รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 9 พฤศจิกายน 2558

ข่าวเศรษฐกิจ Monday November 9, 2015 14:39 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 9 พฤศจิกายน 2558

Summary:

1. รัฐเร่งลดอุปสรรคลงทุนเอกชน

2. พาณิชย์ชี้ผลพวงแล้ง ฟิลิปปินส์-อินโดซื้อข้าวเพิ่ม

3. จีนเผยยอดการค้าระหว่างประเทศเดือน ต.ค.58 ร่วงร้อยละ -9.0 เทียบรายปี

1. รัฐเร่งลดอุปสรรคลงทุนเอกชน
  • นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ต้นปีหน้ารัฐบาลจะติดตามความคืบหน้าการลดปัญหาและอุปสรรคของการลงทุนในประเทศไทย โดยเชื่อว่าไทยจะสามารถขจัดอุปสรรคความยากง่าย ในการทำธุรกิจได้ จากเดิมที่ขาดการบูรณาการ ให้มีการบูรณาการ โดยจะขจัดปัญหาให้เสร็จสิ้นภายในไตรมาส 4 ปีนี้
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ล่าสุด ธนาคารโลกได้ปรับอันดับความยากง่ายในการทำธุรกิจของไทยให้สูงขึ้นจากเดิม มาอยู่ที่อันดับที่ 49 จากอันดับ 46 ในปีก่อนหน้า สะท้อนให้เห็นว่าการลงทุนในประเทศไทยยังมีความลำบาก และยุ่งยากซับซ้อน เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ เนื่องจากมีหลายหน่วยงานที่ทำหน้าที่ดูแลเกี่ยวกับการจดทะเบียนทางธุรกิจ ทำให้ผู้ประกอบการต้องใช้เวลานานในการก่อตั้งธุรกิจ และต้องเดินทางไปติดต่อกับหลายหน่วยงาน ดังนั้น เพื่อการขจัดอุปสรรคในการทำธุรกิจ ภาครัฐควรบูรณาการหน่วยงานต่างๆ ให้ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ไม่มีการทำงานซ้ำซ้อน เพื่อลดปัญหาดังกล่าวสามารถทำได้โดยการร่วมมือกันขององค์กรภาครัฐ อาทิ การจัดตั้งเป็น one stop service รวมทั้งอาจมีมาตรการจูงใจให้ผู้ประกอบการทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติมีความต้องการขยายกิจการ หรือลงทุนมากยิ่งขึ้นเช่น มาตรการทางด้านภาษี เป็นต้น ทั้งนี้ หากสามารถปรับปรุง และเพิ่มประสิทธิภาพด้านการลงทุนในประเทศไทยได้ จะช่วยกระตุ้นให้เกิดการลงทุนในประเทศไทยมากขึ้น ผลดีที่ประเทศไทยจะได้รับ นอกจากเรื่องของเม็ดเงินภาษีจากการทำธุรกิจของกิจการเหล่านั้นแล้วไทยยังได้รับอานิสงส์จากการส่งผ่านเทคโนโลยีใหม่ๆ ให้แก่แรงงานในประเทศ ซึ่งนอกจากจะมีการจ้างงานที่สูงขึ้นแล้ว ยังทำให้แรงงานเป็นแรงงานที่มีทักษะ (skilled labour) เพิ่มขึ้นซึ่งส่งผลต่อเนื่องไปยังรายได้ของประชาชนที่จะเพิ่มขึ้น และส่งผลดีแก่เศรษฐกิจไทยในเชิงมหภาคอีกด้วย
2. พาณิชย์ชี้ผลพวงแล้ง ฟิลิปปินส์-อินโดซื้อข้าวเพิ่ม
  • นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รมว.พาณิชย์ เปิดเผยว่า ข้าวในสต๊อกรัฐบาล โดยเฉพาะจากโครงการรับจำนำข้าว กระทรวงมีแผนจะระบายข้าวเสียไปสู่ ภาคอุตสาหกรรมก่อน ในส่วนข้าวคุณภาพดี จะยังไม่มีการระบายจนกว่าผลผลิตข้าวฤดูกาลใหม่ออกสู่ท้องตลาดหมด เพื่อ ไม่ให้กระทบต่อราคาตลาด ซึ่งคาดว่าจะเริ่มระบายได้ในช่วงเดือน มี.ค. 59 อย่างไรก็ตาม จากปัญหาภัยแล้งน่าจะเป็นสัญญาณ ที่ดี ทำให้ผู้นำเข้าข้าวหลายประเทศสนใจซื้อข้าวไปเก็บในสต๊อกสำรองไว้ โดยเฉพาะฟิลิปปินส์และอินโดนีเซีย
  • สศค. วิเคราะห์ว่า มูลค่าการส่งออกข้าวของไทยมีแนวโน้มลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน เนื่องจากผลพวงทางด้านราคาข้าวเปลือกในตลาดโลกที่ยังหดตัว ข้อมูลในเดือน ก.ย. 58 พบว่าหดตัวร้อยละ -5.2 อย่างไรก็ดี คาดว่าในปี 59 การส่งออกข้าวของไทยจะได้รับปัจจัยบวกจากนโยบายการค้าข้าวโลก โดยข้อมูลล่าสุดจากกรมการค้าภายในพบว่า อินโดนีเซียกำลังตัดสินใจนำเข้าข้าวภายหลังเดือน พ.ย. 58 โดย The Coordinating Minister for Economic Affair ของรัฐบาลอินโดนีเซีย รายงานว่าอินโดนีเซียกำลังพิจารณานำเข้าข้าวจากไทยและเวียดนาม และนอกจากนี้ ในปี 59 ทางการจีนกำหนดปริมาณการนำเข้าข้าวปริมาณสูงถึง 5.32 ล้านตัน ซึ่งอาจจจะส่งผลดีต่อการส่งออกข้าวของไทยให้เพิ่มขึ้นในอนาคต ทั้งนี้ การส่งออกข้าวของไทยในช่วง 9 เดือนของปี 58 (ม.ค.-ก.ย. 58) พบว่า ไทยส่งออกข้าวไปแล้ว 6.61 ล้านตัน ลดลง ร้อยละ -12.5 โดยคิดเป็นมูลค่าส่งออก 3,228 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงร้อยละ -14.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน
3. จีนเผยยอดการค้าระหว่างประเทศเดือน ต.ค.58 ร่วงร้อยละ -9.0 เทียบรายปี
  • ข้อมูลทางการของจีนระบุว่า ยอดการค้าระหว่างประเทศเดือนต.ค. 58 ของจีน ร่วงลงร้อยละ -9.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แตะ 2.06 ล้านล้านหยวน (3.2462 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ) ซึ่งปรับตัวลงมากกว่าตัวเลขเดือน ก.ย.58 ที่หดตัวลงร้อยละ -8.8 ทั้งนี้ ยอดการค้าระหว่างประเทศ ของจีนปรับตัวลดลงเป็นเดือนที่ 8 นับตั้งแต่เดือน มี.ค. 58 โดยยอดส่งออกของจีนหดตัวลงร้อยละ -3.6 ขณะที่ยอดนำเข้าหดตัวร้อยละ -16.0
  • สศค. วิเคราะห์ว่า การหดตัวต่อเนื่องของยอดการค้าระหว่างประเทศโดยเฉพาะการนำเข้า สะท้อนถึงอุปสงค์สินค้าจากต่างประเทศของจีนทียังอ่อนแอ นอกจากนี้ สำหรับภาคการผลิตยังคงส่งสัญญาณทรงตัว สะท้อนจาก ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรม NBS เดือน ต.ค. 58 อยู่ที่ระดับ 49.8 ซึ่งเป็นระดับที่ต่ำกว่า 50.0 เป็นเดือนที่ 3 ขณะที่ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคบริการ NBS เดือน ต.ค. 58 อยู่ที่ระดับ 52.0 อย่างไรก็ตาม ภาคอสังหาริมทรัพย์ก็ยังมีแนวโน้มชะลอตัวต่อเนื่อง สะท้อนจากราคาบ้านใหม่เดือน ก.ย. 58 หดตัวที่ร้อยละ -0.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อน โดยเป็นการชะลอลงตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 ซึ่งมีความเป็นไปได้ที่รัฐบาลจีนจะมีการออกนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม ในช่วงที่เหลือของปี 58 นอกจากนี้ อาจต้องจับตามองมาตรการทางเศรษฐกิจในยะระยาวที่สอดคล้องกับนโยบายการขยายตัวทางเศรษฐกิจไม่น้อยกว่าร้อยละ 6.5 ในอีก 5 ปีข้างหน้า

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 3257


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ