รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 19 มิถุนายน 2556

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday June 19, 2013 10:45 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 19 มิถุนายน 2556

Summary:

1. สทท. เผย ดัชนีความเชื่อมั่น "ท่องเที่ยว" ไตรมาสที่ 2 ปี 56 สูงสุดในรอบ 3 ปี

2. โตโยต้าเปิดเผยยอดขายตลาดรถยนต์ในประเทศเดือน พ.ค. 56 เท่ากับ 111,848 คัน

3. ประเทศกลุ่ม G8 ชี้แนวโน้มเศรษฐกิจโลกยังอ่อนแอ

Highlight:

1. สทท. เผย ดัชนีความเชื่อมั่น "ท่องเที่ยว" ไตรมาสที่ 2 ปี 56 สูงสุดในรอบ 3 ปี
  • ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) เปิดเผยผลการสำรวจความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องกับภาคธุรกิจท่องเที่ยว อาทิ โรงแรม สปา บริษัทนำเที่ยว ร้านขายสินค้าที่ระลึก ฯลฯ จำนวน 600 ตัวอย่าง ในช่วงไตรมาส 2 ปีนี้ พบว่า ผู้ประกอบการท่องเที่ยวมีความเชื่อมั่นต่อสถานการณ์การท่องเที่ยวในระดับที่สูงที่สุด เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันในรอบ 3 ปีที่ผ่านมา นอกจากนี้ ยังคาดว่าในช่วงครึ่งปีหลัง 56 จะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาประเทศไทยเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 15.4 ส่งผลให้จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งปี 56 มีปีประมาณ 26.08 ล้านคน หรือขยายตัวร้อยละ 17.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
  • สศค. วิเคราะห์ว่า อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเป็นอุตสาหกรรมหนึ่งที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจไทย โดยในปี 2555 ภาคโรงแรมและภัตตาคาร มีสัดส่วนคิดเป็นร้อยละ 4.2 ของ GDP ด้านการผลิต ทั้งนี้ ในช่วง 5 เดือนแรก ของปี 56 มีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ เดินทางเข้ามาในประเทศไทยทั้งสิ้น 10.7 ล้านคน ขยายตัวร้อยละ 19.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยทั้งปี สศค. คาดว่าจะมีจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งสิ้น 26.3 ล้านคน ขยายตัวร้อยละ 18.0 เมื่อทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และจะสร้างรายได้ให้กับประเทศแล้วทั้งสิ้น 1.19 ล้านล้านบาท
2. โตโยต้าเปิดเผยยอดขายตลาดรถยนต์ในประเทศเดือน พ.ค. 56 เท่ากับ 111,848 คัน
  • บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยยอดขายรถยนต์เดือน พ.ค.56 มีปริมาณการขายทั้งสิ้น 111,848 คัน ลดลงร้อยละ 3.5 จากช่วงเดียวกันของปีก่อนโดยเป็นการลดลงครั้งแรกในรอบ 17 เดือน เป็นผลจากการที่ลูกค้าที่จองรถยนต์เพื่อใช้สิทธิรถยนต์คันแรกส่วนใหญ่ได้ทยอยรับรถเรียบร้อยแล้ว โดยตลาดรถยนต์นั่งมีปริมาณการขาย 52,734 คัน ลดลงร้อยละ 5.8 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ตลาดรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ มีปริมาณการขาย 59,114 คัน ลดลงร้อยละ 1.4 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน รวมทั้ง รถกระบะขนาด 1 ตัน ในเซกเมนท์นี้จำนวน 49,664 คัน ลดลงร้อยละ 4.8 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
  • สศค . วิเคราะห์ว่า การที่ยอดขายรถยนต์ภายในประเทศในเดือนนี้ที่ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนส่วนหนึ่งเกิดจากการเร่งบริโภคจากนโยบายรถยนต์คันแรกไปตั้งแต่ช่วงครึ่งหลังของปี 55 ซึ่งสะท้อนได้จากยอดภาษีรถยนต์ในเดือน พ.ค. 55 เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 93.6 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน อย่างไรก็ตาม ยอดการจำหน่ายรถยนต์ในช่วง 5 เดือนแรก ก็ยังขยายตัวได้ดี โดยขยายตัวถึงร้อยละ 31.4 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นสถิติใหม่ของยอดขายสะสม 5 เดือนแรก ทั้งนี้ ตั้งแต่เริ่มโครงการรถยนต์คันแรกถึง 31 ธ.ค. 55 มีจำนวนผู้ขอใช้สิทธิ์ทั้งหมดจำนวน 1.3 ล้านคัน คิดเป็นเงินที่ต้องคืนประมาณ 91,908 ล้านบาท และตั้งแต่ ก.ย. 55 - มี.ค. 56 กระทรวงการคลังได้มีการอนุมัติเงินคืน จำนวน 99,522 คัน เป็นเงิน 6,905.7 ล้านบาท แต่มียอดจ่ายจริงจำนวน 99,268 คัน เป็นเงิน 6,899.5 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 7.5 ของเงินคืน
3. ประเทศกลุ่ม G8 ชี้แนวโน้มเศรษฐกิจโลกยังอ่อนแอ
  • ผู้นำกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ 8 ชาติ (G8) เปิดเผยว่า แนวโน้มเศรษฐกิจโลกยังอ่อนแออยู่แม้ว่าความเสี่ยงขาลงจะลดน้อยลง โดยในช่วงปีที่ผ่านมา ประเทศกลุ่มยูโรโซนมีความเสี่ยงทางเศรษฐกิจขาลงลดน้อยลงแต่ก็ยังคงอยู่ในภาวะถดถอย เศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องและมีการใช้นโยบายการขาดดุลงบประมาณลดลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งยังต้องกระตุ้นให้ขยายตัวต่อไปด้วยการวางแผนนโยบายการเงินอย่างยั่งยืนและส่งเสริมการลงทุนเพื่อการเติบโต รวมทั้งเศรษฐกิจญี่ปุ่นที่ขยายตัวจากแรงสนับสนุนจากมาตรการกระตุ้นทางการคลังในระยะสั้น
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ทิศทางของเศรษฐกิจโลกยังคงมีการเติบโตที่ฟื้นตัวอย่างเปราะบาง โดยเศรษฐกิจประเทศกลุ่มยูโรโซนที่มีข้อจำกัดในการใช้นโยบายการเงินและการคลังเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจยังคงอยู่ในภาวะถดถอย ขณะที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่เผชิญวิกฤติการเงินอย่างรุนแรงในปี 51 ก็ได้ใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจหรือมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QuantitativeEasing : QE) มาอย่างต่อเนื่องจนส่งผลให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ ฟื้นตัวดีขึ้นตามลำดับและมีการจ้างงานที่เติบโตขึ้น โดยล่าสุด GDP ในไตรมาสที่ 1 ปี 56 ขยายตัวร้อยละ 1.8 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และอัตราการว่างงานในเดือน พ.ค. 56 อยู่ที่ร้อยละ 7.6 ของกำลังแรงงานรวม อย่างไรก็ดี ประเด็นการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) ในวันที่ 19 มิ.ย. 56 เพื่อพิจารณากรอบเวลาในการปรับลดขนาด QE ถือเป็นประเด็นทางเศรษฐกิจที่สำคัญโดยเฉพาะผลกระทบที่มีต่อตลาดการเงินโลก สำหรับเศรษฐกิจญี่ปุ่นก็มีทิศทางการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้นจากปัจจัยสนับสนุนจากการดำเนินนโยบายทางการเงินและการคลังเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจของญี่ปุ่น (Abenomics) โดยล่าสุด GDP ในไตรมาสที่ 1 ปี 56 ขยายตัวร้อยละ 0.2 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน อย่างไรก็ตาม ประเด็นทางเศรษฐกิจที่สำคัญของญี่ปุ่นในขณะนี้คือ ยุทธศาสตร์การเติบโตในระยะยาวที่เรียกว่า ศรดอกที่สาม (Third Arrow) ซึ่งถือเป็นปัจจัยสำคัญในการสนับสนุนการลงทุนในประเทศและการเติบโตทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่นในอนาคตต่อไป ทั้งนี้ สศค. คาดว่า อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจโลกในปี 56 จะขยายตัวร้อยละ 3.8 (คาดการณ์ ณ เดือน มี.ค. 56)

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 3257


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ