รายงานภาวะเศรษฐกิจรายสัปดาห์ระหว่างวันที่ 15 - 19 ตุลาคม 2555

ข่าวเศรษฐกิจ Monday October 22, 2012 13:45 —กระทรวงการคลัง

Executive Summary

Indicators this week
  • รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ (หลังหักการจัดสรรให้ อปท.) ในเดือน ก.ย.55 ได้จำนวน 122.8 พันล้านบาท

หรือขยายตัวร้อยละ 18.5 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

  • วันที่ 17 ต.ค. 55 คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ประกาศลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายมาอยู่ที่ร้อยละ 2.75
  • นักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าประเทศไทยในเดือน ก.ย. 55 มีจำนวนทั้งสิ้น 1.6 ล้านคน

หรือขยายตัวร้อยละ 7.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

  • ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมเดือน ก.ย. 55 ปรับตัวลดลงจากเดือนก่อนหน้ามาอยู่ที่ระดับ 94.1
  • GDP จีน ในไตรมาส 3 ปี 55 ขยายตัวร้อยละ 7.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน
  • ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมจีน เดือน ก.ย. 55 ขยายตัวเร่งขึ้นจากเดือนก่อนอยู่ที่ร้อยละ 9.2
  • ยอดค้าปลีกสหรัฐฯ เดือน ก.ย. 55 ขยายตัวร้อยละ 1.1 จากเดือนก่อนหน้า (ขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว)

หรือร้อยละ 3.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อน

  • อัตราเงินเฟ้อสหภาพยุโรป เดือน ก.ย. 55 ยังคงทรงตัวที่ระดับร้อยละ 2.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม (ตัวเลขปรับปรุง) ญี่ปุ่น เดือน ก.ย. 55 หดตัวที่ร้อยละ -1.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน
Indicators next week
 Indicators                          Forecast             Previous
 Sep : Passenger car Sale (%YoY)       48.0                 71.7

ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากได้มีการเร่งส่งมอบรถยนต์จำนวนมากไปแล้วในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมาหลังจากสถานการณ์การผลิตเข้าสู่ภาวะปกติ จากเหตุการณ์น้ำท่วมในช่วงปลายปี 54 อย่างไรก็ดี ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์นั่งยังคงขยายตัวในระดับสูง โดยได้รับปัจจัยบวกจาก 1. การฟื้นตัวของการบริโภคภาคเอกชนที่ยังคงขยายตัวต่อเนื่อง และ 2. จากนโยบายสนับสนุนของภาครัฐ ในการสนับสนุนการซื้อรถคันแรก โดยผู้บริโภคได้รับการคืนภาษีสูงถึง 1 แสนบาท สำหรับรถที่มีการซื้อจนถึง 31 ธันวาคม 55

Economic Indicators: This Week
  • รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ (หลังหักการจัดสรร ให้ อปท.) ในเดือน ก.ย.55 ได้จำนวน 122.8 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 19.2 พันล้านบาท จากช่วงเดียวกันของปีก่อน หรือร้อยละ 18.5 และสูงกว่าประมาณการ 21.5 พันล้านบาท หรือร้อยละ 21.2 โดยภาษีมูลค่าเพิ่มสามารถจัดเก็บได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 37.2 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และภาษีฐานรายได้จัดเก็บได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.8 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน สะท้อนถึง ความสามารถในการบริโภคที่เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม ผลการจัดเก็บรายได้สุทธิปีงบประมาณ 55 (ต.ค. 54 - ก.ย. 55) ได้จำนวน 1,977.5 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 85.1 พันล้านบาท จากช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่ต่ำกว่าประมาณการ 2.5 พันล้านบาท หรือร้อยละ -0.1 ซึ่งสอดคล้องกับประมาณการ (1,980.0 พันล้านบาท) โดยมีรายการที่สำคัญดังนี้ (1) ภาษีมูลค่าเพิ่ม จัดเก็บได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 14.1 โดยภาษีจากการนำเข้าจัดเก็บได้เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 20.4 สอดคล้องกับอากรขาเข้าที่จัดเก็บได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 16.3 ซึ่งเป็นการนำเข้าสินค้าทุนเพื่อมาฟื้นฟูกำลังการผลิตที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาอุทกภัย (2) ภาษีรถยนต์ จัดเก็บได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 26.2 เนื่องจากการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมยานยนต์จากมหาอุทกภัยและโครงการรถยนต์คันแรกของรัฐบาลที่มีส่วนในการกระตุ้นการตัดสินใจซื้อที่เพิ่มขึ้น (3) ภาษีเงินได้นิติบุคคล จัดเก็บได้ลดลงร้อยละ 5.2 เนื่องจากเหตุการณ์อุทกภัยช่วงปลายปี 54 ประกอบกับธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการส่งออกได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจของประเทศในกลุ่มยูโรโซน และการให้สิทธิประโยชน์ภาษีของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) เป็นต้น
  • ภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ระดับราคาคงที่ ในเดือน ก.ย.55 มีมูลค่า 61.9 พันล้านบาท หรือขยายตัวในอัตราเร่งที่ร้อยละ 32.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากเดือนก่อนที่ขยายร้อยละ 9.5 ตามการเพิ่มขึ้นของภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ระดับราคาคงที่ ที่จัดเก็บบนฐานการบริโภคภายในประเทศขยายตัวในระดับสูงที่ร้อยละ 57.5 จากเดือนก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 10.4 ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศ ในขณะที่ภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ระดับราคาคงที่ ที่จัดเก็บบนฐานการนำเข้าที่ขยายตัวร้อยละ 4.5 ชะลอลงจากเดือนก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 8.7 ตามการลดลงของการนำเข้าสินค้า ทั้งนี้ในช่วง 9 เดือนแรกปี 55 ภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ระดับราคาคงที่ ขยายตัวที่ร้อยละ 12.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน
  • ภาษีจากการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์รวมในเดือน ก.ย. 55 ขยายตัวร้อยละ 6.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แม้ว่าจะขยายตัวชะลอลงจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 7.3 จากแนวโน้มความต้องการซื้อที่อยู่อาศัยของผู้บริโภคที่ฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง สอดคล้องกับยอดคงค้างสินเชื่อส่วนบุคคลเพื่ออสังหาริมทรัพย์ของธนาคารพาณิชย์ที่ยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ด้านอุปทาน (Supply) ของภาคอสังหาริมทรัพย์ยังคงขยายตัวต่อเนื่อง สะท้อนจากจำนวนที่อยู่อาศัยเปิดขายใหม่ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล (ที่ปรับฤดูกาล) ปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.5 จากเดือนก่อน โดยเฉพาะอาคารชุด และที่อยู่อาศัยแนวราบ เป็นหลัก
  • วันที่ 17 ต.ค. 55 คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ประกาศลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงจากร้อยละ 3.00 เหลือร้อยละ 2.75 จากการที่ กนง. ประเมินว่า ภาวะความเสี่ยงด้านเงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำ ขณะที่ เศรษฐกิจโลกยังอ่อนแอ และมีความเสี่ยงสูง ดังนั้นนโยบายการเงินควรผ่อนคลายเพิ่มเติมเพื่อรองรับความเสี่ยงจากเศรษฐกิจโลก และรักษาแรงส่งของอุปสงค์ในประเทศที่อาจจะอ่อนแรงลงในระยะต่อไป กนง. จึงมีมติให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงเหลือร้อยละ 2.75
  • นักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าประเทศไทยในเดือน ก.ย. 55 มีจำนวนทั้งสิ้น 1.6 ล้านคน คิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 7.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่หดตัวร้อยละ -5.0 เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังหักผลทางฤดูกาล (m-o-m SA) ส่งผลให้จำนวนนักท่องเที่ยวในไตรมาส 3 ปี 55 มีจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งสิ้น 5.3 ล้านคน ขยายตัวร้อยละ 8.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนและขยายตัวร้อยละ 2.5 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสก่อนหน้าหลังหักผลทางฤดูกาล (q-oq_SA) โดยเป็นการขยายตัวได้ดีจากกลุ่มเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นหลัก โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจีน ที่ขยายตัวร้อยละ 47.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
  • ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมเดือน ก.ย. 55 อยู่ที่ระดับ 94.1 ปรับตัวลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 98.5 ซึ่งเป็นค่าดัชนีที่อยู่ในระดับต่ำกว่า 100 ติดต่อกันเป็นเดือนที่ 3 และ ต่ำสุดในรอบ 9 เดือน สะท้อนความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการที่อยู่ในระดับที่ไม่ดี โดยปัจจัยที่กระทบต่อความเชื่อมั่นดังกล่าวในเดือนนี้มาจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกที่ส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออกของไทยให้ชะลอตัวลง ประกอบกับต้นทุนการผลิตที่ปรับตัวสูงขึ้นจากราคาพลังงาน ราคาวัตถุดิบ และค่าจ้างแรงงาน นอกจากนี้ภาคอุตสาหกรรมยังต้องเผชิญกับปัญหาการขาดแคลนแรงงาน
  • ปริมาณจำหน่ายปูนซิเมนต์ภายในประเทศในเดือนก.ย. 55 ขยายตัวร้อยละ 11.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนและขยายตัวร้อยละ 1.7 จากเดือนก่อนหน้า หลังปรับผลทางฤดูกาลแล้ว (m-o-m SA) ทั้งนี้ ทิศทางการลงทุนในหมวดการก่อสร้างยังคงมีแนวโน้มขยายตัวได้ดีอย่างต่อเนื่องตามอุปสงค์ในตลาดอสังหาริมทรัพย์ และปัจจัยสนับสนุนจากดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างในเดือน ก.ย. 55 ที่อยู่ที่ร้อยละ 3.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ลดลงเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 3.7 ทั้งนี้ ปริมาณจำหน่ายปูนซิเมนต์ภายในประเทศใน ไตรมาสที่ 3 ขยายตัวร้อยละ 12.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และขยายตัวสูงถึงร้อยละ 11.7 จากไตรมาสก่อนหน้า หลังปรับผลทางฤดูกาลแล้ว (m-o-m SA)
Economic Indicators: Next Week
  • ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์นั่งในเดือน ก.ย.55 คาดว่าจะขยายตัวที่ร้อยละ 48.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ชะลอลงจากเดือนก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 71.7 ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากได้มีการเร่งส่งมอบรถยนต์จำนวนมากไปแล้วในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมาหลังจากสถานการณ์การผลิตเข้าสู่ภาวะปกติ จากเหตุการณ์น้ำท่วมในช่วงปลายปี 54 อย่างไรก็ดี ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์นั่งยังคงขยายตัวในระดับสูง โดยได้รับปัจจัยบวกจาก 1. การฟื้นตัวของการบริโภคภาคเอกชนที่ยังคงขยายตัวต่อเนื่อง และ 2. จากนโยบายสนับสนุนของภาครัฐ ในการสนับสนุนการซื้อรถคันแรก โดยผู้บริโภคได้รับการคืนภาษีสูงถึง 1 แสนบาท สำหรับรถที่มีการซื้อจนถึง 31 ธันวาคม 55

Global Economic Indicators: This Week

US: improving economic trend
  • ยอดค้าปลีก เดือน ก.ย. 55 ขยายตัวร้อยละ 1.1 จากเดือนก่อนหน้า (ขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว) หรือร้อยละ 3.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ผลจากการขยายตัวของยอดขายอาหารและสินค้าอิเล็กทรอนิกส์เป็นสำคัญ
China: mixed signal
  • GDP ไตรมาส 3 ปี 55 ขยายตัวร้อยละ 7.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนขยายตัวต่ำสุดในรอบ 3 ปีครึ่ง จากการชะลอตัวของทั้งภาคเศรษฐกิจในประเทศ โดยเฉพาะการลงทุนภาคเอกชน และการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก มูลค่าการส่งออก เดือน ก.ย. 55 ขยายตัวร้อยละ 9.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ขยายตัวสูงสุดในรอบ 3 เดือน ขณะทีมูลค่าการนำเข้า เดือนเดียวกันกลับมาขยายตัวเป็นบวกร้อยละ 2.3 ทำให้ดุลการค้าเกินดุล 2.8 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐสะท้อนว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจากภาครัฐได้ผล และยังไม่จำเป็นต้องออกมาตรการอื่นเพิ่มเติม อย่างไรก็ตาม การชะลอตัวของเศรษฐกิจคู่ค้าหลักของจีน (ยุโรปและสหรัฐฯ) ถือเป็นความเสี่ยงต่อการส่งออกจีน ด้านเศรษฐกิจในประเทศ อัตราเงินเฟ้อ เดือน ก.ย. 55 อยู่ที่ร้อยละ 1.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ลดลงจากเดือนก่อน จากราคาอาหารที่ขยายตัวชะลอลงมาที่ร้อยละ 2.5 จากร้อยละ 3.4 ในเดือนก่อน ขณะที่ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม เดือน ก.ย. 55 ขยายตัวเร่งขึ้นจากเดือนก่อนอยู่ที่ร้อยละ 9.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน จากผลผลิตเพื่อการส่งออกที่ขยายตัวร้อยละ 6.4 เร่งขึ้นจากเดือนก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 3.6 ราคาบ้านจีน เดือน ก.ย. 55 หดตัวเป็นเดือนที่ 2 ที่ร้อยละ -1.3 เมื่อทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน บ่งชี้ว่ามาตรการชะลอราคาบ้านเพื่อป้องกันภาวะฟองฟูของทางการจีนมีประสิทธิภาพ ยอดค้าปลีก เดือน ก.ย. 55 ขยายตัวร้อยละ 14.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นจากเดือนก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 13.2 บ่งชี้การบริโภคภาคเอกชนที่ขยายตัวดีขึ้น
Eurozone: mixed signal
  • อัตราเงินเฟ้อ เดือน ก.ย. 55 ยังคงทรงตัวที่ระดับร้อยละ 2.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อน โดยประเทศที่มีอัตราเงินเฟ้อสูงสุดคือ ฮังการี อยู่ที่ร้อยละ 6.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนขณะที่มูลค่าการส่งออก เดือน ส.ค. 55 ยังคงขยายตัวได้ที่ร้อยละ 10.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน หรือขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.7 จากเดือนก่อนหน้า (ขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว) สาเหตุสำคัญจากยอดการส่งออกไปยังสหรัฐและเอเชียที่ยังคงขยายตัวได้ดี ขณะที่มูลค่าการนำเข้า เดือน ส.ค. 55 ขยายตัวเล็กน้อยที่ร้อยละ 1.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนหน้า จากการนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคที่ลดลงเป็นสำคัญส่งผลให้ ดุลการค้า เดือน ส.ค. 55 ยังคงเกินดุลที่ 6.6 พันล้านยูโร
Japan: worsening economic trend
  • ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม (ตัวเลขปรับปรุง) เดือน ก.ย. 55 หดตัวที่ร้อยละ -1.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน จากการชะลอลงของการผลิตเพื่อการส่งออก ตามการชะลอลงของเศรษฐกิจจีนและปัญหาหนี้สาธารณะยูโรโซนเป็นสำคัญ
Singapore: mixed signal
  • มูลค่าการส่งออก เดือน ก.ย. 55 หดตัวร้อยละ -6.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ต่ำสุดในรอบ 3 ปี จากการส่งออกสินค้าหมวดอิเล็กทรอนิกส์ที่ชะลอลงต่อเนื่อง ขณะที่มูลค่าการนำเข้า เดือนเดียวกัน หดตัวร้อยละ -0.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนหน้า ทำให้ดุลการค้าเกินดุล 4.0 พันล้านดอลลาร์สิงคโปร์ ด้านเศรษฐกิจในประเทศ ยอดค้าปลีก เดือน ส.ค. 55 กลับมาขยายตัวเป็นบวกที่ร้อยละ 3.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน จากสินค้าทางการแพทย์ และผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดร่างกาย และสินค้าในซุปเปอร์มาเก็ตที่ขยายตัวร้อยละ 9.1 และ 8.2 เป็นหลัก
India: mixed signal
  • ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม เดือน ส.ค. 55 ขยายตัวเร่งขึ้นสูงสุดในรอบ 6 เดือนที่ร้อยละ 2.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน จากการผลิตสินค้าในหมวดอุปโภคบริโภคที่ขยายตัวเร่งขึ้น ขณะที่การผลิตในหมวดสินค้าทุนหดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 สะท้อนภาคการลงทุนที่ยังคงชะลอลงต่อเนื่อง อัตราเงินเฟ้อ เดือน ก.ย. 55 ปรับตัวเพิ่มสูงสุดในรอบ 10 เดือน และสูงกว่าคาดการณ์ของตลาดมาอยู่ที่ร้อยละ 7.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า จากราคาน้ำมันที่เร่งขึ้นที่ร้อยละ 11.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน สะท้อนแรงกดดันจากเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการใช้จ่ายของภาคเอกชน ท่ามกลางความเปราะบางของเศรษฐกิจโลก โดยคาดว่าปัจจัยดังกล่าวจะเพิ่มแรงกดดันให้ธนาคารกลางอินเดียจำเป็นต้องชะลอการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในระยะต่อไป
South Korea: worsening economic trend
  • มูลค่าการส่งออก (ตัวเลขปรับปรุง) เดือน ก.ย. 55 หดตัวเป็นครั้งที่ 7 นับตั้งแต่ต้นปี 55 ทึ่ร้อยละ -2.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ส่งผลให้ในไตรมาส 3 ปี 55 การส่งออกหดตัวร้อยละ -5.6 จากการส่งออกไปยังยูโรโซน ญี่ปุ่น และสหรัฐฯที่หดตัว ขณะที่มูลค่าการนำเข้า (ตัวเลขปรับปรุง) เดือน ก.ย. 55 หดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7 ที่ร้อยละ -6.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
Hong Kong: mixed signal
  • อัตราการว่างงาน เดือน ก.ย. 55 ทรงตัวอยู่ในระดับใกล้เคียงกับเดือนก่อนหน้ามาอยู่ที่ร้อยละ 3.3 ของกำลังแรงงานรวม
Weekly Financial Indicators
  • ดัชนี SET ปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องมาอยู่เหนือระดับ 1,300 จุด โดย ณ วันที่ 18 ต.ค. 55 ดัชนีฯ ปิดที่ระดับ 1,311.21 จุด โดยมีแรงซื้อจากนักลงทุนต่างชาติ หลัง ธปท. ประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายมาอยู่ที่ร้อยละ 2.75 ประกอบกับนักลงทุนกำลังรอผลจากการประชุมผู้นำยุโรป ที่อาจกล่าวถึง(1) ประเด็นการให้ความช่วยเหลือสเปน (2) กองทุน ESM และ (3) Banking union ทำให้นักลงทุนเข้าซื้อเพื่อหวังทำกำไรจากดัชนีที่อาจปรับตัวเพิ่มขึ้นในสัปดาห์หน้า ทั้งนี้ ระหว่างวันที่ 15 - 18 ต.ค. 55 นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิ -1,037.15 ล้านบาท ขณะที่ผลตอบแทนพันธบัตรของไทยปรับลดลงจากสัปดาห์ก่อนในทุกช่วงอายุ โดยเฉพาะอัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุต่ำกว่า 10 ปี ที่ลดลงมาก จากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของ กนง. ทั้งนี้ ระหว่างวันที่ 15-18 ต.ค. 55 นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิ 134.4 ล้านบาท
  • ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นเล็กน้อย โดย ณ วันที่ 18 ต.ค 55 ปิดที่ระดับ 30.61 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าขึ้นจากสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.29 สอดคล้องกับค่าเงินสกุลหลักและภูมิภาค อย่างไรก็ตาม ค่าเงินบาทยังคงแข็งค่าน้อยกว่าค่าเงินสกุลอื่นๆ ยกเว้นค่าเงินเยนที่อ่อนค่าลงร้อยละ -1.17 จากสัปดาห์ก่อน ทั้งนี้ ค่าเงินบาทที่แข็งค่าด้วยอัตราที่น้อยกว่าค่าเงินสกุลอื่นๆ ของคู่ค้า ทำให้ดัชนีค่าเงินบาท (NEER) ในสัปดาห์นี้แข็งค่าขึ้นจากสัปดาห์ก่อนเล็กน้อยที่ร้อยละ 0.13
  • ราคาทองคำค่อนข้างทรงตัว โดยราคาทองคำ ณ วันที่ 18 ต.ค. 55 ปิดที่ 1,741.09 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ ใกล้เคียงกับต้นสัปดาห์ที่ปิดที่ 1,735.49 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ