รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 25 กันยายน 2556

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday September 25, 2013 12:22 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 25 กันยายน 2556

Summary:

1. กบง. ปรับเพิ่มอัตราเงินส่งเข้ากองทุนน้ำมันฯ ดีเซล เป็น 60 สตางค์ต่อลิตร

2. ก.ล.ต.แนะ ไทยสร้างบรรยากาศการลงทุน เพื่อดึงเม็ดเงินไหลเข้า หลังสหรัฐฯยุติ QE

3. ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ของยูโรโซนขยายตัวสูงสุดในรอบ 2 ปี

Highlight:

1. กบง. ปรับเพิ่มอัตราเงินส่งเข้ากองทุนน้ำมันฯ ดีเซล เป็น 60 สตางค์ต่อลิตร
  • ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เปิดเผยผลการประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) วันที่ 24 กันยายน 2556 ว่า ที่ประชุม กบง. เห็นชอบการปรับเพิ่มอัตราเงินส่งเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับน้ำมันดีเซลขึ้น 0.60 บาท/ลิตร จากเดิมจัดเก็บเข้ากองทุนน้ำมันฯ 0.80 บาท/ลิตร เป็น 1.40 บาท/ลิตร ซึ่งยังคงทำให้ราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลอยู่ที่ไม่เกิน 30 บาท/ลิตร ส่วนน้ำมันประเภทอื่นๆ ไม่มีการเปลี่ยนแปลงแต่อย่างใด
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ปัจจุบันโครงสร้างราคาน้ำมันประกอบด้วย (1) ราคาหน้าโรงกลั่นคิดเป็นเป็นร้อยละ 82.6 ของราคาขายปลีก (2) ภาษีต่างๆ คิดเป็นร้อยละ 6.6 ของราคาขายปลีก(3) ค่าการตลาดคิดเป็นร้อยละ 7.3 ของราคาขายปลีก(4) เงินนำส่งกองทุน เพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานคิดเป็นร้อยละ 0.8 ของราคาขายปลีก และ (5) เงินนำส่งกองทุนน้ำมันฯ คิดเป็นร้อยละ 2.7 ของราคาขายปลีก ซึ่งการเพิ่มอัตราเงินส่งเข้ากองทุนน้ำมันฯ จะทำให้ราคาน้ำมันเพิ่มสูงขึ้น แต่ประชาชนน่าจะไม่ได้รับผลกระทบทางตรงจากการปรับอัตราเงินนำส่งดังกล่าวมากนัก สะท้อนได้จากสัดส่วนดัชนีราคาไฟฟ้า เชื้อเพลิง น้ำประปาและแสงสว่างคิดเป็นร้อยละ 4.9 ของตระกร้าเงินเฟ้อ โดยอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานของประเทศไทยในเดือน ส.ค. 56 เท่ากับร้อยละ 1.6 ลดลงร้อยละ -0.01 จากเดือนก่อนหน้า ทั้งนี้ ในช่วง 8 เดือนแรกของปี 56 อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเท่ากับร้อยละ 2.5 ยังอยู่ภายใต้กรอบอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานที่ร้อยละ 0.5 - 3.0
2. ก.ล.ต.แนะ ไทยสร้างบรรยากาศการลงทุน เพื่อดึงเม็ดเงินไหลเข้า หลังสหรัฐฯยุติ QE
  • คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวว่า การที่ธนาคารกลางสหรัฐ(Fed) จะลด หรือยุติมาตรการ QE จะส่งผลเชิงบวกต่อเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลกในระยะยาว แม้ว่าในระยะสั้นอาจจะทำให้มีการเคลื่อนย้ายเงินทุนกลับไปยังไปสหรัฐฯ แต่เศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย ยังมีความน่าสนใจอยู่ จึงมองว่านักลงทุนน่าจะมีการเคลื่อนย้ายเงินทุนและกระจายความเสี่ยงออกไปทั่ว ดังนั้น สิ่งที่ประเทศไทยควรทำในขณะนี้ คือการสร้างบรรยากาศการลงทุนที่ดี มีการส่งเสริมและมีการกำกับดูแลที่ดี มีสภาพแวดล้อมที่ดี รวมถึงมีระบบพื้นฐานทางการเงินที่ดี เพื่อดึงดูดนักลงทุนต่างชาติให้กลับเข้ามาลงทุนในประเทศหากมีการยุติมาตรการ QE ของสหรัฐ
  • สศค. วิเคราะห์ว่า หลังจากที่ Fed มีมติคงมาตรการ QE ไว้ที่เดือนละ 85,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ตามเดิม นั้น ทำให้นักลงทุนในตลาดทุนในภูมิภาคเอเชียมีความเชื่อมั่นมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยมีพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่ยังแข็งแกร่งสามารถรองรับความผันผวนของเศรษฐกิจโลกได้ สะท้อนได้จากทุนสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นเดือนสิงหาคม 2556 อยู่ในระดับสูงที่ 168.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งสูงกว่าหนี้ต่างประเทศระยะสั้นประมาณ 2.6 เท่า นอกจากนี้ ในปัจจุบันกระทรวงการคลังได้มียุทธศาสตร์กระทรวงการคลังเพื่อรองรับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในด้านการพัฒนาตลาดเงินและตลาดทุนให้มีความเชื่อมโยงกันในอาเซียน อาทิ (1) ผลักดันนโยบายเงินทุนเคลื่อนย้ายได้อย่างเสรีมากขึ้นอย่างเหมาะสม และ (2) พัฒนาตลาดทุนเพื่อเชื่อมโยงตลาดทุนไทยกับตลาดทุนอาเซียน และยุทธศาสตร์การสนับสนุนการลงทุนระหว่างสมาชิกอาเซียน อาทิ (1) ส่งเสริมการลงทุนไทยในอาเซียน และ (2) ส่งเสริมให้ไทยเป็นศูนย์กลางการลงทุนและการบริการสำหรับนักลงทุนนอกอาเซียน ซึ่งเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนมากขึ้น
3. ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ของยูโรโซนขยายตัวสูงสุดในรอบ 2 ปี
  • ผลสำรวจของมาร์กิต ระบุว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) เบื้องต้นของยูโรโซนในเดือน ก.ย. ปี 56 ปรับดีขึ้นขึ้นอยู่ที่ 52.1 จากระดับ 51.5 ในเดือน ส.ค. ปี 56 ถือเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือน มิ.ย. 54 โดยได้รับแรงสนับสนุนจากการปรับตัวดีขึ้นของกิจกรรมในภาคบริการแม้ว่าภาคการผลิตเติบโตชะลอลงซึ่งส่งสัญญาณว่าเศรษฐกิจภูมิภาคมีการฟื้นตัวมากขึ้น ทั้งนี้ ดัชนีที่สูงกว่า 50 แสดงให้เห็นว่ากิจกรรมทางธุรกิจมีการขยายตัวจากเดือนก่อนหน้า โดยดัชนี PMI ภาคบริการเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 52.1 ซึ่งสูงสุดในรอบ 27 เดือน จาก 50.7 ในเดือน ส.ค.ปี 56 ขณะที่ดัชนี PMI ภาคการผลิตในเดือน ก.ย. ลดลงที่ 51.1 ซึ่งต่ำสุดในรอบ 2 เดือน จาก 51.4 ในเดือน ส.ค 56
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ดัชนี PMI ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นสะท้อนถึงเศรษฐกิจยูโรโซนเริ่มมีแนวโน้มฟื้นตัวขึ้น โดยแม้ว่าอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 2 ปี 56 จะหดตัวอยู่ที่ร้อยละ -0.5 ต่อปี แต่หากพิจารณาเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า ขยายตัวร้อยละ 0.3 qoq SAจากอุปสงค์ทั้งในและนอกประเทศที่ขยายตัวเร่งขึ้น อย่างไรก็ตาม ดัชนีภาคการผลิตที่ปรับตัวลดลง บ่งชี้แนวโน้มเศรษฐกิจด้านอุปทานที่หดตัวต่อเนื่อง โดยข้อมูลล่าสุดผลผลิตภาคอุตสาหกรรม เดือน ก.ค. 56 หดตัวร้อยละ -2.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และเดือน มิ.ย. ที่ หดตัวร้อยละ -1.5 (Mom-SA) จากผลผลิตในหมวดสินค้าอุปโภคบริโภคคงทน และสินค้าทุนที่หดตัวเร่งขึ้นเป็นสำคัญ นอกจากนี้ ภาพรวมเศรษฐกิจยูโซน ยังคงมีความเปราะบางสูง เนื่องจากต้องเผชิญกับความท้าทายจากภาคการจ้างงานที่ยังคงซบเซา อัตราการว่างงานทรงตัวอยู่ในระดับสูงต่อเนื่อง โดยในเดือน มิ.ย. 56 อยู่ที่ร้อยละ 12.1 ของกำลังแรงงานรวม ซึ่งหากประเด็นปัญหาดังกล่าวเรื้อรัง จะส่งผลลบต่ออุปสงค์ภายในต่อเนื่องระยะต่อไป ทั้งนี้ สศค. คาดการณ์ ณ เดือน มิ.ย. 56 ว่าคาดว่าเศรษฐกิจยูโรโซนจะถดถอยต่อเนื่องจากปีก่อนหน้า โดยจะหดตัวอยู่ที่ร้อยละ -0.5 ต่อปี และจะมีการปรับประมาณการอีกครั้งในวันที่ 27 ก.ย. 56

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 3257


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ