รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 24 มีนาคม 2559

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday March 24, 2016 13:11 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 24 มีนาคม 2559

Summary:

1. กนง. มีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 1.50 ต่อปี

2. สทท.คาดปี 59 มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าไทย 33.8 ล้านคน

3. PMI ของสหรัฐฯ ในเดือน มี.ค. 59 เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจาก ก.พ. 59

1. กนง. มีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 1.50 ต่อปี
  • นายจาตุรงค์ จันทรังษ์ เลขานุการคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เปิดเผยว่า ที่ประชุม กนง. มีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 1.50 ต่อปี ซึ่งเป็นไปตามที่ตลาดคาดการณ์
  • สศค. วิเคราะห์ว่า การคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายร้อยละ 1.50 ต่อปี ของ กนง. ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ผ่อนปรน และรักษาขีดความสามารถในการดำเนินนโยบาย (policy space) เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป และเพื่อเป็นปัจจัยสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในปี 59 อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจไทยยังมีปัจจัยเสี่ยงจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่ยังอ่อนไหว รวมทั้งทิศทางการดำเนินนโยบายการเงินของประเทศอุตสาหกรรมหลักที่ไม่สอดคล้องกัน ซึ่งส่งผลต่อเงินทุนเคลื่อนย้ายและอัตราแลกเปลี่ยนระหว่างประเทศ อย่างไรก็ดี เสถียรภาพภายนอกประเทศของไทยยังอยู่ในระดับมั่นคง สะท้อนจากทุนสำรองระหว่างประเทศที่อยู่ในระดับสูง และมีหนี้ต่างประเทศระยะสั้นอยู่ในระดับต่ำ สำหรับอัตราเงินเฟ้อทั่วไปยังติดลบต่อเนื่อง ตามราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ปรับลดลง ส่งผลให้แรงกดดันเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับต่ำ โดยล่าสุดในเดือน ก.พ. 59 อยู่ที่ร้อยละ -0.5 สำหรับอัตราเงินเฟ้อทั่วไปและอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ในปี 59 สศค. คาดว่า จะอยู่ที่ร้อยละ 0.3 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ -0.2 ถึง 0.8) และอัตราดอกเบี้ยนโยบายคาดว่าจะอยู่ที่ร้อยละ 1.50 ต่อปี (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 1.00 ถึง 2.00) ตามลำดับ
2. สทท.คาดปี 59 มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าไทย 33.8 ล้านคน
  • สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) คาดว่าในปี 59 จะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งหมดที่เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยประมาณ 33.8 ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 13.2 จากปี 58 และมีรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติประมาณ 1.8 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 20.9 จากปี 58
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ภาคการท่องเที่ยวจะยังเป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญต่อเศรษฐกิจไทยในปี 59 โดยจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติยังคงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวชาวจีน และจากข้อมูลเชิงประจักษ์ในเดือน ก.พ. 59 พบว่า นักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เดินทางเข้าประเทศไทยมีจำนวนทั้งสิ้น 3.1 ล้านคน ขยายตัวในระดับสูงต่อเนื่องที่ร้อยละ 16.0 ต่อปี และจำนวนนักท่องเที่ยวขยายตัวได้ดีเกือบทุกกลุ่มประเทศ โดยเฉพาะจากเอเชียตะวันออกเป็นหลักโดยขยายตัวร้อยละ 19.2 ต่อปี ขณะที่จำนวนนักท่องเที่ยวจากยุโรปขยายตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 2 ที่ร้อยละ 10.9 ต่อปี ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการที่นักท่องเที่ยวจากรัสเซียกลับมาขยายตัวเป็นบวกครั้งแรกในรอบ 22 เดือนนับจาก เม.ย. 57 ที่มีการหดตัว ทั้งนี้ สศค. คาดการณ์ ณ ม.ค. 59 ว่า ในปี 59 จะม จำนวนนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศเดินทางมาประเทศไทยทั้งสิ้น 33.0 ล้านคน ขยายตัวร้อยละ 10.5 จากปี 58 และจะมีการปรับประมาณการอีกครั้งในวันที่ 28 เม.ย. 59
3. PMI ของสหรัฐฯ ในเดือน มี.ค. 59 เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจาก ก.พ. 59
  • ดัชนี Manufacturing Purchasing Managers Index (PMI) ของสหรัฐฯ เดือน มี.ค. 59 เพิ่มอยูที่ระดับ 51.4 เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากระดับ 51.3 ในเดือน ก.พ. ซึ่งตัวเลขดัชนีประจำเดือน ก.พ. เปนระดับต่ำสุดในรอบ 28 เดือน ทั้งนี้นาย Chris Williamson หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของมาร์กิตให้ความเห็นว่า ภาคโรงงานของสหรัฐฯ ยังคงขยายตัวอยู่ในระดับต่ำตลอดช่วง 3 ปีครึ่งที่ผ่านมา หากเปรียบเทียบกับการขยายตัวอย่างแข็งแรงในช่วงกลางปี 52 เฉลี่ยที่ระดับ 54.1
  • สศค. วิเคราะห์ว่า PMI ของสหรัฐฯ อาจจะยังอยู่ในระดับต่ำหากเทียบกับปี 52 แต่อย่างไรก็ตาม ตัวเลขดัชนีที่มากกว่า 50 แสดงว่าอุตสาหกรรมของสหรัฐฯ ยังมีการการขยายตัว ทั้งนี้ ภาคการผลิตสหรัฐฯ ยังคงเผชิญความเสี่ยงจากการลดการใช้จ่ายภาคพลังงาน เงินดอลล่าร์ที่แข็งค่า และอุปสงค์โลกที่ยังคงอ่อนแอ ประกอบกับความไม่แน่นอนจากการเลือกตั้งประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐฯ ซึ่งภาคการผลิตที่อ่อนแอนี้จะส่งผลต่อการขยายตัวของ GDP สหรัฐฯในไตรมาสแรก อย่างไรก็ดี ปัจจัยดังกล่าวเป็นเหตุผลหนึ่งที่ให้ Fed ตัดสินใจไม่ขึ้นอัตราดอกเบี้ยเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ทั้งนี้ สศค. คาดการณ์ ณ ม.ค. 59 ว่า ในปี 59 เศรษฐกิจของสหรัฐจะขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 2.5 ต่อปี

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 3257


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ