รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 8 พฤษภาคม 2557

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday May 8, 2014 14:39 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 8 พฤษภาคม 2557

Summary:

1. Moody's ประเมินธนาคารไทยยังคงมีเสถียรภาพแม้ว่าสถานการณ์การเมืองกระทบเศรษฐกิจ

2. ธุรกิจขนาดใหญ่ปรับแผนขยายการลงทุนต่างประเทศ

3. ธ.กลางจีน เดินหน้านโยบายการเงินแบบยืดหยุ่น

1. Moody's ประเมินธนาคารไทยยังคงมีเสถียรภาพแม้ว่าสถานการณ์การเมืองกระทบเศรษฐกิจ
  • มูดี้ส์ อินเวสเตอร์ เซอร์วิส (Moody's) ประเมินว่า แม้ความขัดแย้งทางการเมืองในไทยส่งผลให้เศรษฐกิจชะลอลงนับตั้งแต่ปีที่แล้ว และส่งผลกระทบต่อการบริโภคและก่อให้เกิดความล่าช้าในการลงทุน แต่แนวโน้มของระบบธนาคารไทยยังคงมีเสถียรภาพ สะท้อนจากสภาพคล่องและการระดมทุนที่ผ่านมา รวมทั้งความสามารถของธนาคารต่างๆ ในการจัดการกับหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นในอีก 12-18 เดือนข้างหน้า ขณะที่คาดว่าคุณภาพสินทรัพย์ของภาคธนาคารไทยจะเสื่อมถอยลงในระดับปานกลางเท่านั้น
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ผลการดำเนินงานของธนาคารพาณิชย์ไทยเติบโตในอัตราชะลอลงโดยเฉพาะการขยายตัวของสินเชื่อ โดยล่าสุด สินเชื่อในเดือน มี.ค. 57 ขยายตัวชะลอลงจากเดือนก่อนมาอยู่ที่ร้อยละ 8.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ทำให้ในช่วงไตรมาสแรกของปี 57 ขยายตัวร้อยละ 8.8 ชะลอลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่เติบโตได้ร้อยละ 13.9 อย่างไรก็ดี การเติบโตของเงินฝากของธนาคารพาณิชย์ไทยยังสามารถเติบโตได้แม้ว่าจะชะลงจากปีก่อนและยังรองรับความต้องการเงินทุนในอนาคตได้เป็นอย่างดี สะท้อนจากเงินฝากของสถาบันการเงินในเดือน มี.ค. 57 ขยายตัวชะลอลงเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้ามาอยู่ที่ร้อยละ 8.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และสภาพคล่องส่วนเกินของธนาคารพาณิชย์ทั้งระบบในเดือน ก.พ.57 ยังอยู่ในระดับสูงที่ 2.32 ล้านล้านบาท ทั้งนี้ สถานะของธนาคารพาณิชย์ไทยถือว่ามีความมั่นคงและมีฐานะทางการเงินที่แข็งแกร่ง สะท้อนจากสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้สุทธิ (Net NPLs) ณ ไตรมาสที่ 4 ปี 56 อยู่ที่ร้อยละ 1.01 ของยอดคงค้างสินเชื่อรวม และการดำรงเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (Capital Adequacy Ratio : CAR) ในเดือน ก.พ.57 อยู่ที่ร้อยละ 15.5 ซึ่งอยู่ในระดับที่สูงกว่าเกณฑ์ขั้นต่ำที่กำหนดไว้ร้อยละ 8.5
2. ธุรกิจขนาดใหญ่ปรับแผนขยายการลงทุนต่างประเทศ
  • นายวศิน วณิชย์วรนันต์ รองกรรมการผู้จัดการธนาคารกสิกรไทย บอกว่า นักธุรกิจให้การสนใจในการขยายธุรกิจต่างประเทศเพิ่มมากขึ้น คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 60 ของความต้องการทุนโดยรวม เนื่องจากตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก โดยร้อยละ 90 ของการลงทุนต่างประเทศเป็นการลงทุนขนาดใหญ่ มีมูลค่าโครงการโดยเฉลี่ย 5 หมื่นล้านบาทขึ้นไป ในขณะที่ประเทศพม่าเป็นประเทศที่มีความน่าสนใจในการลงทุนเพิ่มขึ้นมากที่สุด
  • สศค. วิเคราะห์ว่า การที่ธุรกิจขนาดใหญ่ มีความสนใจที่จะไปลงทุนโดยตรงในต่างประเทศ แสดงให้เห็นว่าภาคธุรกิจขนาดใหญ่ยังคงมีพื้นฐานที่แข็งแกร่ง และพร้อมรับมือกับสถานการณ์ความผันผวนของเศรษฐกิจโลก รวมทั้งแสดงถึงความพร้อมก่อนการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนที่จะเกิดขึ้นในปี 2558 จากข้อมูลล่าสุด ณ เดือน ก.พ. 57 มีเงินลงทุนโดยตรงในต่างประเทศที่ 146.4 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยส่วนใหญ่จะเป็นการลงทุนในหมวดการขายส่งและการขายปลีกที่ 108.9 ล้านเหรียญสหรัฐ รองลงมาได้แก่ กิจกรรมทางการเงินและประกันภัย ตามมาด้วยการทำเหมืองแร่
3. ธ.กลางจีน เดินหน้านโยบายการเงินแบบยืดหยุ่น
  • ธนาคารกลางจีน เปิดเผยว่า จะเดินหน้าใช้นโยบายการเงินแบบรัดกุมและปรับแก้ไขนโยบายให้สามารถรักษาเสถียรภาพการเติบโต กระตุ้นการปฏิรูป การปรับโครงสร้าง ส่งเสริมสวัสดิการของประชาชน และป้องกันความเสี่ยง นอกจากนี้ ยังระบุว่า นโยบายการเงินจะกระตุ้นให้ตลาดมีการจัดสรรทรัพยากร และธนาคารกำหนดแนวทางสำหรับธนาคารพาณิชย์ในการบริหารทรัพย์สินและหนี้สินเพื่อป้องกันความเสี่ยงในเรื่องสภาพคล่อง
  • สศค. วิเคราะห์ว่า จากข้อมูลล่าสุด พบว่า เศรษฐกิจจีนในไตรมาสที่ 1 ปี 57 ขยายตัวที่ร้อยละ 7.4 ต่อปี ชะลอตัวลงจากไตรมาสก่อนหน้าที่รอยละ 7.7 ต่อปี นับเป็นอัตราการขยายตัวที่ต่ำสุดในรอบ 6 ไตรมาส ซึ่งอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 1 อาจมิได้บ่งชี้เศรษฐกิจจีนในระยะถัดไป อย่างไรก็ดี ปัจจัยสำคัญอยู่ที่ความคืบหน้าของกระบวนการปฏิรูปเศรษฐกิจเพื่อสร้างเสถียรภาพระยะยาว โดยเฉพาะการปฏิรูประบบภาคการเงิน เพื่อควบคุมการขยายตัวของธนาคารเงา (Shadow Banking) ตลอดจนหนี้ของรัฐบาลทองถิ่น ประกอบกับการผลักดันการยกเลิกเพดานอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก และการจัดตั้งระบบประกันเงินฝาก ซึ่งจะเป็นกลไลสำคัญที่จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของระบบธนาคารพาณิชย์ และอาจเป็นปัจจัยสนับสนุนเศรษฐกิจจีนในช่วงที่เหลือของปี 57 ทั้งนี้ สศค. คาดว่า เศรษฐกิจจีนในปี 57 จะขยายตัวที่ร้อยละ 7.3 ต่อปี

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 3257


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ