รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 10 ตุลาคม 2555

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday October 10, 2012 13:37 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 10 ตุลาคม 2555

Summary:

1. คลังนัด Moody's และ S&P เพื่อชี้แจงข้อมูลใหม่เศรษฐกิจไทย หวังดันเรตติ้งเพิ่ม

2. กระทรวงเกษตรฯ เร่งผลักดันมาตรฐานสินค้าเกษตรไทยสู่อาเซียน

3.IMF หั่นคาดการณ์เศรษฐกิจญี่ปุ่นปี 55 เหลือร้อยละ 2.2

Highlight:

1. คลังนัด Moody's และ S&P เพื่อชี้แจงข้อมูลใหม่เศรษฐกิจไทย หวังดันเรตติ้งเพิ่ม
  • ปลัดกระทรวงการคลัง ซึ่งจะเดินทางไปประชุมธนาคารโลกและกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ระหว่างวันที่ 10-13 ต.ค. 55 ที่ญี่ปุ่น ได้นัดสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือคือ บริษัท มูดี้ส์ อินเวสเตอร์ เซอร์วิส (Moody's) และบริษัท สแตนดาร์ด แอนด์ พัวร์ (S&P) เพื่อชี้แจงสถานการณ์เศรษฐกิจไทยล่าสุด เช่น การขยายตัวทางเศรษฐกิจไม่ต่ำกว่าปีละร้อยละ 5 เสถียรภาพภายในและภายนอกประเทศที่มีความแข็งแกร่ง และสถาบันการเงินไทยที่แข็งแรง ทั้งนี้ เพื่อให้บริษัททั้งสองแห่ง พิจารณาปรับระดับเครดิตเรตติ้งไทยให้ดีขึ้น เนื่องจากข้อมูลเศรษฐกิจไทยดีขึ้นกว่าที่ผ่านมา แต่เครดิตของประเทศไทยกลับต่ำกว่าพื้นฐานที่เป็นจริง ขณะที่มีหลายประเทศที่มีพื้นฐานสู้ไทยไม่ได้ แต่กลับได้เครดิตสูงกว่าไทย
  • สศค. วิเคราะห์ว่า Moody's และ S&P ได้จัดอันดับเครดิตของประเทศไทยล่าสุดไว้เมื่อปี 53 โดยได้จัดเรตติ้งพันธบัตรไทยระยะยาวสกุลต่างประเทศอยู่ที่ระดับ Baa1 และ BBB+ ตามลำดับ ขณะที่ Fitch Ratings ได้จัดอันดับเครดิตของประเทศไทยล่าสุดเมื่อปี 54 โดยจัดเรตติ้งพันธบัตรไทยระยะยาวสกุลต่างประเทศอยู่ที่ระดับ BBB ซึ่งสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือทั้งสามแห่งได้ประเมินว่า ประเทศไทยยังมีปัญหาความไม่แน่นอนทางการเมืองและรายได้เฉลี่ยต่อคนที่อยู่ในระดับต่ำ อย่างไรก็ดี ปัจจุบันเศรษฐกิจไทยสามารถฟื้นตัวจากปัญหาอุทกภัยอย่างรวดเร็วและมีแนวโน้มการขยายตัวที่ดี โดย สศค. คาดว่า อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยในปี 55 จะขยายตัวร้อยละ 5.5 โดยมีช่วงคาดการณ์ร้อยละ 5.3-5.8 และจะขยายตัวต่อเนื่องจนถึงปี 56 ที่ร้อยละ 5.2 โดยมีช่วงคาดการณ์ร้อยละ 4.7-5.7 (คาดการณ์ ณ เดือน ก.ย. 55) รวมทั้งภาครัฐยังมีแผนการกู้เงิน 2 ล้านล้านบาท เพื่อลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในช่วง 7 ปีข้างหน้า ซึ่งจะเป็นปัจจัยสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไป
2. กระทรวงเกษตรฯ เร่งผลักดันมาตรฐานสินค้าเกษตรไทยสู่อาเซียน
  • ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ เปิดเผยว่า ทิศทางของสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต คือ เร่งขับเคลื่อนการยกระดับคุณภาพมาตรฐานการผลิตสินค้าเกษตรไทยให้เป็นที่ยอมรับของสากล พร้อมสนับสนุนการเจรจาเพื่อแก้ไขปัญหาสินค้าเกษตรและอาหารเพื่อการส่งออก และช่วยผลักดันให้ไทยก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางการผลิตอาหารของโลกในอนาคต โดยเฉพาะการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ในปี 58 เป็นต้นไป
  • สศค. วิเคราะห์ว่า มูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรสะสมตั้งแต่ ม.ค. - ส.ค. 55 เท่ากับ 490.3 พันล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 10.4 ของมูลค่าการส่งออกสินค้า ลดลงร้อยละ -17.1 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยสินค้าที่มีมูลค่าการส่งออกที่มีมูลค่าลดลง ได้แก่ ข้าวลดลงร้อยละ -34.8 และยางพาราลดลงร้อยละ -28.0 เป็นต้น และเป็นมูลค่าการส่งออกไปยังทวีปเอเซียถึง 338.4 พันล้านบาท หรือร้อยละ 69.0 ของมูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตร ลดลงร้อยละ -14.5 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยปัจจัยสำคัญที่ทำให้การส่งออกสินค้าเกษตรลดลง เนื่องจากราคาสินค้าเกษตรปรับลดลงถึงร้อยละ -7.5 วิกฤตหนี้สาธารณะของประเทศกลุ่มยูโรโซน การหดตัวทางเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกา และการชะลอตัวลงของการขยายตัวทางเศรษฐกิจจีน เป็นต้น อย่างไรก็ตาม หากประเทศไทยสามารถผลักดันมาตรฐานสินค้าเกษตรของอาเซียนให้เป็นมาตรฐานระหว่างประเทศ ซึ่งจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นในคุณภาพและความปลอดภัยให้กับประเทศผู้นำเข้าทั่วโลกได้อีกทางหนึ่ง และจะส่งผลดีต่อการผลิตและส่งออกสินค้าเกษตรของไทยในระยะยาว
3. IMF หั่นคาดการณ์เศรษฐกิจญี่ปุ่นปี 55 เหลือร้อยละ 2.2
  • กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ปรับลดคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจญี่ปุ่นในปี 55 ลงมาอยู่ที่ระดับ 2.2% จากที่คาดการณ์ไว้เมื่อเดือนก.ค.55 ที่ผ่านมาที่ 2.4% และได้ปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจในปี 56 ลงมาอยู่ที่ระดับ 1.2% จากระดับ 1.5% อันเนื่องมาจากอุปสงค์ด้านการฟื้นฟูประเทศที่ลดน้อยลง
  • สศค. วิเคราะห์ว่า อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจญี่ปุ่นช่วงครึ่งปีแรกของปี 55 อยู่ที่ร้อยละ 3.0 เนื่องจากอุปสงค์จากการฟื้นฟูพื้นที่ภัยพิบัติเป็นปัจจัยหลักในการกระตุ้นเศรษฐกิจ ขณะที่ภาคการส่งออกมีแนวโน้มชะลอตัวลงจากปัญหาวิกฤตยูโรโซน ประกอบกับการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน ส่งผลให้มูลค่าการส่งออกของญี่ปุ่นชะลอตัวลง โดยมูลค่าการส่งออกล่าสุด ณ เดือน ส.ค. 55 หดตัวร้อยละ -5.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน นับเป็นการหดตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 3 ขณะที่อัตราเงินเฟ้อเดือน ก.ย. 55 หดตัวที่ร้อยละ -0.5 หดตัวต่อเนื่องจากเดือน ส.ค. ที่หดตัวร้อยละ -0.4 อย่างไรก็ตาม ธนาคารกลางญี่ปุ่นพยายามเร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจ โดยออกนโยบายกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์ผ่านการปล่อยสินเชื่อเป็นจำนวนเงิน 10 ล้านล้านเยน จากการประชุมเมื่อวันที่ 19 ก.ย. 55 เพื่อกระตุ้นการลงทุนจากภาคเอกชน ทั้งนี้ สศค. คาดว่า เศรษฐกิจญี่ปุ่นในปี 55 จะขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 2.4 (คาดการณ์ ณ เดือน ก.ย. 55)

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group:

Fiscal Policy Office Tel. 02-273-9020 Ext.3665 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ