Macro Morning Focus ประจำวันที่ 12 ตุลาคม 2555
1. ธปท. จะประกาศแผนแม่บทเงินทุนเคลื่อนย้ายอย่างต่อเนื่อง โดยเริ่มระยะแรกในสัปดาห์หน้า
2. IMF แสดงจุดยืนที่จะให้ความช่วยเหลือกรีซ เพื่อให้สามารถลดระดับหนี้สาธารณะได้ตามเงื่อนไข
3. S&P ปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือพันธบัตรรัฐบาลสเปนลงสู่ระดับ BBB- แนวโน้มเชิงลบ
Highlight:
- นางผ่องเพ็ญ เรืองวีรยุทธ รองผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ด้านเสถียรภาพการเงิน กล่าวว่า ในสัปดาห์หน้า ธปท. จะประกาศใช้แผนแม่บทเงินทุนเคลื่อนย้ายในระยะแรก ซึ่งจะเริ่มดำเนินการในปลายปี 55 ถึงต้นปี 56 และจะมีการประกาศแผนแม่บทในระยะต่อไปอย่างต่อเนื่อง โดยในระยะแรกนี้ จะมีการผ่อนปรนหลักเกณฑ์เงินทุนเคลื่อนย้ายเพิ่มเติม อาทิ การอนุญาตให้นักลงทุนที่ทำธุรกรรมป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนสามารถยกเลิกการทำธุรกรรม (Unwind Hedging) ได้ทุกรายการ เพิ่มเติมจากที่สามารถทำได้เฉพาะสินค้าและบริการเท่านั้น และการอนุญาตให้นักลงทุนประเภทบุคคลธรรมดาเข้าลงทุนโดยตรงได้อย่างเสรี จากที่กำหนดให้ลงทุนได้ไม่เกินปีละ 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็นต้น
- สศค. วิเคราะห์ว่า การผ่อนปรนหลักเกณฑ์ด้านเงินทุนเคลื่อนย้ายลง ทำให้การดำเนินธุรกรรมด้าน การเงินสะดวกมากขึ้น ซึ่งจะลดอุปสรรคต่อการลงทุนและเพิ่มแรงจูงใจแก่นักลงทุนชาวต่างชาติที่ต้องการเข้ามาลงทุนในไทยมากขึ้น กล่าวคือ ด้านการอนุญาตให้นักลงทุนสามารถ Unwind Hedging ได้ในทุกประเภทการลงทุนนั้น ทำให้นักลงทุนผู้ที่ไม่กล้าตัดสินใจลงทุนท่ามกลางความผันผ่อนของอัตราแลกเปลี่ยนมีทางเลือกในการทำธุรกรรมมากขึ้น ทำให้สู่แนวโน้มการลงทุนที่จะเพิ่มปริมาณมากขึ้น โดยที่อัตราแลกเปลี่ยนไม่เป็นอุปสรรคต่อการตัดสินใจลงทุน และยังเพิ่มโอกาสในการรับผลตอบแทนที่มากขึ้นของนักลงทุนอีกด้วยเช่นกัน
- Christine Lagarde ผู้อำนวยการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) แถลงการณ์ภายหลังจากประชุม IMF Summit ที่ญี่ปุ่น ว่า IMF จะช่วยเหลือกรีซ เพื่อให้กรีซดำเนินมาตรการรัดเข็มขัด เพื่อลดระดับหนี้สาธารณะ ตามเงื่อนไขที่ทาง Troika (European Commission European Central Bank และ IMF) กำหนดไว้ และให้เงินช่วยเหลือแก่กรีซจำนวน 130 พันล้านยูโร (167 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) แม้ว่า IMF คาดการณ์ในปี 56 ว่าระดับหนี้สาธารณะต่อ GDP ของกรีซจะเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 179.3 ก็ตาม ทั้งนี้ IMF ไม่ได้กล่าวถึงการเพิ่มวงเงินช่วยเหลือต่อกรีซ
- สศค. วิเคราะห์ว่า มาตรการให้ความช่วยเหลือกรีซ รวมถึงประเทศที่ประสบปัญหาอื่นๆ สามารถแก้ไขสถานการณ์ความผันผวน รวมถึงความเชื่อมั่นของนักลงทุนได้ในเพียงระยะสั้น โดยในปัจจุบัน แม้ว่าทางการยุโรป และ IMF จะพยายามแก้ไขสถานการณ์ประเทศที่ประสบปัญหา ผ่านการให้ความช่วยเหลือทางสภาพคล่อง อย่างไรก็ตาม สหภาพยุโรป อาจมีความจำเป็นต้องร่วมกันแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้าง โดยเฉพาะการจัดตั้ง Fiscal Union และ Banking Union เพื่อให้การกำกับดูแลภาคธนาคารและภาคการคลัง มีความชัดเจน และมีประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดวิกฤตซ้ำซ้อนในอนาคต ทั้งนี้ ผลกระทบจากวิกฤตหนี้สาธารณะดังกล่าว ไม่เพียงแต่กระทบต่อประเทศในภูมิภาคยุโรป แต่ยังลุกลามและกระทบต่อเศรษฐกิจทั่วโลก รวมถึงเศรษฐกิจไทย ผ่านช่องทางการค้า ช่องทางการเงิน และได้ส่งผลให้เงินทุนเคลื่อนย้ายทั่วโลกมีความผันผวนมากขึ้น โดยหากสถานการณ์ดังกล่าวยังคงเรื้อรังต่อเนื่อง อาจส่งผลลบต่อเสถียรภาพของเศรษฐกิจโลกในระยะยาว ทั้งนี้ สศค. คาดว่า ในปี 55 เศรษฐกิจยูโรโซนจะหดตัวร้อยละ -0.9 (ช่วงคาดการณ์ร้อยละ-1.4 - -0.4) และกลับขยายตัวร้อยละ 0.5 ในปี 56 (ช่วงคาดการณ์ร้อยละ 0.0 - 1.0) คาดการณ์ ณ เดือน ก.ย. 55
- สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือ S&P ปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือพันธบัตรรัฐบาลสเปนจากระดับ BBB+ แนวโน้มเชิงลบ ไปสู่ระดับ BBB- แนวโน้มเชิงลบ ซึ่งนับว่าอยู่เหนือระดับไม่น่าลงทุน (Junk Bonds) เพียงแค่หนึ่งขั้นเท่านั้น จากสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่หดตัวอย่างต่อเนื่องจนเข้าสู่ภาวะถดถอย ผนวกกับแรงกดดันจากภาคธนาคารพาณิชย์ของสเปนที่ยังคงเป็นปัญหาเรื้อรัง ส่งผลให้ภาพรวมทางเศรษฐกิจของสเปนยังคงอยู่ในสถานะย่ำแย่
- สศค.วิเคราะห์ว่า การปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของพันธบัตรรัฐบาลสเปนลงในครั้งนี้ สะท้อนถึง ความเสี่ยงในระดับสูงทางเศรษฐกิจ การเมือง และภาคการเงินของสเปน ถึงแม้ว่ารัฐบาลสเปนได้ใช้มาตรการรัดเข็มขัดเพื่อลดค่าใช้จ่ายภาคการคลังในด้านต่าง ๆ รวมถึงเพิ่มการจัดเก็บภาษีให้มากขึ้นก็ตาม แต่เศรษฐกิจสเปนก็ยังไม่สามารถกลับมาขยายตัวได้ บ่งชี้จาก การใช้จ่ายเพื่อการบริโภคและการลงทุนของภาคเอกชนที่หดตัวต่อเนื่อง โดยไตรมาส 2 ปี 55 นั้นหดตัวเร่งขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ -2.5 และ -8.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามลำดับ ประกอบกับอัตราการว่างงานสเปนยังคงอยู่ในระดับสูงสุดในยูโรโซนถึงร้อยละ 25.1 ของกำลังแรงงานรวม (เดือน ส.ค. 55) ทั้งนี้ สเปนยังมีความเสี่ยงจากภาคธนาคารพาณิชย์สเปนที่ยังคงเป็นปัญหาอย่างต่อเนื่อง ทำให้ตลาดคาดการณ์ว่า สเปนอาจต้องขอรับเงินช่วยเหลือเพิ่มเติมอีกเร็ว ๆ นี้
ที่มา: Macroeconomic Analysis Group:
Fiscal Policy Office Tel. 02-273-9020 Ext.3665 : www.fpo.go.th