รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2559

ข่าวเศรษฐกิจ Monday February 29, 2016 13:34 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2559

Summary:

1. รมว.เกษตรฯ ยอมรับแก้ปมราคายางตกต่ำทำได้ยาก ยันเดินหน้าแผนพัฒนา 3 ระยะ

2. ททท. หวั่นภัยแล้งกระทบท่องเที่ยว

3. G 20 เตือนเศรษฐกิจโลกเสี่ยงเพิ่มขึ้น

1. รมว.เกษตรฯ ยอมรับแก้ปมราคายางตกต่ำทำได้ยาก ยันเดินหน้าแผนพัฒนา 3 ระยะ
  • พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาราคายางพาราว่า ขณะนี้ได้วางแผนการพัฒนายางพาราของประเทศไว้ 3 ระยะ ซึ่งแผนระยะสั้นเฉพาะหน้าที่ยังคงต้องดำเนินการ คือ การช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยางให้มีรายได้พออยู่ได้ก่อน ทั้งโครงการจ่ายเงินช่วยเหลือ 1,500 บาท หรือสนับสนุนเงินกู้เพื่อสร้างอาชีพเสริมในสวนยางแผนระยะกลาง ได้แก่ การลดปริมาณพื้นที่ปลูกยางลงและแผนระยะยาวคือ ส่งเสริมให้เกิดโรงงานแปรรูปยางและผลิตภัณฑ์ โดยเพิ่มสัดส่วนงานวิจัยที่เอายางพารามาใช้ประโยชน์ภายในประเทศให้มากที่สุด รวมทั้งต้องตั้งเป้าไว้เลยว่าเราจะพัฒนาวิจัยยางพาราให้เป็นสินค้าส่งออกของประเทศในอนาคตไปทั่วโลก
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ราคายางพาราทั้งที่เกษตรกรขายได้ภายในประเทศ และราคายางพาราส่งออกของไทย หดตัวอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดดัชนีราคาสินค้าเกษตรกรรมในหมวดยางพาราในเดือน ม.ค. 59 หดตัวร้อยละ -24.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และราคายางพาราส่งออกของไทยในเดือน ม.ค. 59 หดตัวร้อยละ -27.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า เนื่องจากอุปสงค์ที่ลดลงจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ยังฟื้นตัวอย่างเปราะบาง โดยเฉพาะเศรษฐกิจจีน ซึ่งเป็นตลาดส่งออกยางพาราหลักของไทย กอปรกับอุปทานยางพาราที่เพิ่มขึ้น ที่เป็นปัจจัยทำให้ราคายางพาราลดต่ำลง อีกทั้ง ราคาน้ำมันดิบที่มีแนวโน้มอยู่ในระดับต่ำ ส่งผลต่อราคายางพาราซึ่งเป็นสินค้าทดแทนกันได้บางส่วนให้ปรับตัวลดลงเช่นเดียวกัน ทั้งนี้ ราคายางพาราที่ปรับตัวลดลงส่งผลกระทบต่อรายได้ของประชาชนเป็นส่วนใหญ่เนื่องจาก ครัวเรือนที่ทำอาชีพปลูกยางพารามีสูงถึง 1.6 ล้านครัวเรือน หรือคิดเป็นร้อยละ 30.6 ของครัวเรือนเกษตรทั้งหมด ดังนั้นรัฐบาลอาจจำเป็นต้องใช้มาตรการเพื่อช่วยเหลือปัญหาด้านรายได้ของเกษตรกรชาวสวนยางพารา อย่างไรก็ตาม รัฐบาลควรมีมาตรการที่ช่วยแก้ปัญหาด้านราคายางพาราในระยะยาวด้วย หากราคายางพารายังคงอยู่ในระดับต่ำต่อเนื่อง อาทิ การลงทุน และการวิจัยศึกษาต่อยอดเพื่อเสริมสร้างอุตสาหกรรมที่ใช้ผลิตภัณฑ์ยางพาราเป็นวัตถุดิบ เพื่อสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ที่มีมูลค่าเพิ่มมากขึ้นได้
2. ททท. หวั่นภัยแล้งกระทบท่องเที่ยว
  • ผู้ว่าการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เผยว่า กังวลว่าการท่องเที่ยวจะได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยแล้ง โดยเฉพาะธุรกิจโรงแรม ทั้งนี้ ได้เตรียมขอข้อมูลน้ำจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มาหารือกับอุตสาหกรรมท่องเที่ยว เพราะหากภัยแล้งล่วงเลยถึงช่วงครึ่งปีอาจจะซ้ำเติมสถานการณ์ในช่วงโลซีซันให้ย่ำแย่กว่าเดิม
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ปัญหาภัยแล้งได้ส่งผลกระทบเศรษฐกิจภาคการเกษตรโดยตรง และหากปัญหาดังกล่าวรุนแรงมากขึ้นก็อาจจะส่งผลกระทบต่อเนื่องไปยังภาคการผลิตอื่นๆ ได้ ทั้งภาคอุตสาหกรรม รวมถึงภาคการท่องเที่ยวด้วย โดยเฉพาะธุรกิจโรงแรม ซึ่งถือว่าเป็นอุตสาหกรรมที่ต้องใช้น้ำในการดำเนินธุรกิจในปริมาณที่มาก หากปริมาณน้ำไม่เพียงพออาจจะกระทบต่อการเดินธุรกิจและการบริการสำหรับนักท่องเที่ยวได้ อย่างไรก็ดี จากข้อมูลล่าสุด ในเดือน ม.ค. 59 พบว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เดินทางเข้าในประเทศอยู่ที่ 3 ล้านคน หรือขยายตัวร้อยละ 15.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ซึ่งเป็นการขยายตัวจากนักท่องเที่ยวในกลุ่มเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือ ทั้งนี้ หากพิจารณาเครื่องชี้ภาคการท่องเที่ยวในเดือน ก.พ. 59 ที่สะท้อนได้จากจำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาผ่าน 3 ท่าอากาศยานใหญ่ในช่วง 22 วันแรกของเดือน ก.พ. 59 พบว่ายังคงขยายตัวได้ดีต่อเนื่อง โดยด่านสุวรรณภูมิขยายตัวร้อยละ 5.89 ด่านดอนเมืองขยายตัวร้อยละ 44.97 และด่านภูเก็ตขยายตัวร้อยละ 24.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน
3. G 20 เตือนเศรษฐกิจโลกเสี่ยงเพิ่มขึ้น
  • รัฐมนตรีคลังและผู้ว่าการธนาคารกลาง กลุ่มประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ 20 ชาติ หรือ "จี20" เตือน เศรษฐกิจทั่วโลกตกอยู่ในความเสี่ยงมากขึ้น ชี้จำเป็นต้องใช้เครื่องมือที่มีอยู่ทุกอย่าง เพื่อรักษาการเติบโต พร้อมให้คำมั่นเร่งยกเครื่องเศรษฐกิจตามที่เคยพูดกันไว้มานานแล้ว แถลงการณ์ร่วมหลังเสร็จสิ้นการประชุม ณ วันที่ 27 ก.พ. 59 ระบุว่า ความเสี่ยงด้านขาลง และความผันผวนของเศรษฐกิจโลกกำลังเพิ่มมากขึ้นเห็นได้จาก ความผันผวนในกระแสเงินทุน ราคาโภคภัณฑ์ที่ร่วงลง และความเป็นไปได้ที่อังกฤษจะถอนตัวออกจากสหภาพยุโรป หรืออียู ซึ่งทั้งหมดนี้ ล้วนแต่เป็นภัยคุกคามต่อการเติบโตของเศรษฐกิจ สถานการณ์ที่เกิดขึ้น ทำให้ที่ประชุมเห็นพ้องที่จะต้องมีการนำเครื่องมือด้านนโยบายทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นทางด้านการเงิน งบประมาณ และโครงสร้าง เข้ามาใช้ เพื่อให้เศรษฐกิจเติบโตอย่างแข็งแกร่ง ส่งเสริมการลงทุน และรับประกันถึงเสถียรภาพของตลาดการเงิน
  • สศค. วิเคราะห์ว่า จากการที่รัฐมนตรีคลังและผู้ว่าการธนาคารของประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ได้ออกมาประกาศเตือนว่าเศรษฐกิจโลกตกอยู่ในความเสี่ยงต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจโลก โดยประเทศต่างๆ ต้องใช้นโยบายทั้งทางด้านการเงินและการคลัง ให้มีการเจริญเติบโททางเศรษฐกิจ อีกทั้งยังมีปัญหาของการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจจีนซึ่งก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งซึ่งอาจจะทำให้เศรษฐกิจโลกถดถอย ทั้งนี้หากเศรษฐกิจโลกเกิดภาวะถดถอย ก็จะส่งผลโดยตรงต่อประเทศไทย เพราะประเทศไทยนั้นเป็นประเทศที่พึ่งพิงการส่งออกเป็นสำคัญ ภาวการณ์ส่งออกในเดือน ม.ค. 59 การส่งออกของประเทศไทยนั้นหดตัวที่ร้อยละ 8.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ทั้งนี้ สศค.ได้ประมาณการมูลค่าการส่งออกของประเทศไทยว่าจะขยายตัวร้อยละ 0.1 ซึ่งเป็นประมาณการ ณ เดือน ม.ค. 59 อย่างไรก็ดีจะมีการติดตามสถานการณ์การส่งออกอย่างใกล้ชิด และอาจจะมีการปรับประมาณการในครั้งต่อไป

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 3257


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ