รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2558

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday February 25, 2015 11:34 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2558

Summary:

1. ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม ม.ค. 58 อยู่ที่ 91.1

2. "ส.อ.ท." ปรับเป้าการผลิตรถยนต์เหลือ 2.15 ล้านคัน ในปี 58

3. เอกชนคาดครึ่งแรกปี 58 ราคาน้ำมันดิบน่าจะทรงตัวอยู่ที่ระดับ 50-60 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล

1. ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม ม.ค. 58 อยู่ที่ 91.1
  • ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เผยผลสำรวจความเชื่อมั่นของภาคอุตสาหกรรมไทยเดือน ม.ค. 58 อยู่ที่ 91.1 ลดลงจากระดับ 92.7 ในเดือน ธ.ค.57 โดยค่าดัชนีที่ลดลงเกิดจากองค์ประกอบยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ เป็นสำคัญ
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือน ม.ค. 58 เป็นการปรับตัวลดลงในรอบ 4 เดือน สะท้อนถึงผู้ประกอบการมีความเชื่อมั่นลดลง โดยปัจจัยด้านลบต่อค่าดัชนี ได้แก่ 1) ความกังวลต่อคำสั่งซื้อที่ชะลอตัว โดยเฉพาะภาคเกษตร เนื่องจากราคาผลผลิตสินค้าเกษตรในตลาดโลกยังคงอยู่ในระดับต่ำ 2) การฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าสำคัญที่ฟื้นตัวอย่างเปราะบาง และ 3) ความไม่ชัดเจนของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจไทยปี 58 มีแนวโน้มขยายตัวในอัตราเร่ง โดยปัจจัยบวกที่สำคัญ คือ 1) การใช้จ่ายภาครัฐ โดยเฉพาะการลงทุนยกระดับโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ด้านคมนาคม 2) งบกลางที่กันไว้เบิกจ่ายเหลื่อมปีและงบไทยเข้มแข็ง 3) การลงทุนของรัฐวิสาหกิจที่ยังเบิกจ่ายได้อย่างต่อเนื่องและกรอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายลงทุนในปี 59 และ 4) มาตรการการเพิ่มประสิทธิภาพในการเบิกจ่าย เป็นสำคัญ
2. "ส.อ.ท." ปรับเป้าการผลิตรถยนต์เหลือ 2.15 ล้านคัน ในปี 58
  • โฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) กล่าวว่า ในปี 58 ได้มีการปรับเป้ายอดผลิตรถยนต์ลงเหลือ 2.15 ล้านคัน จากเดิมที่คาดว่าจะผลิตได้ 2.2 ล้านคัน ซึ่งเป็นการปรับลดลงจากยอดขายในประเทศเป็นสำคัญ โดยคาดว่ายอดขายในประเทศจะอยู่ที่ 9.5 แสนคัน จากเดิมที่เคยคาดว่าอยู่ที่ 1.0 ล้านคัน ขณะที่ยอดการผลิตเพื่อการส่งออก ยังคงคงประมาณการเดิมไว้ที่ 1.2 ล้านคัน เนื่องจากยังคงส่งออกได้ดีตลาดยุโรป อเมริกาเหนือ แอฟริกา ออสเตรเลีย
  • สศค. วิเคราะห์ว่า อุตสาหกรรมยานยนต์ ในปี 58 มีแนวโน้มเติบโตได้ในเกณฑ์ดี แม้ว่าส.อ.ท. จะปรับเป้าการผลิตรถยนต์ลดลง เนื่องจากเมื่อคิดเป็นอัตราการขยายตัวแล้วพบว่าการผลิตรถยนต์ในปี 58 จะขยายตัวประมาณร้อยละ 6.5 เมื่อเทียบกับปี 57 ที่หดตัวในระดับสูงที่ร้อยละ -23.5 นอกจากนี้อุตสาหกรรมยานยนต์ยังได้รับปัจจัยบวกจาก1)แนวโน้มการขยายตัวของรถยนต์ประหยัดพลังงานตามมาตรฐานสากล (eco car) 2) แนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ทำให้การส่งออกรถยนต์ไปตลาดหลัก อาทิ ตลาดยุโรป อเมริกาและออสเตรเลีย ขยายตัวได้ดี โดยในเดือนม.ค. 58 การส่งออกรถยนต์ขยายตัวที่ร้อยละ 14.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อน และ 3) การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในภาพรวม ทั้งภาคการผลิตและอุปสงค์ภายในประเทศ โดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชนที่คาดว่าจะกลับมาขยายตัวได้ร้อยละ 3.1 ในปี 58 จะเป็นผลดีต่อการจำหน่ายรถยนต์ในประเทศ อย่างไรก็ดี จากการที่ราคาสินค้าเกษตรสำคัญยังหดตัวอย่างต่อเนื่อง จะทำให้ยอดจำหน่ายรถยนต์ในประเทศโดยเฉพาะในส่วนภูมิภาค อาทิ ภาคใต้ ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จะปรับตัวดีขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยไปในระยะต่อไป
3. เอกชนคาดครึ่งแรกปี 58 ราคาน้ำมันดิบน่าจะทรงตัวอยู่ที่ระดับ 50-60 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล
  • ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมโรงกลั่นน้ำมันปิโตรเลียม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยถึงแนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมันโลกว่า ในครึ่งแรกของปี 58 นี้ราคาน้ำมันดิบดูไบน่าจะทรงตัวอยู่ที่ระดับ 50-60 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล หลังจากนั้น มีความเป็นไปได้ที่ราคาน้ำมันดิบดูไบจะปรับเพิ่มขึ้นในช่วงครึ่ง ปีหลังอยู่ที่ระดับ 60-70 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรลผลจากราคาน้ำมันที่ปรับลดลง ช่วยสนับสนุนให้เศรษฐกิจโลกปีนี้เติบโตได้ดีขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มประเทศที่นำเข้าน้ำมันสุทธิ ทั้งสหภาพยุโรป จีน ญี่ปุ่น และสหรัฐ รวมถึงไทยด้วย ที่พบผลการศึกษาระบุว่าการที่ราคาน้ำมันปรับลดลงทุก 20 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ส่งผลดีต่ออัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยเพิ่มขึ้น 0.8%
  • สศค. วิเคราะห์ว่า แนวโน้มราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่สูงขึ้นบ้างเนื่องจากมีการชะลอการลงทุนแหล่งผลิตน้ำมันดิบที่มีต้นทุนสูง และไม่คุ้มทุนที่ระดับราคาปัจจุบัน ประกอบกับการคาดการณ์ถึงทิศทางราคาน้ำมันที่อาจจะสูงขึ้นบ้างในช่วงนี้ ทำให้ผู้ค้าน้ำมันเช่าเรือเก็บน้ำมันลอยลำกลางทะเลเพิ่มมากขึ้น จนดันให้ราคาไต่ขึ้นไปอยู่ที่ระดับ 60 ล้านบาร์เรล/วันในเดือนม.ค.ที่ผ่านมา ทั้งนี้ คาดว่าปีนี้ความต้องการใช้น้ำมันดิบทั่วโลกอยู่ที่ 9 แสนบาร์เรล/วัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อนอยู่ที่ 6 แสนบาร์เรล/วัน เฉพาะภูมิภาคเอเชียมีความต้องการถึง 5.4 แสนบาร์เรล/วัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อนอยู่ที่ 3 แสนบาร์เรล/วัน ขณะที่คาดกำลังการผลิตทั่วโลกจะอยู่ที่ 1.1 ล้านบาร์เรล/วัน แต่จะมีโรงกลั่นเก่าปิดตัวลงกว่า 3 แสนบาร์เรล/วัน ทำให้กำลังการกลั่นสุทธิน่าจะเพิ่มขึ้นใกล้เคียงกับความต้องการ ผลจากการลดลงหรือทรงตัวของราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก คือ เงินเฟ้อจะอยู่ในระดับต่ำ ราคาวัสดุก่อสร้างมีแนวโน้มลดลง สินค้าอุตสาหกรรมที่มีน้ำมันเป็นปัจจัยการผลิตจะมีต้นทุนการผลิตและขนส่งที่ถูกลง ผู้บริโภคมีความโน้มเอียงที่จะซื้อรถยนต์และจักรยานยนต์ ความเชื่อมั่นผู้บริโภค/ผู้ผลิตอุตสาหกรรม/ภาคธุรกิจ/ SMEs จะค่อยๆ ปรับตัวตาม แต่อย่างไรก็ตาม ผลเสียที่เกิดขึ้นคือ มูลค่าส่งออกน้ำมันสำเร็จรูปจะลดลงด้วย

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 3257


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ