รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 17 มกราคม 2555

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday January 17, 2012 10:49 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 17 มกราคม 2555

Summary:

1. สมาคมส่งออกข้าวชี้รับจำนำข้าวฉุดส่งออกข้าวปี 55

2. ประธานสหพันธ์ขนส่งยอมแบกรับต้นทุนไม่ปรับราคาค่าขนส่ง หลังก๊าซเอ็นจีวีขึ้นราคา

3. ECB ประกาศซื้อพันธบัตรยูโรโซน 3.8 พันล้านยูโร หวังช่วยยูโรพ้นภาวะวิกฤตทางการเงิน

Highlight:
1. สมาคมส่งออกข้าวชี้รับจำนำข้าวฉุดส่งออกข้าวปี 55
  • นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย เปิดเผยแนวโน้มการส่งออกข้าวปี 55 ว่า ไทยจะส่งออกข้าวเหลือเพียง 7 ล้านตัน จาก 10.5 ล้านตันในปี 54 โดยมีปัจจัยทั้งในและนอกประเทศ เช่น ประเทศอินเดียที่เป็นคู่แข่งตลาดข้าวนึ่งและข้าวขาวได้กลับเข้าสู่ตลาดผู้ส่งออกอีกครั้ง ขณะที่เวียดนามเริ่มเข้ามาทำตลาดข้าวหอมมะลิ พัฒนาพันธุ์ข้าวหอมของตนให้มีคุณภาพเป็นที่ยอมรับของลูกค้า ประกอบกับการรับจำนำข้าวของรัฐบาลจะทำให้การส่งออกข้าวลดลง
  • สศค. วิเคราะห์ว่า การส่งออกข้าวของไทยในปี 55 คาดว่าจะมีแนวโน้มลดลงจากปี 54 โดยการส่งออกข้าวของไทยเริ่มหดตัวมาตั้งแต่เดือน ก.ย.54 และ ต.ค.54 ที่หดตัวร้อยะ -6.1 และ -4.7 ตามลำดับ เนื่องจากปัญหาน้ำท่วมและข้าวเหลื่อมปีซึ่งเป็นการหดตัวของผลผลิตข้าวนาปรังจากผลของการรณรงค์งดปลุกข้าวนาปรังรอบสอง และเริ่มหดตัวชัดเจนในเดือน พ.ย.54 และเป็นการหดตัวต่าสุดในรอบ 11 เดือนที่ร้อยละ -21.1 ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากมาตรการรับจำนำข้าวของภาครัฐที่เริ่มตั้งแต่เดือนตุลาคม 54 ส่งผลให้ราคาข้าวสารในประเทศและราคาข้าวส่งออกปรับตัวสูงขึ้น ทำให้ช่องว่างระหว่างราคาข้าวไทยและคู่แข่งมีมากขึ้น ประกอบกับประเทศคู่ค้าสำคัญอย่างอินเดียที่กลับมาส่งออกอีกครั้ง การส่งออกข้าวของไทย 11 เดือนแรกของปี 54 มีมูลค่าการส่งออก 6,118 ล้านตัน หรือคิดเป็นอัตราการขยายตัวร้อยละ 31.4
2. ประธานสหพันธ์ขนส่งยอมแบกรับต้นทุนไม่ปรับราคาค่าขนส่ง หลังก๊าซเอ็นจีวีขึ้นราคา
  • ประธานสหพันธ์ขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย กล่าวว่า หลังจากสัปดาห์ที่ผ่านมาผู้ประกอบการรถบรรทุกได้ออกมาคัดค้านการปรับราคาเอ็นจีวี จนท้ายที่สุดได้ข้อตกลงกับภาครัฐ ที่จะตั้งคณะกรรมการศึกษาต้นทุนก๊าซร่วมกัน โดยระหว่างนี้ราคาก๊าซเอ็นจีวีจะขยับเพิ่มขึ้นเดือนละ 50 สตางค์ตามนโยบายรัฐบาลต่อไป ทั้งนี้ ในส่วนของผู้ประกอบการรถบรรทุก ยืนยันว่าหากภายใน 4 เดือน คณะกรรมการร่วมได้ข้อสรุปที่ชัดเจน และมีการปรับราคาไม่เกิน 2 บาทต่อกิโลกรัม ก็ยอมรับได้และจะไม่ขยับราคาขนส่งในขณะนี้ เนื่องจากหากต้นทุนขยับขึ้นเพียง 2 บาท ผู้ประกอบการสามารถรองรับต้นทุนที่เพิ่มขึ้นได้
  • สศค. วิเคราะห์ว่า จำนวนรถยนต์ที่ใช้ก๊าซ NGV เป็นเชื้อเพลิงมีแนวโน้มสูงขึ้นต่อเนื่อง โดยคาดว่าในปี 2555 จะมีรถยนต์ที่ใช้ก๊าซ NGV 3.7 แสนคัน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 30.0 มีการบริโภคก๊าซ NGV เฉลี่ย 325 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ซึ่งเทียบกับจำนวนสถานีจำหน่ายก๊าซ NGV ที่มีอยู่เพียง 238 แห่ง อาจทำให้เกิดปัญหาการขาดแคลนก๊าซได้ หากไม่มีการขยายสถานีจำหน่ายรองรับเนื่องจากผู้ผลิตประสบภาวะขาดทุนจากการจำหน่าย อย่างไรก็ดีการปรับขึ้นราคาก๊าซ NGV ต้องพิจารณาต้นทุนการผลิตโดยละเอียด และเปรียบเทียบกับราคาขายในตลาดโลกเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภค ทั้งนี้ภาครัฐมีมาตรการบรรเทาผลกระทบ ได้แก่ โครงการบัตรเครดิตพลังงาน ที่ช่วยลดต้นทุนค่าเชื้อเพลิง เพื่อไม่ให้รายได้ของผู้ประกอบการลดลงจนส่งผลต่อการบริโภคภาคเอกชนโดยรวม
3. ECB ประกาศซื้อพันธบัตรยูโรโซน 3.8 พันล้านยูโร หวังช่วยยูโรพ้นภาวะวิกฤตทางการเงิน
  • ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ประกาศซื้อพันธบัตรของรัฐบาลยูโรโซน มูลค่า 3.8 พันล้านยูโร (4.85 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) ซึ่งบ่งชี้ว่าอีซีบีกำลังใช้เครื่องมือที่จะช่วยพยุงรัฐบาลของประเทศยูโรโซนที่ประสบปัญหาหนี้ ให้หลุดพ้นจากภาวะล่มสลายทางการเงิน นอกจากนี้ การดำเนินการดังกล่าวจะช่วยควบคุมต้นทุนการกู้ยืมของประเทศยูโรโซนที่กำลังประสบปัญหาหนี้ เช่นสเปนและอิตาลี หลังจากต้นทุนการกู้ยืมปรับตัวสูงขึ้นในช่วงก่อนหน้านี้ อันเนื่องมาจากความวิตกกังวลเกี่ยวกับการผิดนัดชำระหนี้ของประเทศยูโรโซน
  • สศค. วิเคราะห์ว่า หลังจากที่ S&P ปรับลดเครดิตเรตติ้งประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป 9 ประเทศ (จาก 17 ประเทศ) โดยเฉพาะ ฝรั่งเศส อิตาลี และ สเปน ซึ่งมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ติดอันดับ 2 ถึง 4 ในยุโรปนั้น ส่งผลให้ต้นทุนทางการเงินของสหภาพยุโรปมีแนวโน้มผันผวนในทิศทางขาขึ้น ดังนั้น การที่ ECB เข้าไปประกาศซื้อพันธบัตรอาจช่วยชะลอการเพิ่มขึ้นของต้นทุนทางการเงินดังกล่าว อย่างไรก็ดี มาตรการนี้อาจช่วยชะลอได้ไม่นาน เนื่องจาก S&P ยังมีแนวโน้มจะปรับลดเครดิตเรตติ้งของประเทศสมาชิกสภาพยุโรปเพิ่มเติม หากการแก้ไขปัญหาหนี้สาธารณะในยุโรปยังเป็นไปอย่างล่าช้า และจะเป็นการสร้างแรงกดดันเพิ่มเติมให้กับกองทุนรักษาเสถียรภาพการเงินยุโรป (EFSF) ว่าอาจจะถูกปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือลงไปด้วย และเป็นการส่งสัญญาณว่าทิศทางเศรษฐกิจของประเทศในสภาพยุโรปอาจมีแนวโน้มติดลบมากขึ้นหลังจากที่ สศค.คาดการณ์ไว้เดิม ณ ธ.ค. 54 ว่าจะหดตัวร้อยละ -0.8 ในปี 55

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group:

Fiscal Policy Office Tel. 02-273-9020 Ext.3665 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ