เอกสารแนบ: รายงานภาวะเศรษฐกิจการคลังประจำเดือนมกราคม 2555

ข่าวเศรษฐกิจ Monday February 27, 2012 11:52 —กระทรวงการคลัง

เอกสารแนบ

"เศรษฐกิจไทยในเดือนมกราคม 2555 มีสัญญาณการฟื้นตัวจากวิกฤตอุทกภัยต่อเนื่อง สะท้อนจากดัชนีชี้วัดการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนที่ขยายตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้า ในขณะที่ข้อมูลเบื้องต้นของการส่งออกบ่งชี้ทิศทางการขยายตัวเป็นบวกเช่นกัน"

1. การบริโภคภาคเอกชนในเดือนมกราคม 2555 มีสัญญาณการฟื้นตัวจากวิกฤตอุทกภัย สะท้อนจากภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ระดับราคาคงที่ ในเดือนมกราคม 2555 มีมูลค่า 48.1 พันล้านบาท หรือขยายตัวร้อยละ 6.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน นอกจากนี้ การบริโภคสินค้าคงทนสะท้อนได้จากปริมาณจำหน่ายรถยนต์นั่งในเดือนมกราคม 2555 หดตัวลดลงที่ร้อยละ -9.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -28.1 ขณะที่ถือเป็นการปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้าหลังหักผลทางฤดูกาล (m-om SA) ขยายตัวที่ร้อยละ 44.1 ต่อเดือน สำหรับยอดจำหน่ายรถจักรยานยนต์ในเดือนมกราคม 2555 หดตัวลดลงที่ร้อยละ -7.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนที่หดตัวร้อยละ -21.7 และขยายตัวร้อยละ 15.6 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า หลังขจัดผลทางฤดูกาล (m-o-m SA) สะท้อนถึงการกลับเข้าสู่ภาวะปกติหลังจากสถานการณ์น้ำท่วมคลี่คลายลง นอกจากนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจโดยรวมในเดือนมกราคม 2555 อยู่ที่ระดับ 64.0 จากเดือนก่อนที่อยู่ที่ระดับ 63.1 ซึ่งเป็นการปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 โดยได้รับปัจจัยบวกจากความเชื่อมั่นที่ฟื้นตัวภายหลังสถานการณ์น้ำท่วมคลี่คลายลง ประกอบกับความคาดหวังของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ เช่น การปรับขึ้นเงินเดือนราชการในเดือนมกราคม 2555 รวมถึงมาตรการในการเยียวยาและฟื้นฟูผู้ประสบภัยหลังภาวะน้ำท่วม อย่างไรก็ตาม ผู้บริโภคยังมีความกังวลจากแนวโน้มเศรษฐกิจโลกชะลอตัว จากปัญหาหนี้สาธารณะในสหภาพยุโรป และราคาน้ำมันในประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้น

2. การลงทุนภาคเอกชนในเดือนมกราคม 2555 มีสัญญาณการฟื้นตัวเช่นกัน โดยเฉพาะการลงทุนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักร สะท้อนจากปริมาณจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ในเดือนมกราคม 2555 ขยายตัวร้อยละ 29.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขยายตัวเร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -46.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่เมื่อพิจารณาเปรียบเทียบกับเดือนหน้าหลังหักผลทางฤดูกาล (m-o-m SA) ออกพบว่า ขยายตัวร้อยละ 68.0 ต่อเดือน สำหรับเครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนในหมวดการก่อสร้าง วัดจากยอดจำหน่ายปูนซีเมนต์ภายในประเทศขยายตัวร้อยละ 7.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 6.3 โดยเป็นผลมาจากสถานการณ์ที่เข้าสู่ปกติภายหลังปัญหาอุทกภัยที่เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ และธุรกิจรับเหมาก่อสร้างเริ่มกลับมาก่อสร้างได้ปกติ อย่างไรก็ตาม ภาษีจากการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ในเดือนมกราคม 2555 หดตัวร้อยละ -15.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 10.7 ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากผู้บริโภคบางส่วนยังชะลอการเลือกซื้อที่อยู่อาศัยภายหลังสถานการณ์น้ำท่วมที่เกิดขึ้น

3. เครื่องชี้ภาวะเศรษฐกิจด้านการคลังในเดือนมกราคม 2555 พบว่า ผลการจัดเก็บรายได้รัฐบาลและการใช้จ่ายงบประมาณของรัฐบาลลดลงจากปีก่อน โดยผลการจัดเก็บรายได้สุทธิของรัฐบาล (ก่อนการจัดสรรให้องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น) ในเดือนมกราคม 2555 เท่ากับ 126.4 พันล้านบาท หดตัวร้อยละ -9.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยภาษีที่จัดเก็บได้ลดลง ได้แก่ ภาษีน้ำมัน หดตัวร้อยละ -59.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากผลของการขยายเวลาของมาตรการลดอัตราภาษีน้ำมันดีเซลเหลือลิตรละ 0.005 บาท (จากเดิมที่ประมาณการว่าจะทยอยปรับอัตราภาษีขึ้นตั้งแต่เดือนมกราคม 2555 เป็นต้นไป) ภาษีสรรพสามิตรถยนต์หดตัวร้อยละ -21.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากโรงงานผลิตรถยนต์บางส่วนยังไม่สามารถกลับมาดำเนินธุรกิจได้ตามปกติจากผลกระทบในช่วงเหตุการณ์อุทกภัยที่ผ่านมา และภาษีเงินได้นิติบุคคลหดตัวร้อยละ -11.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สำหรับการเบิกจ่ายงบประมาณในเดือนมกราคม 2555 มีจำนวน 150.5 พันล้านบาท หดตัวร้อยละ -36.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน หดตัวมากขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 2.9 โดยรายจ่ายแบ่งออกเป็น 1) รายจ่ายปีงบประมาณปัจจุบันจำนวน 135.6 พันล้านบาท หดตัวร้อยละ -38.5 โดยรายจ่ายปีปัจจุบันแบ่งออกเป็น (1) รายจ่ายประจำจำนวน 131.4 พันล้านบาท หดตัวร้อยละ -10.2 และ (2) รายจ่ายลงทุนจำนวน 4.2 พันล้านบาท หดตัวร้อยละ -94.3 และ (3) รายจ่ายเหลื่อมปีจำนวน 14.9 พันล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 2.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน อย่างไรก็ตาม การใช้จ่ายงบประมาณที่สูงกว่ารายได้รัฐบาลทำให้ดุลการคลังในเดือนมกราคม 2555 ขาดดุลจำนวน -20.0 พันล้านบาท สะท้อนนโยบายการคลังที่สนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย

4. การส่งออกในเดือนมกราคม 2555 (จากข้อมูลเบื้องต้น) พบว่า การส่งออกสินค้าในรูปดอลลาร์สหรัฐในเดือนมกราคม 2555 มีมูลค่า 16.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวเพิ่มขึ้นที่ร้อยละ 1.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวที่ร้อยละ -2.0 ซึ่งสอดคล้องกับดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมของสินค้าที่เน้นผลิตเพื่อการส่งออก ได้แก่ สินค้าในหมวดอุปกรณ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์ และผลิตภัณฑ์เครื่องอุปกรณ์วิทยุ โทรทัศน์ ที่ขยายตัวเร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้าในระดับสูง สำหรับมูลค่าการนำเข้าสินค้าในรูปดอลลาร์สหรัฐในเดือนมกราคม 2555 พบว่ามูลค่าการนำเข้าสินค้าอยู่ที่ 17.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัวอยู่ที่ร้อยละ -0.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 19.1 ส่วนหนึ่งมาจากปัจจัยฐานที่สูงของช่วงเดียวกันของปีก่อน ทั้งนี้ มูลค่าการส่งออกที่ต่ำกว่ามูลค่าการนำเข้าสินค้าทำให้ดุลการค้าในเดือนมกราคม 2555 ขาดดุลเล็กน้อยที่ -626.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

5. เครื่องชี้ภาวะเศรษฐกิจด้านการผลิตในเดือนมกราคม 2555 มีสัญญาณฟื้นตัวเช่นกัน โดยดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมในเดือนมกราคม 2555 (เบื้องต้น) ปรับตัวดีขึ้นโดยหดตัวลดลงที่ร้อยละ -15.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เทียบกับเดือนก่อนหน้าที่หดตัวสูงกว่าร้อยละ -25.2 นอกจากนี้ ยังถือได้ว่าปรับตัวดีขึ้นมากจากเดือนก่อนหน้าหลังหักผลทางฤดูกาล (m-o-m SA) โดยขยายตัวร้อยละ 19.1 ต่อเดือน โดยดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ ดัชนีในหมวดน้ำมันปิโตรเลียม แร่อโลหะ และอุปกรณ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ สอดคล้องกับดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนมกราคม 2555 ปรับตัวดีขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 99.6 จุด จากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 93.7 ซึ่งเป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นติดต่อกันเป็นเดือนที่ 2 ภายหลังสถานการณ์อุทกภัยคลี่คลาย แสดงถึงทิศทางที่ดีขึ้นของกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เริ่มเข้าสู่ภาวะปกติ ในขณะที่เครื่องชี้ภาคการเกษตรวัดจากดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรที่กลับมาขยายตัวในอัตราชะลอลง โดยในเดือนมกราคม 2555 ขยายตัวร้อยละ 0.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน จากเดือนก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 3.9 ตามการลดลงของผลผลิตในหมวดพืชผล โดยเฉพาะผลผลิตข้าว และผลผลิตยางพาราขยายตัวชะลอลง เนื่องจากแหล่งเพาะปลูกหลักที่อยู่ในพื้นที่ภาคใต้ได้รับผลกระทบหลังจากสภาพภูมิอากาศไม่เอื้ออำนวยต่อการกรีดยาง ขณะที่ราคาสินค้าเกษตรในเดือนมกราคม 2555 หดตัวที่ร้อยละ -12.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ต่อเนื่องจากเดือนก่อนที่หดตัวร้อยละ -4.3 ตามการลดลงของราคาสินค้าเกษตรสำคัญ โดยเฉพาะยางพารา และมันสำปะหลัง โดยมีสาเหตุหลักมาจากอุปสงค์ในตลาดโลกที่ลดลง ตามการชะลอตัวของอุตสาหกรรมยานยนต์ และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่อง ส่งผลให้รายได้ของเกษตรกรที่แท้จริงหดตัวอยู่ที่ร้อยละ -15.1 จากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -5.2 สำหรับเครื่องชี้ภาคบริการที่สะท้อนจากการปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง จากนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เดินทางเข้าประเทศไทยในเดือนมกราคม 2555 มีจำนวนทั้งสิ้น 1.94 ล้านคน ขยายตัวร้อยละ 7.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังหักผลทางฤดูกาล (m-o-m SA) ร้อยละ 12.8 ต่อเดือน โดยเป็นการขยายตัวจากภูมิภาคยุโรป อาเซียน เอเชียตะวันออกเฉียงเหนือ ที่กลับมาขยายตัวอีกครั้งหลังจากหดตัวต่อเนื่อง 2 เดือนก่อนหน้า จากเหตุการณ์อุทกภัยในประเทศไทย โดยขยายตัวร้อยละ 8.1 10.9 และ 7.5 ตามลำดับ

6. เสถียรภาพเศรษฐกิจยังคงอยู่ในเกณฑ์ดีต่อเนื่อง โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนมกราคม 2555 อยู่ที่ร้อยละ 3.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีสาเหตุหลักจากการเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศ ค่าไฟฟ้า และอาหารสำเร็จรูป แต่ถือได้ว่าชะลอลงจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ร้อยละ 3.5 โดยสินค้าในหมวดไข่และผักสดมีราคาลดลง ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากสถานการณ์น้ำท่วมในช่วงปลายปี 2554 คลี่คลายลง ทำให้มีผลผลิตเข้าสู่ตลาดมากขึ้น ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ร้อยละ 2.8 เร่งตัวขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ร้อยละ 2.7 ในส่วนของอัตราการว่างงานล่าสุดในเดือนธันวาคม 2554 อยู่ที่ร้อยละ 0.4 ของกำลังแรงงานรวม ซึ่งคิดเป็นจำนวนคนว่างงานเท่ากับ 1.7 แสนคน ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่มีผู้ว่างงาน 2.7 แสนคน สำหรับสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2554 อยู่ที่ร้อยละ 40.3 ต่ำกว่ากรอบความยั่งยืนทางการคลังที่ตั้งไว้ไม่เกินร้อยละ 60.0 สำหรับเสถียรภาพภายนอกประเทศยังอยู่ในระดับมั่นคง และสามารถรองรับความเสี่ยงจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลก และปัญหาวิกฤตปัญหาหนี้สาธารณะในกลุ่มประเทศยุโรปได้ สะท้อนได้จากทุนสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นเดือนมกราคม 2555 อยู่ในระดับ 178.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งสูงกว่าหนี้ต่างประเทศระยะสั้นประมาณ 3.6 เท่า

ที่มา: สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ