รายงานภาวะเศรษฐกิจรายสัปดาห์ระหว่างวันที่ 9 - 26 เมษายน 2556

ข่าวเศรษฐกิจ Monday April 29, 2013 13:48 —กระทรวงการคลัง

Executive Summary
Indicators this week
  • รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ (หลังหักการจัดสรร ให้ อปท.) เดือน มี.ค.56 ขยายตัวร้อยละ 7.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือน มี.ค. 56 อยู่ ที่ระดับ 93.5
  • นักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เดินทางเข้าประเทศไทยเดือน มี.ค. 56 ขยายตัวร้อยละ 19.2 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
  • ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตร ในเดือนมี.ค. 56 หดตัวเล็กน้อยที่ร้อยละ -0.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อน

ขณะที่ดัชนีราคาสินค้าเกษตรที่เกษตรกรขายได้ หดตัวที่ร้อยละ -4.1

  • การส่งออก เดือน มี.ค. 56 ขยายตัวที่ร้อยละ 4.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ขณะที่การนำเข้าหดตัวร้อยละ -11.5
  • ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์นั่ง เดือนมี.ค. 56 ขยายตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ 93.4 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
  • อัตราการว่างงานเดือน ก.พ. 56 อยู่ที่ร้อยละ 0.6 ของกำลังแรงงานรวม
  • GDP จีน ไตรมาส 1 ปี 56 ขยายตัวชะลอลง และต่ำกว่าคาดการณ์ของตลาดที่ร้อยละ 7.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • GDP เกาหลีใต้ ไตรมาสที่ 1 ปี 56 (ตัวเลขเบื้องต้น) oขยายตัวร้อยละ 1.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • GDP สิงคโปร์ ไตรมาสที่ 1 ปี 56 หดตัวร้อยละ -0.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
Indicators next week
 Indicators                                    Forecast           Previous
 Apr : Headline Inflation (%YoY)                 2.5                 2.7

โดยมีสาเหตุหลักมาจากราคาน้ำมันขายปลีกที่ลดลงตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก อย่างไรก็ดี ราสินค้าหมวดเนื้อสัตว์ และผักสดมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นจากอากาศที่ร้อนจัด ทำให้ไม่เอื้ออำนวยต่อการเติบโตของทั้งพืชและสัตว์ ทั้งนี้ คาดว่าอัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนร้อยละ 0.19 (mom)

Economic Indicators: This Week
  • รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ (หลังหักการจัดสรร ให้ อปท.) ในเดือน มี.ค.56 ได้จำนวน 151.0 พันล้านบาท หรือขยายตัวร้อยละ 7.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน และมากกว่าประมาณการ 1.9 พันล้านบาท หรือร้อยละ 1.3 ตามการเพิ่มขึ้นของภาษีฐานรายได้และภาษีฐานบริโภค โดยภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจัดเก็บได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.7 เป็นผลมาจากรายได้ครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นตามการขยายตัวของเศรษฐกิจ ภาษีเงินได้นิติบุคคลจัดเก็บได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.1 และภาษีมูลค่าเพิ่มจัดเก็บได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.9 โดยภาษีมูลค่าเพิ่มจากการบริโภคในประเทศจัดเก็บได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.1 สะท้อนการบริโภคภายในประเทศที่ยังขยายตัวได้ดีอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ภาษีมูลค่าเพิ่มจากการนำเข้าจัดเก็บได้ลดลงร้อยละ -5.4 สอดคล้องกับอากรขาเข้าที่จัดเก็บได้ลดลงร้อยละ -18.3 เป็นผลมาจากมูลค่าการนำเข้าที่ชะลอตัว อย่างไรก็ตาม รัฐบาลสามารถจัดเก็บภาษีรถยนต์ได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 15.9 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากบริษัทผู้ผลิตรถยนต์มีการเปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่ออกสู่ตลาด ประกอบกับยังอยู่ในช่วงเร่งรัดการส่งมอบรถของบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ในโครงการรถยนต์คันแรก ส่งผลให้มีการชำระภาษีสูงกว่าปกติ ทั้งนี้ รัฐบาลมีรายได้สุทธิ (หลังหักจัดสรรให้ อปท.) ในช่วงครึ่งแรกของปี งปม. 56 (ต.ค.55 - มี.ค.56) จำนวน 978.8 พันล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 20.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน และสูงกว่าประมาณการตามเอกสาร งปม. 94.9 พันล้านบาท หรือร้อยละ 10.7
  • ผลการเบิกจ่ายงบประมาณในเดือนมี.ค. 56 สามารถเบิกจ่ายได้ทั้งสิ้น 225.5 พันล้านบาท ลดลงร้อยละ -39.1 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยในเดือนมี.ค. 56 มีการเบิกจ่ายงบประมาณประจำปีปัจจุบัน 201.3 พันล้านบาท ลดลงร้อยละ -42.8 แบ่งออกเป็น (1) รายจ่ายประจำ 125.9 พันล้านบาท ลดลงร้อยละ -55.5 (2) รายจ่ายลงทุน 75.4 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.9 ทั้งนี้ การเบิกจ่ายงบประมาณที่สำคัญ ได้แก่ รายจ่ายเงินอุดหนุนของกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น 67.8 พันล้านบาท รายจ่ายเงินอุดหนุนของกระทรวงศึกษาธิการ 21.9 พันล้านบาท และรายจ่ายชำระหนี้ของสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ 10.1 พันล้านบาท เป็นสำคัญ สำหรับการเบิกจ่ายงบประมาณจากปีก่อนเบิกจ่ายได้ 24.2 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 33.7 ทั้งนี้ การเบิกจ่ายในช่วงครึ่งปีแรกของปีงบประมาณ 56 สามารถเบิกจ่ายได้ทั้งสิ้น 1,371.6 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.1 โดยรายจ่ายงบประมาณประจำปีปัจจุบันเบิกจ่ายได้ 1,212.7 พันล้านบาท คิดเป็นอัตราการเบิกจ่ายร้อยละ 50.5 ของวงเงินงบประมาณปี 56
  • หนี้สาธารณะคงค้าง ณ สิ้นเดือน ก.พ. 56 มีจำนวนทั้งสิ้น 5,074.0 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า 30.6 พันล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 44.1 ของ GDP ทั้งนี้ การเพิ่มขึ้นของหนี้สาธารณะที่สำคัญเกิดจากหนี้ของรัฐบาลเพิ่มขึ้นสุทธิ 24.2 พันล้านบาท โดยมีรายการสำคัญจากหนี้ที่รัฐบาลกู้โดยตรงเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณและการบริหารหนี้จำนวน 37.7 พันล้านบาท ทั้งนี้ สถานะหนี้สาธารณะของไทยถือว่ามีความมั่นคง สะท้อนได้จากสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ยังอยู่ในระดับต่ำกว่ากรอบความยั่งยืนทางการคลังที่ตั้งไว้ไม่เกินร้อยละ 60 ของ GDP และหนี้สาธารณะส่วนใหญ่เป็นหนี้ระยะยาว (ร้อยละ 96.2 ของยอดหนี้สาธารณะรวม) และเป็นสกุลเงินบาท (ร้อยละ 93.3 ของยอดหนี้สาธารณะรวม)
  • นักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เดินทางเข้าประเทศไทยในเดือน มี.ค. 56 มีจำนวนทั้งสิ้น 2.26 ล้านคน ขยายตัวร้อยละ 19.2 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และขยายตัวร้อยละ 0.7 เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังหักผลทางฤดูกาล (m-o-m SA) ส่งผลทำให้ในไตรมาสที่ 1 ของปี 56 มีจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งสิ้น 6.83 ล้านคน ขยายตัวร้อยละ 18.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดย 3 อันดับแรกที่มีการขยายตัวได้ดีมาจากนักท่องเที่ยวจีน รัสเซีย และญี่ปุ่นที่ขยายตัวร้อยละ 93.5 26.0 และ 22.7 ตามลำดับ
  • ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตร ในเดือนมี.ค. 56 หดตัวเล็กน้อยที่ร้อยละ -0.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน จากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 0.2 ตามการลดลงของผลผลิตในหมวดพืชผลสำคัญ โดยเฉพาะข้าว และการขยายตัวในอัตราชะลอลงของผลผลิตหมวดปศุสัตว์ ส่วนหนึ่งเป็นมาจากอยู่ในช่วงปลายฤดูกาลเก็บเกี่ยว อย่างไรก็ดี ผลผลิตยางพารา มันสำปะหลัง และปาล์มน้ำมัน ยังคงขยายตัวได้ดี จากพื้นที่เพาะปลูกและเก็บเกี่ยวที่เพิ่มขึ้น ขณะที่ดัชนีราคาสินค้าเกษตรที่เกษตรกรขายได้ ในเดือน มี.ค. 56 หดตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อนที่ร้อยละ -4.1 ตามการลดลงของราคายางพาราเป็นสำคัญ เนื่องจากอุปทานในตลาดโลกที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ในขณะที่อุปสงค์ค่อนข้างทรงตัว จากการเพิ่มสต็อคของของประเทศจีนและญี่ปุ่นในช่วงต้นปีที่ผ่านมา ส่งผลให้รายได้เกษตรกร หดตัวที่ร้อยละ -4.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • การส่งออกในเดือน มี.ค. 56 มีมูลค่าอยู่ที่ 20,769.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือขยายตัวที่ร้อยละ 4.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากเดือนก่อนที่หดตัวร้อยละ -5.8 ซึ่งหากพิจารณาในด้านมิติสินค้า จะพบว่า ขยายตัวดีแทบทุกหมวดสินค้าหลัก โดยเฉพาะสินค้าอุตสาหกรรมที่ขยายตัวเร่งขึ้นที่ร้อยละ 5.7 ตามการขยายตัวของสินค้ายานยนต์และเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ร้อยละ 15.8 และ 4.8 ตามลำดับ ขณะที่สินค้าอิเล็กทรอนิกส์หดตัวอย่างมากที่ร้อยละ -12.9 สำหรับสินค้าเกษตรกรรมขยายตัวเร่งขึ้นเช่นกันที่ร้อยละ 3.0 ตามการขยายตัวของข้าว เป็นสำคัญ และหากพิจารณารายไตรมาสพบว่า ในไตรมาสที่ 1 ปี 56 การส่งออกยังขยายตัวดีที่ร้อยละ 4.3 ทั้งนี้ราคาสินค้าส่งออกหดตัวที่ร้อยละ -0.1 และปริมาณการส่งออกขยายตัวที่ร้อยละ 4.7
  • การนำเข้าในเดือน มี.ค. 56 มีมูลค่าที่ 21,636.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัวที่ร้อยละ -11.5 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากเดือนก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 5.3 จากการหดตัวเกือบทุกหมวดสินค้า โดยเฉพาะหมวดสินค้าวัตถุดิบที่หดตัวที่ร้อยละ 13.9 และสินค้าเชื้อเพลิงที่หดตัวเช่นกันที่ร้อยละ -21.8 ในขณะที่สินค้าอุปโภคบริโภคยังขยายตัวดีที่ร้อยละ 2.2 ทำให้ในไตรมาสที่ 1 ปี 56 การนำเข้ายังคงขยายตัวได้ดีที่ร้อยละ 8.4 ทั้งนี้ราคาสินค้านำเข้าหดตัวที่ร้อยละ -2.6 และปริมาณการนำเข้าหดตัวเช่นเดียวกันที่ร้อยละ -9.2 และจากการที่มูลค่านำเข้าสูงกว่ามูลค่าการส่งออกทำให้ดุลการค้าในเดือน มี.ค. 56 ขาดดุล -0.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และในไตรมาสที่ 1 ปี 56 ขาดดุล -7.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
  • ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์นั่ง ในเดือนมี.ค. 56 ยังคงขยายตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อนที่ร้อยละ 93.4 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ในขณะที่ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ ขยายตัวในอัตราชะลอลง จากเดือนก่อนเล็กน้อยที่ร้อยละ 12.2 แต่ถือได้ว่ายังคงขยายตัวในระดับสูง ส่วนหนึ่งได้รับปัจจัยบวกจาก (1) การทยอยส่งมอบรถยนต์จากโครงการรถยนต์คันแรกที่มียอดค้างอยู่ (2) การฟื้นตัวของการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนที่ยังคงขยายตัวต่อเนื่องตามทิศทางของเศรษฐกิจโดยรวม และ (3) ค่ายรถยนต์ต่างๆ มีการแนะนำรถยนต์รุ่นใหม่ๆ เข้าสู่ตลาดมากขึ้น รวมถึงมีกิจกรรมส่งเสริมการขายที่เริ่มตั้งแต่ช่วงต้นปี
  • ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนมีนาคม 56 อยู่ที่ระดับ 93.5 ปรับตัวลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 95.5 ลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 ติดต่อกัน และต่ำสุดในรอบ 5 เดือน เนื่องจากผู้ประกอบการมีความกังวลต่อ อัตราแลกเปลี่ยนที่แข็งค่าขึ้น ราคาพลังงานที่อยู่ระดับที่สูง การวางแผนการผลิตเพื่อรองรับสถานการณ์ไฟฟ้าที่อาจไม่เพียงพอจากกรณีที่ประเทศพม่าหยุดส่งก๊าซธรรมชาติให้ไทย เนื่องจากหยุดซ่อมบำรุงแท่นขุดเจาะก๊าซในช่วงเดือนเมษายน 2556 และปัญหาภัยแล้งในพื้นที่ภาคเหนือและภาคอิสาน ที่กระทบต่อผลการผลิตทางการเกษตร ซึ่งเป็นวัตถุดิบของอุตสาหกรรมแปรรูปสินค้าเกษตร
  • การจ้างงานเดือน ก.พ. 56 อยู่ที่ 38.8 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า 7.5 แสนคน ขณะที่เมื่อปรับผลทางฤดูกาล พบว่าการจ้างงานเพิ่มขึ้น 4.6 แสนคนจากเดือนก่อนหน้า โดยมีสาเหตุมาจากการจ้างงานปรับตัวเพิ่มขึ้นในทุกภาคทั้งภาคเกษตร ภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการเมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน ทั้งนี้ อัตราการว่างงานเดือน ก.พ. 56 อยู่ที่ร้อยละ 0.6 ของกำลังแรงงานรวม คิดเป็นผู้ว่างงาน 2.5 แสนคน
Economic Indicators: Next Week
  • อัตราเงินเฟ้อทั่วไป ในเดือนเม.ย. 56 คาดว่าจะอยู่ที่ร้อยละ 2.5 ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ร้อยละ 2.7 โดยมีสาเหตุหลักมาจากราคาน้ำมันขายปลีกที่ลดลงตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก อย่างไรก็ดี ราสินค้าหมวดเนื้อสัตว์ และผักสดมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นจากอากาศที่ร้อนจัด ทำให้ไม่เอื้ออำนวยต่อการเติบโตของทั้งพืชและสัตว์ ทั้งนี้ คาดว่าอัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนร้อยละ 0.19 (mom)

Global Economic Indicators: This Week

US: mixed signal
  • การจ้างงานนอกภาคเกษตร เดือน มี.ค. 56 เพิ่มขึ้น 88,000 ตำแหน่งจากเดือนก่อนหน้า จากการจ้างงานภาคบริการเป็นสำคัญ ทำให้อัตราการว่างงานลดลงมาอยู่ที่ร้อยละ 7.6 ของกำลังแรงงานรวม ยอดค้าปลีก เดือน มี.ค. 56 ขยายตัวร้อยละ 1.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากยอดขายอาหารและเครื่องดื่ม เสื้อผ้า และอุปกรณ์กีฬา ยอดขายบ้านใหม่เดือนมี.ค. 56 อยู่ที่ 1.04 ล้านหลัง (annual rate) หรือขยายตัวร้อยละ 7.0 จากเดือนก่อนหน้า ในขณะที่ยอดขายบ้านมือสอง เดือน มี.ค. 56 ขยายตัวร้อยละ 7.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หรือหดตัวเล็กน้อยร้อยละ -0.6 จากเดือนก่อนหน้า ในขณะที่ราคากลางบ้านปรับสูงขึ้นที่ 184,300 ดอลลาร์สหรัฐต่อหลัง ซึ่งเป็นราคาสูงสุดในรอบ 7 เดือน
Japan: improving economic trend
  • มูลค่าการส่งออก เดือน มี.ค. 56 กลับมาขยายตัวร้อยละ 1.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากการส่งออกไปยังจีนที่หดตัวชะลอลงเป็นสำคัญ และมูลค่าการนำเข้าขยายตัวต่อเนื่องร้อยละ 5.6 จากการนำเข้าสินค้าเชื้อเพลิงและพลังงานต่อเนื่อง ส่งผลให้ดุลการค้าขาดดุล -3.6 แสนล้านเยน ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม เดือน ก.พ. 56 ขยายตัว 3 เดือนติดต่อกัน ที่ร้อยละ 0.6 จากเดือนก่อน บ่งชี้ ภาคการผลิตญี่ปุ่นที่มีแนวโน้มการฟื้นตัวต่อเนื่อง ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือน มี.ค. 56 อยู่ที่ระดับ 45.0 จุด ปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่องติดต่อกันเป็นเดือนที่ 9 สะท้อนมุมมองบวกของผู้บริโภคญี่ปุ่น
China: mixed signal
  • GDP ไตรมาส 1 ปี 56 (ตัวเลขเบื้องต้น) ขยายตัวชะลอลง และต่ำกว่าคาดการณ์ของตลาดที่ร้อยละ 7.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ด้านมูลค่าการส่งออก เดือน มี.ค. 56 ขยายตัวชะลอลงที่ร้อยละ 10.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากการส่งออกไปยังสหรัฐฯ และยุโรปที่หดตัว ขณะที่มูลค่าการนำเข้ากลับมาขยายตัวที่ร้อยละ 14.2 ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม เดือน มี.ค. 56 ขยายตัวชะลอลงที่ร้อยละ 8.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อน สะท้อนภาคการผลิตที่ชะลอลง ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรม (ตัวเลขเบื้องต้น) เดือน เม.ย. 56 ลดลงจากเดือนก่อนหน้ามาอยู่ที่ระดับ 50.5 จากคำสั่งซื้อสินค้าส่งออกลดลง บ่งชี้การผลิตมีแนวโน้มชะลอตัว
Eurozone: mixed signal
  • ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือน เม.ย. 56 อยู่ในระดับต่ำกว่า 0 ต่อเนื่อง ที่ระดับ -23.5 สะท้อนภาคการบริโภคที่ยังคงซบเซา ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อรวมเดือน เม.ย. 56 อยู่ระดับต่ำกว่า 50 ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 21 ที่ระดับ 46.5 โดยดัชนีฯ ภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการอยู่ที่ระดับ 46.7 และ 46.8 จุด ตามลำดับ
South Korea: improving economic trend
  • GDP ไตรมาสที่ 1 ปี 56 (ตัวเลขเบื้องต้น) ขยายตัวร้อยละ 1.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หรือ ขยายตัวร้อยละ 0.9 จากไตรมาสก่อน (ขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว) ผลจากภาคการส่งออกที่ขยายตัวเป็นสำคัญโดยมูลค่าส่งออกเดือน มี.ค. 56 กลับมาขยายตัวร้อยละ 0.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากการส่งออกไปจีนที่ขยายตัว ขณะที่มูลค่านำเข้าหดตัวร้อยละ -2.0 ส่งผลให้ดุลการค้าเกินดุล 3.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
Malaysia
  • ดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรม เดือน ก.พ. 56 หดตัวร้อยละ -4.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ขณะที่อัตราเงินเฟ้อ เดือน มี.ค. 56 เร่งขึ้นจากเดือนก่อนมาอยู่ที่ร้อยละ 1.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน จากราคาสินค้าในหมวดอาหารที่ขยายตัวเร่งขึ้น
Singapore: mixed signal
  • GDP ไตรมาสที่ 1 ปี 56 (ตัวเลขเบื้องต้น) หดตัวร้อยละ -0.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หรือหดตัวร้อยละ -1.4 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน (ขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว) จากการหดตัวของภาคการผลิตถึงร้อยละ -6.5 มูลค่าการส่งออก เดือน มี.ค. 56 หดตัวร้อยละ -7.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ขณะที่มูลค่าการนำเข้าหดตัวร้อยละ -13.4 จากการนำเข้าสินค้าหมวดพลังงานที่หดตัวสูง ทั้งนี้ การนำเข้าที่หดตัวมากกว่าการส่งออกส่งผลให้ดุลการค้าเกินดุล 4.63 พันล้านดอลลาร์สิงคโปร์ ด้านยอดค้าปลีกเดือน ก.พ. 56 หดตัวร้อยละ -4.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากยอดขายรถยนต์ที่หดตัวสูงจากการประกาศเก็บภาษีจดทะเบียนรถยนต์เพิ่มเติม
Philippines: mixed signal
  • มูลค่าการนำเข้าเดือน ก.พ. 56 หดตัวร้อยละ -5.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนจากการนำเข้าสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ทั้งนี้ดุลการค้าขาดดุล -967.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
Hong Kong: mixed signal
  • อัตราเงินเฟ้อ เดือน มี.ค. 56 ปรับลดลงมาอยู่ร้อยละ 3.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากราคาอาหารที่ปรับตัวลดลงเข้าสู่ภาวะปกติหลังเทศกาลตรุษจีนสิ้นสุดลง มูลค่าการส่งออกเดือน มี.ค. 56 กลับมาขยายตัวร้อยละ 11.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ผลจากการส่งออกไปจีนและอาเซียนที่กลับมาขยายตัวได้ดี และมูลค่าการนำเข้าขยายตัวร้อยละ 11.3 ส่งผลให้ดุลการค้าเดือน มี.ค. 56 ขาดดุล -4.9 พันล้านดอลลาร์ฮ่องกง
Taiwan: mixed signal
  • มูลค่าการส่งออก เดือน มี.ค.56 กลับมาขยายตัวอีกครั้งที่ร้อยละ 3.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากอุปสงค์จากจีนเป็นสำคัญ และมูลค่าการนำเข้าขยายตัวร้อยละ 0.2 ทำให้ดุลการค้าเกินดุล 3.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่อัตราเงินเฟ้อเดือน มี.ค. 56 ลดลงอยู่ที่ร้อยละ 1.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากราคาสินค้าในหมวดอาหาร ผัก และอื่นๆ ที่ปรับตัวเข้าสู่สภาวะปกติ ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม เดือน มี.ค. 56 หดตัวชะลอลงที่ร้อยละ -3.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากการผลิตเพื่อส่งออกที่เริ่มปรับตัวดีขึ้น
India: improving economic trend
  • มูลค่าการส่งออก เดือน มี.ค. 56 ขยายตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ 7.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากการส่งออกไปยังตลาดยูโรโซนที่กลับมาขยายตัวและมูลค่าการนำเข้ากลับมาหดตัวร้อยละ -2.9 จากราคาน้ำมันตลาดโลกที่ลดลง ส่งผลให้ดุลการค้าขาดดุล -1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม เดือน ก.พ. 56 ขยายตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ 0.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อน บ่งชี้ภาคการผลิตในอินเดียที่ปรับตัวดีขึ้นและอัตราเงินเฟ้อ เดือน มี.ค. 56 ปรับลดต่อเนื่องที่ร้อยละ 5.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
Australia: mixed signal
  • อัตราว่างงานเดือน มี.ค. 56 ปรับเพิ่มเล็กน้อยที่ร้อยละ 5.6 ของกำลังแรงงานรวม และอัตราเงินเฟ้อไตรมาส 1 ปี 56 เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 2.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
Weekly Financial Indicators
  • ดัชนี SET ปรับตัวสุงขึ้นจากสัปดาห์ก่อนหน้าและมีความผันผวนสูง โดยดัชนีฯ ณ วันที่ 25 เม.ย. 56 ปิดที่ 1,574.25 จุด ด้วยมูลค่าซื้อขายเฉลี่ยต่อวันที่ 61,419.78 ล้านบาท ด้วยแรงซื้อจากนักลงทุนบัญชีบริษัทหลักทรัพย์และนักลงทุนรายย่อยภายในประเทศ โดยนักลงทุนจับตามองประเด็นค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น ทั้งนี้ ระหว่างวันที่ 22 - 25 เม.ย. 56 นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิ -9,402.88 ล้านบาท ขณะที่ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลปรับตัวสูงขึ้นในเกือบทุกช่วงอายุตราสาร โดยเฉพาะตราสารอายุเกิน 3 ปีขึ้นไป จากการเทขายทำกำไรของนักลงทุนบางส่วน ทั้งนี้ นักลงทุนในตลาดพันธบัตรจับตามองประเด็นค่าเงินบาทเป็นพิเศษ โดยระหว่างวันที่ 22 - 25 เม.ย. 56 นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิ 2,500.2 ล้านบาท (ไม่รวมพันธบัตร ธปท.)
  • ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงเล็กน้อย โดย ณ วันที่ 25 เม.ย. 56 ค่าเงินบาทปิดที่ระดับ 29.08 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ โดยอ่อนค่าลงร้อยละ -1.25 จากสัปดาห์ก่อนหน้า ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกับค่าเงินส่วนใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นเงินเยน ยูโร ริงกิตมาเลเซีย และดอลลาร์สิงคโปร์ จากค่าเงินดอลลาร์สหรัฐที่แข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง จากความกังวลเรืองความไม่สงบในคาบสมุทรเกาหลี ทั้งนี้ ค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลงในอัตราที่มากกว่าค่าเงินสกุลหลักอื่นๆ ทำให้ดัชนีค่าเงินบาท (NEER) ในสัปดาห์นี้อ่อนค่าลงร้อยละ -1.01 จากสัปดาห์ก่อนหน้า
  • ราคาทองคำปรับตัวสูงขึ้น หลังจากปรับลดลงมากในสัปดาห์ก่อนหน้า โดยราคาทองคำ ณ วันที่ 25 เม.ย. 56 ปิดที่ 1,466.99 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ สูงขึ้นจากต้นสัปดาห์ที่ปิดที่ 1,425.14 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3253 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ