รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 25 พฤศจิกายน 2556

ข่าวเศรษฐกิจ Monday November 25, 2013 12:18 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 25 พฤศจิกายน 2556

Summary:

1. นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยคาดทั้งปี 56 ส่งออกได้ถึง 7 ล้านตัน

2. ดัชนีความเชื่อมั่นของภาคอุตสาหกรรม เดือน ต.ค. 56 อยู่ที่ระดับ 92.8

3. อินโดนีเซียขาดดุลลึก ขึ้นดอกเบี้ยแรงไม่ช่วย

Highlight:

1. นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยคาดทั้งปี 56 ส่งออกได้ถึง 7 ล้านตัน
  • น.ส.กอบสุข เอี่ยมสุรีย์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยเปิดเผยว่า แนวโน้มการส่งออกข้าวไทยในช่วง 3 เดือนตั้งแต่ ธ.ค. 56 - ก.พ. 57 จะมีการขยายตัวที่ดีกว่าปีที่ผ่านมา เพราะความต้องการข้าวไทยมีสูงขึ้นหลังจากราคาข้าวไทยเทียบกับประเทศคู่แข่งหลักทั้งอินเดียและเวียดนามมีช่องว่างที่ลดลง โดยปริมาณรวมทั้งปี 56 อาจส่งออกได้ถึง 7 ล้านตัน จากเป้าหมายที่ 6.5 ล้านตัน ทั้งนี้การขยายตัวที่เพิ่มขึ้นมาจากการส่งออกข้าวนึ่งได้เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะการส่งออกไปประเทศไนจีเรีย ด้านข้าวขาว พบว่าประเทศที่ประสบภัยธรรมชาติมีความสนใจซื้อมากขึ้น ในขณะที่แนวโน้มการส่งออกข้าวไทยในปีหน้ายังไม่มีปัจจัยหนุนที่ชัดเจน ทางสมาคมฯ จึงประเมินการส่งออกไว้ใกล้เคียงกับปีนี้ที่ 7 ล้านตัน
  • สศค. วิเคราะห์ว่า การส่งออกข้าวไทยในช่วง 9 เดือนแรกของปี 56 หดตัวร้อยละ -0.5 โดยเป็นผลมาจากราคาข้าวทุกชนิดที่หดตัวร้อยละ -1.3 อย่างไรก็ดี ปริมาณการส่งข้าวไทยยังสามารถขยายตัวเล็กน้อยที่ร้อยละ 0.8 ตลาดส่งออกที่ขยายตัวดี ได้แก่ เบนิน (ขยายตัวร้อยละ 207.6) สหรัฐอเมริกา (ขยายตัวร้อยละ 15.0) อิรัก (ขยายตัวร้อยละ 22.6) ทั้งนี้ การส่งออกข้าวไทยขึ้นอยู่กับปัจจัยราคาเป็นสำคัญ โดยปัจจุบัน ราคาข้าวขาว 5% ไทยเฉลี่ย 9 เดือนแรกของปี 56 อยู่ที่ 533 เหรียญสหรัฐต่อตัน (หรือหดตัวร้อยละ 6.7) ยังสูงกว่าราคาข้าวของอินเดีย และเวียดนามที่เป็นประเทศคู่แข่งอยู่ 127 และ 147 เหรียญสหรัฐต่อตัน ตามลำดับ (ราคาข้าวอินเดียและเวียดนามเฉลี่ย 9 เดือนแรกของปี 56 อยู่ที่ 406 และ 386 เหรียญสหรัฐต่อตัน) ส่วนข้าวหอมมะลิซึ่งมีคุณภาพดีกว่ามีราคาเฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 1,183 เหรียฐสหรัฐต่อตันหรือขยายตัวร้อยละ 8.7 เมื่อเทียบกับปีก่อน
2.ดัชนีความเชื่อมั่นของภาคอุตสาหกรรม เดือน ต.ค. 56 อยู่ที่ระดับ 92.8
  • นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยผลการสำรวจความเชื่อมั่นของภาคอุตสาหกรรม เดือน ต.ค. 56 อยู่ที่ระดับ 92.8 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนที่ระดับ 90.4 เป็นการปรับขึ้นเป็นเดือนแรกหลังจากปรับตัวลดลงติดต่อกัน 4 เดือน แต่ค่าดัชนีฯ ยังคงมีค่าต่ำกว่า 100 ติดต่อกันเป็นเดือนที่ 16 นับตั้งแต่เดือน ก.ค. 55 ซึ่งแสดงถึงความเชื่อมั่นที่ไม่ดีนัก นอกจากนี้ ในระหว่างที่สำรวจค่า ดัชนีฯ ยังไม่เกิดปัญหาการเมืองจึงเห็นทิศทางว่าจะดีจากยอดคำสั่งซื้อปลายปีที่เพิ่มขึ้น ดังนั้นคงจะต้องติดตามดูผลสำรวจช่วงเดือน พ.ย. อีกครั้ง
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมปรับตัวดีขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นผลจากทิศทางการผลิตภาคอุตสาหกรรมเริ่มมีสัญญาณที่ดีขึ้น จากยอดคำสั่งซื้อ ยอดขายในประเทศ และปริมาณการผลิตที่ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นในกลุ่มอุตสาหกรรมแฟชั่น อุตสาหกรรมก่อสร้าง อุตสาหกรรมอาหาร และอุตสาหกรรมพลังงาน อย่างไรก็ดี ค่าดัชนีฯ ยังอยู่ในระดับที่ต่ำกว่า 100 สะท้อนว่าผู้ประกอบการยังคงกังวลต่อต้นทุนการผลิต ราคาวัตถุดิบและราคาพลังงาน ทั้งนี้ คาดว่าดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม ในปี 57 คาดว่าจะปรับตัวดีขึ้นจากปี 56 ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าและเศรษฐกิจภายในประเทศของไทย โดยสศค. คาดว่าเศรษฐกิจไทยในปี 57 จะขยายตัวร้อยละ 4.6 -5.6 (คาดการณ์ ณ เดือน ก.ย. 56 )
3. อินโดนีเซียขาดดุลลึก ขึ้นดอกเบี้ยแรงไม่ช่วย
  • เศรษฐกิจอินโดนีเซียยังคงเผชิญกับภาวะขาดดุลบัญชีเดินสะพัดในระดับที่สูงถึง -8.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ ในไตรมาสที่ 3 ของปีนี้ ขาดดุลลดลงเพียงเล็กน้อยจากไตรมาสก่อนหน้าที่ขาดดุลสูงเป็นประวัติการณ์ในรอบกว่า 30 ปีที่ -9.9 พันล้านเหรียญสหรัฐ แม้ว่าในรอบ 6 เดือนที่ผ่านมาทางธนาคารกลางอินโดนีเซียจะขึ้นดอกเบี้ยถึง 175 basis points จนอัตราดอกเบี้ยมาอยู่ที่ร้อยละ 7.5 ณ ปัจจุบัน เพื่อชะลออุปสงค์ภายในประเทศและป้องกันเงินทุนไหลออก อันจะเป็นการลดการขาดดุลที่คาดว่าน่าจะสูงถึงประมาณร้อยละ 3 ต่อ GDP ในปีนี้ (อินโดนีเซียขาดดุลบัญชีเดินสะพัดร้อยละ 2.7 ต่อ GDP ในปีที่แล้ว) ทั้งนี้ นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าด้วยสภาวะการขาดดุลที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ส่งผลให้ธนาคารกลางอินโดนีเซียมีแนวโน้มที่จะขึ้นดอกเบี้ยอีก 25-50 basis points
  • สศค. วิเคราะห์ว่า เศรษฐกิจอินโดนีเซียอยู่ในช่วงที่บริหารจัดการได้ยาก จากการที่ต้องขึ้นดอกเบี้ยเพื่อป้องกันเงินทุนไหลออก และการขาดดุล ซึ่งต้องแลกมาด้วยเศรษฐกิจที่ชะลอตัว และแม้ค่าเงินจะอ่อนค่าลงมาก การส่งออกของอินโดนีเซียก็ยังไม่สามารถขยายตัวได้ โดยตั้งแต่ต้นปีการส่งออกสินค้าของอินโดนีเซียหดตัวร้อยละ -6.1 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ทำให้การฟื้นตัวของดุลบัญชีเดินสะพัดยิ่งเป็นไปได้ยากขึ้น ขณะที่ทุนสำรองระหว่างประเทศร่อยหรอลงแล้วกว่าร้อยละ 14 นับตั้งแต่ต้นปีทำให้เครื่องมือในการควบคุมเศรษฐกิจเริ่มมีข้อจำกัด ในขณะเดียวกันการถอดมาตรการ QE ของสหรัฐฯ ยังถือเป็นอีกเหตุการณ์สำคัญที่รออยู่ เนื่องจากจะส่งผลให้ทุนไหลออกอีกรอบหนึ่ง ซึ่งจะส่งผลกดดันต่อค่าเงินและดุลบัญชีเดินสะพัดอีกครั้ง ทั้งนี้ สิ่งที่อินโดนีเซียวางแผนว่าจะดำเนินการเพิ่มเติม คือ มาตรการต่างๆ ที่นอกเหนือไปจากนโยบายการเงิน เช่น มาตรการทางภาษีนำเข้า และมาตรการรักษาเสถียรภาพเชิงมหภาค (Macro -prudential ) อื่นๆ

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 3257


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ