รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 18 เมษายน 2559

ข่าวเศรษฐกิจ Monday April 18, 2016 13:10 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 18 เมษายน 2559

Summary:

1. อุตฯ - พาณิชย์ - กรุงไทย ติวเข้มผู้ส่งออก หวังขยายตลาดจีน

2. กอบกาญจน์ ดันรายได้ท่องเที่ยวปี 59 แตะ 2.4 ล้านล้านบาท

3. ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศจีน ไตรมาสแรกขยายตัวร้อยละ 6.7

1. อุตฯ - พาณิชย์ - กรุงไทย ติวเข้มผู้ส่งออก หวังขยายตลาดจีน
  • นายสมชาย หาญหิรัญ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) และโฆษกกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ที่ผ่านมา กสอ.ได้นำผู้ประกอบการ ไปเปิดตลาดจีน ทั้งในรูปแบบสำรวจตลาด ออกร้านจำหน่ายสินค้า เจรจาจับคู่ธุรกิจมาอย่างต่อเนื่อง โดย กสอ. ตั้งเป้าพัฒนาผู้ประกอบการอย่างต่อเนื่องโดยได้ร่วมมือกับ บมจ. ธนาคารกรุงไทยและกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ดำเนินโครงการเอสเอ็มอี จีเนียสเอ็กซ์พอร์ตเตอร์ (SMEs GeniusExporter) เพื่อพัฒนาศักยภาพในด้านการส่งออกให้กับผู้ประกอบการไทย
  • สศค. วิเคราะห์ว่า จีนเป็นประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่อันดับที่ 2 ของโลก และเป็นคู่ค้าสำคัญอันดับที่ 2 ของไทยในปี 58 มีมูลค่าการส่งออก 23.7 พันล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นสัดส่วนที่ร้อยละ 11.1 ของมูลค่าการค้าระหว่างประเทศทั้งหมดของไทย โดยกลุ่มสินค้าส่งออกที่สำคัญได้แก่ ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เคมีภัณฑ์ อาหารแปรรูป ไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ ผลไม้อบแห้ง และสินค้าหัตถกรรม อย่างไรก็ตามแม้ว่าเศรษฐกิจจีนในในปัจจุบันจะยังคงฟื้นตัวอย่างเปราะบาง และส่งผลกระทบให้การส่งออกของไทยไปยังจีนลดลงไปบ้าง แต่ไทยยังคงผลักดัน การไปเปิดตลาดในจีนโดยตรง รวมถึงมีการพัฒนาสินค้าอย่างต่อเนื่องเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่สินค้าเพื่อการส่งออก เนื่องจากกำลังซื้อของผู้บริโภคของจีนยังคงอยู่ในระดับสูง และมีความต้องการสินค้าที่มีคุณภาพสูงเช่นกัน ดังนั้น การพัฒนาหลักสูตรการอบรมผู้ประกอบการของกระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงพาณิชย์ และธนาคารกรุงไทย นั้นจะช่วยนำไปสู่การพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการ และเป็นใบเบิกทางที่ดีเพื่อให้สามารถเจาะตลาดจีนได้เพิ่มขึ้น
2. กอบกาญจน์ ดันรายได้ท่องเที่ยวปี 59 แตะ 2.4 ล้านล้านบาท
  • นางกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร รมว. กระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา เปิดเผยว่าพอใจกับภาพรวมของการท่องเที่ยวในช่วงสงกรานต์เพราะจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งคนไทยและชาวต่างชาติเพิ่มขึ้นอย่างมาก โดย ปี 59 กระทรวงท่องเที่ยวฯ ตั้งเป้ารายได้ไว้ที่ 2.33 ล้านล้านบาท แต่จะพยายามให้ถึง 2.4 ล้านล้านบาท ขณะที่จำนวนนักท่องเที่ยวคาดว่าจะอยู่ที่ 32 ล้านคน
  • สศค. วิเคราะห์ว่า จากข้อมูลในช่วง 2 เดือนแรกของปี 59 พบว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติขยายตัวถึงร้อยละ 15.5 หรือคิดเป็นจำนวน 6.1 ล้านคน ซึ่งนับว่าเป็นการขยายตัวในระดับสูง ซึ่งจากข้อสมมติในการประมาณการล่าสุดของ สศค. ณ.เดือน ม.ค. 59 คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาทั้งหมด 33 ล้านคน คิดเป็นการขยายตัวประมาณร้อยละ 10.5 โดยมีนักท่องเที่ยวหลักจากประเทศจีน มาเลเซีย และยุโรป เป็นสำคัญ ขณะที่รายได้จากนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติซึ่งเป็นรายได้ส่วนใหญ่ของภาคการท่องเที่ยว คาดว่าทั้งปี 59 รายได้จะมีประมาณ 1.67 ล้านล้านบาท โดยข้อมูล 2 เดือนแรกของปี 59 รายได้จากการเยี่ยมเยือนรวมขยายตัวร้อยละ 14.9 แบ่งเป็นชาวไทยร้อยละ 5.1 และชาวต่างชาติร้อยละ 19.4 โดยการขยายตัวอย่างต่อเนื่องของภาคการท่องเที่ยวโดยเฉพาะจากนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศจะเป็นปัจจัยและสนับสนุนและแรงขับเคลื่อนสำคัญต่อเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันซึ่งได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก และราคาสินค้าเกษตรที่ยังอยู่ในระดับต่ำ ให้ยังคงขยายตัวได้
3. ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศจีน ไตรมาสแรกขยายตัวร้อยละ 6.7
  • สำนักงานสถิติจีน (NBS) เปิดเผยว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศของจีนได้ขยายตัวร้อยละ 6.7 เทียบรายปี ในไตรมาสแรกของปี 59 แตะ 15.9 ล้านล้านหยวน ตัวเลขดังกล่าวถือว่าชะลอตัวลงต่อเนื่องจากไตรมาสก่อนหน้านั้นที่ได้ขยายตัวร้อยละ 6.8
  • สศค. วิเคราะห์ว่า เศรษฐกิจไตรมาสแรกของปี 59 ของจีนที่ชะลอตัวลงจากไตรมาสที่ 4 ปี 58 นั้น ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากภาคการส่งออกของประเทศจีนที่หดตัวลงอย่างมากโดยในเดือน ม.ค. และ ก.พ. ปี 59 การส่งออกของจีนหดตัวถึงร้อยละ -11.5 และ -25.4 ตามลำดับ การหดตัวลงอย่างมากของภาคการส่งออกจึงส่งผลต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของจีน อย่างไรก็ตาม จีนได้หันไปเน้นการพึ่งพาเศรษฐกิจภายในประเทศให้เป็นตัวขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจมากขึ้น จึงทำให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศของจีนไม่ชะลอตัวลงมากนัก อีกทั้งจีนได้กำหนดเป้าการเจริญเติบโตไว้ที่ร้อยละ 6.5 ซึ่งการเติบโตในไตรมาสแรกปี 59 นี้ ก็สอดคล้องกับเป้าหมายดังกล่าว ทั้งนี้ สศค. ได้ประมาณการการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของจีน ในปี 59 ไว้ที่ร้อยละ 6.6 (คาดการณ์ ณ เดือน ม.ค. 59)

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 3257


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ