รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 18 มกราคม 2555

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday January 18, 2012 10:19 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 18 มกราคม 2555

Summary:

1. เลขาธิการอังค์ถัดแนะไทยเร่งฟื้นความเชื่อมั่น

2. “โทนี่ แบลร์" แนะ 5 แนวทางรับมือวิกฤติศก.โลก

3. GDP จีนขยายตัว 9.2% ในปี 54

Highlight:
1. เลขาธิการอังค์ถัดแนะไทยเร่งฟื้นความเชื่อมั่น
  • เลขาธิการของการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา (อังค์ถัด) เปิดเผยว่าสิ่งที่ไทยจำเป็นต้องเร่งดำเนินการอย่างเร่งด่วนคือ การสร้างความเชื่อมั่นแก่นักลงทุนภายหลังเหตุการณ์น้ำท่วมรวมทั้งยังเสนอแนะให้หน่วยงานราชการหันมาทำงานร่วมกับภาคเอกชนให้เป็นไปในทิศทางเดียวกันและสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับการลงทุน การเร่งสร้างอุตสาหกรรมความมั่นคงทางอาหาร ธุรกิจสีเขียว พลังงานทดแทน การท่องเที่ยว สิ่งแวดล้อม การยกระดับคุณภาพแรงงาน และการพัฒนาระบบการขนส่ง (โลจิสติกส์) ของประเทศ
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ผลกระทบของปัญหาวิกฤติอุทกภัยในไทยได้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยทั้งภาคการผลิตโดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรม การใช้จ่ายภายในประเทศ การส่งออกและความเชื่อมั่นของนักลงทุน ดังนั้น รัฐบาลจึงได้มีนโยบายในการบูรณะฟื้นฟูประเทศและโครงการการลงทุนระยะยาวทั้งประเทศของภาครัฐที่คาดว่าใช้เงินลงทุนถึง 2 ล้านล้านบาท ได้แก่ (1) ร่างพ.ร.ก. ปรับปรุงการบริหารหนี้เงินกู้ที่ช่วยเหลือกองทุนฟื้นฟู 1.14 ล้านล้านบาท (2) ร่าง พ.ร.ก. เงินกู้เพื่อการบูรณะและฟื้นฟูประเทศ 3.5 แสนล้านบาท (3) ร่างพ.ร.ก. จัดตั้งกองทุนประกันภัย 5 หมื่นล้านบาท (4) ร่าง พ.ร.ก. แก้ไข พ.ร.บ. ธนาคารแห่งประเทศไทยเพื่อปล่อยซอฟท์โลน 3 แสนล้านบาท และ (5) ร่างโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานภาคเหนือทั้งรถไฟฟ้าความเร็วสูง กรุงเทพฯ - เชียงใหม่ ระบบขนส่งสาธารณะรวมถึงระบบป้องกันน้ำท่วมภาคเหนือ รวม 128 โครงการ โดยมีเงินลงทุนเกือบ 4 แสนล้านบาททั้งนี้ เศรษฐกิจไทยในปี 55 การลงทุนของภาครัฐจะมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจทั้งในระยะสั้นและระยะยาว โดยเฉพาะการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของไทยที่จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในอนาคต และการสร้างความเชื่อมั่นแก่นักลงทุนเพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้ สศค. คาดว่า GDP ของไทยในปี 55 จะขยายตัวร้อยละ 5.0 โดยมีช่วงคาดการณ์ร้อยละ 4.5 - 5.5 (คาดการณ์ ณ เดือน ธ.ค.54)
2. “โทนี่ แบลร์"แนะ 5 แนวทางรับมือวิกฤติศก.โลก
  • นายโทนี่ แบลร์ อดีตนายกรัฐมนตรีอังกฤษ ปาถกฐาพิเศษในหัวข้อ “โอกาสและความท้าทายในโลกยุคโลกาภิวัฒน์” ในงาน CEO Forum ว่า ประเทศไทยเป็นประเทศที่น่าดึงดูดใจสำรับการทำธุรกิจ ทั้งนี้ยังกล่าวถึงแนวทางรับมือวิกฤต คือ 1) ภาคธุรกิจต้องได้รับระบบการกำกับดูแลอย่างเหมาะสม สร้างความมั่นใจให้คนนอก หรือชาวต่างชาติ 2) ในส่วนของการบริการสาธารณะนัน้ รัฐบาลต้องมีความรับผิดชอบต่อสังคมให้มากขึ้น ต้องมีความเข้าใจความเป็นธรรมทางธุรกิจ 3) รัฐบาลทั่วโลกต้องหันมาเน้นพัฒนาทุนมนุษย์ให้มากขึ้นกำหนดอัตราค่าจ้างแรงงานที่เหมาะสม ให้การศึกษามุมกว้างและครอบคลุม 4) มีความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันในสังคมทั่วโลก แม้แต่ละประเทศจะมีความต่างทางวัฒนธธรรมและศาสนา แต่ต้องมีการกำหนดกรอบของการอยู่ร่วมกันอย่างชัดเจน และ 5) ประชาคมโลกต้องเปิดใจให้กว้าง โดยเฉพาะต้องเปิดกว้างด้านการค้าและการลงทุน
  • สศค. วิเคราะห์ว่า เศรษฐกิจไทยในปี 54 ได้รับผลกระทบจากทั้งปัจจัยภายในและภายนอกโดยเฉพาะปัจจัยภายนอกเรื่องเศรษฐกิจยุโรปจากปัญหาวิกฤติหนี้สาธารณะที่เรื้อรังมานานอีกทั้งได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติสึนามิและแผ่นดินไหวในญี่ปุ่นในช่วงต้นปี ซึ่งส่งผลต่อห่วงโซ่อุปทาน สำหรับปัจจัยภายใน การวิกฤติอุทกภัยในช่วงปลายปี ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวในระดับต่ำกว่าที่คาดการณ์ อย่างไรก็ตาม รัฐบาลได้เร่งฟื้นฟูบูรณะหลังอุทกภัยประกอบกับมีนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจอันจะเป็นปัจจัยสนับสนุนให้เศรษฐกิจไทยในปี 2555 กลับมาขยายตัวได้ดี เพราะไทยเป็นแหล่งการลงทุนที่เปิดกว้างทางธุรกิจและเชื่อมั่นว่านักลงทุนชาวต่างชาติจะหลั่งไหลเข้ามาลงทุนในไทย ทั้งนี้ สศค. คาดว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2554 และ 2555 จะขยายตัวร้อยละ 1.1 และ 5.0 ตามลำดับ (คาดการณ์ ณ ธ.ค. 54)
3. GDP จีนขยายตัว 9.2% ในปี 54
  • สำนักงานสถิติแห่งชาติของจีน (NBS) รายงานว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของจีนขยายตัว 9.2% ในปี 54 ส่วน GDP ไตรมาส 4 ปี 54 ขยายตัว 8.9% เมื่อเทียบเป็นรายปี GDP ไตรมาส 4 ขยายตัวในอัตราที่ช้าที่สุดในรอบ 10 ไตรมาส ส่วน GDP ตลอดปี 54 นั้น แม้ขยายตัวได้น้อยกว่าปี 53 ที่ระดับ 10.3% แต่ก็ยังสูงกว่าเป้าหมายที่รัฐบาลกำหนดไว้ที่ 8%
  • สศค. วิเคราะห์ว่า เศรษฐกิจจีนในปี 54 ที่ขยายตัวร้อยละ 9.2 ต่อปี ซึ่งตรงตามเป้าที่ สศค.คาดการณ์ไว้ที่ร้อยละ 9.2 ต่อปี (คาดการณ์ ณ เดือน ธ.ค. 54) ขณะที่อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 4 ที่ขยายตัวร้อยละ 8.9 ขยายตัวชะลอลงจากไตรมาสก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 9.1 ทั้งนี้ เศรษฐกิจจีนในปี 54 ที่ขยายตัวชะลอลง ปัจจัยหลักจากการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกที่ขยายตัวอย่างเปราะบาง ปัญหาวิกฤตหนี้สาธารณะในกลุ่มประเทศสหภาพยุโรป

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group:

Fiscal Policy Office Tel. 02-273-9020 Ext.3665 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ