รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 21 กันยายน 2559

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday September 21, 2016 11:01 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 21 กันยายน 2559

Summary:

1. สศก. เผยดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรเดือน ส.ค.

2. ราคาน้ำมันดิบปรับเพิ่ม หลังจากท่าส่งออกน้ำมันดิบในลิเบียถูกบุกยึด

3. กระทรวงพาณิชย์จีนยอมรับการค้าระหว่างประเทศยังเผชิญแรงกดดัน

1. สศก. เผยดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรเดือน ส.ค.
  • สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เผยดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรในเดือน ส.ค. 59 ปรับลดลงร้อยละ -8.3 ต่อปี ตามการปรับตัวลดลงของพืชสำคัญ โดยเฉพาะ ข้าวเปลือก ผลไม้ เป็นหลัก
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรกรรมในเดือน ส.ค. 59 หดตัวร้อยละ -8.3 ต่อปี และหากขจัดผลทางฤดูกาลออก หดตัวที่ร้อยละ -6.9 จากเดือนก่อนหน้า ตามการลดลงของผลผลิตในหมวดพืชผลสำคัญเป็นหลักที่หดตัว อาทิ ข้าวเปลือก ผลผลิตหดตัวร้อยละ -22.4 เนื่องจากเป็นเดือนแรกของการเก็บเกี่ยวข้าวนาปีซึ่งลดลงตามการปรับเปลี่ยนไปปลูกพืชชนิดอื่นตามปริมาณน้ำชลประทานเพื่อการเกษตรที่ลดลง รวมทั้งข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และกลุ่มไม้ผล มีการหดตัวเนื่องจากหมดฤดูกาลเก็บเกี่ยว ขณะที่ผลผลิตในหมวดปศุสัตว์ และหมวดประมงยังคงขยายตัวได้ดีต่อเนื่อง เนื่องจากไม่มีสถานการณ์โรคระบาด ทั้งนี้ หากพิจารณาดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรในช่วง 8 เดือนแรกของปี 59 พบว่าดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรยังคงหดตัวร้อยละ -4.2 ต่อปี ส่วนหนึ่งได้รับผลกระทบจากปัญหา ภัยแล้งในช่วงต้นปี ทำให้ภาพรวมผลผลิตยังคงหดตัวอยู่ จับตา: สถานการณ์น้ำช่วงปลายปีที่เหลือที่อาจจะส่งผลกระทบต่อการเพาะปลูกของเกษตรกรได้
2. ราคาน้ำมันดิบปรับเพิ่ม หลังจากท่าส่งออกน้ำมันดิบในลิเบียถูกบุกยึด
  • ราคาน้ำมันดิบปรับตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากเกิดเหตุการณ์บุกยึดท่าส่งออกน้ำมันดิบ ในเมืองราส ลานุฟ (Ras Lanuf) ของประเทศลิเบีย จากกลุ่ม Libyan National Army (LNA) ภายหลังบริษัทน้ำมันแห่งชาติของลิเบีย (NOC) เตรียมพร้อมที่จะกลับมาส่งออกน้ำมันดิบ หลังจากท่าส่งออกสามารถกลับมาเปิดดำเนินการส่งออกได้อีกครั้ง ส่งผลให้เกิดความกังวลเกี่ยวกับอุปทานที่หายไป
  • สศค. วิเคราะห์ว่า การเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันดิบดังกล่าว ถูกกระทบจากปัจจัยระยะสั้น โดยล่าสุดราคาน้ำมันดิบดูไบ ในเดือน ส.ค.59 อยู่ที่ 43.5 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาเรล หรือหดตัวในอัตราชะลอลงที่ร้อยละ -9.4 ต่อปี เทียบกับเดือนก่อน (ก.ค.59) หดตัวร้อยละ -25.3 ต่อปี ทั้งนี้ ในช่วงที่เหลือของปี 59 คาดว่าภาวะล้นเกินของอุปทานน้ำมันจะค่อยๆ ปรับตัวเข้าสู่ดุลยภาพ จากการลดการผลิตของกลุ่มประเทศอเมริกาเหนือเป็นสำคัญ ขณะที่ประเทศในกลุ่ม OPEC คาดว่าจะยังมีการผลิตน้ำมันดิบอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะประเทศอิหร่าน อิรัก และซาอุดิอาระเบีย ซึ่งจะยังเป็นปัจจัยกดดันราคาน้ำมันในช่วงที่เหลือของปีนี้ ทั้งนี้ สศค.คาดว่า ในปี 59 ราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยจะอยู่ที่ 41.0 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล จับตา: ราคาน้ำมันในช่วงที่เหลือของปี 59
3. กระทรวงพาณิชย์จีนยอมรับการค้าระหว่างประเทศยังเผชิญแรงกดดัน
  • พาณิชย์จีน (MOC) เปิดเผยว่า การค้าระหว่างประเทศของจีนยังคงเผชิญกับแรงกดดันในระดับหนึ่ง เนื่องจากมีความไม่แน่นอนเพิ่มขึ้น โดยสถานการณ์สถานการณ์ปัจจุบันนั้น "ซับซ้อนและรุนแรง"
  • สศค. วิเคราะห์ว่า แม้ว่ามูลค่าการค้าระหว่างประเทศของจีนในรูปเงินหยวนได้ปรับตัวเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ดี หากพิจารณามูลค่าการส่งออกของจีนในรูปค่าเงินดอลลาร์สหรัฐในเดือน ส.ค. พบว่า ยังคงหดตัวต่อเนื่องมาอยู่ที่ร้อยละ -3.2 ต่อปี ขณะที่มูลค่าการนำเข้าขยายตัวที่ร้อยละ 1.4 ต่อปี และในช่วง 8 เดือนแรกของปี 59 มูลค่าการส่งออกหดตัวถึงร้อยละ -6.3 ต่อปี และมูลค่าการนำเข้าหดตัวร้อยละ -8.9 ต่อปี สะท้อนอุปสงค์ต่างประเทศของจีนที่ชะลอตัว ประกอบกับการค้าโลกที่ยังอ่อนแอตามภาวะเศรษฐกิจโลกที่เติบโตอย่างเชื่องช้า อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจภายในประเทศของจีนยังมีความเข้มแข็ง ทำให้เศรษฐกิจจีนขยายตัวได้ที่ร้อยละ 6.7 ในไตรมาส 2/59 ทั้งนี้ สศค. คาดว่า ในปี 59 เศรษฐกิจจีนจะสามารถขยายตัวได้ที่ร้อยละ 6.6 ต่อปี จับตา: การค้าโลกและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจของในช่วงครึ่งปีหลัง

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 3257


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ