เอกสารแนบ: รายงานภาวะเศรษฐกิจการคลังประจำเดือนมกราคม 2558

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday February 26, 2015 16:14 —กระทรวงการคลัง

เอกสารแนบ

“เศรษฐกิจไทยในเดือนมกราคม 2558 พบว่า การบริโภคภาคเอกชน สะท้อนจากภาษีมูลค่าเพิ่มที่จัดเก็บบนฐานการบริโภคภายในประเทศ และการใช้จ่ายภาครัฐบาลปรับตัวดีขึ้น อย่างไรก็ตาม การลงทุนภาคเอกชนยังคงส่งสัญญาณชะลอตัว ในขณะที่การส่งออกสินค้าหดตัว โดยเฉพาะการส่งออกไปยังประเทศจีนในหมวดสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรประเภทยางพาราเป็นสำคัญ”

1. การบริโภคภาคเอกชนในเดือนมกราคม ปี 2558 ปรับตัวดีขึ้นจากช่วงก่อนหน้า สะท้อนได้จากยอดการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจัดเก็บบนฐานการบริโภคภายในประเทศ ณ ราคาคงที่ ในเดือนมกราคม 2558 ปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.5 ต่อปี และเมื่อขจัดผลทางฤดูกาลออก (m-o-m SA) พบว่า สามารถขยายตัวได้ร้อยละ 6.8 ต่อเดือน ขณะที่ภาษีมูลค่าเพิ่มที่จัดเก็บบนฐานการนำเข้า ณ ราคาคงที่ ยังคงหดตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ -17.1 ต่อปี ซึ่งส่งผลให้ภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ในเดือนมกราคม 2558 หดตัวที่ร้อยละ -2.0 ต่อปี สำหรับปริมาณจำหน่ายรถจักรยานยนต์ในเดือนมกราคม 2558 กลับมาขยายตัวเป็นบวกเป็นเดือนแรกที่ร้อยละ 14.5 ต่อปี ตามการปรับตัวดีขึ้นของยอดขายรถจักรยานยนต์ในกรุงเทพฯ เป็นสำคัญ สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจโดยรวมในเดือนมกราคม 2557 อยู่ที่ระดับ 69.7 ปรับตัวลดลงเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้า ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากประชาชนยังมองว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโดยรวมยังฟื้นตัวได้ช้า และราคาสินค้าเกษตรที่ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่ภาคการส่งออกและท่องเที่ยวยังไม่ปรับตัวดีขึ้นเท่าที่ควร ประกอบกับแนวโน้มการปรับขึ้นราคาก๊าซ NGV และ LPG สำหรับปริมาณการนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคในเดือนมกราคม 2558 พบว่า กลับมาหดตัวที่ร้อยละ -0.2 ต่อปี

เครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชน                       2556     2557                           2557                        2558
                                                                 Q1       Q2      Q3      Q4    พ.ย.    ธ.ค.      ม.ค.
ภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ (%yoy)                  -0.7      0.4     -0.2      0.3     2.3    -0.9      0.6    -1.9    -2.0
%qoq_SA / %mom_SA                                              -1.8     -1.2     0.6     1.3     -4.2     1.1     1.3
ปริมาณนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภค (%yoy)               4.5      1.5     -3.9      0.4     0.4     8.7      1.7    18.3    -0.2
%qoq_SA / %mom_SA                                              -3.4      3.4     0.3     7.8     -6.0     9.3    -8.8
ปริมาณการจำหน่ายรถจักรยานยนต์ (%yoy)             -6.0    -14.3    -20.8    -18.2    -8.1    -7.8    -12.0    -3.3    14.5
%qoq_SA / %mom_SA                                              -8.0     -2.0     6.7    -4.1     -6.2     5.3    -0.1
ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค                           70.2     64.5     59.9     61.2    69.3    69.6     68.8    70.5    69.7

2. การลงทุนภาคเอกชนในเดือนมกราคม 2558 ยังคงชะลอตัว โดยการลงทุนภาคเอกชนในหมวดก่อสร้าง สะท้อนจากปริมาณจำหน่ายปูนซีเมนต์ในเดือนมกราคม 2558 พบว่าหดตัวที่ร้อยละ -5.8 ต่อปี อย่างไรก็ดี ภาษีธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ยังคงขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่สอง ส่วนหนึ่งเกิดจากการเร่งโอนอสังหาริมทรัพย์ เนื่องจากการคาดการณ์ของภาคเอกชนถึงการบังคับใช้ภาษีใหม่ที่เกี่ยวข้องกับที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง และการรับมรดก สำหรับ การลงทุนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักร สะท้อนจากปริมาณนำเข้าสินค้าทุนหักเครื่องบินเรือและรถไฟหดตัว ร้อยละ -4.5 ต่อปี

เครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชน                             2556    2557                           2557                       2558
                                                                     Q1       Q2      Q3      Q4    พ.ย.    ธ.ค.     ม.ค.
เครื่องชี้การลงทุนก่อสร้าง
ภาษีจากการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ (%yoy)               18.1    -2.3     -5.6     -5.9    -2.1     3.4    -6.6    15.6    16.2
%qoq_SA / %mom_SA                                                 -11.3     -3.0     9.4     7.1    -3.8    15.5    -1.0
ปริมาณจำหน่ายปูนซีเมนต์ (%yoy)                          8.3    -3.2     -2.4     -3.0    -2.9    -4.8    -8.8     0.2    -5.8
%qoq_SA / %mom_SA                                                  -1.8      0.5    -2.2    -1.4    -2.1     0.1     0.4
เครื่องชี้การลงทุนในเครื่องจักร
ปริมาณนำเข้าสินค้าทุน (%yoy)                           -5.9    -8.4    -14.1    -12.6     0.0    -3.1    -8.5     3.5     3.4
%qoq_SA / %mom_SA                                                  -6.4      1.8     6.9    -5.4    -6.7     8.9    -1.2
ปริมาณนำเข้าสินค้าทุนหักเครื่องบิน                        -10.2    -5.7    -11.4     -4.4    -4.0     1.1    -3.9     6.9    -4.5
 เรือและรถไฟ (%yoy)
%qoq_SA / %mom_SA                                                  -0.4      1.8     0.0    -0.4    -3.0     8.0    -6.6

3. เครื่องชี้ภาวะเศรษฐกิจไทยด้านการคลังในเดือนมกราคม ปี 2558 สะท้อนบทบาทนโยบายการคลังในการสนับสนุนเศรษฐกิจไทย ผ่านการขาดดุลงบประมาณ โดยทางด้านการเบิกจ่ายงบประมาณ พบว่า รัฐบาลสามารถเบิกจ่ายงบประมาณรวมในเดือนมกราคม 2558 ได้จำนวน 215.7 พันล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 1.2 ต่อปี โดยรายจ่ายงบประมาณปีปัจจุบันสามารถเบิกจ่ายได้จำนวน 197.9 พันล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 6.2 ต่อปี แบ่งออกเป็น (1) รายจ่ายประจำ 181.1 พันล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 2.0 ต่อปี และ (2) รายจ่ายลงทุน 16.8 พันล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 89.0 ต่อปี สำหรับการจัดเก็บรายได้รัฐบาลพบว่า รัฐบาลสามารถจัดเก็บรายได้สุทธิ (หลังหักการจัดสรรให้ อปท.) ในเดือนมกราคม 2558 ได้จำนวน 158.9 พันล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 1.8 ต่อปี โดยรายการสำคัญ ดังนี้ (1) การจัดเก็บภาษีฐานรายได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 13.7 ต่อปี จากการจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 26.3 ขณะที่ภาษีเงินได้นิติบุคคลจัดเก็บได้ลดลงร้อยละ -1.3 และ (2) ภาษีฐานบริโภค (ภาษีมูลค่าเพิ่ม) จัดเก็บได้ลดลงร้อยละ -2.6 ต่อปี เนื่องจากการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มฐานการนำเข้าลดลงร้อยละ -17.6 สะท้อนการนำเข้าที่ยังคงชะลอตัว ขณะที่การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากฐานการบริโภคภายในประเทศเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.7 สะท้อนการบริโภคที่เพิ่มขึ้น ทั้งนี้ดุลงบประมาณในเดือนมกราคม 2558 ขาดดุลจำนวน -57.6 พันล้านบาท

เครื่องชี้ภาคการคลัง                  FY2557                    FY2557                                    FY2558
(พันล้านบาท)                                   Q1/      Q2/     Q3/     Q4/  กรอบวงเงิน     Q1/     ธ.ค.    ม.ค.       YTD
                                            FY57     FY57    FY57    FY57   งบประมาณ    FY58
รายได้สุทธิของรัฐบาล                2,073.9    503.5    437.2   608.5   525.5    2,325.0    506.3   171.0   158.9     665.2
(หลังหักการจัดสรรให้ อปท.)
(%y-o-y)                           -4.1     -1.0     -6.9    -5.2    -3.0        2.2      0.6     7.9     1.8       0.9
รายจ่ายรัฐบาลรวม                  2,460.0    831.1    553.0   514.7   561.2    2,575.0    844.1   270.7   215.7   1,059.8
(%y-o-y)                            2.4      5.7     -5.6     6.8     2.2        2.0      1.6   -14.6     1.2       1.5
ดุลเงินงบประมาณ                    -390.0   -334.7   -115.9   105.5   -44.9     -250.0   -347.8   -85.1   -57.6    -405.4

4. การส่งออกสินค้าในเดือนมกราคม ปี 2558 กลับมาหดตัวอีกครั้ง โดยในเดือนมกราคม 2558 การส่งออกสินค้าของไทยในรูปดอลลาร์สหรัฐมีมูลค่า 17.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัวที่ร้อยละ -3.5 ต่อปี โดยการส่งออกที่กลับมาหดตัวมีปัจจัยสำคัญมาจากการส่งออกสินค้าในหมวดสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร ที่หดตัว ร้อยละ -13.0 ต่อปี จากยางพารา และข้าว ที่หดตัวร้อยละ -40.6 ต่อปี และ -13.0 ต่อปี และน้ำมันสำเร็จรูปที่หดตัว ร้อยละ -28.1 ต่อปี เป็นสำคัญ ขณะที่สินค้าส่งออกที่ยังขยายตัวได้ดี ได้แก่ สินค้าอุตสาหกรรม ที่ขยายตัวร้อยละ 0.6 ต่อปี จากยานพาหนะ และเครื่องอิเล็กทรอนิกส์ ที่ขยายตัวร้อยละ 16.1 และ 21.2 ต่อปี เป็นสำคัญ สำหรับตลาดส่งออกหลักที่หดตัวในเดือนมกราคม 2558 ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น สหภาพยุโรป และอาเซียน-5 ที่หดตัวร้อยละ -19.7 -7.5 -5.0 และ -4.8 ต่อปี ตามลำดับ สำหรับมูลค่าการนำเข้าสินค้าในรูปดอลลาร์สหรัฐในเดือนมกราคม 2558 มีมูลค่าอยู่ที่ 17.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ -13.3 ต่อปี ทั้งนี้ มูลค่าการส่งออกสินค้าในรูปดอลลาร์สหรัฐที่มีมูลค่าต่ำกว่าการนำเข้าสินค้าในรูปดอลลาร์สหรัฐ ส่งผลทำให้ดุลการค้าระหว่างประเทศในเดือนมกราคม 2558 ขาดดุล ที่ -0.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

ประเทศคู่ค้าหลัก                           2556    2557                           2557                           2558
(สัดส่วนการส่งออกปี 56>>ปี 57)                                Q1      Q2       Q3       Q4     พ.ย.     ธ.ค.      ม.ค.
ส่งออกไปทั้งโลก (%yoy)                    -0.3    -0.4     -1.4     0.0     -1.8      1.6     -1.0      1.9     -3.5
%qoq_SA / %mom_SA                         -       -     -1.0    -0.8     -0.4      3.8     -3.8      4.9     -5.2
 1.จีน (11.9%>>>11.0%)                   1.4    -7.9     -4.5    -4.2     -6.3    -15.3    -18.7    -18.8    -19.7
 2.สหรัฐฯ (10.0%>>>10.5%)                0.8     4.1      0.6     4.9      3.4      7.2      2.7     13.2      6.0
 3.ญี่ปุ่น (9.7%>>>9.6%)                   -5.2    -1.9      0.7    -6.4     -1.0     -0.6    -10.7      5.9     -7.5
 4.สหภาพยุโรป (8.8%>>>9.2%)              2.7     4.7      4.8    10.9      2.0      1.7     -5.2      1.4     -5.0
 5.มาเลเซีย (5.7%>>>5.6%)                4.7    -1.9     -0.1    -1.4     -5.0     -1.0     11.7     -7.8    -12.5
 6.ฮ่องกง (5.8%>>>5.5%)                  0.7    -4.4     -1.8     1.7    -13.5     -1.8      1.8     -9.5      8.3
 PS.อาเซียน-9 (26.0%>>>26.1%)            5.0     0.2     -5.4    -0.1      1.1      5.2      9.0     -0.6     -0.7
 PS.อาเซียน-5 (17.6%>>>17.0%)            2.0    -3.9    -11.0    -4.1     -4.2      4.3      9.0     -2.9     -4.8
 PS.อินโดจีน-4 (8.3%>>>9.1%)             11.8     9.0      7.0     8.8     13.6      6.8      8.9      3.2      6.8

5. เครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปทาน จากภาคเกษตรกรรมปรับตัวดีขึ้น โดยภาคเกษตรกรรม สะท้อนจากดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรกรรมในเดือนมกราคม 2558 ขยายตัวร้อยละ 1.2 ต่อปี แต่เมื่อขจัดผลทางฤดูกาลออก (m-o-m SA) พบว่า สามารถขยายตัวได้ร้อยละ 6.0 ต่อเดือน ตามการขยายตัวของผลผลิตในหมวดพืชสำคัญ ได้แก่ ยางพารา ข้าวเปลือก และผลผลิตในหมวดปศุสัตว์ที่ยังคงขยายตัวได้อย่างต่อเนื่องตามการขยายตัวของผลผลิตสุกร ไก่เนื้อและไข่ไก่ เป็นสำคัญ ในขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนมกราคม 2558 อยู่ที่ระดับ 91.1 และถือเป็นการปรับตัวลดลงเป็นครั้งแรกหลังจากที่ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องตลอดในช่วงไตรมาสที่ 4 ปี 2557 โดยมีปัจจัยหลักมาจากความกังวล ต่อการชะลอตัวของกำลังซื้อภายในประเทศ โดยเฉพาะกำลังซื้อภาคเกษตร รวมทั้งความผันผวนของเศรษฐกิจประเทศ คู่ค้า และแนวโน้มการแข็งค่าของค่าเงินบาทเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นในภูมิภาคเดียวกันที่ส่งผลกระทบต่อขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการ อย่างไรก็ดี ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมในเดือนมกราคม 2558 จะมีการประกาศตัวเลขอย่างเป็นทางการโดยกระทรวงอุตสาหกรรมในวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2558 และจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เดินทางเข้าประเทศไทยในเดือนมกราคม 2558 อยู่ระหว่างการรวบรวมข้อมูลโดยกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา

เครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปทาน                    2556    2557                           2557                        2558
                                                            Q1       Q2       Q3      Q4    พ.ย.    ธ.ค.     ม.ค.
ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรกรรม (%yoy)             -2.2     0.2      3.1      5.4      2.3    -4.3    -4.4    -6.7     1.2
%qoq_SA / %mom_SA                                          8.3     -9.5      0.0    -1.0    -8.9    -3.3     6.0
ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (เบื้องต้น)               -3.3    -4.6     -7.0     -4.8     -3.9    -2.4    -3.7    -0.4    n.a.
%qoq_SA / %mom_SA                                         -3.3     -2.7     -3.7     2.7    -1.1     3.6       -
นักท่องเที่ยวต่างชาติ (%yoy)                   18.8    -6.7     -9.0    -15.9    -10.1     7.0     2.5    11.8    n.a.
%qoq_SA / %mom_SA                                        -11.1     -2.1      7.6    13.9    -1.9     4.6       -

6. ด้านเสถียรภาพในประเทศยังคงอยู่ในเกณฑ์ดี ขณะที่เสถียรภาพต่างประเทศอยู่ในระดับมั่นคง โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนมกราคม 2558 หดตัวร้อยละ -0.4 ต่อปี ซึ่งถือเป็นการหดตัวครั้งแรกในรอบกว่า 5 ปี โดยมีสาเหตุหลักมาจากการลดลงของราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศ ตามการลดลงของราคาน้ำมันดิบโลก เป็นสำคัญ รวมถึงราคาเนื้อสัตว์ ไข่และผลิตภัณฑ์นม และผักผลไม้ ที่มีการปรับตัวลดลง จากเดือนก่อนหน้า ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานขยายตัวร้อยละ 1.6 ต่อปี สำหรับอัตราการว่างงานในเดือนมกราคม 2558 อยู่ที่ร้อยละ 1.1 ของกำลังแรงงานรวม หรือคิดเป็นจำนวนผู้ว่างงาน 4.04 แสนคน ขณะที่สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ล่าสุด ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2557 อยู่ที่ ร้อยละ 46.3 ต่ำกว่ากรอบความยั่งยืนทางการคลังที่ตั้งไว้ไม่เกินร้อยละ 60.0 สำหรับเสถียรภาพภายนอกประเทศยังอยู่ในระดับมั่นคงและสามารถรองรับความเสี่ยงจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลกได้ ซึ่งสะท้อนได้จากทุนสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นเดือนมกราคม 2558 ที่ยังคงอยู่ในระดับสูงที่ 155.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งสูงกว่าหนี้ต่างประเทศระยะสั้นประมาณ 2.7 เท่า

เครื่องชี้เสถียรภาพเศรษฐกิจ               2556     2557                              2557                               2558
                                                        Q1       Q2        Q3        Q4      พ.ย.      ธ.ค.        ม.ค.
ภายในประเทศ
เงินเฟ้อทั่วไป (%yoy)                    2.2      1.9      2.0      2.5       2.0       1.4      1.3       0.6        -0.4
เงินเฟ้อพื้นฐาน (%yoy)                   1.0      1.6      1.2      1.5       1.8       1.6      1.6       1.7         1.6
อัตราการว่างงาน (yoy%)                 0.7      0.8      0.9      1.0       0.8       0.6      0.5       0.6         1.1
หนี้สาธารณะ/GDP                       45.7     45.8     46.5     47.1      47.2      46.3     46.1      46.3         n.a.
ภายนอกประเทศ
ดุลบัญชีเดินสะพัด (พันล้าน $)              -2.5     14.2      5.5     -0.6      -0.5       9.8      1.7       5.5         n.a.
ทุนสำรองทางการ (พันล้าน $)            167.2    157.1    167.5    168.2     161.6     157.1    158.5     157.1       155.4
ฐานะสุทธิ Forward  (พันล้าน $)          23.0     23.1     23.6     23.7      24.7      23.1     23.7      23.1        22.8

ที่มา: สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ