รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 11 มกราคม 2559

ข่าวเศรษฐกิจ Monday January 11, 2016 11:40 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 11 มกราคม 2559

Summary:

1. จัดแพ็กเกจทัวร์ต่างชาติชิมผลไม้ ดำนา

2. กระทรวงอุตสาหกรรมจี้โรงงานยางที่ได้รง. 4 เร่งเปิดปีนี้ หวังช่วยแก้ปัญหาราคาตกต่ำ

3. อัตราการจ้างงานของสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 2.9 แสนตำแหน่ง

1. จัดแพ็กเกจทัวร์ต่างชาติชิมผลไม้ ดำนา
  • ขณะนี้หอการค้าไทย สมาคมท่องเที่ยวและผู้ประกอบการทัวร์ร่วมกันจัดทำแผนส่งเสริมการท่องเที่ยวให้ขยายตัวในระดับร้อยละ 4 โดยจะเน้นการท่องเที่ยวในภูมิภาคของไทย อาทิ ผลักดันให้บริษัททัวร์เพิ่มโปรแกรมการเข้าไปชิมผลไม้ฟรีในสวนผลไม้ หรือให้มีการทดลองกรีดยาง ดำนาปลูกข้าวและอื่นๆ นอกจากนี้ยังส่งเสริมให้มีการเพิ่มหลักสูตรทำอาหารไทย เช่น ต้มยำกุ้ง โดยอาจเพิ่มเงินนักท่องเที่ยวอีก 1,000 -1,500 บาทต่อหลักสูตร
  • สศค. วิเคราะห์ว่า จากแนวโน้มความเปราะบางของการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกในปี 59 โดยเฉพาะความกังวลด้านเศรษฐกิจจีน กอปรกับปัญหาอุปทานล้นเกินของสินค้าเกษตรหลายชนิด ส่งผลให้มีการคาดการณ์แนวโน้มราคาสินค้าเกษตรหลายประเภทในปี 59 ว่าจะยังคงตกต่ำต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็น ข้าว มันสำปะหลัง ยางพารา อ้อย และปาล์มน้ำมัน ด้วยเหตุนี้ จึงคาดว่ารายได้ของเกษตรกรที่เป็นประชากรส่วนใหญ่ของประเทศจะยังคงอยู่ในระดับต่ำต่อไป ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อการบริโภคภาคเอกชนที่นับเป็นเครื่องจักรสำคัญของเศรษฐกิจไทย ดังนั้น นโยบายการส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยตรงสู่ระดับภูมิภาคจึงเป็นแนวทางที่มีศักยภาพในการช่วยเพิ่มรายได้ของเกษตรกรโดยตรง และจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจภาพรวมต่อไป โดยแนวทางการกำหนดนโยบายควรเป็นการเพิ่มค่าใช้จ่ายต่อหัวของนักท่องเที่ยว และให้รายจ่ายกระจายไปยังท้องถิ่นโดยตรง ซึ่งถ้าหากทำได้ก็จะช่วยพยุงเศรษฐกิจในปี 59 ได้เป็นอย่างดี
2. กระทรวงอุตสาหกรรมจี้โรงงานยางที่ได้รง. 4 เร่งเปิดปีนี้ หวังช่วยแก้ปัญหาราคาตกต่ำ
  • นางอรรชกา สีบุญเรือง รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังจากการประชุมแนวทางลดผลกระทบจากปัญหายางพาราตกต่ำ ว่าขณะนี้กระทรวงได้เร่งดำเนินงานในส่วนที่เกี่ยวข้องโดยตรง โดยได้ประสานงานกับกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) ให้สำรวจจำนวนโรงงานอุตสาหกรรมที่ใช้ยางพาราเป็นวัตถุดิบในการผลิต ในเบื้องต้นได้รับรายงานว่ามีโรงงานที่ได้รับ รง.4 แล้ว และเตรียมก่อสร้างประมาณ 90 โรงงาน กำลังการผลิตสูงสุด 4 ล้านตัน ซึ่งจะสามารถลงทุนจริงได้ภายในปี 59 ประมาณร้อยละ 60-70 ขณะที่ อีกร้อยละ 30-40 จะเร่งติดตามปัญหาด้านการก่อสร้างโรงงานอย่างเร่งด่วน เพื่อให้ก่อสร้างทันในปี 59 และแปรรูปยางได้ทันที
  • สศค. วิเคราะห์ว่า หากพิจารณาข้อมูลการส่งออกยางพาราในช่วง 11 เดือนของปี 58 พบว่าหดตัวไปแล้วร้อยละ -15.2 จากการหดตัวของตลาดหลัก ได้แก่ จีนที่หดตัวร้อยละ -7.9 มาเลเซียที่หดตัวในระดับสูงที่ร้อยละ -20.8 และญี่ปุ่นที่หดตัวในระดับสูงเช่นกันที่ร้อยละ -28.2 จากปัญหาราคายางพาราในตลาดโลกที่ตกต่ำ ทำให้ไทยส่งออกยางพาราได้ลดลง ส่งผลกระทบต่อรายได้ของเกษตรกรชาวสวนยางพารา และนำไปสู่ความเดือดร้อนของเกษตรกร โดยรัฐบาลได้สั่งการให้ทุกกระทรวงที่เกี่ยวข้อง เร่งดำเนินการช่วยเหลือเกษตรกร เพื่อแก้ไขปัญหายางพาราที่ตกต่ำซึ่งมาตรการระยะสั้น คือ การใช้น้ำยางเพื่อก่อสร้างสนามกีฬาและสนามเด็กเล่น ภาคอุตสาหกรรมถือเป็นส่วนที่สำคัญอย่างยิ่งสำหรับการแก้ไขปัญหายางพารา ซึ่งในสถานการณ์ที่ไทยไม่สามารถส่งออกยางพาราได้มากนัก ดังนั้น ควรจะเร่งสร้างความต้องการใช้ยางพาราในประเทศให้สูงขึ้นเพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดกับอุตสาหกรรมยาง ซึ่งการนำยางพารามาใช้ประโยชน์สามารถทำได้ อีกหลายรูปแบบ เช่น ถนนยางมะตอยผสมยางพารา แผ่นยางปูพื้นสำหรับสนามเด็กเล่น สนามกีฬาฟุตซอล เบาะฟองน้ำ และยางพาราปูสระกักเก็บน้ำ เป็นต้น
3. อัตราการจ้างงานของสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 2.9 แสนตำแหน่ง
  • คณะกรรมการกำกับกระทรวงแรงงานสหรัฐ เปิดเผยข้อมูลว่า การเติบโตของตลาดแรงงานสหรัฐเพิ่มขึ้นในเดือน ธ.ค. 58 และตัวเลขการจ้างงานในช่วง 2 เดือนก่อนหน้า ก็ปรับสูงขี้นอย่างมาก ถือเป็นสิ่งบ่งชี้ว่าภาวะชะลอตัวของเศรษฐกิจ ที่มีภาคการผลิตเป็นตัวนำ อาจเกิดขึ้นแค่ชั่วคราว โดยแถลงการณ์ของกระทรวงแรงงานสหรัฐ ระบุว่า การจ้างงานที่ไม่รวมภาคการเกษตร ในเดือน ธ.ค. 58 ทั่วสหรัฐมีทั้งสิ้น 292,000 ตำแหน่ง อัตราว่างงานยังอยู่ในระดับต่ำสุดในรอบ 7 ปีครึ่ง ที่ร้อยละ 5.0 ถึงแม้ว่าจะมีประชาชนมากขึ้นเข้าสู่ตลาดแรงงานนอกจากนั้น ตัวเลขการจ้างงานในเดือน ต.ค. และ พ.ย. ถูกปรับเพิ่มขึ้น 50,000 ตำแหน่ง
  • สศค. วิเคราะห์ว่า เครื่องชี้เศรษฐกิจในไตรมาสที่ 4 ปี 58 ชี้ว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ มีแนวโน้มขยายตัวได้ดีต่อเนื่อง สะท้อนได้จากกำลังซื้อของประชาชนในประเทศที่ปรับตัวดีขึ้นอย่างชัดเจน โดยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในเดือน ธ.ค. 58 ที่ยังคงอยู่ในระดับสูงที่ระดับ 96.5 ประกอบกับยอดค้าปลีกภายในประเทศ ยังคงขยายตัวได้ที่ร้อยละ 1.5 ซึ่งบ่งชี้ว่า เศรษฐกิจของสหรัฐฯ นั้นยังคงมีเสถียรภาพซึ่งสอดคล้องกับตัวเลขการจ้างงานของสหรัฐฯ ที่มีการปรับตัวเพิ่มขึ้น จากการที่เศรษกิจของสหรัฐฯ มีการขยายตัวได้ จะส่งผลต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศไทยทางด้านการส่งออก เพราะสหรัฐฯ นั้นเป็นคู่ค้าอันดับที่ 2 ของประเทศไทย ทั้งนั้น สศค.คาดว่าในปี 59 เศรษฐกิจสหรัฐฯ จะขยายตัวร้อยละ 2.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (ประมาณการ ณ เดือน ต.ค. 58)

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 3257


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ