รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 12 กันยายน 2559

ข่าวเศรษฐกิจ Monday September 12, 2016 11:11 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 12 กันยายน 2559

Summary:

1. กฤชรัตน์ เผยทองคำพยุงส่งออกไทย

2. ระวัง! อุตฯรถยนต์อินโดฯ แซงหน้าไทย

3. ประธานเฟดดัลลัสชี้ปัจจัยสนับสนุนเฟดขึ้นดอกเบี้ยกำลังมีน้ำหนักมากขึ้น

1. กฤชรัตน์ เผยทองคำพยุงส่งออกไทย
  • นายแพทย์กฤชรัตน์ หิรัณยศิริ ประธานบริษัท เอ็มทีเอส โกลด์ แม่ทองสุก เปิดเผยว่า ผู้ประกอบการร้านทองประเมินว่าทองคำจะเป็นสินค้าที่ช่วยพยุงยอดการส่งออกรวมของประเทศไทยได้ถึงร้อยละ 3 หลังจากในช่วง 7 เดือนของปี (ม.ค.-ก.ค.59) ส่งออกทองคำมีมูลค่ารวมแล้ว 185,000 ล้านบาท ขยายตัวเกือบร้อยละ 200 คาดว่าการส่งออกเฉพาะทองคำไทยช่วงที่เหลือของปีน่าจะอยู่ที่ 50,000 ล้านบาท
  • สศค. วิเคราะห์ว่า การส่งออกทองคำในเดือน ก.ค. 59 อยู่ที่ 841.2 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 457.1 ขณะที่ 7 เดือนแรกของปี 59 ส่งออกทองคำได้ 5,397.6 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 196.6 โดยตลาดที่มีมูลค่าการส่งออกสูงสุดในช่วง 7 เดือนแรกของปี 59 ได้แก่ สวิตเซอร์แลนด์ สิงคโปร์ ออสเตรเลีย และฮ่องกง อย่างไรก็ตาม การส่งออกในภาพรวมของเดือน ก.ค. 59 ยังหดตัวร้อยละ -6.4 อยู่ที่ 17,045 ล้านเหรียญสหรัฐ เนื่องจากการหดตัวของมูลค่าการส่งออกยานพาหนะ สินค้าเกษตรกรรม และสินค้าเชื้อเพลิง เป็นสำคัญ
2. ระวัง! อุตฯรถยนต์อินโดฯ แซงหน้าไทย
  • นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธานและโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรม แห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า เมื่อเปรียบเทียบอุตสาหกรรมรถยนต์ในภูมิภาคอาเซียน ในช่วง 6 เดือนแรก อินโดนีเซียมียอดขายรถยนต์ภายในประเทศ 531,929 คัน เนื่องจากอินโดนีเซียเป็นตลาดที่ใหญ่ มีประชากรจำนวนมาก รายได้ของประชากรก็สูงขึ้น อีกทั้งรัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมรถประหยัดพลังงานเหมือนโครงการอีโคคาร์ของประเทศไทย
  • สศค. วิเคราะห์ว่า การที่ยอดขายรถยนต์ของประเทศอินโดนีเซียที่มีจำนวนถึง 531,929 คัน เนื่องจากประเทศอินโดนีเซียเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่โดยมีผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ถึงกว่า 8.6 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ และมีการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ขยายตัวถึงร้อยละ 4.8 ในปี 58 ซึ่งการขยายตัวทางเศรษฐกิจนี้สะท้อนให้เห็นว่ารายได้ของประชาชนในประเทศอินโดนีเซียซึ่งมีจำนวนกว่า 250 ล้านคนนั้นเพิ่มขึ้น ส่งผลให้มีความต้องการรถยนต์เพิ่มขึ้นตามไปด้วย อีกทั้งมีบริษัทรถยนต์ขนาดใหญ่ได้มีการลงทุนในการผลิตรถยนต์ในประเทศอินโดนีเซีย เพื่อตอบสนองความต้องการรถยนต์ภายในประเทศอินโดนีเซียเอง และเพื่อส่งออก ทำให้การผลิตรถยนต์ของประเทศอินโดนีเซียนั้นเพิ่มขึ้นด้วย อย่างไรก็ดีในด้านการผลิตรถยนต์ประเทศไทยนั้นยังเป็นผู้ผลิตอันดับ 1 ในภูมิภาคอาเซียนโดย 7 เดือนแรกของปี 59 ไทยผลิตรถยนต์ไปแล้ว 1,147,330 คัน คิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 4.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ทั้งนี้ทางด้านการผลิตรถยนต์ประเทศไทยได้ทำการส่งเสริมการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งคาดว่าจะเป็นที่ต้องการของตลาดรถยนต์ในอนาคต
3. ประธานเฟดดัลลัสชี้ปัจจัยสนับสนุนเฟดขึ้นดอกเบี้ยกำลังมีน้ำหนักมากขึ้น
  • นายโรเบิร์ต แคปแลน ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขาดัลลัส กล่าวว่า ปัจจัยที่สนับสนุนให้เฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย กำลังมีน้ำหนักมากขึ้นในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา สะท้อนจากตลาดแรงงานที่ยังคงปรับตัวดีขึ้น ส่วนอัตราเงินเฟ้อก็กำลังเพิ่มขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปสู่เป้าหมายของเฟดที่ร้อยละ 2 ซึ่งคำกล่าวของนายแคปแลนสอดคล้องกับความเห็นของนายเอริค โรเซนเกรน ประธานเฟดสาขาบอสตัน ที่กล่าวว่า เฟดเผชิญความเสี่ยงมากขึ้น หากชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยออกไปนานเกินไป ดังนั้นการใช้นโยบายคุมเข้มอย่างค่อยเป็นค่อยไปจึงมีความเหมาะสมอย่างไรก็ดี ประธานเฟดบอสตันไม่ได้ระบุว่าเขาคาดหวังให้มีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยก่อนสิ้นปีหรือไม่ แต่ถ้อยแถลงของเขาสอดคล้องกับสิ่งที่นางเจเน็ต เยลเลน ประธานเฟด กล่าวเมื่อเดือนที่แล้วว่า ปัจจัยที่สนับสนุนให้เฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยกำลังมีน้ำหนักมากขึ้น
  • สศค. วิเคราะห์ว่า การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐหรือเฟดจะพิจารณาจากความแข็งแกร่งของเศรษฐกิจสหรัฐเป็นสำคัญ ซึ่งสามารถสะท้อนได้จาก 2 ตัวชี้วัด ได้แก่ อัตราเงินเฟ้อ และอัตราว่างงาน ซึ่งจากสถานการณ์ล่าสุด อัตราเงินเฟ้อในช่วง 7 เดือนแรกของสหรัฐ อยู่ที่ร้อยละ 1.1 ส่วนอัตราว่างงานอยู่ที่ร้อยละ 4.9 ซึ่งเป็นตัวเลขที่สะท้อนให้เห็นถึงเศรษฐกิจสหรัฐที่ยังคงทรงตัว แต่มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นจากช่วงก่อนหน้า อย่างไรก็ตาม ความกังวลด้านเศรษฐกิจโลกก็ยังคงเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญต่อเศรษฐกิจสหรัฐในอนาคต จึงทำให้ยังไม่มีสัญญาณที่ชัดเจนเกี่ยกับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ทั้งนี้ sentiment ของตลาดในปัจจุบัน ให้ความเห็นว่า เฟดน่าจะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างน้อย 1 ครั้งภายในสิ้นปีนี้ ซึ่งยังเหลือการประชุมอีก 3 รอบ ได้แก่ รอบเดือนกันยายน พฤศจิกายน และธันวาคม

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 3257


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ