รายงานภาวะเศรษฐกิจรายสัปดาห์ระหว่างวันที่ 8 - 12 มิถุนายน 2558

ข่าวเศรษฐกิจ Monday June 15, 2015 13:41 —กระทรวงการคลัง

Executive Summary

Indicators this week
  • สภาพคล่องส่วนเกินของธนาคารพาณิชย์ ในเดือน เม.ย. 58 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้ามาอยู่ที่ 2.69 ล้านล้านบาท
  • วันที่ 10 มิ.ย. 58 คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ ร้อยละ 1.50
  • ปริมาณการจำหน่ายรถจักรยานยนต์ในเดือน พ.ค. 58 มีจำนวนทั้งสิ้น 156,473 คัน หรือคิดเป็นการหดตัวร้อยละ -5.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • ปริมาณการจำหน่ายปูนซีเมนต์ภายในประเทศในเดือน พ.ค. 58 หดตัวที่ร้อยละ -0.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • GDP ยูโรโซน ไตรมาส 1 ปี 58 (ตัวเลขปรับปรุง) ขยายตัวร้อยละ 1.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • GDP ญี่ปุ่น ไตรมาส 1 ปี 58 (ตัวเลขปรับปรุง) หดตัว ร้อยละ -0.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • อัตราการว่างงานของสหรัฐฯ เดือน พ.ค. 58 เพิ่มขึ้นจากระดับต่ำสุดในรอบเกือบ 7 ปี มาอยู่ที่ร้อยละ 5.5 ของกำลังแรงงานรวม
  • มูลค่าการส่งออกของจีน เดือน พ.ค. 58 หดตัวร้อยละ -2.4 จากช่วงเดียวปีก่อน
  • อัตราการว่างงานของออสเตรเลีย เดือน พ.ค. 58 อยู่ที่ร้อยละ 6.0 ของกำลังแรงงานรวม
  • ยอดค้าปลีกของอินโดนีเซีย เดือน เม.ย. 58 ขยายตัวที่ ร้อยละ 20.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อน

Indicator next week

Indicators       Forecast    Previous
May: API (%YOY)     1.5        -13.3
  • จากสับปะรดโรงงาน ปาล์มน้ำมัน ลิ้นจี่ และผลไม้ ภาคตะวันออก ที่จะออกสู่ตลาดมากขึ้น กอปรกับฝนตกได้มากขึ้น ซึ่งคลายภาวะแห้งแล้งลงได้ในระดับหนึ่ง ส่วนหมวดปศุสัตว์และประมงคาดว่าจะขยายตัวได้ตามปกติ
Economic Indicators: This Week
  • สภาพคล่องส่วนเกินของธนาคารพาณิชย์ ในเดือน เม.ย. 58 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้ามาอยู่ที่ 2.69 ล้านล้านบาท โดยสินทรัพย์สภาพคล่องเพิ่มขึ้นจากการถือหลักทรัพย์ซึ่งปราศจากภาระผูกพันและการสำรองเงินสดที่ธนาคารเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ สินทรัพย์สภาพคล่องส่วนเกินคิดเป็น 3.6 เท่า ของสินทรัพย์ สภาพคล่องที่ธนาคารพาณิชย์ต้องดำรงตามกฎหมาย (ร้อยละ 6 ของเงินรับฝาก)
  • วันที่ 10 มิ.ย. 58 คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 1.50 ต่อปี ทั้งนี้ กนง. ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยยังคงฟื้นตัวได้ใกล้เคียงกับที่ประเมินไว้ในการประชุมครั้งก่อน ขณะที่คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะยังคงติดลบต่อเนื่องจากราคาพลังงาน แต่จะปรับสูงขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี ดังนั้น จึงเห็นว่านโยบายทางการเงินควรอยู่ในภาวะผ่อนคลายต่อเนื่องเพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ
  • ปริมาณการจำหน่ายรถจักรยานยนต์ในเดือน พ.ค. 58 มีจำนวนทั้งสิ้น 156,473 คัน หรือคิดเป็นการหดตัวร้อยละ -5.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนหดตัวชะลอลงจากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -18.4 หรือคิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 16.3 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า หลังขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว โดยเป็นการหดตัวของยอดจำหน่ายรถจักรยานยนต์ทั้งในเขตกรุงเทพฯ และเขตภูมิภาค ตามรายได้เกษตรกรที่แท้จริงที่หดตัวในระดับสูงในเดือน เม.ย. ที่ผ่านมา โดยเขตกรุงเทพฯ มียอดจำหน่ายหดตัวร้อยละ -9.9 และเขตชนบทหดตัวร้อยละ -4.0
  • ปริมาณการจำหน่ายปูนซีเมนต์ภายในประเทศ ในเดือน พ.ค. 58 หดตัวที่ร้อยละ -0.5 ต่อปีแต่เมื่อหักผลทางฤดูกาล (m-o-m SA) พบว่าปริมาณการจำหน่ายปูนซีเมนต์เดือน พ.ค. 58 ขยายตัวที่ ร้อยละ 2.8 ต่อเดือน ทั้งนี้ ในช่วง 5 เดือนแรกของ ปี 58 ยอดจำหน่ายปูนซีเมนต์หดตัวร้อยละ -2.2 ต่อปี
Economic Indicator: Next Week
  • ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรในเดือน พ.ค. 58 คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 1.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน กลับมาขยายตัวจากเดือนก่อน ที่หดตัวร้อยละ -13.3 จากสับปะรดโรงงาน ปาล์มน้ำมัน ลิ้นจี่ และผลไม้ภาคตะวันออก ที่จะออกสู่ตลาดมากขึ้น กอปรกับฝนตกได้มากขึ้น ซึ่งคลายภาวะแห้งแล้งลงได้ในระดับหนึ่ง ส่วนหมวดปศุสัตว์และประมงคาดว่าจะขยายตัวได้ตามปกติ

Global Economic Indicators: This Week

US: mixed signal

การจ้างงานนอกภาคเกษตร เดือน พ.ค. 58 เพิ่มขึ้น 280 ตำแหน่ง โดยเพิ่มขึ้นจากการจ้างงานแบบเต็มเวลา ซึ่งอยู่ในสาขาบริการทางธุรกิจและวิชาการ การศึกษาและสุขภาพ และนันทนาการและโรงพยาบาลเป็นส่วนใหญ่ อัตราการว่างงาน เดือน พ.ค. 58 เพิ่มขึ้นจากระดับต่ำสุดในรอบเกือบ 7 ปี มาอยู่ที่ร้อยละ 5.5 ของกำลังแรงงานรวม จากอัตราการมีส่วนร่วมในกำลังแรงงาน ที่เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อนมาที่ร้อยละ 62.9 ของวัยแรงงาน อย่างไรก็ตามรายได้เฉลี่ยแรงงานภาคเอกชนลดลงเล็กน้อยมาที่ 855.5 ดอลลาร์สหรัฐ ต่อสัปดาห์ จากรายได้จากภาคบริการธุรกิจและวิชาการที่ลดลง

China: worsening economic trend

มูลค่าการส่งออก เดือน พ.ค. 58 หดตัวร้อยละ -2.4 จากช่วงเดียวปีก่อน ชะลอลงจากร้อยละ -6.5 ในเดือนก่อน นับเป็นการหดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 โดยมีเพียงการส่งออกไปสหรัฐฯ ที่ยังขยายตัวได้ดี มูลค่าการนำเข้า เดือน พ.ค. 58 หดตัวร้อยละ -17.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นจากร้อยละ -16.4 ในเดือนก่อน นับเป็นการหดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7 และจากมูลค่าการนำเข้าที่หดตัวในอัตราสูงทำให้ดุลการค้า เดือน พ.ค. 58 เกินดุลมากถึง 5.9 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐด้านอัตราเงินเฟ้อ เดือน พ.ค. 58 ขยายตัวร้อยละ 1.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ทรงตัวในอัตราต่ำต่อเนื่อง ยอดค้าปลีก เดือน พ.ค. 58 ขยายตัวร้อยละ 10.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นเล็กน้อยจากร้อยละ 10.0 ในเดือนก่อน ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม เดือน พ.ค. 58 ขยายตัวร้อยละ 6.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นจากร้อยละ 5.9 ในเดือนก่อน และขยายตัวสูงสุดในรอบ 5 เดือน ด้านการลงทุนในสินทรัพย์คงทน เดือน พ.ค. 58 ขยายตัวชะลอลงต่อเนื่อง ที่ร้อยละ 11.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากร้อยละ 12.0 ในเดือนก่อน

Eurozone: improving economic trend

GDP ไตรมาส 1 ปี 58 (ตัวเลขปรับปรุง) ขยายตัวร้อยละ 1.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หรือขยายตัวร้อยละ 0.4 จากไตรมาสก่อนหน้า (ขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว) โดยเป็นผลจากการขยายตัวของการบริโภคภายในยูโรโซนที่ฟื้นตัวต่อเนื่อง ส่วนการลงทุนยังคงขยายตัวไม่มากนัก ขณะที่การส่งออกสุทธิหดตัว จากการนำเข้าที่ขยายตัวสูงกว่าการส่งออก

Japan: improving economic trend

GDP ไตรมาส 1 ปี 58 (ตัวเลขปรับปรุง) หดตัวร้อยละ -0.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หรือขยายตัวร้อยละ 1.0 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า (ขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว) โดยการบริโภคและลงทุนภาคเอกชนปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาสก่อนดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือน พ.ค. 58 เพิ่มขึ้นอยู่ที่ระดับ 42.0 จุด สะท้อนมุมมองชาวญี่ปุ่นต่อสภาวะเศรษฐกิจโดยรวมที่ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง

Australia: improving economic trend

อัตราการว่างงาน เดือน พ.ค. 58 อยู่ที่ร้อยละ 6.0 ของกำลังแรงงานรวม ต่ำสุด ในรอบปีแม้ว่าอัตราการมีส่วนร่วมในกำลังแรงงานจะเพิ่มขึ้นเล็กน้อยมาอยู่ที่ร้อยละ 65.0 ของวัยแรงงาน ทั้งนี้ อัตราการว่างงานที่ลดลงเป็นผลจากการจ้างงานเต็มเวลาและไม่เต็มเวลา

Indonesia: mixed signal

ยอดค้าปลีก เดือน เม.ย. 58 ขยายตัวร้อยละ 20.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากเดือนก่อน จากอะไหล่และส่วนประกอบ และน้ำมัน ที่หดตัวเร่งขึ้น

Malaysia: worsening economic trend

ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม เดือน เม.ย. 58 ขยายตัวชะลอลงอยู่ร้อยละ 4.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากการผลิตในทุกหมวดสินค้าที่ปรับตัวลดลง

Phillippines: worsening economic trend

มูลค่าการส่งออก เดือน เม.ย. 58 กลับมาหดตัวที่ร้อยละ -4.1 จากช่วงเดียวกัน ปีก่อน จากการหดตัวของการส่งออกไปยัง 3 ตลาดส่งออกหลัก (ญี่ปุ่น สหรัฐฯ และจีน) ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 49 ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม เดือน เม.ย. 58 กลับมาหดตัวเช่นกันที่ร้อยละ -4.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากผลผลิตอาหาร น้ำมัน และเครื่องใช้ไฟฟ้าที่หดตัว

South Korea: improving economic trend

อัตราการว่างงาน เดือน พ.ค. 58 อยู่ที่ร้อยละ 3.9 ของกำลังแรงงานรวม ทรงตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้า เมื่อวันที่ 11 มิ.ย. 58 ธนาคารเกาหลีใต้ตัดสินใจปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 25 bps มาอยู่ที่ร้อยละ 1.5 โดยนับเป็นการปรับลดครั้งที่ 2 นับตั้งแต่ต้นปี 58 โดยส่วนหนึ่งเป็นผลจากความเสี่ยงที่โรคระบาดไวรัสเมอร์สจะส่งผลกระทบในทางลบต่อเศรษฐกิจเกาหลีใต้ โดยเฉพาะการท่องเที่ยวและการบริโภคภายในประเทศ

Taiwan: worsening economic trend

มูลค่าการส่งออก เดือน พ.ค. 58 หดตัวร้อยละ -3.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากร้อยละ -11.7 ในเดือนก่อน มูลค่าการนำเข้า เดือน พ.ค. 58 หดตัวร้อยละ -5.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากร้อยละ -22.1 ในเดือนก่อน ทำให้ดุลการค้า เดือน พ.ค. 58 ขาดดุล 5.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นสูงสุดเป็นประวัติการณ์

United Kingdom: improving economic trend

มูลค่าการส่งออก เดือน เม.ย. 58 ขยายตัวร้อยละ 8.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากการส่งออกไปยัง สหรัฐอเมริกา เอเชีย และกลุ่มประเทศยุโรปตะวันตกที่ไม่เป็นสมาชิก EU ขณะที่การส่งออกไปยังกลุ่มประเทศสมาชิก EU ยังคงหดตัวต่อเนื่อง มูลค่าการนำเข้า เดือน เม.ย. 58 หดตัวร้อยละ -2.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากการหดตัวของการนำเข้าจากกลุ่มประเทศสมาชิก EU ขณะที่การนำเข้าจากสหรัฐอเมริกาและเอเชียยังคงขยายตัวได้ดี ส่งผลให้ดุลการค้า ขาดดุล 6.8 พันล้านปอนด์ โดยเป็นการขาดดุลลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม เดือน เม.ย. 58 ขยายตัวร้อยละ 1.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากการขยายตัวของสินค้าหมวดพลังงาน และสินค้าขั้นกลาง

Weekly Financial Indicators
  • ดัชนี SET ปรับเพิ่มขึ้นสูงกว่าระดับ 1,500 จุดในช่วงปลายสัปดาห์ โดย ณ วันที่ 11 มิ.ย. 58 ดัชนีฯ ปิดที่ระดับ 1,515 จุด ด้วยมูลค่าซื้อขาย ต่อวันเฉลี่ยทั้งสัปดาห์เบาบางเพียง 38,047.3 ล้านบาท โดยมีแรงซื้อจากนักลงทุนสถาบัน ในประเทศและบัญชีบริษัทหลักทรัพย์ จากการที่ นักลงทุนคาดว่าการเจรจาหนี้ของกรีซใกล้ได้ข้อสรุป หลังเยอรมนียอมรับแผนปฏิรูปเศรษฐกิจกรีซบางข้อ นอกจากนี้ ราคาน้ำมันที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นยังเป็นปัจจัยให้หุ้นในกลุ่มพลังงานปรับตัวเพิ่มขึ้นด้วย ทั้งนี้ ระหว่างวันที่ 8 - 11 มิ.ย. 58 นักลงทุนต่างชาติขายหลักทรัพย์สุทธิ 3,965.7 ล้านบาท
  • อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลปรับเพิ่มขึ้น 1-10 bps จากแรงขายของนักลงทุนสถาบันและนักลงทุนรายย่อยในประเทศ ภายหลังจาก ธปท. ประกาศคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 1.50 ต่อปีเมื่อวันที่ 10 มิ.ย. 58 ที่ผ่านมา นอกจากนี้ นักลงทุนยังติดตามการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของสหรัฐฯ (FOMC) และติดตามการประกาศผลประมาณการการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทย ปี 58 โดย ธปท. ในวันที่ 19 มิ.ย. 58 ด้วย โดยนักลงทุนส่วนใหญ่คาดว่า ธปท. จะปรับลดประมาณการลงจากครั้งก่อน ทั้งนี้ ระหว่างวันที่ 8 - 11 มิ.ย. 58 นักลงทุนต่างชาติซื้อพันธบัตรสุทธิ 2,857.3 ล้านบาท (ไม่รวมพันธบัตร ธปท.)
  • เงินบาทแข็งค่าขึ้นเล็กน้อย โดย ณ วันที่ 11 มิ.ย. 58 ค่าเงินบาทปิดที่ระดับ 33.68 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นแข็งค่าขึ้นร้อยละ 0.15 จากสัปดาห์ก่อน เป็นไปในทิศทางเดียวกับค่าเงินสกุลภูมิภาคส่วนใหญ่ ตามค่าเงินดอลลาร์สหรัฐที่อ่อนค่า ทั้งนี้ เงินบาทอ่อนค่าใกล้เคียงกับค่าเงินสกุลภูมิภาคโดยเฉลี่ย ส่งผลให้ดัชนีค่าเงินบาท (NEER) ในสัปดาห์นี้ทรงตัวจากสัปดาห์ก่อน โดยแข็งค่าขึ้นเพียงเล็กน้อยที่ร้อยละ 0.07 จากสัปดาห์ก่อน

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3253 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ