รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 15 พฤษภาคม 2558

ข่าวเศรษฐกิจ Friday May 15, 2015 14:38 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 15 พฤษภาคม 2558

Summary:

1. ดัชนีความเชื่อมั่นราคาทองคำ เดือน พ.ค. 58 กลับมาอยู่เหนือระดับ 50.0 จุด

2. ยอดค้าปลีกสหรัฐ เดือน เม.ย. 58 ขยายตัวร้อยละ 0.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน

3. ธนาคารกลางอังกฤษปรับลดคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจสหราชอาณาจักร

1. ดัชนีความเชื่อมั่นราคาทองคำ เดือน พ.ค. 58 กลับมาอยู่เหนือระดับ 50.0 จุด
  • นายกมลธัญ พรไพศาลวิจิต ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยทองคำ เปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นราคาทองคำ (Gold Price Sentiment Index) เดือน พ.ค. 58 อยู่ที่ระดับ 53.11 จุด เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 3.18 จุด โดยเป็นผลจากดัชนีฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นมากถึง 7.22 จุดมาอยู่ที่ระดับ 56.00 จุด ทั้งนี้ ดัชนีฯ ที่ปรับเพิ่มขึ้นและอยู่เหนือระดับ 50.0 จุด สะท้อนความเห็นของนักลงทุนและผู้ค้าทองคำที่เชื่อว่าราคาทองคำทั้งทองคำแท่ง ทองรูปพรรณ กองทุนทองคำ รวมไปถึงสัญญาซื้อขายทองคำล่วงหน้า (Gold Futures) มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในช่วง 1-3 เดือนข้างหน้า
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ดัชนีความเชื่อมั่นราคาทองคำในเดือน พ.ค. 58 ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากค่าเงินบาทต่อดอลลาร์สหรัฐที่มีแนวโน้มอ่อนค่า โดยเงินบาทต่อดอลลาร์สหรัฐเฉลี่ยตั้งแต่ 1-14 พ.ค. 58 อยู่ที่ 33.527 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าลงร้อยละ 3.11 จากค่าเฉลี่ยในเดือน เม.ย. 58 ซึ่งอยู่ที่ 32.516 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ค่าเงินบาทที่มีทิศทางอ่อนค่าจะส่งผลให้ราคานำเข้าทองคำในรูปของเงินบาทสูงขึ้น ส่งผลต่อเนื่องให้ราคาทองคำในประเทศปรับตัวสูงขึ้นตามไปด้วย นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยสนับสนุนจากการที่นักลงทุนคลายความกังวลเนื่องจากท่าทีของธนาคารกลางสหรัฐฯ ที่จะชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เนื่องจากเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในไตรมาสที่ 1 ปี 58 ชะลอตัว ทำให้ตลาดคาดการณ์ว่าค่าเงินดอลลาร์สหรัฐจะยังคงไม่แข็งค่าขึ้นมากนัก ส่งผลให้ราคาทองคำในรูปของดอลลาร์สหรัฐยังคงไม่มีแนวโน้มปรับลดลง ทั้งนี้ ราคาทองคำแท่งภายในประเทศในวันที่ 14 พ.ค. 58 ซื้อขายเฉลี่ยปิดที่ 19,250 บาท ปรับเพิ่มขึ้นจากสิ้นเดือน เม.ย. 58 ซึ่งอยู่ที่ 18,750 บาท
2. ยอดค้าปลีกสหรัฐฯ เดือน เม.ย. 58 ขยายตัวร้อยละ 0.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • สำนักงานสถิติแห่งชาติสหรัฐ ประกาศตัวเลขยอดค้าปลีกของสหรัฐในเดือน เม.ย. 58 ขยายตัวร้อยละ 0.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หรือทรงตัวเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า (ขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว) โดยเป็นผลจากยอดขายสินค้าทุกหมวดที่ปรับตัวลดลง อาทิ อาหารและเครื่องดื่ม น้ำมันเชื้อเพลิง เครื่องใช้ภายในครัวเรือน และเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม เป็นต้น
  • สศค. วิเคราะห์ว่า จากสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจสหรัฐฯ ล่าสุดยังมีสัญญาณการฟื้นตัวต่อเนื่อง สะท้อนจาก GDP ไตรมาส 1 ปี 58 ที่ขยายตัวสูงถึงร้อยละ 3.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ส่วนกิจกรรมภาคการผลิตยังคงอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อที่เกินกว่าระดับ 50 จุดต่อเนื่องทั้งภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการ ส่งผลให้อัตราการว่างงานเดือน เม.ย. 58 ปรับตัวลดลงโดยอยู่ในระดับต่ำสุดในรอบ 7 ปี ที่ร้อยละ 5.4 ของกำลังแรงงานรวม ทำให้คาดว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในปี 58 นี้ยังคงมีแนวโน้มขยายตัวได้ดีต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ยอดค้าปลีกในเดือน เม.ย. 58 ที่ชะลอลงนั้น สะท้อนการบริโภคภาคเอกชนในไตรมาส 2 ปี 58 ที่เริ่มมีสัญญาณปรับตัวลดลง โดยเฉพาะจากการชะลอตัวของยอดขายเครื่องใช้ไฟฟ้าและยานยนต์ซึ่งเป็นสินค้าคงทน ตลอดจนยอดขายเครื่องประดับซึ่งเป็นสินค้าฟุ่มเฟือย โดยทั้ง 2 หมวดเป็นสินค้าที่มีความอ่อนไหวต่อความเชื่อมั่นในสภาพเศรษฐกิจ ทั้งนี้ สศค. คาดว่าเศรษฐกิจสหรัฐปี 58 จะขยายตัวร้อยละ 2.8 (คาดการณ์ ณ เม.ย. 58)
3. ธนาคารกลางอังกฤษปรับลดคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจสหราชอาณาจักร
  • ธนาคารกลางอังกฤษ (Bank of England: BOE) ปรับลดคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจสหราชอาณาจักร (UK) ในปี 58 และปี 59 ว่าจะมีอัตราการเติบโตร้อยละ 2.5 และร้อยละ 2.6 ตามลำดับ จากเดิมที่คาดการณ์ในเดือน ก.พ. 58 ว่าเศรษฐกิจในปี 58 และ 59 จะโตร้อยละ 2.9 ต่อเนื่อง โดยมีปัจจัยลบจากการแข็งค่าของเงินปอนด์สเตอร์ลิง ภาวะซบเซาในตลาดที่อยู่อาศัย ประสิทธิภาพการผลิตที่ยังคงอยู่ในระดับต่ำ และความเสี่ยงจากวิกฤติหนี้ของกรีซ
  • สศค. วิเคราะห์ว่า การปรับลดคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจ สะท้อนแนวโน้มเศรษฐกิจ UK ที่แผ่วลงในไตรมาส 1 ปี 58 โดยขยายตัวร้อยละ 2.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากไตรมาส 4 ปี 57 หรือคิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 0.3 จากไตรมาสก่อนหน้า (หลังขจัดผลทางฤดูกาล) ทั้งนี้ สศค. คาดว่าเศรษฐกิจ UK จะขยายตัวร้อยละ 2.6 (คาดการณ์ ณ เดือน เม.ย. 58) เนื่องจากเศรษฐกิจ UK ยังคงมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง โดยดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคบริการปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ขณะที่ดัชนีภาคอุตสาหกรรมและภาคการก่อสร้างยังอยู่สูงกว่าระดับ 50 จุด แม้จะลดลงจากต้นปีเล็กน้อย นอกจากนี้ ยอดค้าปลีกซึ่งเป็นเครื่องชี้สำคัญสำหรับการบริโภคภาคเอกชนซึ่งมีสัดส่วนถึงร้อยละ 61.3 ของเศรษฐกิจในปี 57 ยังคงขยายตัวได้ดีที่ร้อยละ 5.2 ในไตรมาส 1 ปี 58 ส่วนการแข็งค่าของเงินปอนด์สเตอร์ลิง มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจ UK ที่เป็นผู้นำเข้าสุทธิไม่มากนัก

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 3257


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ