รายงานภาวะเศรษฐกิจรายสัปดาห์ระหว่างวันที่ 4 - 8 กุมภาพันธ์ 2556

ข่าวเศรษฐกิจ Monday February 11, 2013 11:10 —กระทรวงการคลัง

Executive Summary
Indicators this week
  • ปริมาณการจำหน่ายรถจักรยานยนต์ในเดือน ม.ค. 56 ขยายตัวร้อยละ 19.7 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
  • ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยโดยรวม เดือน ม.ค. 56 อยู่ที่ระดับ 72.1
  • ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างในเดือน ม.ค. 56 ขยายตัวร้อยละ 1.9 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
  • อัตราการว่างงานเดือน ธ.ค.55 อยู่ที่ร้อยละ 0.5 ของกำลังแรงงานรวม
  • GDP อินโดนีเซีย ไตรมาส 4 ปี 55 ขยายตัวต่ำสุดในรอบ 11 ไตรมาสที่ร้อยละ 6.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • อัตราการว่างงานสหรัฐ เดือน ม.ค. 56 ยังคงอยู่ระดับสูงที่ร้อยละ 7.9 ของกำลังแรงงานรวม
  • ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรม (ISM Mfg PMI) สหรัฐ เดือน ม.ค. 56 ที่ระดับ 53.1 จุด
  • ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อยูโรโซน เดือน ม.ค. 56 ปรับตัวoเพิ่มขึ้นจากระดับ 47.2 จุด
  • เมื่อวันที่ 7 ก.พ. 56 ECB มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ที่ร้อยละ 0.75 ต่อปี
  • มูลค่าการส่งออกจีน เดือน ม.ค. 56 ขยายตัวในอัตราเร่งที่ร้อยละ 25.0 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
Indicators next week
 Indicators                                    Forecast           Previous
 Jan : Number of  In-Bound Tourists (%YoY)       9.1                30.4

โดยเป็นการขยายตัวจากทุกกลุ่มภูมิภาค สะท้อนได้จากข้อมูลล่าสุดของการเดินทางผ่านด่านสุวรรณภูมิ (ซึ่งมีสัดส่วนประมาณร้อยละ 65.5 ของด่านทั้งหมด) ที่มีนักท่องเที่ยวเดินต่างประเทศเดินทางเข้าทั้งสิ้น 1.4 ล้านคน ขยายตัวร้อยละ 10.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

Economic Indicators: This Week
  • ปริมาณการจำหน่ายรถจักรยานยนต์ในเดือน ม.ค. 56 มีจำนวน 191,107 คัน หรือขยายตัวร้อยละ 19.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ต่อเนื่องจากเดือนก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 22.4 ตามการขยายตัวของยอดขายรถจักรยานยนต์ในกทม.และในภูมิภาค ที่ขยายตัวร้อยละ 18.1 และร้อยละ 20.1 ตามลำดับ เนื่องจากปัจจัยฐานต่ำจากอุทกภัยในช่วงปลายปี 54 รวมถึงรายได้ภาคครัวเรือนที่อยู่ในเกณฑ์ดี โดยเฉพาะในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคเหนือ ที่ได้รับปัจจัยบวกจากนโยบายรับจำนำข้าวของรัฐบาล
  • ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยโดยรวม เดือน ม.ค. 56 อยู่ที่ระดับสูงสุดในรอบ16 เดือนที่ 72.1 จากเดือนก่อนที่อยู่ระดับ 70.6 ส่วนหนึ่งเป็นผลจากมาสถานการณ์เศรษฐกิจในประเทศและเศรษฐกิจโลกปรับตัวดีขึ้นจนส่งผลให้การบริโภค การลงทุน การส่งออก และการท่องเที่ยวอยู่ในทิศทางที่ดีขึ้น รวมทั้งการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำทั่วประเทศ ส่งผลให้กำลังซื้อโดยรวมเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ดี ผู้บริโภคยังมีความกังวลจากปัจจัยด้านการเมือง และปัญหาค่าครองชีพที่ยังทรงตัวในระดับสูง
  • ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างในเดือน ม.ค. 56 ขยายตัวร้อยละ 1.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.4 จากการเพิ่มขึ้นของดัชนีในหมวดผลิตภัณฑ์เหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.1 (เหล็กเส้นเสริมคอนกรีต ลวดเหล็กเสริมคอนกรีตอัดแรง ท่อเหล็ก เหล็กแผ่น) เนื่องจากราคาเหล็กในตลาดโลกปรับขึ้นตามราคาสินแร่เหล็ก และหมวดวัสดุฉาบผิวสูงขึ้นร้อยละ 1.1 (สีน้ำอะคริลิค สีรองพื้นปูน) เนื่องจากต้นทุนวัตถุดิบและค่าแรงที่ปรับตัวสูงขึ้น
  • การจ้างงานเดือน ธ.ค.55 อยู่ที่ 39.55 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า 5.4 หมื่นคน โดยมีสาเหตุมาจากการจ้างงานภาคอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น ขณะที่การจ้างงานภาคเกษตรและภาคบริการปรับตัวลดลง ทั้งนี้ อัตราการว่างงานเดือน ธ.ค.55 อยู่ที่ร้อยละ 0.5 ของกำลังแรงงานรวม คิดเป็นผู้ว่างงาน 1.9 แสนคน โดยอัตราการว่างงานเฉลี่ยทั้งปี 55 อยู่ที่ 0.7 ของกำลังแรงงานรวม
Economic Indicators: Next Week
  • จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศในเดือน ม.ค. 56 คาดว่าจะมีจำนวน 2.2 ล้านคน ขยายตัวต่อเนื่องอยู่ที่ร้อยละ 9.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเป็นการขยายตัวได้ดีจากทุกกลุ่มภูมิภาค สะท้อนได้จากข้อมูลล่าสุดของการเดินทางผ่านด่านสุวรรณภูมิ (ซึ่งมีสัดส่วนประมาณร้อยละ 65.5 ของด่านทั้งหมด) ที่มีนักท่องเที่ยวเดินต่างประเทศเดินทางเข้าทั้งสิ้น 1.4 ล้านคน ขยายตัวร้อยละ 10.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

Global Economic Indicators: This Week

US: improving economic trend
  • การจ้างงานนอกภาคเกษตร (Nonfarm payrolls) เดือน ม.ค. 56 เพิ่มขึ้น 157,000 ตำแหน่งจากเดือนก่อนหน้า โดยการจ้างงานในภาคเอกชนเพิ่มขึ้นถึง 166,000 ตำแหน่ง ในจำนวนนี้เป็นการจ้างงานในภาคบริการที่เพิ่มขึ้นถึงกว่า 121,000 ตำแหน่ง อีกทั้งมีการปรับปรุงข้อมูลปี 55 ทำให้ทั้งปี 55 มีการจ้างงานนอกภาคเกษตรเพิ่มขึ้นกว่า 2.17 ล้านตำแหน่งจากปีก่อนหน้า อย่างไรก็ตาม อัตราการว่างงานยังคงอยู่ระดับสูงที่ร้อยละ 7.9 ของกำลังแรงงานรวม เนื่องจากมีแรงงานเข้าสู่ตลาดแรงงานอย่างต่อเนื่อง ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรม (ISM Mfg PMI) เดือน ม.ค. 56 อยู่ระดับสูงสุดในรอบ 1 ปี ที่ระดับ 53.1 จุด สูงขึ้นมากจากระดับเดือน ธ.ค. 55 ที่ระดับ 50.2 จุด โดยเป็นผลมาจากดัชนีค่าสั่งซื้อสินค้าใหม่ ดัชนีการผลิต ดัชนีสินค้าคงคลัง และดัชนีการจ้างงานที่ปรับตัวสูงขึ้นมาก ในขณะที่ดัชนีฯ ภาคบริการ (ISM Non-Mfg PMI) อยู่ที่ระดับ 55.2 จุด ลดลงเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 55.7 จุด อย่างไรก็ตาม ดัชนีฯ ยังอยู่เกินระดับ 50 ติดต่อกันกว่า 3 ปี สะท้อนการขยายตัวอย่างต่อเนื่องของภาคบริการสหรัฐฯ
Eurozone: worsening economic trend
  • อัตราเงินเฟ้อ (ตัวเลขเบื้องต้น) เดือน ม.ค. 56 ลดลงอยู่ที่ร้อยละ 2.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่ พ.ย. 55 จากราคาสินค้าหมวดพลังงานที่ชะลอลงเป็นสำคัญ ขณะที่ อัตราการว่างงาน เดือน ธ.ค. 55 ทรงตัวอยู่ในระดับสูงเป็นประวัติการณ์ 3 เดือนติดต่อกัน ที่ร้อยละ 11.7 ของกำลังแรงงานรวม ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อยูโรโซน เดือน ม.ค. 56 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 47.2 จุดในเดือนก่อนหน้า มาอยู่ระดับ 48.6 จุด โดยดัชนีฯ ภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการ ปรับเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 47.9 และ 48.6 จุด ตามลำดับทั้งนี้ ดัชนีดังกล่าวยังอยู่ระดับต่ำกว่า 50 จุด บ่งชี้ว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจของยูโรโซนยังคงหดตัว ยอดค้าปลีก เดือน ธ.ค. 55 หดตัวเร่งขึ้นที่ร้อยละ -3.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ส่งผลให้ทั้งปี 55 ยอดค้าปลีกหดตัวเฉลี่ยร้อยละ -1.7 จากยอดขายสินค้าหมวดที่ไม่ใช่อาหารหดตัวเร่งขึ้นเป็นสำคัญ เมื่อวันที่ 7 ก.พ. 56 ที่ผ่านมา ผลการประชุม ECB มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ที่ร้อยละ 0.75 ต่อปี ติดต่อกันเป็นเดือนที่ 7
China: improving economic trend
  • มูลค่าการส่งออก เดือน ม.ค. 56 ขยายตัวเร่งขึ้นมากติดต่อเป็นเดือนที่ 3 และอยู่ระดับสูงสุดตั้งแต่เดือน เม.ย. 54 ที่ร้อยละ 25.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน เนื่องจากเทศกาลตรุษจีนปีนี้อยู่ในเดือน ก.พ. ทำให้มีการเร่งการส่งออกสินค้ามากในเดือนม.ค. ขณะที่มูลค่าการนำเข้า เดือน ม.ค. 56 ขยายตัวเร่งขึ้นมากเช่นกันอยู่ที่ร้อยละ 29.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน อย่างไรก็ตาม เมื่อเทียบกับเดือนก่อนมูลค่าการส่งออกและนำเข้าหดตัว บ่งชี้ว่าการขยายตัวดังกล่าวส่วนหนึ่งเกิดจากปัจจัยฐานต่ำในปีก่อนที่เทศกาลตรุษจีนอยู่ในเดือน ม.ค. ทำให้ดุลการค้าเกินดุลลดลงอยู่ที่ 29.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ด้านดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคบริการที่จัดทำโดย NBS และ HSBC เดือน ม.ค. 56 อยู่ระดับ 56.2 จุดและระดับ 54.0 จุด ตามลำดับ สูงสุดในรอบ 4-5 เดือน จากความเชื่อมั่นนักลงทุนที่อยู่ระดับสูงสุดในรอบ 8 เดือน
Indonesia: worsening economic trend
  • GDP ไตรมาส 4 ปี 55 ขยายตัวชะลอลงต่ำสุดในรอบ 11 ไตรมาสที่ร้อยละ 6.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากไตรมาสก่อน หรือขยายตัวร้อยละ 1.7 จากไตรมาสก่อน (ขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว) ส่งผลให้ทั้งปี 55 GDP อินโดนีเซียขยายตัวร้อยละ 6.2 ด้านยอดค้าปลีก เดือน ธ.ค. 55 ขยายตัวร้อยละ 15.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 แม้ว่ายอดขายเครื่องใช้ในบ้าน และอาหารและเครื่องดื่มจะขยายตัวเร่งขึ้นเนื่องจากเทศกาลปีใหม่ก็ตาม
India: mixed signal
  • ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรม เดือน ม.ค. 56 ปรับลดอยู่ที่ระดับ 53.2 จุด นับเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 3 เดือน ผลจากคำสั่งซื้อสินค้าใหม่ที่ชะลอลงตามอุปสงค์ของโลกและดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคบริการ เดือน ม.ค. 56 เพิ่มขึ้นอยู่ระดับ 57.5 จุด
Singapore: mixed signal
  • ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ เดือน ม.ค. 56 เพิ่มขึ้นเหนือระดับ 50.0 เป็นครั้งแรกในรอบ 7 เดือน มาอยู่ที่ระดับ 50.2 จุด จากดัชนีคำสั่งสินค้าใหม่ ดัชนีคำสั่งซื้อสินค้าส่งออก ดัชนีการจ้างงานเพิ่มขึ้นกลับมาอยู่เหนือระดับ 50.0
Australia: worsening economic trend
  • มูลค่าการส่งออก เดือน ธ.ค. 55 หดตัวร้อยละ -7.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน หรือขยายตัวร้อยละ 3.0 จากเดือนก่อน จากการส่งออกไปจีนที่ยังขยายตัวได้ดี และมูลค่าการนำเข้า เดือน ธ.ค. 55 กลับหดตัวร้อยละ -2.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ส่งผลให้ดุลการค้า เดือน ธ.ค. 55 ขาดดุล -0.427 ร้อยล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย ขาดดุลต่ำสุดในรอบ 10 เดือน เมื่อวันที่ 5 ก.พ. 56 ธนาคารกลางออสเตรเลียประกาศ คงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เดือน ก.พ. 56 ที่ร้อยละ 3.00 ต่อปี ติดต่อกันเป็นเดือนที่ 2 ยอดค้าปลีก เดือน ธ.ค. 55 หดตัวเร่งขึ้นอยู่ที่ร้อยละ -0.2 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า (ขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว) จากยอดซื้ออาหารและเครื่องดื่มที่หดตัวเป็นสำคัญ บ่งชี้ว่าผู้บริโภคยังคงจับจ่ายใช้สอยอย่างระมัดระวังในช่วงปลายปีที่ผ่านมา ขณะที่อัตราการว่างงาน เดือน ม.ค. 56 ทรงตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 2 ที่ร้อยละ 5.4 ของกำลังแรงงานรวม จากตัวเลขการจ้างงาน part-time ที่ปรับเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า 20,200 ตำแหน่ง ขณะที่การจ้างงานเต็มเวลาปรับตัวลดลง
Hong Kong: improving economic trend
  • ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ เดือน ม.ค. 56 ปรับเพิ่มขึ้นสู่ระดับสูงสุดในรอบ 11 เดือน ที่ระดับ 52.5 จุด จากคำสั่งซื้อสินค้าใหม่ที่ขยายตัวเร่งขึ้นสูงสุดในรอบ 1 ปีที่ผ่านมาเป็นสำคัญ
Taiwan: mixed signal
  • อัตราเงินเฟ้อ เดือน ม.ค. 56 ลดลงต่ำสุดในรอบ 11 เดือนมาอยู่ที่ร้อยละ 1.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากราคาอาหารที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น มูลค่าการส่งออก เดือน ม.ค. 56 ขยายตัวเร่งขึ้นสูงสุดในรอบ 21 เดือนมาอยู่ที่ร้อยละ 21.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากปัจจัยฐานต่ำขณะที่มูลค่าการนำเข้า เดือน ม.ค. 56 ขยายตัวเร่งขึ้นสูงสุดในรอบ 21 เดือนมาอยู่ที่ร้อยละ 21.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
Weekly Financial Indicators
  • ดัชนี SET ปรับตัวสูงขึ้น ปิดแตะระดับ 1,500 จุดในวันที่ 6 ก.พ. 56 ก่อนปรับตัวลดลงเล็กน้อย ด้วยมูลค่าซื้อขายเฉลี่ยสูง โดย ณ วันที่ 7 ก.พ. 56 ดัชนีฯ ปิดที่ระดับ 1,499.81 จุด ด้วยมูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยที่สูงถึง 58,318.44 ล้านบาทต่อวัน จากแรงซื้อของนักลงทุนในประเทศเป็นสำคัญ ทั้งนักลงทุนสถาบันในประเทศ บัญชีบริษัทหลักทรัพย์ และนักลงทุนรายย่อย จากแนวโน้มเศรษฐกิจที่ดีขึ้น ทั้งเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลก อย่างไรก้ตาม นักลงทุนต่างชาติเริ่มทยอยขายเพื่อทำกำไร หลังจากดัชนีฯ ปรับตัวสูงขึ้นมามากแล้ว ทั้งนี้ระหว่างวันที่ 4 - 7 ก.พ. 56 นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิ -7,526.58 ล้านบาท ในขณะที่ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลปรับตัวลดลงในทุกอายุตราสาร ประมาณ 1-3 bps โดยนักลงทุนยังคงจับตามองแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยนโยบายและเงินบาทที่แข็งค่า ทั้งนี้ ระหว่างวันที่ 4 - 7 ก.พ. 56 นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิ 5,772.3 ล้านบาท
  • ค่าเงินบาทค่อนข้างคงที่ โดย ณ วันที่ 7 ก.พ. 56 ปิดที่ระดับ 29.74 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าขึ้นเล็กน้อยร้อยละ 0.23 จากสัปดาห์ก่อนหน้า ซึ่งเป็นไปในแนวทางเดียวกับค่าเงินริงกิตมาเลเซีย อย่างไรก็ตามค่าเงินสกุลอื่นๆในภูมิภาค ไม่ว่าจะเป็นค่าเงินเยน หยวน ริงกิตมาเลเซีย วอนเกาหลี และสิงคโปร์ดอลลาร์ ตลอดจนเงินยูโรอ่อนค่าลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ทำให้ดัชนีค่าเงินบาท (NEER) ในสัปดาห์นี้แข็งค่าขึ้นเล็กน้อยที่ร้อยละ 0.95จากสัปดาห์ก่อนหน้า
  • ราคาทองคำค่อนข้างคงที่ โดยราคาทองคำ ณ วันที่ 7 ก.พ. 56 ปิดที่ 1,670.69 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ ใกล้เคียงกับต้นสัปดาห์ที่ปิดที่ 1,674.00 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3253 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ