รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 12 พฤษภาคม 2559

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday May 12, 2016 13:30 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 12 พฤษภาคม 2559

Summary:

1. กนง. มีมติเอกฉันท์คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 1.50 ต่อปี

2. ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติญี่ปุ่นส่งสัญญาณชะลอผ่อนคลายนโยบายในระยะนี้

3. Goldman Sachs เผยว่าการผลิตน้ำมันในสหรัฐฯ จะลดลงน้อยกว่าที่คาด

1. กนง. มีมติเอกฉันท์คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 1.50 ต่อปี
  • คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 1.50 ต่อปี โดยเห็นว่าเศรษฐกิจไทยในภาพรวมยังคงมีแนวโน้มขยายตัวได้ในอัตราที่ใกล้เคียงกับที่ประเมินไว้ในการประชุมครั้งก่อน
  • สศค. วิเคราะห์ว่า การคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ร้อยละ 1.50 ต่อปี ของ กนง. เพื่อรักษาขีดความสามารถในการดำเนินนโยบาย (policy space) ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจไทยยังมีปัจจัยเสี่ยงจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่ยังอ่อนไหว รวมทั้งทิศทางการดำเนินนโยบายการเงินของประเทศอุตสาหกรรมหลักที่ไม่สอดคล้องกัน ซึ่งส่งผลต่อเงินทุนเคลื่อนย้ายและอัตราแลกเปลี่ยนระหว่างประเทศ อย่างไรก็ดี เสถียรภาพภายนอกประเทศของไทยยังอยู่ในระดับมั่นคง สะท้อนจากทุนสำรองระหว่างประเทศที่อยู่ในระดับสูง และมีหนี้ต่างประเทศระยะสั้นอยู่ในระดับต่ำ สำหรับอัตราเงินเฟ้อทั่วไปกลับมาเป็นบวกในเดือน เม.ย. 59 อยู่ที่ร้อยละ 0.07 ตามราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น สำหรับอัตราเงินเฟ้อทั่วไปและอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ในปี 59 สศค. คาดว่า จะอยู่ที่ร้อยละ 0.3 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 0.0 ถึง 0.6) และอัตราดอกเบี้ยนโยบายคาดว่าจะอยู่ที่ร้อยละ 1.50 ต่อปี (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 1.00 ถึง 2.00) ตามลำดับ (คาดการณ์ ณ เดือน เม.ย. 59 )
2. ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติญี่ปุ่นส่งสัญญาณชะลอผ่อนคลายนโยบายในระยะนี้
  • ผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) กล่าวว่า BOJ จำเป็นจะต้องรอต่อไปอีกหลายเดือน เพื่อดูผลกระทบจากมาตรการกระตุ้นที่จะมีต่อภาคเศรษฐกิจที่แท้จริง อย่างไรก็ดี BOJ อาจผ่อนคลายนโยบายต่อไปหากมีความจำเป็นและจะไม่ลังเลที่จะใช้นโยบายผ่อนคลายทางการเงินเพิ่มเติม หากมีความจำเป็น เช่น หากดัชนีชี้วัดทางเศรษฐกิจเกิดความผันผวนอันเนื่องมาจากอัตราแลกเปลี่ยน
  • สศค. วิเคราะห์ว่า คำกล่าวของผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่นสะท้อนให้เห็นว่า BOJ ยังไม่มีแนวโน้มที่จะผ่อนคลายนโยบายในระยะนี้ ทั้งนี้ ผลการดำเนินมาตรการผ่อนคลายทางการเงินของ BOJ โดยการอัดฉีดสภาพคล่องมูลค่า 80 ล้านล้านเยนต่อปี การใช้อัตราดอกเบี้ยติดลบที่ร้อยละ -0.1 และเงินสำรองส่วนเกินที่สถาบันการเงินฝากไว้กับธนาคารกลางญี่ปุ่น ยังไม่ได้ผลลัพธ์ตามที่คาดหวังไว้ กล่าวคือ ยังไม่สามารถกระตุ้นให้ผู้บริโภคจับจ่ายใช้สอยและภาคธุรกิจเร่งลงทุนได้ ทั้งยังไม่สามารถทำให้เงินเยนอ่อนค่าลงได้ ส่งผลให้นักวิเคราะห์หลายฝ่ายคาดการณ์ว่า ในปี 59 ธนาคารกลางญี่ปุ่นอาจพิจารณาออกมาตรการการเงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม นอกจากนี้ การชะลอตัวทางเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าสำคัญอย่างจีนยังคงเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ต้องจับตามองต่อไป ทั้งนี้ สศค. คาดการณ์ ณ เดือน เม.ย. 59 ว่า เศรษฐกิจญี่ปุ่นจะขยายตัวในปี 59 ร้อยละ 0.8 ต่อปี
3. Goldman Sachs เผยว่าการผลิตน้ำมันในสหรัฐฯ จะลดลงน้อยกว่าที่คาด
  • Goldman Sachs เปิดเผยรายงานว่า การผลิตน้ำมันในสหรัฐฯ จะลดลงน้อยกว่าคาดในปีนี้ เนื่องจากผู้ขุดเจาะน้ำมันในตะวันตกของเท็กซัส และโอกลาโฮมา สามารถหาวิธีในการผลิตน้ำมันได้เร็วขึ้นด้วยต้นทุนที่ต่ำลง โดยการผลิตน้ำมันของสหรัฐฯ จะลดลงประมาณ 650,000 บาร์เรล/วันในปี 59 จากเดิมก่อนหน้านี้คาดการณ์ว่าจะลดลง 725,000 บาร์เรล/วัน นอกจากนี้ยังคาดว่าการลดลงของการผลิตน้ำมันในสหรัฐจะช่วยให้ราคาพลังงานเพิ่มขึ้น โดยทำให้อุปสงค์และอุปทานน้ำมันเข้าสู่จุดสมดุลหลังจากเผชิญภาวะน้ำมันล้นตลาดเป็นเวลา 2 ปี ซึ่งการที่ราคาน้ำมันกำลังปรับตัวขึ้นท่ามกลางการผลิตน้ำมันที่เพิ่มขึ้นของอิหร่าน และ การผลิตน้ำมันในสหรัฐฯ ที่ลดลงไม่มากนัก บ่งชี้ว่าอุปสงค์ราคาน้ำมันมีความแข็งแกร่งกว่าที่มีการคาดการณ์กันไว้ก่อนหน้า
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ข้อมูลราคาน้ำมันล่าสุด (11 พ.ค. 59) เช่น สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เทกซัส อินเตอร์มีเดียต หรือไลต์สวีตครูด งวดส่งมอบเดือน มิ.ย. 59 เพิ่มขึ้น 1.57 ดอลลาร์ ปิดที่ 46.23 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล นับเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่ พ.ย. 59 ส่วนเบรนต์ทะเลเหนือลอนดอน งวดส่งมอบเดือน ก.ค. 59 เพิ่มขึ้น 2.08 ดอลลาร์ ปิดที่ 47.60 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ส่วนหนึ่งเนื่องจากการที่กระทรวงพลังงานสหรัฐฯได้เปิดเผยว่าคลังน้ำมันดิบสำรองของประเทศในสัปดาห์ที่ผ่านมาลดลง 3.4 ล้านบาร์เรล สวนทางกับที่นักวิเคราะห์คาดหมายว่าน่าจะเพิ่มขึ้น 750,000 บาร์เรล ขณะที่สต๊อกเบนซินและน้ำมันกลั่น ซึ่งประกอบด้วยดีเซลและน้ำมันทำความร้อนก็ลดลงเช่นกัน บ่งชี้ว่าอุปสงค์ของผู้บริโภครายใหญ่ของโลกอาจกลับมาแข็งแกร่งอีกครั้ง ทั้งนี้ สศค. คาดการณ์ ณ เดือน เม.ย. 59 ว่า ราคาน้ำมันดิบดูไบจะอยู่ในช่วง 32.0-38.0 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 3257


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ