รายงานภาวะเศรษฐกิจรายสัปดาห์ระหว่างวันที่ 6 - 10 มีนาคม 2560

ข่าวเศรษฐกิจ Monday March 13, 2017 16:17 —กระทรวงการคลัง

Executive Summary

Indicators this week
  • ปริมาณรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ในเดือน ก.พ. 60 มีจำนวน 165,663 คัน คิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 14.9
  • หนี้สาธารณะคงค้าง ณ สิ้นเดือน ม.ค. 60 มีจำนวนทั้งสิ้น 6,059.6 พันล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 42.0 ของ GDP
  • อัตราการว่างงานในเดือน ก.พ. 60 อยู่ที่ 1.1 ของกำลังแรงงานทั้งหมด หรือคิดเป็นจำนวนผู้ว่างงาน 4.3 แสนคน
  • GDP สหภาพยุโรป ไตรมาสที่ 4 ปี 59 (ตัวเลขปรับปรุง) ขยายตัวร้อยละ 1.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • GDP ญี่ปุ่น ไตรมาส 4 ปี 59 (ตัวเลขสมบูรณ์) ขยายตัวร้อยละ 1.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • ดุลการค้าของสหรัฐฯ เดือน ม.ค. 60 ขาดดุลเพิ่มขึ้นที่ 48.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
  • มูลค่าการส่งออกของจีน เดือน ก.พ. 60 กลับมาหดตัวร้อยละ -4.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ขณะที่มูลค่าการนำเข้าขยายตัวสูงถึงร้อยละ 38.1 ทำให้ดุลการค้า เดือน ก.พ. 60 ขาดดุล 9.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
  • อัตราเงินเฟ้อของไต้หวัน เดือน ก.พ. 60 อยู่ที่ร้อยละ 0.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • ยอดค้าปลีกของอินโดนีเซีย เดือน ม.ค. 60 ขยายตัวร้อยละ 6.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • มูลค่าการส่งออกของฟิลิปปินส์ เดือน ม.ค. 60 ขยายตัวร้อยละ 22.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ขณะที่มูลค่าการนำเข้าขยายตัวร้อยละ 9.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ทำให้ดุลการค้าขาดดุล 2.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
Economic Indicators: This Week

ปริมาณรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ในเดือน ก.พ. 60 มีจำนวน 165,663 คัน คิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 14.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน จากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -6.2 ขยายตัวทั้งในเขต กทม. ที่ร้อยละ 10.6 และในเขตภูมิภาคที่ร้อยละ 16.3 เนื่องจากรายได้เกษตรกรที่ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น ทำให้ปริมาณรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ 2 เดือนแรกของปี 60 ขยายตัวได้ร้อยละ 3.4

หนี้สาธารณะคงค้าง ณ สิ้นเดือน ม.ค. 60 มีจำนวนทั้งสิ้น 6,059.6 พันล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 42.0 ของ GDP และเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนก่อนหน้า พบว่า หนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นสุทธิ 137.9 พันล้านบาท ทั้งนี้ สถานะหนี้สาธารณะของไทยถือว่ามีความมั่นคง สะท้อนได้จากสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ยังอยู่ในระดับต่ำกว่ากรอบความยั่งยืนทางการคลังที่ตั้งไว้ไม่เกินร้อยละ 60 ของ GDP และหนี้สาธารณะส่วนใหญ่เป็นหนี้ระยะยาวโดยแบ่งตามอายุของเครื่องมือการกู้เงิน (คิดเป็นร้อยละ 96.6 ของยอดหนี้สาธารณะ) และเป็นหนี้ในประเทศ (คิดเป็นร้อยละ 94.7 ของยอดหนี้สาธารณะ)

การจ้างงานเดือน ก.พ. 60 อยู่ที่ 37.7 ล้านคน ลดลง 1.9 แสนคน หรือคิดเป็นการหดตัวที่ร้อยละ -0.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากการจ้างงานภาคเกษตรกรรมที่มีจำนวนการจ้างงานลดลง 4.9 แสนคน หรือคิดเป็นการหดตัวที่ร้อยละ -4.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ประกอบกับ การจ้างงานภาคอุตสาหกรรมมีจำนวนการจ้างงานลดลงเช่นกันที่ 9.8 หมื่นคน หรือคิดเป็นการหดตัวที่ร้อยละ -1.0 ขณะที่การจ้างงานภาคบริการมีจำนวนการจ้างงานเพิ่มขึ้นที่ 4.0 แสนคน ขยายตัวที่ร้อยละ 2.4 สำหรับอัตราการว่างงานในเดือน ก.พ. 60 อยู่ที่ 1.1 ของกำลังแรงงานทั้งหมด หรือคิดเป็นจำนวนผู้ว่างงาน 4.3 แสนคน

Global Economic Indicators: This Week

US: improving economic trend

ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคบริการ เดือน ก.พ. 60 อยู่ที่ระดับ 57.6 จุด ปรับเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า และเป็นระดับสูงสุดในรอบ 1 ปี 4 เดือน จากดัชนีย่อยหมวดกิจกรรมทางธุรกิจ คำสั่งซื้อใหม่ และการจ้างงานที่ปรับตัวดีขึ้น ดุลการค้าเดือน ม.ค. 60 ขาดดุลเพิ่มขึ้นที่ 48.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ จากการนำเข้าที่ขยายตัวสูงถึงร้อยละ 12.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ขณะที่การส่งออกขยายตัวร้อยละ 9.1

China: improving economic trend

มูลค่าการส่งออก เดือน ก.พ. 60 กลับมาหดตัวร้อยละ -4.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หลังจากที่ขยายตัวได้ร้อยละ 3.1 ในเดือนก่อนหน้า มูลค่าการนำเข้า เดือน ก.พ. 60 ขยายตัวสูงถึงร้อยละ 38.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากปัจจัยฐานต่ำผิดปกติ ทำให้ดุลการค้า เดือน ก.พ. 60 ขาดดุล 9.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นการขาดดุลการค้าครั้งแรกในรอบ 3 ปี อัตราเงินเฟ้อ เดือน ก.พ. 60 อยู่ที่ร้อยละ 0.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากร้อยละ 2.5 ในเดือนก่อนหน้า จากราคาอาหารที่ปรับลดลงมากช่วงหลังเทศกาลตรุษจีนในเดือน ม.ค. 60

Eurozone: mixed signal

ยอดค้าปลีก เดือน ม.ค. 60 ขยายตัวร้อยละ 1.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 1.2 โดยที่ยอดค้าปลีกในทุกหมวดสินค้าชะลอลง ขณะที่ดัชนี PMI ภาคบริการ เดือน ก.พ. 60 อยู่ที่ระดับ 55.5 จุด สูงสุดในรอบเกือบ 6 ปีส่งผลให้ดัชนี PMI รวม เดือน ก.พ. 60 อยู่ที่ระดับ 56.0 สูงสุดในรอบเกือบ 6 ปีเช่นกัน ด้าน GDP ไตรมาสที่ 4 ปี 59 (ตัวเลขปรับปรุง) ขยายตัวร้อยละ 1.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เท่ากับตัวเลขเบื้องต้นโดยมีปัจจัยสนับสนุนหลักจากการส่งออกและการบริโภคภาคเอกชนที่ขยายตัวร้อยละ 3.3 และ 1.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ตามลำดับ และเมื่อวันที่ 9 มี.ค. 60 ธนาคารกลางยุโรปคงอัตราดอกเบียนโยบายทั้ง 3 ประเภท และยังคงวงเงินมาตรการ QE ที่เดือนละ 8 หมื่นล้านยูโรไปจนถึงเดือน มี.ค. 60 และจะลดขนาดมาตรการ QE เหลือเดือนละ 6 หมื่นล้านยูโรในเดือน เม.ย.-ธ.ค. 60

Japan: improving economic trend

GDP ไตรมาส 4 ปี 59 (ตัวเลขสมบูรณ์) ขยายตัวร้อยละ 1.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นจากร้อยละ 1.1 ในไตรมาสก่อนหน้า จากการบริโภคภาคเอกชนและการลงทุนรวมที่ปรับตัวดีขึ้น ทำให้ทั้งปี 59 เศรษฐกิจญี่ปุ่นขยายตัวร้อยละ 1.0 ชะลอลงจากร้อยละ 1.2 ในปี 58

Taiwan: improving economic trend

อัตราเงินเฟ้อ เดือน ก.พ. 60 อยู่ที่ร้อยละ 0.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากร้อยละ 2.2 ในเดือนก่อนหน้า จากราคาสินค้าหมวดอาหารซึ่งมีสัดส่วนกว่า 1 ใน 4 ของตะกร้าเงินเฟ้อที่หดตัวครั้งแรกในรอบ 42 เดือน มูลค่าการส่งออก เดือน ก.พ. 60 ขยายตัวสูงถึงร้อยละ 27.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เช่นเดียวกับมูลค่าการนำเข้า เดือน ก.พ. 60 ขยายตัวสูงถึงร้อยละ 42.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากปัจจัยฐานต่ำ ทำให้ดุลการค้า เดือน ก.พ. 60 เกินดุล 3.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

Indonesia: mixed signal

ยอดค้าปลีก เดือน ม.ค. 60 ขยายตัวร้อยละ 6.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ซึ่งเท่ากับเดือนก่อนหน้า และนับเป็นการขยายตัวที่ต่ำที่สุดตั้งแต่เดือน ก.ค. 59 เป็นเดือนที่สองติดต่อกันเนื่องจากยอดขายสินค้าในหมวดอาหารและเครื่องดื่มขยายตัวร้อยละ 7.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ซึ่งเป็นการขยายตัวในอัตราเท่ากันกับเดือนก่อนหน้า เป็นสำคัญ

Philippines: mixed signal

อัตราเงินเฟ้อ เดือน ก.พ. 60 ขยายตัวร้อยละ 3.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้า จากสินค้าในหมวดอาหาร และหมวดที่อยู่อาศัย ก๊าซ และพลังงาน มูลค่าการส่งออก เดือน ม.ค. 60 ขยายตัวร้อยละ 22.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นมากจากเดือนก่อนหน้า จากการส่งออกสินค้าในหมวดอิเล็กทรอนิกส์เป็นสำคัญ ขณะที่มูลค่าการนำเข้าขยายตัวร้อยละ 9.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากเดือนก่อน จากการนำเข้าสินค้าในหมวดอุปกรณ์การขนส่งและอิเล็กทรอนิกส์ ทำให้ดุลการค้าขาดดุล 2.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ผลผลิตอุตสาหกรรม เดือน ม.ค. 60 ขยายตัวร้อยละ 11.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้าจากสินค้าในหมวดอาหารและเครื่องดื่มที่ขยายตัวชะลอลงร้อยละ 28.6 และ 2.4 ตามลำดับ และสินค้าในหมวดเครื่องจักรไฟฟ้าและผลิตภัณฑ์เคมีที่หดตัวร้อยละ -12.2 และ -10.2 ตามลำดับ

UK: worsening economic trend

ดัชนี PMI ภาคบริการ เดือน ก.พ. 60 อยู่ที่ระดับ 53.3 จุด ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 54.5 จุด

Australia: worsening economic trend

ยอดค้าปลีก เดือน ม.ค. 60 ขยายตัวร้อยละ 2.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 3.7 เมื่อวันที่ 7 มี.ค. 60 ธนาคารกลางออสเตรเลียคงอัตราดอกเบียนโยบายไว้ที่ร้อยละ 1.5 ต่อปี เนื่องจากเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับที่ค่อนข้างต่ำ

Weekly Financial Indicators

ดัชนี SET ปรับตัวลดลงต่อเนื่อง โดย ณ วันที่ 9 มี.ค. 60 ดัชนีฯ ปิดที่ระดับ 1,549.24 จุด หลังตลอดทั้งสัปดาห์ดัชนีฯ ปรับตัวลดลงทดสอบแนวต้านระดับ 1,550 ต่อเนื่อง ด้วยมูลค่าซื้อขายเฉลี่ยทั้งสัปดาห์ 43,857.91 ล้านบาท จากแรงขายของนักลงทุนต่างชาติ ตามการคาดการณ์ของตลาดว่า FED จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมวันที่ 14-15 มี.ค. 60 นี้ ตลอดจนราคาน้ำมันในตลาดโลกกลับมาต่ำกว่า 50 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรลอีกครั้ง จากปริมาณการผลิตและการสำรองน้ำมันของสหรัฐฯ ที่เพิ่มมากขึ้น กดดันให้ราคาปรับตัวลง โดยระหว่างวันที่ 6 - 9 มี.ค. 60 นักลงทุนต่างชาติขายหลักทรัพย์สุทธิ -5,786.34 ล้านบาท

อัตราผลตอบแทนพันธบัตรทุกระยะปรับเพิ่มขึ้น 1-8 bps สอดคล้องกับทิศทางการเคลื่อนย้ายเงินทุนของนักลงทุนต่างชาติออกจากตลาดหลักทรัพย์ไทยและตลาดอื่นๆ ในภูมิภาค และค่าเงินบาทที่อ่อนลง ตามการคาดการณ์ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯ ที่มีความเป็นได้ไปสูงขึ้นหลังตัวเลขการจ้างงานภาคเอกชน (ADP) ล่าสุดปรับดีขึ้นกว่าคาด และอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง โดยในระหว่างวันที่ 6 - 9 มี.ค. 60 มีกระแสเงินทุนของนักลงทุนต่างชาติไหลออกจากตลาดพันธบัตรสุทธิ -14,263.78 ล้านบาท

เงินบาทอ่อนค่าลง โดย ณ วันที่ 9 มี.ค. 60 เงินบาทปิดที่ 35.33 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าลงร้อยละ 0.97 จากสัปดาห์ก่อน สอดคล้องกับทิศทางของค่าเงินสกุลหลักในภูมิภาค เช่น เยน ริงกิต วอน สิงคโปร์ดอลลาร์ และหยวน ในขณะที่มีเพียงเงินยูโรที่แข็งค่าขึ้น จึงส่งผลให้ดัชนีค่าเงินบาท (NEER) ในสัปดาห์นี้ อ่อนค่าลงเล็กน้อยที่ร้อยละ 0.63 จากสัปดาห์ก่อน

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3253 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ