รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 17 มีนาคม 2558

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday March 17, 2015 11:29 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 17 มีนาคม 2558

Summary:

1. สถานการณ์ตลาดอสังหาฯ 2 เดือนแรกชะลอ คาดทั้งปีลดร้อยละ 8

2. ธปท. เผยเงินบาทยังมีเสถียรภาพ-เงินทุนเคลื่อนย้ายปกติ หลังกนง.ลดดอกเบี้ย

3. ธนาคารกลางญี่ปุ่นเปิดฉากการประชุมวันแรก มุ่งประเด็นค่าแรงและผลกระทบต่อราคาสินค้า

1. สถานการณ์ตลาดอสังหาฯ 2 เดือนแรกชะลอ คาดทั้งปีลดร้อยละ 8
  • ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธานกรรมการบริหาร ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส รายงานว่า ตลาดที่อยู่อาศัย 2 เดือนล่าสุดของปี 58 เน้นเปิดสินค้าราคาปานกลางค่อนข้างสูง โดยราคาบ้านเฉลี่ยเกือบ 4 ล้านบาท ซึ่งจากสถานการณ์ 2-3 เดือนล่าสุด คาดว่าตลาดอสังหาริมทรัพย์ปี 58 อาจหดตัวลงร้อยละ 8 อย่างไรก็ดี หากสถานการณ์บ้านเมืองสงบคาดว่าตลาดอสังหาริมทรัพย์จะเติบโตได้ดีกว่าปี 57
  • สศค. วิเคราะห์ว่า แนวโน้มตลาดอสังหาริมทรัพย์คาดว่าจะไม่แตกต่างจากปีก่อนมากนัก เนื่องจากปัจจัยลบที่หลากหลายทั้งจากด้านอุปสงค์และด้านอุปทาน ทั้งจากการฟื้นตัวที่ล่าช้าของเศรษฐกิจภายในประเทศ ประกอบปัญหาหนี้ครัวเรือนเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อ ภาคอสังหาฯ หรือความต้องการซื้อที่อยู่อาศัยให้ลดลง โดยเฉพาะอาคารชุด สะท้อนได้จากภาษีจากการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์รวมในเดือน ม.ค. 58 หดตัวร้อยละ -1.0 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า นอกจากนี้ หากพิจารณทางด้านอุปทานพบว่า ผู้ประกอบเริ่มชะลอการเปิดขายโครงการใหม่ สะท้อนได้จากจำนวนที่อยู่อาศัยที่ได้รับการอนุมัติสินเชื่อปล่อยใหม่ของธนาคารพาณิชย์ในกรุงเทพฯ และปริมณฑลในเดือน ม.ค. 58 ลดลงจาก 5,698 หน่วยในเดือนก่อนมาอยู่ที่ 4,962 หน่วย อย่างไรก็ดี สำหรับปัจจัยบวกของภาคอสังหาริมทรัพย์ในปี 58 คือ การประกาศลดอัตราดอกเบี้ยของ กนง. เมื่อวันที่ 11 มี.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งคาดว่าจะช่วยส่งเสริมการเติบโตของตลาดอสังหาริมทรัพย์ในระยะต่อไป
2. ธปท.เผยเงินบาทยังมีเสถียรภาพ-เงินทุนเคลื่อนย้ายปกติ หลังกนง.ลดดอกเบี้ย
  • นายจิรเทพ เสนีวงศ์ ณ อยุธยา โฆษกธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทยังมีเสถียรภาพอยู่ เพราะหลังจากคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติปรับลดดอกเบี้ยลง มีผลให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าลง 0.5 จาก 32.30-32.00 บาท/ดอลลาร์ มาอยู่ที่ 32.80-32.94 บาท/ดอลลาร์ และการปรับลดดอกเบี้ยครั้งนี้ ส่งผลให้ผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 10 ปี ลดลงร้อยละ 0.25 มาอยู่ที่ร้อยละ 2.49 ซึ่งถือเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 6 ปี
  • สศค. วิเคราะห์ว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ได้ปรับลดอัตราดอกเบี่ยนโยบายจากร้อยละ 2.00 เป็น ร้อยละ 1.75 ต่อปี เมื่อ 11 มี.ค. ที่ผ่านมา เนื่องจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในภาพรวมที่ช้ากว่าที่คาด สอดคล้องกับความเชื่อมั่นผู้บริโภคในเดือน ก.พ. อยู่ที่ระดับ 68.4 ปรับลดจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 69.7 จากความกังวลเกี่ยวกับราคาสินค้าเกษตรที่ตกต่ำ และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโดยรวมที่ช้ากว่าที่คาด ทั้งนี้ การปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายดังกล่าว จะเป็นส่วนช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้ โดยเฉพาะการลงทุนของภาคธุรกิจที่เผชิญต้นทุนทางการเงินที่ต่ำลง อีกทั้งเป็นปัจจัยบวกส่งผ่านไปยังอัตราแลกเปลี่ยนซึ่งเป็นผลดีต่อภาคการส่งออก ซึ่งจะเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่ทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้
3. ธนาคารกลางญี่ปุ่นเปิดฉากการประชุมวันแรก มุ่งประเด็นค่าแรงและผลกระทบต่อราคาสินค้า
  • จากการประชุมของ ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ในวันที่ 16 มี.ค. 58 เป็นวันแรก โดย BOJ มีแนวโน้มจะคงนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายไว้ รวมทั้งคงระดับการประเมินเศรษฐกิจในปัจจุบัน เนื่องจากเศรษฐกิจของประเทศกำลังฟื้นตัวในระดับปานกลาง นอกจากนี้ บริษัทรายใหญ่หลายแห่งของญี่ปุ่นมีแนวโน้มจะปรับขึ้นค่าแรงให้กับพนักงานในช่วงการเจรจาเรื่องค่าแรงช่วงฤดูใบไม้ผลินี้ เนื่องจาก ธนาคารกลางญี่ปุ่นเชื่อว่า การใช้จ่ายของผู้บริโภคที่สูงขึ้นอันเนื่องมาจากแรงหนุนของการขึ้นค่าแรงและเงื่อนไขการจ้างงานที่ดีขึ้นนั้น เป็นปัจจัยที่สำคัญสำหรับราคาสินค้าที่จะปรับตัวขึ้น
  • สศค. วิเคราะห์ว่า GDP ญี่ปุ่นตรมาสที่ 4 หดตัวร้อยละ -0.8 ส่งผลให้ GDP ในปี 57 หดตัวที่ร้อยละ -0.03 จากการปรับขึ้นอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มในปีดังกล่าวที่เป็นอุปสรรคต่อการจับจ่ายใช้สอยภายในประเทศเป็นหลัก จากการประชุมดังกล่าว มติการเพิ่มค่าแรงจะส่งผลให้กำลังซื้อของชาวญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นได้บ้าง กอปรกับดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือน ก.พ. 58 ปรับตัวเพิ่มขึ้นอยู่ที่ระดับ 40.4 จุด สะท้อนมุมมองเชิงบวกต่อสภาวะเศรษฐกิจโดยรวมของครัวเรือน ขณะที่อัตราเงินเฟ้อล่าสุดในเดือน ม.ค. 58 ก็ยังคงอยู่ในระดับที่เหมาะสมที่ร้อยละ 2.4 เมื่อเทียบช่วงเดียวกันปีก่อน นอกจากนี้ ภาคการค้าระหว่างประเทศปรับตัวดีต่อเนื่อง จากอานิสงส์ของเงินเยนที่อ่อนค่าส่งผลดีต่อภาคการส่งออก อีกทั้งต้นทุนการนำเข้าก็ปรับตัวลดลงจากราคาน้ำมันตลาดโลกซึ่งอยู่ในระดับต่ำ นอกจากนี้ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมของญี่ปุ่น วงเงินกว่า 3.5 ล้านล้านเยน (คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 0.7 ของ GDP) คาดว่าจะส่งผลให้การบริโภคและการลงทุนรวมปรับตัวดีขึ้น

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 3257


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ