รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 26 มีนาคม 2558

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday March 26, 2015 11:44 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 26 มีนาคม 2558

Summary:

1. กระทรวงพาณิชย์คาดส่งออก 2 เดือนแรก ขยายตัวลดลงร้อยละ -4.8 ต่อปี

2. สทท. คาดปี 58 นักท่องเที่ยวต่างชาติมีจำนวน 27.69 ล้านคน

3. ดัชนี PMI ภาคการผลิตเบื้องต้นของญี่ปุ่นเดือน มี.ค. 58 ลดลงแตะ 50.4 จุด

1. กระทรวงพาณิชย์คาดส่งออก 2 เดือนแรก ขยายตัวลดลงร้อยละ -4.8 ต่อปี
  • รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์กล่าวถึงสถานการณ์ส่งออกสินค้าไทย โดยคาดว่า มูลค่าการส่งออกสินค้าไทยในช่วง 2 เดือนแรกของปี 58 (ม.ค.-ก.พ.) จะขยายตัวลดลงประมาณร้อยละ -4.8 ต่อปี อย่างไรก็ตาม กระทรวงพาณิชย์ยังคงยืนยันเป้าหมายการส่งออกในปี 58 ไว้ที่ร้อยละ 4.0 แต่จะมีการทบทวนสถานการณ์การส่งออกของไทยอีกครั้งภายหลังจากสิ้นไตรมาสแรกปีนี้ไปแล้ว
  • สศค. วิเคราะห์ว่า การลดลงของมูลค่าการส่งออกในเดือน ก.พ. 58 มีสาเหตุหลักมาจากการส่งออกน้ำมันที่ลดลง ประกอบกับมูลค่าการส่งออกทองคำที่ลดลงถึงร้อยละ -60.0 ต่อปี ตามสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่ยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ ขณะที่เศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าหลักของไทยก็ยังเติบโตในอัตราที่ชะลอตัว โดยจะเห็นได้จากในเดือน ม.ค. 58 ที่มูลค่าการส่งออกหดตัวร้อยละ -3.5 ต่อปี ตามการลดลงของการส่งออกไปยังประเทศคู่ค้าหลัก ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น และสหภาพยุโรป ที่หดตัวร้อยละ -19.7 , -7.5 และ -5.0 ต่อปี ตามลำดับ อย่างไรก็ดี การส่งออกไปยังสหรัฐฯ และกลุ่มประเทศ CLMV ยังอยู่ในเกณฑ์ที่ดี โดยในเดือน ม.ค. 58 มีการขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 6.0 และ 6.8 ต่อปี ตามลำดับ ทั้งนี้ ไทยยังมีโอกาสที่จะผลักดันให้การส่งออกขยายตัวได้ หากมีการวิเคราะห์ตลาดได้อย่างชัดเจน มีการทำการตลาดเชิงกลยุทธ์ เน้นการเจาะขยายตลาดใหม่ และขยายโอกาสทางการค้าอย่างสร้างสรรค์ โดย สศค. คาดว่า มูลค่าการส่งออกสินค้าใน ปี 58 จะขยายตัวร้อยละ 1.4 ต่อปี (คาดการณ์ ณ เดือน ม.ค. 58 และจะมีการปรับประมาณการอีกครั้งในเดือน เม.ย. 58 นี้)
2. สทท. คาดปี 58 นักท่องเที่ยวต่างชาติมีจำนวน 27.69 ล้านคน
  • สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) เปิดเผยการคาดการณ์จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในปี 58 ว่า จะอยู่ที่ 27.69 ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.8 ต่อปี โดยมีรายได้จาการท่องเที่ยว 1.28 ล้านล้านบาท โดยในไตรมาสที่ 1 ของปี 58 คาดว่าจะมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ 7.62 ล้านคน ขยายตัวที่ร้อยละ 19.6 ต่อปี ทำรายได้เท่ากับ 3.5 แสนล้านบาท และในไตรมาสที่ 2 ของปี 58 จะมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ 5.74 ล้านคน ขยายตัวร้อยละ 12.6 ต่อปี ทำรายได้เท่ากับ 2.5 แสนล้านบาท ซึ่งปัจจัยที่ทำให้นักท่องเที่ยวสูงขึ้นมาจากสถานการณ์การเมืองที่มีเสถียรภาพ
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ข้อมูลล่าสุดที่ประกาศอย่างเป็นทางการของกรมการท่องเที่ยวในเดือน ม.ค. 58 มีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาไทย ทั้งสิ้น 2.65 ล้านคน ขยายตัวร้อยละ 16.3 ต่อปี โดยนักท่องเที่ยวที่ขยายตัวได้ดี มาจากกลุ่ม เอเชียตะวันออกเฉียงเหนือ และอาเซียนเป็นหลัก ในขณะที่กลุ่มโอเชเนียและยุโรปหดตัว โดยเฉพาะรัสเซียที่หดตัวสูงถึง -46.0 ต่อปี โดยหากหักรัสเซียออกกลุ่มยุโรปจะขยายตัวเล็กน้อยที่ร้อยละ 0.2 ต่อปี ทั้งนี้ สศค. คาดว่าทั้งปี 58 จะมีจำนวนทั้งสิ้น 28.3 ล้านคน คิดเป็นการขยายตัวที่ร้อยละ 14.3 ต่อปี โดยนักท่องเที่ยวหลักจะมาจากกลุ่มที่เดินทางระยะใกล้ เช่น จีน เป็นหลัก อย่างไรก็ดี นโยบายรัฐบาลในการเข้ามาดูแลในเรื่องของมาตรฐานความปลอดภัยของนักท่องเที่ยว การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมเพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินทางและการพัฒนาฟื้นฟูแหล่งท่องเที่ยว จะช่วยทำให้นักท่องเที่ยวมีความเชื่อมั่นและเดินทางมาไทยเพิ่มขึ้น
3. ดัชนี PMI ภาคการผลิตเบื้องต้นของญี่ปุ่นเดือน มี.ค. 58 ลดลงแตะ 50.4 จุด
  • มาร์กิต อิโคโนมิคส์ เปิดเผยว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตเบื้องต้นของญี่ปุ่นในเดือนมี.ค.ลดลงแตะ 50.4 จากระดับ 51.6 ในเดือน ก.พ. 58 ดัชนีที่สูงกว่า 50 แสดงให้เห็นว่า กิจกรรมทางธุรกิจมีการขยายตัว และตัวเลขที่ต่ำกว่า 50 บ่งชี้ถึงภาวะหดตัว
  • สศค. วิเคราะห์ว่า จากดัชนีฯดังกล่าวที่ยังคงเกินกว่า 50 จุดต่อเนื่องเป็นเวลา 10 เดือนติดต่อกัน สะท้อนกิจกรรมภาคการผลิตในญี่ปุ่นที่ยังคงขยายตัวได้ดีต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งได้รับอานิสงส์จากเงินเยนที่อ่อนค่าเป็นผลดีต่อภาคการค้าระหว่างประเทศ โดยมูลค่าการส่งออกญี่ปุ่นล่าสุดเดือน 2 เดือนแรกของปี 58 ขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 9.4 ต่อปี ในขณะที่ราคาน้ำมันที่ปรับตัวในระดับต่ำเป็นผลดีต่อต้นทุนการผลิตที่ลดลง ทั้งนี้ จากตัวเลขด้านอุปสงค์ต่างประเทศที่ยังคงขยายตัวต่อเนื่อง จะเป็นปัจจัยบวกด้านการขยายตัวทางเศรษฐกิจญี่ปุ่นในปี 58 ทั้งนี้ สศค. คาดว่าเศรษฐกิจญี่ปุ่นในปี 58 จะขยายตัวดีขึ้นจากปีก่อนหน้าโดยอยู่ที่ร้อยละ 0.9 (คาดการณ์ ณ เดือนม.ค. 58)

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 3257


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ