รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 20 มิถุนายน 2557

ข่าวเศรษฐกิจ Friday June 20, 2014 11:24 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 20 มิถุนายน 2557

Summary:

1. ยอดการใช้จ่ายบัตรเครดิตของธนาคารกรุงไทยในช่วง 5 เดือนแรกขยายตัว

2. ธปท.พอใจเสถียรภาพค่าเงินยังดีแม้แข็งค่าขึ้นเล็กน้อย จากเงินทุนต่างชาติไหลเข้าในเดือน มิ.ย. 57

3.เวียดนามลดค่าเงินด่องหวังกระตุ้นการส่งออก

1. ยอดการใช้จ่ายบัตรเครดิตของธนาคารกรุงไทยในช่วง 5 เดือนแรกขยายตัว
  • รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยยอดรวมการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตธนาคารกรุงไทยตั้งแต่เดือน ม.ค. - พ.ค. 57 อยู่ที่ 5.1 หมื่นล้านบาท หรือคิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 5.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยในปัจจุบันมีฐานสมาชิกบัตรเครดิตรวม 1.6 ล้านบัตร และยอดการใช้จ่ายเฉลี่ยต่อบัตรเครดิตอยู่ที่ 6,500 บาท หรือสูงขึ้นร้อยละ 3.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อนหน้า แสดงให้เห็นถึงการเติบโตของธุรกิจดังกล่าวในช่วง 5 เดือนแรกของปี 57
  • สศค. วิเคราะห์ว่า เศรษฐกิจไทยในช่วงไตรมาสแรกของปี 57 ค่อนข้างซบเซา สะท้อนจาก GDP ไตรมาสที่ 1 ปี 57 ซึ่งหดตัวร้อยละ -0.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เทียบกับไตรมาสก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 0.6 โดยมีสาเหตุหลักมาจากอุปสงค์ในประเทศที่ชะลอลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของการบริโภคภาคเอกชนซึ่งหดตัวร้อยละ -3.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ซึ่งสอดคล้องกับภาพรวมยอดการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตรวมในช่วง 4 เดือนแรกของปี 57 อย่างไรก็ตาม ยอดรวมการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตเคทีซีที่เพิ่มขึ้นในช่วงดังกล่าว มีปัจจัยหลักมาจากการที่บริษัทบัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ได้ใช้การตลาดซึ่งมุ่งเน้นการใช้จ่ายสำหรับการซื้อสินค้าที่จำเป็นในชีวิตประจำวันเป็นหลัก จึงทำให้ไม่ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอลงมากนัก ทั้งนี้ สศค. คาดว่าปัจจัยทางการเมืองที่เริ่มคลี่คลายต่อเนื่อง กอปรกับเศรษฐกิจคู่ค้าที่มีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง จะเป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจในช่วงครึ่งหลังของปี 57
2. ธปท.พอใจเสถียรภาพค่าเงินยังดีแม้แข็งค่าขึ้นเล็กน้อย จากเงินทุนต่างชาติไหลเข้าในเดือนมิ.ย. 57
  • โฆษกธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทในเดือน มิ.ย. 57 แข็งค่าขึ้นเล็กน้อย จาก 3 ปัจจัย คือ 1) ช่วงปลายเดือน พ.ค. 57 มีการเข้าซื้อเงินดอลลาร์สหรัฐของบริษัทผู้ส่งออกเป็นจำนวนมาก แต่นับเป็นปัจจัยชั่วคราวที่มักเกิดขึ้นเป็นประจำในช่วงปลายเดือนของทุกเดือน 2) ปัจจัยการเมืองในประเทศผ่อนคลาย ทำให้ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับตัวดีขึ้น ทำให้นักลงทุนเกิดความเชื่อมั่นมากขึ้น และ 3) ปัจจัยภายนอก ที่ธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) ผ่อนคลายนโยบายการเงินทำให้คาดว่าจะมีเงินไหลเข้ามายังภูมิภาครวมถึงประเทศไทยมากขึ้น อีกทั้งผลการประชุมของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ที่ทำให้คาดกว่าจะใช้นโยบายการเงินผ่อนคลายต่อเนื่อง และคงอัตราดอกเบี้ยต่ำต่อไปอีกระยะหนึ่ง
  • สศค. วิเคราะห์ว่า เงินทุนเคลื่อนย้ายในช่วงเดือน มิ.ย. 57 ที่ผ่านมา มีความสมดุลมากขึ้น สะท้อนจากตัวเลขขายสุทธิของนักลงทุนต่างชาติในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ตั้งแต่วันที่ 2 - 19 มิ.ย. 57 อยู่ที่ 2.5 พันล้านบาท ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิถึง 35.8 พันล้านบาท ส่งผลให้ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ในเดือน มิ.ย. 57 ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง สะท้อนความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่อตลาดทุนไทยตลอดจนสภาวะเศรษฐกิจโดยรวมที่ดีขึ้น อย่างไรก็ตาม ยังคงมีความเสี่ยงที่จะส่งผลให้เงินทุนเคลื่อนย้ายผันผวนในช่วงที่เหลือของปี จากปัจจัยความเสี่ยงด้านนโยบายการเงินของประเทศเศรษฐกิจหลัก อาทิ สหรัฐฯ สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น ซึ่งต้องจับตาดูอย่างใกล้ชิดต่อไป
3. เวียดนามลดค่าเงินด่องหวังกระตุ้นการส่งออก
  • ธนาคารกลางเวียดนามได้ประกาศลดค่าเงินด่องลงร้อยละ 0.4 จาก 21,246 ด่องต่อดอลลาร์สหรัฐ เป็น 21,320 ด่องต่อดอลลาร์สหรัฐ เพื่อกระตุ้นการส่งออกและสร้างเสถียรภาพของค่าเงิน ทั้งนี้ ในช่วงต้นเดือน พ.ค. 57 เกิดเหตุประท้วงธุรกิจจีนในเวียดนาม จากการที่จีนเคลื่อนย้ายแท่นขุดเจาะน้ำมันเข้าไปในบริเวณหมู่เกาะพาราเซล ซึ่งมีหลายประเทศอ้างสิทธิความเป็นเจ้าของ เช่น จีน เวียดนาม และฟิลิปปินส์ เป็นต้น และได้ลุกลามกลายเป็นเหตุการณ์เผาโรงงานของชาวต่างชาติ
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ตัวเลขการส่งออกของเวียดนามในเดือน พ.ค. 57 ขยายตัวร้อยละ 2.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากเดือนก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 30.3 อย่างมาก จากมูลค่าการส่งออกยางพาราและชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ที่หดตัวร้อยละ -44.5 และ -8.9 ตามลำดับ ดังนั้น สาเหตุที่มูลค่าการส่งออกของเวียดนามในเดือน พ.ค. 57 ขยายตัวชะลอลงมากนั้น ไม่ได้เกิดจากเหตุการประท้วงในเวียดนามในช่วงต้นเดือน พ.ค. 57 ที่ส่งผลให้โรงงานต่างชาติบางแห่งปิดดำเนินงานชั่วคราวเพียงแต่อย่างเดียว แต่เกิดจากราคายางพาราในตลาดโลกที่ตกต่ำเนื่องจากมีอุปทานเข้าสู่ตลาดโลกเป็นจำนวนมาก การลดค่าเงินด่องเพื่อหวังกระตุ้นการส่งออกจึงเป็นเพียงมาตรการที่ช่วยบรรเทาปัญหาการส่งออกในเบื้องต้นเท่านั้น ดังนั้น สิ่งที่รัฐบาลเวียดนามควรเร่งแก้ไข คือ การเรียกคืนความเชื่อมั่นจากนักลงทุนต่างชาติจากเหตุเผาโรงงานดังกล่าว เพราะจะส่งผลต่อเม็ดเงินลงทุนทางตรงจากต่างประเทศ ซึ่งมีความสำคัญต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของเวียดนามในระยะยาว ดังสะท้อนในปี 56 เม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศเข้าสู่เวียดนามถึง 14.3 พันล้านดอลลร์สหรัฐ หรือคิดเป็นร้อยละ 8.3 ของ GDP ทั้งนี้ สศค.คาดการณ์ ณ เดือน มี.ค. 57 ว่า ในปี 57 เศรษฐกิจเวียดนามจะขยายตัวร้อยละ 5.4 (ช่วงคาดการณ์ 4.9-5.9)

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 3257


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ