รายงานภาวะเศรษฐกิจรายสัปดาห์ระหว่างวันที่ 17 - 21 ธันวาคม 2555

ข่าวเศรษฐกิจ Monday December 24, 2012 13:39 —กระทรวงการคลัง

Executive Summary
Indicators this week
  • รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ (หลังหักการจัดสรรให้ อปท.) ในเดือน พ.ย.55 ได้จำนวน 174.4 พันล้านบาท

หรือขยายตัวร้อยละ 25.6 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

  • ภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ระดับราคาคงที่ เดือนพ.ย.55 ขยายตัวที่ร้อยละ 29.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน

สอดคล้องกับภาษีจากการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์รวมที่ขยายตัวร้อยละ 64.7

  • ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรในเดือน พ.ย. 55 ขยายตัวที่ร้อยละ 8.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ขณะที่ดัชนีราคาสินค้า

เกษตรที่เกษตรกรขายได้ หดตัวร้อยละ -4.6

  • ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมเดือน พ.ย. 55 อยู่ที่ระดับ 95.2
  • อัตราเงินเฟ้อทั่วไปสหรัฐฯ เดือน พ.ย. 55 อยู่ที่ร้อยละ 1.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • ราคาบ้านใหม่ของจีน เดือน พ.ย. 55 หดตัวชะลอลงมาอยู่ที่ร้อยละ -0.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน
  • ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (Markit's Composite PMI) สหภาพยุโรป เดือน ธ.ค. 55 ปรับเพิ่มมาอยู่ที่ระดับ 47.3 จุด
  • วันที่ 20 ธ.ค. 55 ธนาคารกลางญี่ปุ่นประกาศคงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เดือน ธ.ค. 55 ที่ช่วงร้อยละ 0 - 0.1 ต่อปี
  • วันที่ 18 ธ.ค. 55 ธนาคารกลางอินเดียประกาศคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ร้อยละ 8.00 ต่อปี
Indicators next week
 Indicators                          Forecast             Previous
 Nov : Passenger car sale (% YoY)      550.0                263.7

โดยได้รับปัจจัยบวกจาก 1. ปัจจัยฐานต่ำในช่วงเดียวกันปีก่อนที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาอุทกภัยในช่วงปลายปี 54 2. การฟื้นตัวของการบริโภคภาคเอกชนที่ยังคงขยายตัวต่อเนื่อง และ 3. จากนโยบายสนับสนุนของภาครัฐในการสนับสนุนการซื้อรถคันแรก โดยผู้บริโภคได้รับการคืนภาษีสูงถึง 1 แสนบาท สำหรับรถที่มีการซื้อจนถึง 31 ธันวาคม 55

Economic Indicators: This Week
  • รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ (หลังหักการจัดสรร ให้ อปท.) ในเดือน พ.ย.55 ได้จำนวน 174.4 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 35.5 พันล้านบาท จากช่วงเดียวกันของปีก่อน หรือร้อยละ 25.6 และมากกว่าประมาณการ 23.1 พันล้านบาท หรือร้อยละ 15.2 โดย (1) ภาษีฐานรายได้จัดเก็บได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.7 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน (2) ภาษีมูลค่าเพิ่มสามารถจัดเก็บได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 34.0 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ประกอบด้วยภาษีการนำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 30.3 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน สอดคล้องกับอากรขาเข้าที่จัดเก็บได้เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 15.5 โดยเฉพาะการนำเข้าสินค้ากลุ่มยานยนต์ เครื่องจักรเครื่องใช้กล และเครื่องจักรเครื่องใช้ไฟฟ้า และภาษีมูลค่าเพิ่มจากการบริโภคเพิ่มขึ้นร้อยละ 36.7 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน สะท้อนถึงการบริโภคที่เพิ่มขึ้นซึ่งสอดคล้องกับภาษีฐานรายได้ที่จัดเก็บได้เพิ่มขึ้น และ (3) ภาษีรถยนต์จัดเก็บได้เพิ่มขึ้นถึง 3.5 เท่าจากช่วงเดียวกันของปีก่อน และมากกว่าประมาณการร้อยละ 58.3 เนื่องจากผู้ผลิตรถยนต์ฟื้นตัวจากปัญหาอุทกภัยในช่วงปลายปีก่อน และมีการเปิดตัวรถยนต์ใหม่ออกสู่ตลาด ประกอบกับแรงจูงใจจากนโยบายรถยนต์คันแรกที่กระตุ้นให้ผู้บริโภคตัดสินใจซื้อเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ รัฐบาลมีรายได้สุทธิ (หลังหักจัดสรรให้ อปท.) ในช่วง 2 เดือนแรกของปี งปม. 56 จำนวน 321.2 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 49.4 พันล้านบาท จากช่วงเดียวกันของปีก่อน หรือร้อยละ 18.2 และมากกว่าประมาณการตามเอกสาร งปม. 25.2 พันล้านบาท หรือร้อยละ 8.5
  • ภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ระดับราคาคงที่ ในเดือน พ.ย. 55 มีมูลค่า 55.6 พันล้านบาท หรือขยายตัวที่ร้อยละ 29.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เร่งจากเดือนก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 19.4 ตามการขยายตัวต่อเนื่องจากภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ระดับราคาคงที่ ที่จัดเก็บบนฐานการบริโภคภายในประเทศและภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ระดับราคาคงที่ ที่จัดเก็บบนฐานการนำเข้าที่ขยายตัวร้อยละ 33.2 และร้อยละ 26.1 จากเดือนก่อนที่อยู่ที่ร้อยละ 9.8 และร้อย 30.8 ตามลำดับ สะท้อนถึงการฟื้นตัวของอุปสงค์ในประเทศ โดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชน ทั้งนี้ ในช่วง 11 เดือนแรกปี 55 ภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ระดับราคาคงที่ ขยายตัวที่ร้อยละ 14.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน
  • ภาษีจากการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์รวมในเดือน พ.ย. 55 ขยายตัวร้อยละ 64.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 86.4 จากปัจจัยฐานที่ต่ำของช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าจากวิกฤติน้ำท่วมที่เกิดขึ้นเมื่อช่วงปลายปี 54 ทั้งนี้ ในปัจจุบันความต้องการซื้อที่อยู่อาศัยของผู้บริโภคยังคงมีทิศทางปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง สะท้อนได้จากจำนวนที่อยู่อาศัยที่ได้รับอนุมัติสินเชื่อจากธนาคารพาณิชย์ (ปรับฤดูกาล) ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลอยู่ที่ 6,809 หน่วย ขณะที่ด้านอุปทาน (Supply) ของภาคอสังหาริมทรัพย์ยังคงขยายตัวต่อเนื่อง สะท้อนจากจำนวนที่อยู่อาศัยเปิดขายใหม่ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล (ที่ปรับฤดูกาล) อยู่ที่ 6,641 หน่วย โดยเฉพาะอาคารชุด และที่อยู่อาศัยแนวราบ เป็นหลัก ทั้งนี้ การขยายระยะเวลาดำเนินการโครงการบ้านหลังแรกออกไปอีก 6 เดือน จะเป็นปัจจัยสนับสนุนภาคอสังหาริมทรัพย์ให้ขยายตัวเพิ่มขึ้นได้
  • ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตร ในเดือน พ.ย. 55 ขยายตัวที่ร้อยละ 8.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 5.4 ตามการเพิ่มขึ้นของผลผลิตในหมวดพืชผลสำคัญ โดยเฉพาะยางพารา มันสำปะหลัง และปาล์มน้ำมัน ตามพื้นที่เพาะปลูกและเก็บเกี่ยวที่เพิ่มขึ้น ประกอบกับสภาพภูมิอากาศเอื้ออำนวยต่อการผลิต สอดคล้องกับผลผลิตหมวดปศุสัตว์ที่ขยายตัวต่อเนื่องเช่นกันที่ร้อยละ 5.7 ตามการเพิ่มขึ้นผลผลิตสุกรและไก่เนื้อเป็นสำคัญ ทั้งนี้ ในช่วง 11 เดือนแรกปี 55 ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตร ขยายตัวร้อยละ 6.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน
  • ดัชนีราคาสินค้าเกษตรที่เกษตรกรขายได้ ในเดือน พ.ย. 55 หดตัวร้อยละ -4.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากเดือนก่อนที่หดตัวร้อยละ -6.2 ส่วนหนึ่งได้รับปัจจัยบวกจากปัจจัยฐานที่เริ่มกลับเข้าสู่ภาวะปกติ หลังจากที่ทรงตัวในระดับสูงในช่วงต้นปีก่อน และโครงการรับจำนำข้าวเปลือกของรัฐบาล อย่างไรก็ดี ราคายางพาราและราคาผลผลิตในหมวดปศุสัตว์ยังหดตัวต่อเนื่อง ตามผลิตที่ในออกสู่ตลาดอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่อุปสงค์ค่อนข้างทรงตัว ทั้งนี้ ในช่วง 11 เดือนแรกปี 55 ดัชนีราคาสินค้าเกษตร หดตัวร้อยละ -10.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมเดือน พ.ย. 55 อยู่ที่ระดับ 95.2 ปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 93.0 ซึ่งเป็นการปรับเพิ่มขึ้นครั้งแรกในรอบ 5 เดือน โดยเป็นผลมาจาก อุปสงค์ภายในประเทศที่ยังคงขยายตัวต่อเนื่องจากความต้องการสินค้าและบริการในกลุ่มอุตสากรรมยานยนต์ ก่อสร้างและกลุ่มอุตสากรรมอาหารเป็นสำคัญ อย่างไรก็ตาม ค่าดัชนีฯยังคงอยู่ในระดับที่ต่ำกว่า 100 สะท้อนความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการที่อยู่ในระดับที่ไม่ดีเท่าที่ควร เนื่องจากผู้ประกอบการยังมีความวังกลต่อการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกที่ส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออกของไทย ประกอบกับต้นทุนปัจจัยการผลิตที่ยังคงอยู่ในระดับที่สูง และปัญหาการขาดแคลนแรงงานในบางภาคอุตสาหกรรม ตลอดจนปัญหาเสถียรภาพทางการเมือง
  • ปริมาณจำหน่ายปูนซิเมนต์ภายในประเทศในเดือน พ.ย. 55 ขยายตัวร้อยละ 24.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนและหลังปรับผลทางฤดูกาลแล้ว (m-o-m SA) หดตัวร้อยละ -9.1 จากเดือนก่อนหน้า เนื่องจากความต้องการซื้อที่อยู่อาศัยชะลอลงภายหลังจากที่ตลาดอสังหาริมทรัพย์ฟื้นตัวในอัตราเร่งหลังจากปัญหาอุทกภัยในช่วงปลายปี 54 คลี่คลายลง และสอดคล้องกับจำนวนที่อยู่อาศัยที่ได้รับอนุมัติสินเชื่อจากธนาคารพาณิชย์ในเดือน ต.ค. 55 ที่ชะลอลงเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้า ขณะที่ผู้ประกอบการเริ่มชะลอการเปิดตัวโครงการใหม่
Economic Indicators: Next Week
  • ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์นั่งในเดือน พ.ย. 55 คาดว่าจะขยายตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ 550.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เร่งขึ้นจากเดือนก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 263.7 โดยได้รับปัจจัยบวกจาก 1. ปัจจัยฐานต่ำในช่วงเดียวกันปีก่อนที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาอุทกภัยในช่วงปลายปี 54 2. การฟื้นตัวของการบริโภคภาคเอกชนที่ยังคงขยายตัวต่อเนื่อง และ 3. จากนโยบายสนับสนุนของภาครัฐ ในการสนับสนุนการซื้อรถคันแรก โดยผู้บริโภคได้รับการคืนภาษีสูงถึง 1 แสนบาท สำหรับรถที่มีการซื้อจนถึง 31 ธันวาคม 55

Global Economic Indicators: This Week

US: mixed signal
  • อัตราเงินเฟ้อทั่วไป เดือน พ.ย. 55 อยู่ที่ร้อยละ 1.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ปรับลดลงมากจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ร้อยละ 2.1 ผลจากดัชนีราคาสินค้าหมวดพลังงานและเสื้อผ้าที่ปรับลดลงมาก มาอยู่ที่ร้อยละ 1.5 และ 1.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน จากร้อยละ 3.8 และ 3.0 ในเดือนก่อนหน้า จากราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับลดลงจากปัจจัยด้านอุปทานที่ผ่อนคลายลง ตลอดจนราคาเสื้อผ้าปรับลดลงจากเทศกาลลดราคาสินค้าวันขอบคุณพระเจ้า ยอดขายบ้านใหม่ เดือน พ.ย. 55 อยู่ที่ 861,000 หลัง (annual rate) หรือหดตัวร้อยละ -3.0 จากเดือนก่อนหน้า (ขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว) หลังจากที่ขยายตัวดีที่ร้อยละ 2.9 ในเดือน ต.ค. 55 ในขณะที่ใบอนุญาตก่อสร้างในเดือนเดียวกันขยายตัวร้อยละ 3.6 จากเดือนก่อนหน้า ทั้งนี้ ยอดขายบ้านมือสองเดือน พ.ย. 55 ขยายตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ 15.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หรือร้อยละ 5.9 จากเดือนก่อนหน้า บ่งชี้การฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปของตลาดอสังหาริมทรัพย์สหรัฐฯ
China: mixed signal
  • ราคาบ้านใหม่ เดือน พ.ย. 55 หดตัวชะลอลงมาอยู่ที่ร้อยละ -0.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน โดยราคาบ้านในเมืองใหญ่ อาทิ ปักกิ่ง เทียนจิน กวางเจา และฉ่งชิ่งที่กลับมาขยายตัวเป็นบวกครั้งแรกในรอบ 8-10 เดือน ที่ร้อยละ 0.7 0.3 0.8 และ 0.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ตามลำดับ เนื่องจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลจีนที่ทำให้ภาคอสังหาริมทรัพย์ขยายตัวขึ้นด้วย แม้ว่ารัฐบาลจะมีมาตรการควบคุมราคาอสังหาริมทรัพย์เพื่อป้องกันภาวะฟองสบู่ที่ได้เริ่มใช้มาตั้งแต่ปี 52
Euro zone: mixed signal
  • อัตราเงินเฟ้อ (ตัวเลขเบื้องต้น) เดือน พ.ย. 55 ปรับลดลงจากเดือนก่อนหน้ามาอยู่ที่ร้อยละ 2.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ผลจากสินค้าหมวดการคมนาคมสื่อสารและการเคหะฯ ที่ปรับตัวลดลงเป็นสำคัญ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (Markit's Composite PMI) (ตัวเลขเบื้องต้น) เดือน ธ.ค. 55 ปรับเพิ่มจากระดับ 46.5 จุดในเดือนก่อนหน้า มาอยู่ที่ระดับ 47.3 จุด โดยดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการ อยู่ที่ระดับ 46.3 และ 47.8 จุด ตามลำดับทั้งนี้ ดัชนีดังกล่าวยังคงอยู่ระดับต่ำว่า 50 จุดต่อเนื่องยาวนานกว่า 16 เดือนสะท้อนถึงภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการยูโรโซนที่หดตัวต่อเนื่องจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยจากปัญหาหนี้สาธารณะในยูโรโซนที่เรื้อรัง ขณะที่มูลค่าการส่งออก เดือน ต.ค. 55 ขยายตัวเร่งขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 14.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากร้อยละ 1.3 ในเดือนก่อน จากการส่งออกไปยังประเทศนอกกลุ่มยูโรโซนที่ขยายตัวเร่งขึ้นเป็นสำคัญ ส่วนมูลค่าการนำเข้า เดือน ต.ค. 55 กลับมาขยายตัวที่ร้อยละ 6.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนส่งผลให้ดุลการค้า เดือน ต.ค. 55 เกินดุลที่ 10.2 พันล้านยูโร (13 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) อีกทั้งผลการสำรวจความเชื่อมั่นภาคธุรกิจเยอรมนี (German Ifo Survey) เดือน ธ.ค. 55 ปรับเพิ่มจากระดับ 101.4 จุดในเดือนก่อน มาอยู่ที่ระดับ 102.4 จุด โดยปรับเพิ่มติดต่อกันเป็นเดือนที่ 2 สะท้อนมุมมองภาคธุรกิจต่อเศรษฐกิจเยอรมนีที่ปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง
Japan: mixed signal
  • มูลค่าการส่งออก เดือน พ.ย. 55 หดตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 6 ที่ร้อยละ -4.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน เนื่องจากการส่งออกไปยังประเทศคู่ค้าที่สำคัญโดยเฉพาะ จีนที่หดตัวเร่งขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นสำคัญโดยการส่งออกของญี่ปุ่นที่หดตัวต่อเนื่องนี้ ทำให้ทางการญี่ปุ่นออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อส่งเสริมการส่งออกหรือกระจายตลาดส่งออก เพื่อให้การส่งออกกลับมาขยายตัวอีกครั้ง ขณะที่มูลค่าการนำเข้า เดือน พ.ย. 55 กลับมาขยายตัวร้อยละ 0.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ส่งผลให้ดุลการค้า เดือน พ.ย. 55 ขาดดุลที่ -9.5 แสนล้านเยน (-11.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) นับว่าเป็นการขาดดุลมากสุดในรอบ 10 เดือนที่ผ่านมา วันที่ 20 ธ.ค. 55 ธนาคารกลางญี่ปุ่นประกาศคงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เดือน ธ.ค. 55 ที่ช่วงร้อยละ 0 - 0.1 ต่อปี พร้อมทั้งขยายวงเงินการดำเนินนโยบายทางการเงินแบบผ่อนคลายเพิ่มเติม (Quantitative Easing) โดยจะเข้าซื้อสินทรัพย์อีก 10 ล้านล้านเยน
Malaysia: mixed signal
  • อัตราเงินเฟ้อ เดือน พ.ย. 55 อยู่ที่ร้อยละ 1.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน คงที่ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 ผลจากมาตรการควบคุมราคาสินค้าจำเป็นของรัฐบาลมาเลเซีย โดยทำให้ราคาอาหาร ค่าที่อยู่อาศัย ค่าขนส่ง และค่าโทรคมนาคมขยายตัวในอัตราเท่าเดิมเป็นเดือนที่ 2
Singapore: worsening economic trend
  • มูลค่าการส่งออก เดือน พ.ย. 55 กลับมาหดตัวอีกครั้งที่ร้อยละ -2.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากการส่งออกไปยังมาเลเซีย และฮ่องกง (ตลาดส่งออก 2 อันดับแรกของสิงคโปร์มีสัดส่วนการส่งออกร้อยละ 12.21 และ 11.03 ของการส่งออกรวม ปี 54) ที่หดตัวเร่งขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ -8.1 และ -5.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ตามลำดับ ทำให้มูลค่าการนำเข้า เดือน พ.ย. 55 กลับมาหดตัวอีกครั้งเช่นกันที่ร้อยละ -4.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวปีก่อน จากการนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ และญี่ปุ่นที่หดตัวอย่างมากที่ร้อยละ -29.7 และ -12.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ตามลำดับ ในแง่มิติสินค้า การนำเข้าสินค้าในหมวดเครื่องมือด้านการโทรคมนาคมหดตัวสูงถึงร้อยละ -6.3 ทำให้ดุลการค้าในเดือนเดียวกันนี้เกินดุลลดลงที่ 1.94 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์
Hong Kong: mixed signal
  • อัตราการว่างงาน เดือน พ.ย. 55 ทรงตัวอยู่ในระดับใกล้เคียงกับเดือนก่อนหน้าที่ร้อยละ 3.4 ของกำลังแรงงานรวม โดยจำนวนผู้ว่างงานอยู่ที่ 127,100 คน หรือลดลง 3,900 คนจากเดือนก่อนหน้า สะท้อนอุปสงค์ในประเทศที่ยังคงขยายตัวดีต่อเนื่อง อัตราเงินเฟ้อ เดือน พ.ย. 55 อยู่ที่ร้อยละ 3.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนหน้า ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ร้อยละ 3.8 จากราคาเช่าบ้านที่ชะลอลง ขณะที่ราคาอาหารยังคงเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้า
India: mixed signal
  • วันที่ 18 ธ.ค. 55 ธนาคารกลางอินเดียประกาศคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ร้อยละ 8.00 ต่อปี ส่วนหนึ่งจากอุปสงค์ในประเทศ รวมถึงภาคการส่งออกที่ชะลอลง ผนวกกับแรงกดดันจากเงินเฟ้อที่ยังคงอยู่ในระดับสูง จากราคาอาหารและพลังงานที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น
Weekly Financial Indicators
  • ดัชนี SET ปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง ใกล้ระดับ 1,380 จุด โดย ณ วันที่ 20 ธ.ค. 55 ดัชนีฯ ปิดที่ระดับ 1,377.40 จุด ด้วยมูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยที่สูงถึง 40,910 ล้านบาทต่อวัน จากแรงซื้อของนักลงทุนต่างชาติเป็นสำคัญ จากตัวเลขเศรษฐกิจโดยรวมที่ดี ประกอบกับมีแรงซื้อ LTF และ RMF ช่วงก่อนสิ้นปีเพื่อผลประโยชน์ทางภาษี ทั้งนี้ระหว่างวันที่ 17-20 ธ.ค. 55 นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิ 6,636.39 ล้านบาท ในขณะที่ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลค่อนข้างทรงตัว โดยผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุมากกว่า 5 ปีปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากสัปดาห์ก่อน อย่างไรก็ตาม ผลจากการประมูลพันธบัตรรัฐบาลบ่งชี้ว่าพันธบัตรอายุ 5 ปียังคงเป็นที่ต้องการของนักลงทุน ทั้งนี้ ระหว่างวันที่ 17-20 ธ.ค. 55 นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิ 10,462.6 ล้านบาท
  • ค่าเงินบาทค่อนข้างทรงตัว โดย ณ วันที่ 20 ธ.ค. 55 ปิดที่ระดับ 30.61 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าขึ้นเล็กน้อยที่ร้อยละ 0.07 จากสัปดาห์ก่อนหน้า ในขณะที่ค่าเงินสกุลอื่นๆ โดยเฉพาะค่าเงินเยน ริงกิตมาเลเซีย และวอนเกาหลีอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้ ค่าเงินบาทที่ค่อนข้างทรงตัว ประกอบกับทิศทางค่าเงินสกุลอื่นไม่ค่อยชัดเจน โดยมีบางส่วนแข็งค่าขึ้นมากกว่าค่าเงินบาท และบางส่วนอ่อนค่าลงมากกว่าค่าเงินบาท ผลักดันให้ดัชนีค่าเงินบาท (NEER) ในสัปดาห์นี้แข็งค่าขึ้นเพียงเล็กน้อยร้อยละ 0.13 จากสัปดาห์ก่อนหน้า
  • ราคาทองคำปรับลดลงมาก โดยราคาทองคำ ณ วันที่ 20 ธ.ค. 55 ปิดที่ 1,647.14 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ ลดลงจากต้นสัปดาห์ที่ปิดที่ 1,697.42 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3253 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ