รายงานภาวะเศรษฐกิจรายสัปดาห์ระหว่างวันที่ 14 - 18 มกราคม 2556

ข่าวเศรษฐกิจ Monday January 21, 2013 11:12 —กระทรวงการคลัง

Executive Summary
Indicators this week
  • รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ (หลังหักการจัดสรร ให้ อปท.) ในเดือน ธ.ค.55 ได้จำนวน 183.7 พันล้านบาท

หรือขยายร้อยละ 45.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน

  • นักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าประเทศไทยในเดือน ธ.ค.55 มีจำนวนทั้งสิ้น 2.4 ล้านคน ขยายตัวร้อยละ 30.4

เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

  • ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมเดือน ธ.ค. 55 อยู่ที่ระดับ 98.8 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนที่อยู่ระดับ 95.2
  • ปริมาณจำหน่ายปูนซิเมนต์ภายในประเทศในเดือน ธ.ค. 55 ขยายตัวร้อยละ 8.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
  • GDP จีน ไตรมาส 4 ปี 55 ขยายตัวเร่งขึ้นครั้งแรกในรอบ 2 ปีที่ร้อยละ 7.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อน

ทำให้ทั้งปี 55 เศรษฐกิจจีนขยายตัวที่ร้อยละ 7.8

  • ยอดค้าปลีกสหรัฐฯ เดือน ธ.ค. 55 ขยายตัวร้อยละ 2.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หรือร้อยละ 0.5 จากเดือนก่อนหน้า
  • cilผลผลิตภาคอุตสาหกรรมของยูโรโซน เดือน พ.ย. 55 หดoPตัวร้อยละ -3.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคญี่ปุ่น เดือน ธ.ค. 55 ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ระดับ 39.2 จุด จากระดับ 39.4 จุดในเดือนก่อน
  • วันที่ 11 ม.ค. 56 ธนาคารกลางเกาหลีใต้ประกาศคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ร้อยละ 2.75 ต่อปี
Indicators next week
 Indicators                          Forecast             Previous
 Dec : Passenger car sale (%YoY)        250.0                509.9

ยังคงขยายตัวในระดับสูง เนื่องจาก 1. จากนโยบายสนับสนุนของภาครัฐในการซื้อรถคันแรก โดยผู้บริโภคได้รับการคืนภาษีสูงถึง 1 แสนบาท ที่มีกำหนดสิ้นสุด ณ วันที่ 31 ธันวาคม 55 2. ปัจจัยฐานต่ำในช่วงเดียวกันปีก่อนที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาอุทกภัยในช่วงปลายปี 54 และ 3. การฟื้นตัวของการบริโภคภาคเอกชนที่ยังคงขยายตัวต่อเนื่อง

Economic Indicators: This Week
  • รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ (หลังหักการจัดสรร ให้ อปท.) ในเดือน ธ.ค.55 ได้จำนวน 183.7 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 57.0 พันล้านบาท จากช่วงเดียวกันของปีก่อน หรือร้อยละ 45.0 และมากกว่าประมาณการ 42.0 พันล้านบาท หรือร้อยละ 29.6 โดย (1) ภาษีฐานรายได้จัดเก็บได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 51.8 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากผู้เสียภาษีใช้สิทธิยื่นแบบแสดงรายการและชำระภาษีตามแบบ ภ.ง.ด. 51 ทางอินเตอร์เน็ต ซึ่งได้รับการขยายเวลาจากเดือนพฤศจิกายนสูงกว่าที่คาดไว้ (2) ภาษีมูลค่าเพิ่มสามารถจัดเก็บได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.5 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ประกอบด้วยภาษีการนำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.0 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เพิ่มขึ้นในอัตราที่ชะลอตัวจากช่วงเดียวกันจากปีก่อน สอดคล้องกับอากรขาเข้าที่เริ่มลดลงร้อยละ 7.1 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และภาษีมูลค่าเพิ่มจากการบริโภคเพิ่มขึ้นร้อยละ 16.0 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน สะท้อนถึงการบริโภคที่เพิ่มขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับภาษีฐานรายได้ที่จัดเก็บได้เพิ่มขึ้น และ (3) ภาษีรถยนต์จัดเก็บได้เพิ่มขึ้นถึง 2.1 เท่าจากช่วงเดียวกันของปีก่อน และมากกว่าประมาณการร้อยละ 57.0 เนื่องจากผู้ผลิตรถยนต์ฟื้นตัว จากปัญหาอุทกภัยในช่วงปลายปีก่อน และมีการเปิดตัวรถยนต์ใหม่ออกสู่ตลาด ประกอบกับแรงจูงใจจากนโยบายรถยนต์คันแรกที่กระตุ้นให้ผู้บริโภคตัดสินใจซื้อเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ มีรายได้นำส่งจากการประมูลใบอนุญาต 3G งวดแรกประมาณ 20.8 พันล้านบาท และการส่งคืนเงินกันเพื่อการชดเชยค่าภาษีอากรสำหรับผู้ส่งออกประมาณ 8.2 พันล้านบาท เป็นผลมาจากการส่งออกในปีงบประมาณที่ผ่านมาชะลอตัวลง ทั้งนี้ รัฐบาลมีรายได้สุทธิ (หลังหักจัดสรรให้ อปท.) ในช่วง 3 เดือนแรกของปี งปม. 56 จำนวน 504.6 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 106.1 พันล้านบาท จากช่วงเดียวกันของปีก่อน หรือร้อยละ 26.6 และมากกว่าประมาณการตามเอกสาร งปม. 66.9 พันล้านบาท หรือร้อยละ 15.3
  • ภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ระดับราคาคงที่ ในเดือน ธ.ค. 55 มีมูลค่า 52.2 พันล้านบาท หรือขยายตัวร้อยละ 7.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ชะลอลงจากเดือนก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 29.7 ตามการลดลงจากภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ระดับราคาคงที่ ที่จัดเก็บบนฐานการนำเข้าที่ขยายตัวชะลอลงที่ร้อยละ 1.6 จากเดือนก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 26.2 เนื่องจากมีการเร่งนำเข้าสูงในเดือนก่อนหน้า ในขณะที่ภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ระดับราคาคงที่ ที่จัดเก็บบนฐานการบริโภคภายในประเทศยังคงขยายตัวในเกณฑ์ดีแม้ว่าชะลอลงจากเดือนก่อนที่ร้อยละ 12.2 ส่งผลให้ในปี 55 ภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ระดับราคาคงที่ ขยายตัวที่ร้อยละ 14.1 สะท้อนถึงการบริโภคภาคเอกชนที่ยังคงขยายตัวได้อย่างแข็งแกร่ง
  • ภาษีจากการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์รวมในเดือน ธ.ค. 55 ขยายตัวร้อยละ 10.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขยายตัวชะลอลงจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 69.8 และเมื่อขจัดผลทางฤดูกาลออกพบว่าหดตัวร้อยละ -13.6 ต่อเดือน ส่งผลให้ไตรมาสที่ 4 ของปี 55 ภาษีธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์รวมขยายตัวร้อยละ 45.2 เร่งขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 7.2 เนื่องจากได้รับปัจจัยบวกจากมาตรการภาครัฐในด้านสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan) ประกอบกับนโยบายบ้านหลังแรก และความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่กลับสู่สภาวะปกติ ขณะที่ด้านอุปทาน (Supply) ของภาคอสังหาริมทรัพย์ยังคงขยายตัวต่อเนื่อง ทั้งนี้ ภาษีจากการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ในปี 55 ขยายตัวร้อยละ 20.6
  • นักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าประเทศไทยในเดือน ธ.ค.55 มีจำนวนทั้งสิ้น 2.4 ล้านคน ขยายตัวร้อยละ 30.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่หดตัวร้อยละ -3.7 เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังหักผลทางฤดูกาล (m-o-m SA) โดยการขยายตัวดังกล่าวมาจากกลุ่มประเทศ อันได้แก่ เอเชียตะวันออก อาเซียนและยุโรป คิดเป็นร้อยละ 103.8 22.4 และ 10.6 ตามลำดับ ส่งผลให้ทั้งปี 55 มีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติรวมทั้งสิ้น 22.3 ล้านคน ขยายตัวที่ร้อยละ 16.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยประเทศ 3 อันดับแรกที่ขยายตัวได้ดี ได้แก่ จีน รัสเซีย และญี่ปุ่น คิดเป็นร้อยละ 62.1 25.0 และ 21.6 ตามลำดับ สะท้อนให้เห็นว่า ภาคการท่องเที่ยวเป็นสาขาหนึ่งที่มีบทบาทสำคัญในการช่วยสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 55
  • ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมเดือน ธ.ค. 55 อยู่ที่ระดับ 98.8 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 95.2 ซึ่งเป็นการปรับเพิ่มขึ้นติดต่อกันเป็นเดือนที่ 2 โดยเป็นผลมาจากอุปสงค์ทั้งภายในและต่างประเทศที่มีต่อสินค้าอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ค่าดัชนีฯยังคงอยู่ในระดับที่ต่ำกว่า 100 สะท้อนความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการที่อยู่ในระดับที่ไม่ดี เนื่องจากผู้ประกอบการยังมีความวังกลต่อต้นทุนปัจจัยการผลิตที่จะเพิ่มขึ้นจากนโยบายปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท/วัน ทั่วประเทศ ราคาวัตถุดิบและพลังงานที่มีแนวโน้มสูงขึ้น และปัญหาการขาดแคลนแรงงานโดยเฉพาะในภาคอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้น
  • ปริมาณจำหน่ายปูนซิเมนต์ภายในประเทศในเดือน ธ.ค. 55 ขยายตัวร้อยละ 8.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนและหลังปรับผลทางฤดูกาลแล้ว (m-o-m SA) หดตัวร้อยละ -5.4 จากเดือนก่อนหน้า เนื่องจากความต้องการซื้อที่อยู่อาศัยของผู้บริโภคชะลอลงภายหลังจากที่เร่งตัวขึ้นมากโดยเฉพาะในไตรมาสที่ 3 ของปี 55 สอดคล้องกับจำนวนที่อยู่อาศัยที่ได้รับอนุมัติสินเชื่อจากธนาคารพาณิชย์ในเดือน พ.ย. 55 ที่ชะลอลงเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้า ทั้งนี้ สถานการณ์ตลาดที่อยู่อาศัยในปี 55 ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ดีและสนับสนุนการเติบโตของภาคการก่อสร้างของไทย จากปัจจัยสนับสนุนของนโยบายสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan) และโครงการบ้านหลังแรกของภาครัฐ รวมถึงความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการและผู้บริโภคที่เพิ่มขึ้นภายหลังปัญหาอุทกภัยในช่วงปลายปี 54 คลี่คลายลง ทำให้สถาบันการเงินมียอดสินเชื่อที่อยู่อาศัยปล่อยใหม่ในช่วง 3 ไตรมาสแรกสูงถึงประมาณ 3.39 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 16 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
Economic Indicators: Next Week
  • ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์นั่งในเดือน ธ.ค. 55 คาดว่าจะขยายตัวในระดับสูงต่อเนื่องที่ร้อยละ 250.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจาก 1. จากนโยบายสนับสนุนของภาครัฐในการซื้อรถคันแรก โดยผู้บริโภคได้รับการคืนภาษีสูงถึง 1 แสนบาท ที่มีกำหนดสิ้นสุด ณ วันที่ 31 ธันวาคม 55 2. ปัจจัยฐานต่ำในช่วงเดียวกันปีก่อนที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาอุทกภัยในช่วงปลายปี 54 และ 3. การฟื้นตัวของการบริโภคภาคเอกชนที่ยังคงขยายตัวต่อเนื่อง

Global Economic Indicators: This Week

US: improving economic trend
  • ยอดค้าปลีก เดือน ธ.ค. 55 ขยายตัวร้อยละ 2.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หรือร้อยละ 0.5 จากเดือนก่อนหน้า (ขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว) จากยอดขายสินค้าคงทนโดยเฉพาะยานยนต์ ในขณะที่ยอดขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงหดตัวตามราคาที่ลดลง ทั้งนี้ หากหักสินค้ายานยนต์ออกยอดค้าปลีกจะขยายตัวร้อยละ 2.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หรือร้อยละ0.3 จากเดือนก่อนหน้า ดุลการค้าสหรัฐฯ เดือน พ.ย. 55 ขาดดุลสูงสุดในรอบ 7 เดือนที่ -48.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่อัตราเงินเฟ้อ เดือน ธ.ค. 55 อยู่ที่ร้อยละ 1.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อนหน้า
Eurozone: worsening economic trend
  • ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมของยูโรโซน เดือน พ.ย. 55 หดตัวร้อยละ -3.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หรือหดตัวร้อยละ -0.3 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน หดตัวสูงสุดนับตั้งแต่เดือน เม.ย. 53 โดยผลผลิตหมวดสินค้าคงทนหดตัวในระดับสูง ตอกย้ำภาคอุตสาหกรรมยูโรโซนถดถอยต่อเนื่อง มูลค่าการส่งออกยูโรโซน เดือน พ.ย. 55 ขยายตัวชะลอลงอยู่ที่ร้อยละ 5.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ผลจากการส่งออกไปยังสหรัฐฯ ยังคงขยายตัวได้ดี ขณะที่การค้าระหว่างประเทศยูโรโซนด้วยกันชะลอตัวลงขณะที่มูลค่าการนำเข้าหดตัวร้อยละ -0.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ผลจากการนำเข้าเครื่องดื่มและยาสูบที่หดตัว ตลอดจนราคาน้ำมันที่ลดลงทำให้มูลค่านำเข้าน้ำมันลดลง ส่งผลให้ดุลการค้าเกินดุล 11.0 พันล้านยูโร อัตราเงินเฟ้อ เดือน ธ.ค. 55 ทรงตัวจากเดือนก่อนที่ร้อยละ 2.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
China: improving economic trend
  • GDP ไตรมาส 4 ปี 55 ขยายตัวเร่งขึ้นครั้งแรกในรอบ 2 ปีที่ร้อยละ 7.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ทำให้ทั้งปี 55 เศรษฐกิจจีนขยายตัวที่ร้อยละ 7.8 จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศของรัฐบาล ด้วยการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานและภาคอสังหาริมทรัพย์ที่กลับมาขยายตัว ทดแทนภาคการส่งออกที่ยังคงชะลอตัวแม้มีสัญญาณฟื้นตัวขึ้นบ้าง มูลค่าการส่งออก เดือน ธ.ค. 55 ขยายตัวเร่งขึ้นมากที่ร้อยละ 14.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อน โดยถึงแม้จะขยายตัวสูงสุดในรอบ 7 เดือนแต่ยังไม่สามารถบ่งชี้ว่าการส่งออกฟื้นตัวได้เนื่องจากการส่งออกที่ขยายตัวสูงนี้ส่วนหนึ่งมาจากปัจจัยฐานต่ำในปีก่อนและการเร่งส่งออกตามยอดการสั่งซื้อ ขณะที่มูลค่าการนำเข้าขยายตัวเร่งขึ้นที่ร้อยละ 6.0 สูงสุดในรอบ 7 เดือนเช่นกันทำให้ดุลการค้าเกินดุลเพิ่มขึ้นมาที่ 3.2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ด้านอัตราเงินเฟ้อ เดือน ธ.ค. 55 อยู่ที่ร้อยละ 2.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อน จากราคาอาหาร (สัดส่วน 1 ใน 3 ของการคำนวณ) โดยเฉพาะราคาผักสด ที่ปรับเพิ่มขึ้นมาก ส่วนหนึ่งจากผลทางฤดูกาลและสภาพอากาศหนาวมีผลให้ปริมาณผลผลิตลดลง ราคาบ้านจีน เดือน ธ.ค. 55 หดตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 10 ที่ร้อยละ -0.04 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หดตัวชะลอลงจากเดือนก่อน จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐ ทำให้ภาคอสังหาริมทรัพย์กลับมาขยายตัว ด้านผลผลิตภาคอุตสาหกรรม เดือน ธ.ค. 55 ขยายตัวเร่งขึ้นที่ร้อยละ 10.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากผลผลิตภาคโทรคมนาคมที่ขยายตัวเร่งขึ้นมาก ตามการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของรัฐบาล ขณะที่ยอดค้าปลีก เดือน ธ.ค. 55 ขยายตัวเร่งขึ้นเป็นเดือนที่ 6 ที่ร้อยละ 15.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากยอดขายเครื่องเรือน อุปกรณ์ก่อสร้าง และสินค้าเพื่อสันทนาการที่ขยายตัวเร่งขึ้นมาก
Japan: worsening economic trend
  • ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือน ธ.ค. 55 ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ระดับ 39.2 จุด จากระดับ 39.4 จุดในเดือนก่อน ลดลงต่อเนื่องนับตั้งแต่เดือน พ.ค. 55 เป็นต้นมา เนื่องจากผู้บริโภคยังคงมีความกังวลต่อแนวโน้มเศรษฐกิจญี่ปุ่นที่ยังคงชะลอตัวต่อเนื่อง ผนวกกับเงินโบนัสประจำฤดูหนาวและค่าทำงานล่วงเวลาลดลงในเดือนก่อน สะท้อนถึงแนวโน้มภาวะเศรษฐกิจญี่ปุ่นที่ยังคงซบเซา
Singapore: mixed signal
  • มูลค่าการส่งออก เดือน ธ.ค. 55 หดตัวสูงสุดในรอบ 14 เดือนที่ร้อยละ -13.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ผลจากการส่งออกสินค้าหมวดอิเล็กทรอนิกส์และเวชภัณฑ์ที่หดตัวเป็นสำคัญและมูลค่าการนำเข้า เดือน ธ.ค. 55 หดตัวชะลอลงอยู่ที่ร้อยละ -1.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ทำให้ดุลการค้าเกินดุลที่ 2.0 พันล้านดอลลาร์สิงคโปร์ ด้านยอดค้าปลีก เดือน พ.ย. 55 หดตัวลดลงที่ร้อยละ -0.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อน โดยยอดขายหมวดสินค้าทางการแพทย์และผลิตภัณฑ์รักษาผิว ตลอดจนยอดขายในซุปเปอร์มาเก็ตและห้างสรรพสินค้าขยายตัวเร่งขึ้น ขณะที่ยอดขายรถยนต์หดตัวถึงร้อยละ -12.0 เป็นตัวฉุดสำคัญให้ยอดค้าปลีกในเดือนนี้ยังคงหดตัว
Australia: mixed signal
  • อัตราการว่างงาน เดือน ธ.ค. 55 อยู่ที่ร้อยละ 5.4 ของกำลังแรงงานรวม เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ร้อยละ 5.3 ของกำลังแรงงานรวม โดยจำนวนผู้มีงานทำลดลง 5,500 คน สะท้อนอุปสงค์ในประเทศที่อาจชะลอลงในระยะต่อไป จากการที่ออสเตรเลียพึ่งพา อุปสงค์ในประเทศในระดับสูงถึงร้อยละ 89.4 ของ GDP
Hong Kong: mixed signal
  • อัตราการว่างงาน เดือน ธ.ค. 55 ลดลงเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้ามาอยู่ที่ร้อยละ 3.3 ของกำลังแรงงานรวม โดยจำนวนผู้มีงานทำเพิ่มขึ้น 23,400 คน ทั้งนี้ อุปสงค์ในประเทศ กอปรกับภาคการท่องเที่ยวที่จะคาดว่าจะปรับตัวดีขึ้นในช่วงเทศกาลตรุษจีน จะส่งผลบวกต่อตลาดแรงงานในระยะสั้น
India: mixed signal
  • อัตราเงินเฟ้อ เดือน ธ.ค. 55 ทรงตัวอยู่ระดับใกล้เคียงกับเดือนก่อนหน้าที่ร้อยละ 7.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน โดยราคาอาหารและน้ำมันยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง สะท้อนแรงกดดันจากเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูง ท่ามกลางอุปสงค์ในและนอกประเทศที่ชะลอลงต่อเนื่อง
South Korea: mixed signal
  • วันที่ 11 ม.ค. 56 ธนาคารกลางเกาหลีใต้ประกาศคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ร้อยละ 2.75 ต่อปี จากเศรษฐกิจโลกที่ยังคงมีแนวโน้มชะลอลง ขณะที่อุปสงค์ในประเทศยังคงขยายตัวได้ต่อเนื่อง มูลค่าการส่งออก เดือน ธ.ค. 55 หดตัวเร่งขึ้นสูงสุดในรอบ 4 เดือนมาอยู่ที่ร้อยละ -5.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากการส่งออกไปยังยูโรโซน ญี่ปุ่น และสหรัฐฯ ที่หดตัว สะท้อนอุปสงค์จากนอกประเทศที่ชะลอลงชัดเจน ขณะที่มูลค่าการนำเข้า เดือน ธ.ค. 55 หดตัวร้อยละ -5.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 3.9 จากการนำเข้าอาหาร และเครื่องมือเครื่องจักรที่หดตัวเร่งขึ้น ส่งผลให้ดุลการค้า เดือน ธ.ค. 55 เกินดุล 1.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
Weekly Financial Indicators
  • ดัชนี SET เคลื่อนไหวอยู่ในช่วงแคบๆ ใกล้ระดับ 1,420 จุด ด้วยมูลค่าซื้อขายเฉลี่ยสูง โดย ณ วันที่ 17 ม.ค. 56 ดัชนีฯ ปิดที่ระดับ 1,420.95 จุด ด้วยมูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยที่สูงถึง 57,645.5 ล้านบาทต่อวัน จากแรงซื้อของนักลงทุนต่างชาติเป็นสำคัญ จากแนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่ดีขึ้น ส่งผลให้นักลงทุนต่างชาติเข้าลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงในภูมิภาคมากขึ้น ทั้งนี้ระหว่างวันที่ 14-17 ม.ค. 56 นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิ 3,757.94 ล้านบาท ในขณะที่ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลค่อนข้างคงที่ หลังจาก กนง. คงดอกเบี้ยนโยบายที่ร้อยละ 2.75 ต่อปี โดยนักลงทุนยังคงจับตารายงานผลประกอบการของบริษัทต่างๆ ประจำไตรมาส 4 ปี 55 ที่คาดว่าจะประกาศภายใน 1-2 สัปดาห์นี้ ทั้งนี้ระหว่างวันที่ 14-17 ม.ค. 56 นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิ 8,786.9 ล้านบาท
  • ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็ว โดย ณ วันที่ 17 ม.ค. 56 ปิดที่ระดับ 29.76 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าขึ้นร้อยละ 1.72 จากสัปดาห์ก่อนหน้า ซึ่งเป็นไปในแนวทางเดียวกับค่าเงินสกุลอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นค่าเงินยูโร หยวน ริงกิตมาเลเซีย และวอนเกาหลี ที่แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้ ค่าเงินบาทที่แข็งค่าในอัตราที่มากกว่าค่าเงินสกุลอื่นๆ ทำให้ดัชนีค่าเงินบาท (NEER) ในสัปดาห์นี้แข็งค่าขึ้นร้อยละ 1.94 จากสัปดาห์ก่อนหน้า
  • ราคาทองคำปรับตัวสูงขึ้นเล็กน้อย โดยราคาทองคำ ณ วันที่ 17 ม.ค. 56 ปิดที่ 1,687.26 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากต้นสัปดาห์ที่ปิดที่ 1,666.80 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3253 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ