รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2559

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday February 18, 2016 13:46 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2559

Summary:

1. กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เผยนักท่องเที่ยวต่างประเทศเดือน ม.ค. 59 ขยายตัวได้ดี

2. ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือน ม.ค 59 ปรับตัวลดลง

3. รัฐบาลญี่ปุ่น และ BOJ จับตาข้อมูลเศรษฐกิจ หวังประเมินนโยบายดอกเบี้ยติดลบ

1. กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เผยนักท่องเที่ยวต่างประเทศเดือน ม.ค. 59 ขยายตัวได้ดี
  • กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เผยจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เดินทางเข้าประเทศไทยในเดือน ม.ค. 59 ว่ามีจำนวน 3.0 ล้านคน ขยายตัวในระดับสูงที่ร้อยละ 15.0 ต่อปี จากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 4.7 ต่อปี โดยเป็นนักท่องเที่ยวจากจีน ที่ขยายตัวสูงถึงร้อยละ 45.4 ต่อปี
  • สศค. วิเคราะห์ว่า นักท่องเที่ยวต่างประเทศเดือน ม.ค. 59 ขยายตัวได้ดีต่อเนื่อง จากปี 58 ที่เติบโตร้อยละ 20.4 ต่อปี และหากพิจารณาเทียบกับเดือน ธ.ค. 58 หลังหักผลทางฤดูกาลพบว่าขยายตัวได้ดีมากเช่นกันที่ร้อยละ 10.6 ต่อเดือน โดยนักท่องเที่ยวที่ขยายตัวได้ดีมาจากจีน เกาหลีใต้ และมาเลเซีย เป็นสำคัญ โดยขยายตัวร้อยละ 45.4 14.3 และ 6.1 ต่อปี ตามลำดับ ขณะที่รัสเซียยังคงหดตัวที่ร้อยละ -4.6 ต่อปี ทั้งนี้ ในปี 59 สศค. คาดการณ์ ณ เดือน ม.ค. 59 ว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างประเทศเดินทางมาเที่ยวไทยจำนวน 33 ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.5 จากปี 58 และประเมินว่าจะมีรายได้อยู่ที่ 1.67 ล้านล้านบาท โดยได้แรงหนุนจากการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนเป็นสำคัญ
2. ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือน ม.ค 59 ปรับตัวลดลง
  • สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยเผย ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม (TISI) ประจำเดือน ม.ค. 59 อยู่ที่ระดับ 86. 3 ลดลงจากระดับ 87.5 ในเดือน ธ.ค. 58 ซึ่งเป็นการปรับลดเป็นครั้งแรกในรอบ 5 เดือน
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม (TISI) ที่ปรับตัวลดลงอยู่ที่ระดับ 86.3 ซึ่งเป็นระดับที่ต่ำกว่า 100 สะท้อนถึงความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการที่ลดลง โดยส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากความกังวลของผู้ประกอบการต่อภาวะเศรษฐกิจโดยรวมและการเร่งการใช้จ่ายในช่วงเดือนก่อนหน้า ส่งผลให้การบริโภคในประเทศชะลอลง โดยเฉพาะกำลังซื้อจากเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยแล้งที่ส่งผลต่อการเพาะปลูกและปัญหาราคาพืชผลเกษตรตกต่ำ ซึ่งส่งผลกระทบต่อเนื่องไปยังกำลังซื้อภายในประเทศ ประกอบกับเศรษฐกิจโลกที่ยังคงชะลอตัวซึ่งส่งผลกระทบต่อความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนในตลาดการเงิน โดยเฉพาะการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน ซึ่งเป็นประเทศคู่ค้าหลักสำคัญของไทย ซึ่งจากปัจจัยลบดังกล่าว ส่งผลให้ความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการลดลง โดยเฉพาะในกลุ่มอุตสาหกรรมที่ผลิตสินค้าเพื่อการส่งออก อย่างไรก็ดี การปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องของราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกจะเป็นปัจจัยบวกต่อต้นทุนการผลิตของผู้ประกอบการ และมาตรการการเงินการคลังเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ระยะเร่งด่วน 5 มาตรการ ซึ่งคาดว่าจะส่งผลดีต่อความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการในระยะถัดไปได้
3. รัฐบาลญี่ปุ่น และ BOJ จับตาข้อมูลเศรษฐกิจ หวังประเมินนโยบายดอกเบี้ยติดลบ
  • รมว. เศรษฐกิจของญี่ปุ่น ระบุว่า รัฐบาลและธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) มีความจำเป็นที่จะต้องพิจารณาข้อมูลเศรษฐกิจและการปล่อยเงินกู้ เพื่อประเมินผลกระทบจากการใช้นโยบายอัตราดอกเบี้ยติดลบของ BOJ
  • สศค. วิเคราะห์ว่า BOJ เริ่มบังคับใช้นโยบายอัตราดอกเบี้ยติดลบ (ร้อยละ -0.1) เมื่อวันที่ 16 ก.พ. 59 ซึ่งหมายความว่า สถาบันการเงินหรือธนาคารพาณิชย์ในประเทศที่นำเงินไปฝากไว้กับ BOJ จะต้องเป็นฝ่ายจ่ายค่าฝากแก่ BOJ หากมีการนำเงินส่วนเกินมาพักไว้ที่ BOJ โดยมาตรการของ BOJ ในครั้งนี้มีขึ้นเพื่อกระตุ้นให้ธนาคารพาณิชย์นำเงินไปปล่อยกู้แก่ภาคธุรกิจ แทนที่จะนำมาพักไว้ที่ BOJ และต้องการลดการออมของประชาชน เพื่อให้มีการใช้จ่ายมากขึ้น และกระตุ้นเศรษฐกิจที่อยู่ในภาวะเงินฝืดอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ ญี่ปุ่นยังคงมีความเสี่ยงที่จะกลับสู่ภาวะเงินฝืด ทำให้รัฐบาลร่วมมือกับ BOJ เพื่อสร้างความมั่นใจว่าเศรษฐกิจจะมีการขยายตัว และไม่กลับสู่ภาวะเงินฝืด โดยรัฐบาลเองก็จะให้ความสำคัญต่อการดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจซึ่งเพิ่งได้รับการอนุมัติจากรัฐสภา

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 3257


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ