่แน่นอนของการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกจากปัญหาภาคอสังหาริมทรัพย์และการจ้างงานในสหรัฐฯ และปัญหาหนี้สาธารณะในกลุ่มประเทศยุโรป ที่ยังคงเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญต่อแนวโน้มอุปสงค์โลกให้ชะลอตัวลงมากกว่าที่คาด และส่งผลกระทบให้ภาคการส่งออกสินค้าและบริการขยายตัวในอัตราชะลอลงจากปีก่อน สำหรับการใช้จ่ายภาครัฐในปี 2554 คาดว่าการบริโภคภาครัฐจะขยายตัวร้อยละ 0.4 ชะลอลงจากปีก่อนหน้า เนื่องจากความล่าช้าในการจัดทำงบประมาณประจำปี 2555 ที่ส่งผลให้การเบิกจ่ายในช่วงไตรมาสที่ 4 ของปีนี้เป็นไปอย่างล่าช้า ขณะที่การลงทุนภาครัฐคาดว่าจะหดตัวร้อยละ -6.6 โดยมีสาเหตุหลักจากการที่โครงการลงทุนภายใต้แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 เริ่มเบิกจ่ายลดลงมากในไตรมาสที่ 3 ของปี 2554 ทำให้ในช่วง 3 ไตรมาสแรกของปีการลงทุนภาครัฐหดตัวร้อยละ -7.8

1.2 ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ

เสถียรภาพเศรษฐกิจภายในประเทศ ในด้านอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2554 คาดว่าจะเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 3.9 ต่อปี เร่งตัวขึ้นจากทั้งต้นทุนในหมวดสินค้าเกษตรจำพวกเนื้อสัตว์ ผัก และผลไม้ ที่ได้รับแรงกดดันจากสภาพภูมิอากาศที่ไม่เอื้ออำนวยต่อการเจริญเติบโต และต้นทุนในหมวดพลังงานที่เร่งขึ้นตามทิศทางราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกเป็นสำคัญ ส่วนอัตราการว่างงานคาดว่าจะยังคงอยู่ในระดับต่ำที่ร้อยละ 0.7 ของกำลังแรงงานรวม ในด้านเสถียรภาพภายนอกประเทศ คาดว่าดุลบัญชีเดินสะพัดจะเกินดุลลดลงมาอยู่ที่ 10.1 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็นร้อยละ 2.9 ของ GDP เนื่องจากดุลการค้าที่คาดว่าจะเกินดุลลดลงมาอยู่ที่ 26.3 พันล้านเหรียญสหรัฐ โดยคาดว่ามูลค่านำเข้าสินค้าในปี 2554 จะขยายตัวในระดับสูงที่ร้อยละ 23.3 ตามราคาสินค้านำเข้าในตลาดโลก ขณะที่มูลค่าส่งออกสินค้าในปี 2554 คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 16.4

2. เศรษฐกิจไทยในปี 2555

2.1 ด้านการขยายตัวทางเศรษฐกิจ

เศรษฐกิจไทยในปี 2555 คาดว่าจะกลับมาขยายตัวในอัตราเร่งที่ร้อยละ 5.0 โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 4.5 — 5.5 ซึ่งมีแรงขับเคลื่อนหลักจากอุปสงค์ภายในประเทศที่คาดว่าจะยังคงขยายตัวเร่งขึ้น โดยการบริโภคภาคเอกชนคาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 3.8 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 3.3 — 4.3) ตามการจ้างงานที่คาดว่าจะยังคงอยู่ในเกณฑ์ดี ประกอบกับนโยบายของภาครัฐในการสนับสนุนการใช้จ่าย เช่น มาตรการปรับเพิ่มรายได้แรงงานรายวันและเงินเดือนข้าราชการ และโครงการจำนำข้าวเปลือก ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนคาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 10.3 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 9.3 — 11.3) โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากความจำเป็นในการเร่งฟื้นฟูอาคารบ้านเรือนและเครื่องมือเครื่องจักรในภาคอุตสาหกรรมภายหลังจากวิกฤติมหาอุทกภัยคลี่คลายลง อย่างไรก็ตาม การฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าหลักที่มีแนวโน้มว่าจะเป็นไปในอัตราที่ชะลอลง ภายหลังจากเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศยุโรปเริ่มมีสัญญาณอ่อนแอจากปัญหาหนี้สาธารณะที่ยืดเยื้อ คาดว่าจะส่งผลให้การส่งออกสินค้าและบริการในปี 2555 ขยายตัวชะลอลงจากปีก่อนหน้ามาอยู่ที่ร้อยละ 8.9 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 7.9 — 9.9) ส่วนปริมาณการนำเข้าสินค้าและบริการคาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 9.6 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 8.6 — 10.6) ตามความต้องการนำเข้าชิ้นส่วนและเครื่องมือเครื่องจักรเข้ามาทดแทนส่วนที่เสียหายจากเหตุการณ์อุทกภัย สำหรับการใช้จ่ายภาครัฐในปี 2555 คาดว่าการบริโภคภาครัฐจะขยายตัวร้อยละ 4.5 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 4.0 — 5.0) ตามการเบิกจ่ายงบประมาณประจำปีของรัฐบาลในปี 2555 ที่คาดว่าจะเป็นไปอย่างต่อเนื่อง ขณะที่การลงทุนภาครัฐคาดว่าจะขยายตัวเร่งขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 8.8 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 7.8 — 9.8)

2.2 ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ

เสถียรภาพเศรษฐกิจภายในประเทศ ในด้านอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2555 คาดว่าจะอยู่ที่ร้อยละ 3.5 ต่อปี (ช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 3.0 — 4.0) ชะลอลงจากปี 2554 อันเป็นผลจากความเปราะบางของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าของไทยโดยเฉพาะเศรษฐกิจกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว ที่คาดว่าจะส่งผลให้อุปสงค์น้ำมันในตลาดโลกชะลอลง ประกอบกับแนวโน้มการชะลอตัวของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลก ส่วนอัตราการว่างงานคาดว่าจะยังคงอยู่ในระดับต่ำที่ร้อยละ 0.7 ของกำลังแรงงานรวม (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 0.6 — 0.8 ของกำลังแรงงานรวม) ในด้านเสถียรภาพภายนอกประเทศ คาดว่าดุลบัญชีเดินสะพัดจะขาดดุลที่ 2.0 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็นร้อยละ 0.5 ของ GDP (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ -1.0 ถึง 0.0 ของ GDP) เนื่องจากดุลการค้าที่คาดว่าจะเกินดุลลดลงมาอยู่ที่ 4.9 พันล้านเหรียญสหรัฐ (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ 3.9 — 5.9 พันล้านเหรียญสหรัฐ) ตามมูลค่าสินค้านำเข้าที่คาดว่าจะขยายตัวในอัตราเร่งกว่ามูลค่าสินค้าส่งออก โดยคาดว่ามูลค่านำเข้าสินค้าในปี 2554 จะขยายตัวร้อยละ 26.7 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 25.7 — 27.7) ขณะที่มูลค่าส่งออกสินค้าคาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 14.1 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 13.1 — 15.1)

--ข่าวกระทรวงการคลัง กลุ่มการประชาสัมพันธ์ สนง.ปลัดกระทรวงการคลัง ฉบับที่ 159/2554 28 ธันวาคม 54--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ