รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 6 มกราคม 2555

ข่าวเศรษฐกิจ Friday January 6, 2012 12:21 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 6 มกราคม 2555

Summary:

1. ธปท. เผยแผนออกพันธบัตรปี 55

2. ดัชนีควาเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือน ธ.ค.54 อยู่ที่ระดับ 21.4 เพิ่มขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 4 เดือน

3. ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรมยูโรโซนเดือน ธ.ค.54 อยู่ที่ระดับ 48.3

Highlight:
1. ธปท. เผยแผนออกพันธบัตรปี 55
  • ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) รายงานแผนการออกพันธบัตร ธปท. ปี 55 เพื่อใช้เป็นเครื่องมือหนึ่งในการดำเนินนโยบายการเงินของธปท. ในการดูแลสภาพคล่องในตลาดการเงินให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมอีกทั้งเป็นส่วนหนึ่งในการร่วมพัฒนาตลาดตราสารหนี้ของไทยให้มีสภาพคล่องและประสิทธิภาพยิ่งขึ้นโดยในปีนี้ธปท.จะกระจายการออกพันธบัตรระยะสั้นถึงปานกลางอย่างสม่ำเสมอเช่นเคย โดยมีการเปลี่ยนแปลงคือ 1) กำหนดวันประมูลใหม่ เพื่อหลีกเลี่ยงมิให้วันครบกำหนดไถ่ถอนตรงกับวันเสาร์หรือวันอาทิตย์ 2) ลดจำนวนรุ่นของพันธบัตรลง แต่เพิ่มขนาดของวงเงินรวมต่อรุ่น โดยให้มีวงเงินรวมต่อรุ่นประมาณ 8 หมื่นล้านบาทขึ้นไป เพื่อสร้างสภาพคล่องซื้อขายในตลาดรองพันธบัตรให้สูงขึ้น
  • สศค. วิเคราะห์ว่า การปรับเปลี่ยนแผนการออกพันธบัตรของธปท. ในครั้งนี้ จะเป็นการปรับปรุงตลาดตราสารหนี้ไทยไปอีกก้าวหนึ่ง โดยการกำหนดวันประมูลใหม่เพื่อหลีกเลี่ยงมิให้วันครบกำหนดไถ่ถอนตรงกับวันเสาร์หรือวันอาทิตย์ จะทำให้ผลตอบแทนของพันธบัตร โดยเฉพาะพันธบัตรระยะสั้นเมื่อคิดจากอัตราร้อยละต่อปี (% per annum) ไม่ถูกบิดเบือนจากจำนวนวันที่อาจคลาดเคลื่อน อีกทั้งการเพิ่มขนาดของวงเงินรวมต่อรุ่น จะทำให้การซื้อขายพันธบัตรในตลาดรองมีสภาพคล่องที่สูงขึ้น อีกทั้งทำให้การบริหารสภาพคล่องส่วนเกินที่สามารถปล่อยเข้าสู่ระบบสามารถเป็นไปได้โดยสะดวกขึ้น โดยปัจจุบัน พันธบัตร ธปท.เป็นพันธบัตรที่มีมูลค่าซื้อขายในตลาดสูงและช่วยทำให้ตลาดตราสารหนี้มีสภาพคล่องสูงขึ้น โดยทั้งปี 54 พันธบัตรธปท.มีมูลค่าซื้อขายสูงถึง 15.8 ล้านล้านบาท สูงกว่าพันธบัตรรัฐบาลที่มีมูลค่าซื้อขาย 1.6 ล้านล้านบาท ในขณะที่ตราสารหนี้ที่ออกโดยภาคเอกชน มีมูลค่าซื้อขายเพียง 0.2 ล้านล้านบาทเท่านั้น
2. ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือน ธ.ค. 54 อยู่ที่ระดับ 21.4 เพิ่มขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 4 เดือน
  • กระทรวงพาณิชย์เปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือน ธ.ค. 54 อยู่ที่ระดับ 21.4 ปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 4 เดือน โดยเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 18.5 ภายหลังจากเหตุการณ์อุทกภัยคลี่คลายลง และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล ทำให้ประชาชนเริ่มใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภครวมถึงเพื่อฟื้นฟูบ้านจากเหตุการณ์อุทกภัยดังกล่าว อย่างไรก็ตาม ประชาชนส่วนใหญ่ยังไม่มีแนวโน้มซื้อรถยนต์ในระยะ 6 เดือนข้างหน้า และยังมีความกังวลในด้านราคาสินค้า ราคาน้ำมัน และค่าครองชีพที่อาจปรับตัวเพิ่มขึ้น
  • สศค. วิเคราะห์ว่า แม้ว่าดัชนีความเชื่อมั่นในเดือน ธ.ค. 54 จะปรับตัวเพิ่มขึ้น แต่ระดับดัชนีดังกล่าวยังอยู่ในระดับต่ำกว่า 50 ซึ่งถือว่าประชาชนไม่มีความมั่นใจในการใช้จ่ายสินค้าและบริการแม้ว่าความเชื่อมั่นจะเริ่มฟื้นตัวแล้วก็ตาม ในระยะต่อไป ประชาชนจำเป็นต้องเฝ้าติดตามสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ อันเนื่องมาจากมีปัจจับสนับสนุนและปัจจัยท้าทายหลายประการที่มีอิทธิผลต่อดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค โดยปัจจัยสนับสนุนหลัก คือ อัตราเงินเฟ้อเดือน ธ.ค. 54 ซึ่งชะลอลงจากเดือนก่อนหน้ามาอยู่ที่ร้อยละ 3.58 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ขณะที่ปัจจัยท้าทายที่สำคัญซึ่งชะลอความเชื่อมั่นของผู้บริโภค ได้แก่ ราคาน้ำมัน Nymex ณ วันที่ 4 ม.ค. 55 ปรับตัวเพิ่มขึ้น ร้อยละ 2.1 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้ามาอยู่ที่ 103.11 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล
3. ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรมยูโรโซนเดือน ธ.ค. 54 อยู่ที่ระดับ 48.3
  • ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรมของยูโรโซนเดือน ธ.ค. 54 อยู่ที่ระดับสูงกว่าคาดการณ์ที่ 48.3 เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 47.0 สะท้อนการหดตัวในอัตราที่ชะลอลงของภาคอุตสาหกรรม โดยส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากที่ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อดังกล่าวของประเทศเยอรมนีซึ่งปรับตัวเพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบ 4 เดือนมาอยู่ที่ระดับ 51.3 จากระดับ 49.4 ในเดือนก่อนหน้า
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ดัชนีที่เพิ่มขึ้นดังกล่าวยังคงอยู่ในระดับที่ต่ำกว่า 50 ซึ่งสะท้อนการหดตัวของภาคอุตสาหกรรม และหากวิเคราะห์ภาพรวมในไตรมาสที่ 4 พบว่าเศรษฐกิจยูโรโซนมีสัญญาณการหดตัวที่ชัดเจน สะท้อนจากอัตราการว่างงานในเดือน ต.ค. 54 ที่ทรงตัวอยู่ในระดับสูงที่ร้อยละ 10.3 ของกำลังแรงงานรวม โดยส่วนหนึ่งเป็นผลจากอัตราการว่างงานที่สูงขึ้นในประเทศสเปนและกรีซ บ่งชี้ผลกระทบที่ชัดเจนจากปัญหาหนี้สาธารณะในกลุ่มประเทศ PIIGS ทั้งนี้แม้ว่าประเทศเยอรมนีและฝรั่งเศสจะยังคงมีสถานะทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง อย่างไรก็ตามเศรษฐกิจของประเทศอื่นๆ ที่เริ่มเข้าสู่ภาวะถดถอย ได้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของยูโรโซนและหากสหภาพยุโรปยังไม่มีมาตรการแก้ไขวิกฤตหนี้สาธารณะในกลุ่มประเทศ PIIGS ที่ชัดเจนและทันการณ์ อาจส่งผลให้ปัญหาหนี้สาธารณะดังกล่าวลุกลาม และส่งผลกระทบที่รุนแรงขึ้นต่อเศรษฐกิจโดยรวมของยูโรโซนรวมถึงประเทคู่ค้าสำคัญอื่นๆ ของยูโรโซนรวมถึงประเทศไทยทั้งนี้ คาดว่าในปี 2555 เศรษฐกิจยูโรโซนจะขยายตัวที่ร้อยละ 1.5 (ช่วงคาดการณ์ร้อยละ 1.0-2.0) คาดการณ์ ณ เดือน ธ.ค. 54

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group:

Fiscal Policy Office Tel. 02-273-9020 Ext.3665 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ