รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 13 พฤศจิกายน 2557

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday November 13, 2014 12:06 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 13 พฤศจิกายน 2557

Summary:

1. ธนาคารโลกคาดเศรษฐกิจไทยปี 58 ขยายตัวร้อยละ 3.5 - 4.0 ต่อปี

2. ก. การท่องเที่ยวและกีฬาคาดนักท่องเทียวต่างชาติปี 57 อยู่ในช่วง 25.0 - 25.5 ล้านคน

3. คาดค่า FT งวดใหม่คงที่

1. ธนาคารโลกคาดเศรษฐกิจไทยปี 58 ขยายตัวร้อยละ 3.5 - 4.0 ต่อปี
  • ธนาคารโลกคาดเศรษฐกิจไทยในปี 58 จะขยายตัวที่ร้อยละ 3.5 - 4.0 ต่อปี โดยยังเป็นอัตราการขยายตัวที่ต่ำกว่าศักยภาพของประเทศที่ร้อยละ 5.0 - 6.0 ต่อปี โดยปัจจัยหนุนในการเติบโตของเศรษฐกิจไทยปีหน้ามาจากการฟื้นตัวของการส่งออก เนื่องจากเศรษฐกิจโลกมีการฟื้นตัวขึ้น ประกอบกับการลงทุนภาครัฐต่างๆ ที่จะเข้ามาช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ แม้ว่าเม็ดเงินที่ภาครัฐใช้ในการลงทุนนั้นจะมีสัดส่วน ร้อยละ 5 ของ GDP แต่ยังถือว่าสามารถช่วยเข้ามากระตุ้นเศรษฐกิจได้ในระยะสั้น
  • สศค. วิเคราะห์ว่า เศรษฐกิจไทยในปี 58 จะฟื้นตัวจากปี 57 โดยมีปัจจัยสนับสนุนหลักมาจากอุปสงค์ภาครัฐที่คาดว่าจะขยายตัวได้ดี โดยเฉพาะจากโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ด้านการคมนาคมขนส่ง และอุปสงค์จากต่างประเทศที่คาดว่าจะขยายตัวดีขึ้น ตามจำนวนนักท่องเที่ยวที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นภายหลังสถานการณ์ทางการเมืองภายในประเทศคลี่คลายลง นอกจากนี้ อุปสงค์ภาคเอกชน ทั้งการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน คาดว่าจะปรับตัวดีขึ้นเช่นกันตามแนวโน้มการจ้างงานและรายได้นอกภาคเกษตรที่มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจภาพรวม ประกอบกับความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่คาดว่าจะปรับตัวดีขึ้น ซึ่งจะเอื้อต่อการจับจ่ายใช้สอยของภาคเอกชนอย่างไรก็ตาม รายได้เกษตรกรที่อยู่ในระดับต่ำตามราคาสินค้าเกษตรในตลาดโลกยังคงเป็นข้อจำกัดต่อการฟื้นตัวของการบริโภคภาคเอกชนให้เป็นไปอย่างค่อยเป็นค่อยไป ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนคาดว่าจะกลับมาฟื้นตัวได้ชัดเจนขึ้น จากแนวโน้มการฟื้นตัวของการส่งออกสินค้า และความจำเป็นในการลงทุนปรับโครงสร้างการผลิตเพื่อรองรับปัญหาการขาดแคลนแรงงาน ทั้งนี้ สศค. คาดว่า เศรษฐกิจไทย ในปี 58 จะขยายตัวได้ร้อยละ 4.1 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 3.6 - 4.6)
2. ก. การท่องเที่ยวและกีฬาคาดนักท่องเทียวต่างชาติปี 57 อยู่ในช่วง 25.0 - 25.5 ล้านคน
  • รัฐมนตรีว่าการกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวว่า กฎอัยการศึกไม่กระทบต่อการท่องเที่ยวในภาพรวมและไม่กระทบต่อการท่องเที่ยวใน กทม. เนื่องจากมีการโปรโมทการท่องเที่ยวและเพิ่มสายการบินในต่างจังหวัด ซึ่งขณะนี้นักท่องเที่ยวก็เริ่มมีมากขึ้นต่อเนื่องตั้งแต่เดือน ต.ค. เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะเดือน ธ.ค. ยอดการจองที่พักก็มีปริมาณมากขึ้น ร้อยละ 6 และคาดว่าตลอดทั้งปีจะมีนักท่องเที่ยวเดินทางมาท่องเที่ยวในประเทศไทยจำนวน 25.0-25.5 ล้านคน แต่ลดจากปีที่ผ่านมาประมาณ 1 ล้านคน เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองเมื่อต้นปี จึงส่งผลจำนวนนักท่องเที่ยวลดลง
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ข้อมูลล่าสุด 9 เดือนแรกปี 57 จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าประเทศไทยหดตัวร้อยละ -10.3 ต่อปี ซึ่งแบ่งเป็น ด่านกทม. ที่หดตัวร้อยละ -17.7 ต่อปี ขณะที่ด่านอื่นๆ สามารถขยายตัวได้ที่ร้อยละ 4.3 ต่อปี ส่วนหนึ่งเนื่องจากมีการเหมาที่นั่งชาร์เตอร์ไฟลต์บินตรงไปยังสนามบินอื่น ขณะที่เครื่องชี้ในเดือน ต.ค.และ 11 วันแรกของเดือน พ.ย. 57 วัดจากด่านสุวรรณภูมิซึ่งคิดเป็นร้อยละ 58 ของ ด่านทั้งหมด พบว่านักท่องเที่ยวต่างชาติมีการหดตัวลดลงจากร้อยละ -13.1 ต่อปี ในเดือน ก.ย. 57 มาอยู่ที่ประมาณร้อยร้อยละ -2.0 ต่อปี สะท้อนให้เห็นว่านักท่องเที่ยวต่างชาติมีความเชื่อมั่นต่อสถานการณ์ภายในไทยเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ มาตรการยกเว้นค่าธรรมเนียมวีซ่าแก่นักท่องเที่ยวจีนและไต้หวันของรัฐบาล ตั้งแต่ 9 ส.ค. - 8 พ.ย. 57 ได้ช่วยกระตุ้นนักท่องเที่ยวจีนให้กลับมา สะท้อนจากข้อมูลในเดือน ส.ค.และ ก.ย. ที่นักท่องเที่ยวจีนมีการหดตัวลดลงเหลือเพียง 1 หลักมาอยู่ที่ร้อยละ -5.2 และ -6.3 ต่อปี จากช่วงก่อนหน้าที่มีหดตัวเฉลี่ยร้อยละ -20.7 ต่อปี ทั้งนี้ สศค.คาดว่า จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในปี 57 จะอยู่ที่ช่วง 24.7 - 25.0 ล้านคน หรือหดตัวที่ ร้อยละ (-7.0)- (-3.8) ต่อปี ในขณะที่ในปี 58 จะสามารถกลับมาขยายตัวได้ประมาณร้อยละ 16.0 - 20.0 ต่อปี
3. คาดค่า FT งวดใหม่คงที่
  • กรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) กล่าวว่า แนวโน้มค่าเอฟที (FT) งวดใหม่ (ม.ค.-เม.ย.) คาดว่าจะยังไม่ปรับลดลงตามราคาน้ำมันในตลาดโลกที่อ่อนตัวลง เนื่องจากราคาก๊าซอิงราคาน้ำมัน 6 เดือน จึงยังไม่ส่งผลต่อราคาต้นทุนก๊าซในการผลิตไฟฟ้ามากนัก แต่ในงวดถัดไปอาจเห็นความชัดเจนขึ้น
  • สศค. วิเคราะห์ว่า การที่ค่า FT งวดใหม่ที่คาดว่าจะไม่ปรับเพิ่มขึ้น นั้น ทำให้คาดว่าคาดว่าจะไม่ส่งผลกระทบต่ออัตราเงินเฟ้อ เนื่องจากสัดส่วนหมวดพลังงาน และหมวดไฟฟ้า เชื้อเพลิง น้ำประปาและแสงสว่าง มีสัดส่วนในตระกร้าเงินเฟ้อถึงร้อยละ 11.40 และ 4.88 ตามลำดับ ซึ่งในเดือนต.ค. 57 พบว่า อัตราในหมวดดังกล่าวขยายตัวร้อยละ 0.12 และ 3.93 ต่อปี ตามลำดับ ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือน ต.ค. 57 อยู่ที่ร้อยละ 1.5 ต่อปี ตามแนวโน้มราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ปรับตัวลดลง ส่งผลให้ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงขายปลีกภายในประเทศปรับตัวลดลง ทั้งนี้ สศค. คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 57 จะอยู่ที่ร้อยละ 2.1(ช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 1.9 - 2.4) สำหรับปี 58 คาดว่าจะอยู่ที่ที่ร้อยละ2.2 (ช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 1.7 - 2.7) ใกล้เคียงกับปีก่อนหน้า ตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่มีทิศทางทรงตัว

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 3257


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ