รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 19 มีนาคม 2558

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday March 19, 2015 11:49 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 19 มีนาคม 2558

Summary:

1. ก.พาณิชย์หารือกัมพูชาดันเขตเศรษฐกิจพิเศษ จ.สระแก้ว ตั้งเป้าการค้าขยายตัวร้อยละ20-25 ต่อปี

2. ท่องเที่ยว 3 เดือนแรกของปียอดพุ่ง

3. ญี่ปุ่นขาดดุลการค้าต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 32

1. ก.พาณิชย์หารือกัมพูชาดันเขตเศรษฐกิจพิเศษจ.สระแก้ว ตั้งเป้าการค้าขยายตัวร้อยละ 20-25 ต่อปี
  • รมช.พาณิชย์ เผยว่า ได้เชิญ รมช.พาณิชย์กัมพูชา ร่วมหารือการส่งเสริมและขยายโอกาสการค้าและการลงทุนร่วมกัน ระหว่างวันที่ 25 - 27 มี.ค. 58 ในด้านการพัฒนากิจการด้านโลจิสติกส์การขนส่งและการตั้งศูนย์กระจายสินค้าเพื่อใช้ประโยชน์จากเส้นทางในพื้นที่เศรษฐกิจตอนใต้จากกรุงเทพฯ- เสียมเรียบ- สตรึงเตร็ง - รัตนคีรี (กัมพูชา) - เปอร์กุ-ฮอยอัน (เวียดนาม) รวมทั้งยังมีเส้นทางที่เชื่อมกับเส้นทางระเบียงเศรษฐกิจตะวันออกตะวันตกเชื่อมเมียนมาร์ไทยลาวกัมพูชาและเวียดนามอีกด้วย โดยทั้งสองประเทศได้ตั้งเป้าการค้าระหว่างประเทศในปี 58 ว่าจะขยายตัวร้อยละ 20 - 25 ต่อปี หรือประมาณ 6,000 ล้านเดอลลาร์สหรัฐฯ
  • สศค.วิเคราะห์ว่า การค้าชายแดนไทย-กัมพูชา ด้านจังหวัดสระแก้ว มีสัดส่วนสูงถึง 63.5 ของด่านทั้งหมด โดยในปี 57 ไทยเกินดุลการค้ากับกัมพูชาด้านจังหวัดสระแก้วที่ 46.4 พันล้านบาท ซึ่งการส่งเสริมการค้าชายแดนมีบทบาทสำคัญช่วยสนับสนุนการพัฒนาภูมิภาค และเป็นการสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจและส่งเสริมความสามารถในการแข่งขันของสินค้าไทยในตลาดประเทศเพื่อนบ้าน และในปัจจุบันรัฐบาลได้วางยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจและการขนส่งของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยได้จัดทำขอบเขตพื้นที่พัฒนาเศรษฐกิจพิเศษใน 5 พื้นที่ชายแดนเป้าหมายได้แก่ จังหวัด ตาก มุกดาหาร สงขลา สระแก้ว และตราด รวมพื้นประมาณ 1.83 ล้านไร่ เพื่อการสนับสนุนให้ภาคเอกชนไปลงทุนตั้งสถานประกอบการในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ โดยภาครัฐได้มีมาตรการสนับสนุนทั้งมาตรการทางภาษีอากร มาตรการที่มิใช่ภาษีอากร และมาตรการทางการเงินและการคลังที่สำคัญ เพื่ออำนวยความสะดวกการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งจะมีส่วนสำคัญในการผลักดันให้มูลค่าการค้าชายแดนเพิ่มขึ้นได้อย่างยั่งยืน
2. ท่องเที่ยว 3 เดือนแรกของปียอดพุ่ง
  • อธิบดีกรมการท่องเที่ยว กล่าวถึงสถานการณ์และแนวโน้มการท่องเที่ยวในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ว่า หลังจากที่รัฐบาลได้ผลักดันให้ปีนี้เป็นปีแห่งการท่องเที่ยววิถีไทย ส่งผลให้การท่องเที่ยวของไทยช่วง 3 เดือนแรกขยายตัวดีขึ้น โดยในเดือน ม.ค. 58 มีจำนวนนักท่องเที่ยวกว่า 2,650,000 คน เพิ่มขึ้นร้อยละ 16.30 ขณะที่เดือน ก.พ. 58 มีจำนวน 2,689,500 คน เพิ่มขึ้นร้อยละ 29.6 และในช่วง 13 วันแรกของเดือนมีนาคม มีจำนวน 1,098,822 คน ขยายตัวร้อยละ 27.6 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ข้อมูลที่ประกาศอย่างเป็นทางการของกรมการท่องเที่ยวพบว่า ในเดือน ม.ค. 58 มีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เดินทางเข้าประเทศไทยทั้งสิ้น 2.65 ล้านคน ขยายตัวที่ร้อยละ 16.3 ต่อปี แต่หากพิจารณาเครื่องชี้วัดจากด่านสุวรรณภูมิ ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 58 ของด่านทั้งหมด ในเดือน ก.พ. 58 มีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศเดินทางผ่านด่านฯ ขยายตัวที่ร้อยละ 34.0 ต่อปี และจากข้อมูลล่าสุด ณ วันที่ 1- 17 มี.ค. 58 จำนวนนักท่องเที่ยวขยายตัวที่ร้อยละ 29.1 ต่อปี ทั้งนี้ สศค. คาดว่า ในไตรมาสที่ 1 ของปี 58 จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศจะขยายตัวประมาณร้อยละ 20.0 ซึ่งคาดว่าทั้งปี 58 จะมีจำนวนทั้งสิ้น 2.83 ล้านคน คิดเป็นการขยายตัวที่ร้อยละ 14.3 ต่อปี โดยเป็นนักท่องเที่ยวจากเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือและอาเซียน หรือนักท่องเที่ยวจากจีนและมาเลเซียเป็นหลัก
3. ญี่ปุ่นขาดดุลการค้าต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 32
  • กระทรวงการคลังญี่ปุ่นเปิดเผยในรายงานขั้นต้นว่า ในเดือนกุมภาพันธ์ญี่ปุ่นขาดดุลการค้าอยู่ที่ 424,600 ล้านเยน โดยเป็นการขาดดุลติดต่อกันเป็นเดือนที่ 32 ซึ่งเป็นระยะการขาดดุลที่ต่อเนื่องยาวนานที่สุดนับตั้งแต่มีการรวบรวมข้อมูลในเดือน ม.ค. 2522 ทั้งนี้ การส่งออกในเดือนก.พ. 58 ขยายตัวร้อยละ 2.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่การนำเข้าเดือน ก.พ. 58 ลดลงร้อยละ 3.6 ต่อปี
  • สศค. วิเคราะห์ว่า สาเหตุหลักที่ทำให้ประเทศญี่ปุ่นขาดดุลการค้าเกิดจากการนำเข้าพลังงานจากต่างประเทศที่เพิ่มขึ้นอย่างมากเพื่อทดแทนสัดส่วนพลังงานที่ขาดหายไปหลังจากญี่ปุ่นต้องระงับการใช้เตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์เพื่อตรวจสอบความปลอดภัยภายหลังภัยพิบัติสึนามิและแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ในปี 54 สำหรับการส่งออกที่ขยายตัวในเดือน ก.พ. 58 มีปัจจัยสำคัญมาจากยอดการส่งออกไปยังสหรัฐฯที่ขยายตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ 14.3 และเป็นการขยายตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 6 ขณะที่ยอดการส่งออกไปยังสหภาพยุโรปขยายตัวร้อยละ 1.9 ทั้งนี้ เศรษฐกิจญี่ปุ่นมีโอกาสปรับตัวดีขึ้น โดยมีปัจจัยสนับสนุน ดังนี้ 1. มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมวงเงินกว่า 3.5 ล้านล้านเยน ที่จะส่งผลให้การบริโภคและการลงทุนรวมปรับตัวดีขึ้นกว่าปีก่อนหน้า 2. การเลื่อนแผนขึ้นอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มระยะที่ 2 จากเดือน ต.ค. 58 เป็นเดือน เม.ย. 60 ซึ่งจะเป็นสนับสนุนการจับจ่ายใช้สอยของประชาชนในประเทศ และ 3. สภาพคล่องเพิ่มเติมของธนาคารกลางญี่ปุ่นที่อัดฉีดเข้าสู่ระบบ วงเงินกว่า 80 ล้านล้านเยนต่อปี (เพิ่มขึ้น 20 ล้านล้านเยนต่อปี) ส่งผลให้เงินเยนอ่อนค่าและส่งผลดีต่อการส่งออก ทั้งนี้ สศค. คาดว่าในปี 58 เศรษฐกิจญี่ปุ่นจะขยายตัวที่ร้อยละ 0.9

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 3257


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ