รายงานภาวะเศรษฐกิจรายสัปดาห์ระหว่างวันที่ 14 - 18 ธันวาคม 2558

ข่าวเศรษฐกิจ Friday December 18, 2015 13:42 —กระทรวงการคลัง

Executive Summary

Indicators this week
  • รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ (หลังหักจัดสรรให้ อปท.) ในเดือน พ.ย. 58 เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.0 ต่อปี
  • ภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ระดับราคาคงที่ ในเดือน พ.ย. 58 ขยายตัว ร้อยละ 3.5 ขณะที่ ภาษีจากการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์รวม ในเดือน พ.ย. 58 ขยายตัวร้อยละ 20.3 ต่อปี
  • วันที่ 16 ธ.ค. 58 คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 1.50 ต่อปี
  • นักท่องเที่ยวต่างประเทศในเดือน พ.ย. 58 ขยายตัว ร้อยละ 5.1 ต่อปี
  • ปริมาณการจำหน่ายปูนซีเมนต์ภายในประเทศใน เดือน พ.ย. 58 ขยายตัวที่ร้อยละ 2.6 ต่อปี
  • ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างในเดือน พ.ย. 58 หดตัวที่ร้อยละ -6.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน
  • ปริมาณการจำหน่ายรถจักรยานยนต์ในเดือน พ.ย. 58 uขยายตัวร้อยละ 6.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
  • อัตราการว่างงานในเดือน พ.ย. 58 อยู่ที่ร้อยละ 0.9 ของกำลังแรงงานรวม
  • สภาพคล่องส่วนเกินของธนาคารพาณิชย์ ในเดือน ต.ค. 58 อยู่ที่ 2.25 ล้านล้านบาท
  • GDP ไต้หวัน ไตรมาสที่ 3 ปี 58 (ตัวเลขปรับปรุง) หดตัวร้อยละ -0.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • ที่ประชุม FOMC เมื่อวันที่ 15-16 ธ.ค. 58 มีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายจากร้อยละ 0-0.25 ต่อปีมาอยู่ที่ร้อยละ 0.25-0.50 ต่อปี

Indicator next week

Indicators             Forecast  Previous
Nov : API (%YOY)         -17.4     -4.8
  • เนื่องจากผลผลิตข้าวนาปีที่ปกติจะเริ่มเก็บเกี่ยวได้ตั้งแต่เดือน ต.ค. เป็นต้นไป คาดว่าจะได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยแล้งเมื่อต้นปี 58 ที่ผ่านมา ทำให้ต้องเลื่อนการเพาะปลูกออกไป ส่งผลให้ดัชนีดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรในเดือน พ.ย. 58 จึงน่าจะหดตัวในระดับสูง อย่างไรก็ดี คาดว่า ผลผลิตในหมวดปศุสัตว์ยังคงขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง เนื่องจากไม่มีสถานการณ์โรคระบาด
Economic Indicators: This Week
  • รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ (หลังหักจัดสรรให้ อปท.) ในเดือนพ.ย. 58 ได้ทั้งสิ้น 179.4 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.0 ต่อปี และสูงกว่าประมาณการตามเอกสารงบประมาณ 6.7 พันล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 3.9 โดยมีรายการสำคัญ ดังนี้ (1) ภาษีฐานบริโภค (ภาษีมูลค่าเพิ่ม) จัดเก็บได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.2 ต่อปี ตามการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากการบริโภคภายในประเทศเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.6 ต่อปี ขณะที่การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากการนำเข้าลดลงร้อยละ -2.6 ต่อปี และ (2) การจัดเก็บภาษีฐานรายได้ร้อยละ -1.7 ต่อปี เนื่องจากการจัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลลดลงร้อยละ -0.5 ต่อปี และที่ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาลดลงร้อยละ 3.8 ต่อปี ตามลำดับ
  • ภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ระดับราคาคงที่ ในเดือน พ.ย. 58 มีมูลค่า 56.7 พันล้านบาท คิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 3.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -4.0 หรือคิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 4.0 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า หลังขจัดผลทางฤดูกาล (%mom_sa) เป็นผลจากการขยายตัวของภาษีมูลค่าเพิ่มที่จัดเก็บจากการบริโภคภายในประเทศเป็นสำคัญ โดยขยายตัวร้อยละ 7.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สะท้อนการบริโภคภายในประเทศขยายตัวได้ดี ขณะที่ภาษีมูลค่าเพิ่มที่จัดเก็บจากการนำเข้าที่แท้จริงในเดือน พ.ย. 58 หดตัวร้อยละ -1.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นผลมาจากราคาน้ำมันดิบที่ปรับตัวลดลง และมูลค่าการนำเข้าที่ยังคงหดตัวเป็นสำคัญ ทั้งนี้ ภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ระดับราคาคงที่ในช่วง 11 เดือนแรกของปี 58 (ม.ค. - พ.ย.) ขยายตัวร้อยละ 0.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
  • ภาษีจากการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์รวมในเดือน พ.ย. 58 ขยายตัวเร่งขึ้นที่ร้อยละ 20.3 ต่อปี ส่วนหนึ่งเนื่องมาจากมาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์จากภาครัฐที่มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 29 ต.ค. 58 และเมื่อปรับผลทางฤดูกาล (m-o-m SA) พบว่า ขยายตัวที่ร้อยละ 17.6 ทั้งนี้ ในช่วง 11 เดือนแรกของปี 58 ภาษีจากการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ขยายตัวที่ร้อยละ 3.6 ต่อปี
  • วันที่ 16 ธ.ค. 58 คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 1.50 ต่อปี โดย กนง. ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น ขณะที่แรงกดดันเงินเฟ้อปรับลดลงเล็กน้อยจากการประชุมครั้งก่อนอย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงของการเกิดภาวะเงินฝึดมีจำกัดเนื่องจากอุปสงค์ยังขยายตัว ทั้งนี้ คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปที่ติดลบจะทยอยปรับสูงขึ้นและกลับเป็นบวกในช่วงครึ่งแรกของปี 59 ตามผลของฐานราคาน้ำมันสูงที่จะหมดไป จึงเห็นควรให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ในการประชุมครั้งนี้ เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจควบคู่กับการดูแลเสถียรภาพเพื่อรองรับความผันผวนจากการเปลี่ยนแปลงนโยบายการเงินของประเทศอุตสาหกรรมหลัก
  • นักท่องเที่ยวต่างประเทศในเดือน พ.ย. 58 มีจำนวน 2.55 ล้านคน ขยายตัวร้อยละ 5.1 ต่อปี โดยเป็นนักท่องเที่ยวจากจีน มาเลเซีย และสหรัฐอเมริกาที่เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวเป็นหลัก ซึ่งขยายตัวร้อยละ 20.0 8.3 และ 20.7 ต่อปี ตามลำดับ ขณะที่รัสเซียยังคงหดตัวอยู่ที่ร้อยละ 41.9 ต่อปี ส่งผลให้ใน ช่วง 11 เดือนแรกของปี 58 มีนักท่องเที่ยวต่างประเทศเดินทางเข้าไทยแล้ว 26.9 ล้านคน ขยายตัวร้อยละ 22.6 ต่อปี
Economic Indicators: This Week
  • ปริมาณการจำหน่ายปูนซีเมนต์ภายในประเทศใน เดือน พ.ย. 58 ขยายตัวที่ร้อยละ 2.6 ต่อปี แต่เมื่อปรับผลทางฤดูกาล (%mom_sa) พบว่า ปริมาณการจำหน่ายปูนซีเมนต์ เดือน พ.ย. 58 ขยายตัวที่ร้อยละ 0.6 ต่อเดือน ทั้งนี้ ในช่วง 11 เดือนแรกของปี 58 ยอดจำหน่ายปูนซีเมนต์หดตัวร้อยละ -0.8 ต่อปี
  • ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างในเดือน พ.ย. 58 หดตัวต่อเนื่องอยู่ที่ร้อยละ -6.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -6.5 ตามการลดลงของราคาวัสดุก่อสร้างในหมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กที่หดตัวร้อยละ -19.5 เนื่องจากต้นทุนด้านพลังงานและวัตถุดิบลดลง ประกอบกับราคาเหล็กในตลาดโลกยังคงลดลงเช่นกัน
  • ปริมาณการจำหน่ายรถจักรยานยนต์ในเดือน พ.ย. 58 มีจำนวน 138,348 คัน คิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 6.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -6.5 หรือคิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 6.6 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล (%mom_sa) เป็นการขยายตัวของปริมาณการจำหน่ายรถจักรยานยนต์ทั้งในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล และในเขตภูมิภาค โดยกรุงเทพมหานครมีปริมาณการจำหน่ายรถจักรยานยนต์ขยายตัวร้อยละ 5.1 และในเขตภูมิภาคขยายตัวร้อยละ 7.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากได้รับปัจจัยด้านราคาน้ำมันขายปลีกภายในประเทศที่ลดลง ถึงแม้ว่ารายได้ภาคเกษตรกรที่แท้จริงยังคงหดตัวต่อเนื่อง แต่เป็นการหดตัวที่ชะลอลงมาก ทำให้ประชาชนเริ่มบริโภคในสินค้าคงทนมากขึ้น สอดคล้องกับดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ปรับตัวดีขึ้นเช่นกัน ทั้งนี้ ข้อมูล 11 เดือนแรกของปี 58 (ม.ค. - พ.ย.) ปริมาณการจำหน่ายรถจักรยานยนต์หดตัวร้อยละ -0.9
  • การจ้างงานเดือน พ.ย. 58 อยู่ที่ 38.1 ล้านคน หรือคิดเป็น การหดตัวร้อยละ -0.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ตามการลดลงของการจ้างงานภาคเกษตรกรรมเป็นสำคัญ โดยมีการจ้างงานลดลงถึง 3.0 แสนคน เนื่องจากปัญหาภัยแล้งที่ยังส่งผลต่อการเพาะปลูกของเกษตรกร ประกอบกับการจ้างงานในภาคอุตสาหกรรมที่ลดลงเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะสาขาการก่อสร้าง สาขากิจกรรมทงการเงิน และสาขาการผลิต ขณะที่การจ้างงานในภาคบริการมีการจ้างงานเพิ่มขึ้น 3.4 แสนคน เพิ่มขึ้นจากขาที่พักแรมและบริการด้านอาหาร สาขาการศึกษา และสาขากิจกรรมด้านอื่นๆ เช่น กิจกรรมบริการเพื่อสร้างเสริมสุขภาพร่างกาย การซักรีดและซักแห้ง เป็นต้น สำหรับอัตราการว่างงานในเดือน พ.ย. 58 อยู่ที่ร้อยละ 0.9 ของกำลังแรงงานรวม หรือคิดเป็นจำนวนผู้ว่างงาน 3.5 แสนคน
  • สภาพคล่องส่วนเกินของธนาคารพาณิชย์ ในเดือน ต.ค. 58 อยู่ที่ 2.25 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าเล็กน้อย โดยสภาพคล่องส่วนเกินที่เพิ่มขึ้นเป็นผลจากการเพิ่มขึ้นของสินทรัพย์สภาพคล่องทุกประเภท เพื่อรองรับสินเชื่อที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นในช่วงปลายปี ทั้งนี้ สินทรัพย์สภาพคล่องอยู่ในระดับที่เพียงพอต่อการดำเนินงาน โดยสินทรัพย์สภาพคล่องส่วนเกินคิดเป็น 3.0 เท่าของสินทรัพย์สภาพคล่องที่ธนาคารพาณิชย์ต้องดำรงตามกฎหมาย (ร้อยละ 6 ของเงินรับฝาก)
Economic Indicator: Next Week
  • ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรในเดือน พ.ย. 58 คาดว่าจะหดตัวร้อยละ -17.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน หดตัวเร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -4.8 เนื่องจากผลผลิตข้าวนาปีที่ปกติจะเริ่มเก็บเกี่ยวได้ตั้งแต่เดือน ต.ค. เป็นต้นไป คาดว่าจะได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยแล้งเมื่อต้นปี 58 ที่ผ่านมา ทำให้ต้องเลื่อนการเพาะปลูกออกไป ส่งผลให้ดัชนีดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรในเดือน พ.ย. 58 จึงน่าจะหดตัวในระดับสูง อย่างไรก็ดี คาดว่า ผลผลิตในหมวดปศุสัตว์ยังคงขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง เนื่องจากไม่มีสถานการณ์โรคระบาด

Global Economic Indicators: This Week

US: improving economic trend

ที่ประชุม FOMC เมื่อวันที่ 15-16 ธ.ค. 58 มีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายจากร้อยละ 0-0.25 ต่อปีมาอยู่ที่ร้อยละ 0.25-0.50 ต่อปี ซึ่งเป็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งแรกในรอบ 9 ปี ยอดค้าปลีก เดือน พ.ย. 58 ขยายตัวร้อยละ 1.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หรือขยายตัวร้อยละ 0.2 จากเดือนก่อน (ขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว) ชะลอลงจากยอดขายรถยนต์และอาหารเครื่องดื่มที่ชะลอตัว และราคาน้ำมันที่หดตัวต่อเนื่อง ยอดสร้างบ้านใหม่ เดือน พ.ย. 58 ขยายตัวร้อยละ 10.5 จากเดือนก่อน (ขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว)จากยอดขายคอนโดมิเนียมที่กลับมาขยายตัว สอดคล้องกับยอดใบอนุญาตก่อสร้างบ้านใหม่ เดือน พ.ย. 58 ที่ขยายตัวร้อยละ 11.0 จากเดือน(ขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว) เร่งขึ้นจากคอนโดมิเนียมเช่นกัน ขณะที่ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม เดือน พ.ย. 58 หดตัวร้อยละ -1.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากการผลิตสินค้าวัตถุดิบ พลังงาน และเครื่องมือเครื่องจักรที่หดตัวเร่งขึ้น อัตราเงินเฟ้อ เดือน พ.ย. 58 ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 0.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากราคาที่อยู่อาศัยและค่าเล่าเรียนที่ปรับเพิ่มขึ้น

China: mixed signal

มูลค่าการส่งออก เดือน พ.ย. 58 หดตัวร้อยละ -6.8 จากช่วงเดียวกัน ปีก่อน ด้านมูลค่าการนำเข้า เดือน พ.ย. 58 หดตัวร้อยละ -8.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ทำให้ดุลการค้า เดือน พ.ย. 58 เกินดุล 5.4 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ด้านอัตราเงินเฟ้อ เดือน พ.ย. 58 อยู่ที่ร้อยละ 1.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ส่วนการลงทุนในสินทรัพย์คงทน เดือน พ.ย. 58 ขยายตัวร้อยละ 10.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ทรงตัวจากเดือนก่อน ยอดค้าปลีก เดือน พ.ย. 58 ขยายตัวร้อยละ 11.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นเป็นเดือนที่ 4 ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม เดือน พ.ย. 58 ขยายตัวร้อยละ 6.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นจากร้อยละ 5.6 ในเดือนก่อน

Japan: worsening economic trend

ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม เดือน ต.ค. 58 (ตัวเลขปรับปรุง) หดตัวร้อยละ -1.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หรือขยายตัวร้อยละ 1.4 จากเดือนก่อนหน้า (ขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว) ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรม เดือน ธ.ค. 58 (ตัวเลขเบื้องต้น) อยู่ที่ระดับ 52.5 จุด ลดลงจากระดับ 52.6 จุด ในเดือนก่อน ทั้งนี้ ดัชนีฯ ยังสูงกว่าเกณฑ์ 50 จุด สะท้อนภาคการผลิต ยังขยายตัวได้ดี มูลค่าการส่งออก เดือน พ.ย. 58 หดตัวร้อยละ -3.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากการส่งออกไปยังจีนและกลุ่มประเทศในเอเชียที่หดตัวต่อเนื่อง ส่วนมูลค่าการนำเข้า เดือน พ.ย. 58 หดตัวร้อยละ -10.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ทรงตัวในระดับต่ำต่อเนื่อง ส่งผลให้ดุลการค้าเดือนดังกล่าว ขาดดุลมูลค่า -3.8 แสนล้านเยน

Eurozone: worsening economic trend

ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อรวม เดือน ธ.ค. 58 (เบื้องต้น) อยู่ที่ 54.0 จุด ลดลงจากเดือนก่อนหน้าเล็กน้อย โดยดัชนีฯ ภาคการผลิต เพิ่มขึ้นไปอยู่ที่ 53.1 จุด ขณะที่ดัชนีฯ ภาคบริการลดลงมาอยู่ที่ 53.9 จุด อย่างไรก็ตามดัชนีฯ เฉลี่ยในไตรมาส 4 ปี 58 ยังคงอยู่ในระดับที่สูงกว่าดัชนีฯ เฉลี่ยในไตรมาส 3 ปี 58 อัตราเงินเฟ้อ เดือน พ.ย. 58 อยู่ที่ร้อยละ 0.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ร้อยละ 0.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากราคาอาหารปรับที่เพิ่มขึ้นตามการบริโภคและราคาพลังงานที่หดตัวน้อยลง ทั้งนี้ อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ร้อยละ 0.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ยอดส่งออก เดือน ต.ค. 58 ขยายตัวร้อยละ 0.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากเดือน ก่อนจากการชะลอตัวของสินค้าอุตสาหกรรม โดยเฉพาะสินค้าประเภทเครื่องจักรและยานพาหนะ ขณะที่ยอดนำเข้า หดตัวร้อยละ -0.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 จากการหดตัวของราคาน้ำมันและการชะลอตัวของการนำเข้าสินค้าประเภทอาหาร ส่งผลให้ดุลการค้าเกินดุล 24.1 พันล้านยูโร

Taiwan: improving economic trend

GDP ไตรมาสที่ 3 ปี 58 (ตัวเลขปรับปรุง) หดตัวร้อยละ -0.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หดตัวน้อยกว่าการประกาศครั้งก่อนที่ร้อยละ -1.0 มูลค่าส่งออกเดือน พ.ย. 58 หดตัวร้อยละ -16.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อน มูลค่าการนำเข้า เดือน พ.ย. 58 หดตัวร้อยละ -13.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ทำให้ดุลการค้า เดือน พ.ย. 58 เกินดุลเพียง 2.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ อัตราเงินเฟ้อ เดือน พ.ย. 58 อยู่ที่ร้อยละ 0.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อน

South Korea: improving economic trend

อัตราเงินเฟ้อ เดือน พ.ย. 58 อยู่ที่ร้อยละ 1.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อน สูงสุดในรอบ 13 เดือน

Singapore: worsening economic trend

อัตราการว่างงาน ไตรมาส 3 ปี 58 ทรงตัวอยู่ในระดับเดียวกับเดือนก่อนที่ร้อยละ 2.0 ของกำลังแรงงานรวม ยอดค้าปลีก เดือน ต.ค. 58 ขยายตัวที่ร้อยละ 2.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน โดยยอดขายสินค้าหมวดยานยนต์และเครื่องใช้สุขอนามัยในห้องน้ำยังคงขยายตัวเร่งขึ้น มูลค่าการส่งออก เดือน พ.ย. 58 หดตัวร้อยละ -5.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากการส่งออกไปยังสหภาพยุโรปและกลุ่มประเทศในเอเชียที่ลดลงต่อเนื่อง มูลค่าการนำเข้า เดือน พ.ย. 58 หดตัวร้อยละ -5.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากสินค้าหมวดสินแร่และเชื้อเพลิง อาหาร และสินค้าภาคการผลิต ส่งผลให้ดุลการค้าเกินดุล 5.5 พันล้านดอลลาร์สิงคโปร์

India: mixed signal

อัตราเงินเฟ้อ เดือน พ.ย. 58 อยู่ที่ร้อยละ -2.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากราคาน้ำมันและสินค้าอุตสาหกรรมที่ลดลงต่อเนื่อง 16 และ 13 เดือน ตามลำดับ

Indonesia: worsening economic trend

มูลค่าส่งออก เดือน พ.ย. 58 หดตัวร้อยละ -17.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หดตัวต่อเนื่อง 14 เดือนจากสินค้าทุกประเภท มูลค่านำเข้า เดือน พ.ย. 58 หดตัวต่อเนื่องร้อยละ -18.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากสินค้าทุกประเภท ส่งผลให้ดุลการค้า เดือน พ.ย. 58 ขาดดุล 346.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็นครั้งแรกในรอบปี

Weekly Financial Indicators
  • ดัชนี SET เพิ่มขึ้นจากสัปดาหน์ก่อนและอยู่เหนือระดับ 1,300 จุดอีกครั้ง โดยดัชนี ณ วันที่ 17 ธ.ค 58 ปิดที่ระดับ 1,310.34 จุด ด้วยมูลค่าซื้อขายเฉลี่ยต่อวันทั้งสัปดาห์ถึง 50,262 ล้านบาท โดยเป็นแรงซื้อโดยเฉพาะจาก นักลงทุนสถาบันในประเทศ จากการซื้อกองทุนในช่วงปลายปี และปัจจัยภายนอกจากความชัดเจนในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ และราคาน้ำมันในตลาดโลกช่วงต้นสัปดาห์ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ดัชนี SET ปรับเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกับตลาดทั่วโลก อย่างไรก็ตาม ตลาดจับตาผลประมูล คลื่น 4G ที่ยังไม่สิ้นสุด ทั้งนี้ ระหว่างวันที่ 14 - 17 ธ.ค. 58 นักลงทุนต่างชาติขายหลักทรัพย์สุทธิถึง 10,385.3 ล้านบาท
  • อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุมากกว่า 5 ปีเพิ่มขึ้น 1-4 bps โดยมีแรงซื้อจากนักลงทุนสถาบันในประเทศ โดย ครม. เห็นชอบการจัดตั้งกองทุน "ไทยแลนด์ ฟิวเจอร์ฟันด์" มูลค่า 100,000 ล้านบาท เพื่อดำเนินโครงการโครงสร้างพื้นฐาน ทั้งนี้ ระหว่างวันที่ 14 - 17 ธ.ค. 58 นักลงทุนต่างชาติขายพันธบัตรสุทธิ 3,057.9 ล้านบาท (ไม่รวมพันธบัตร ธปท.)
  • เงินบาทอ่อนค่าลงจากสัปดาห์ก่อน โดย ณ วันที่ 17 ธ.ค. 58 เงินบาทปิดที่ระดับ 36.07 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าลงร้อยละ 0.37 จากสัปดาห์ก่อน ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกับเงินสกุลภูมิภาคส่วนใหญ่ โดยเงินบาทอ่อนค่าลงน้อยกว่าเงินสกุลส่วนใหญ่โดยเฉลี่ย ส่งผลให้ดัชนีค่าเงินบาท (NEER) ในสัปดาห์นี้แข็งค่าขึ้นร้อยละ 0.28 จากสัปดาห์ก่อน

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3253 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ