รายงานภาวะเศรษฐกิจรายสัปดาห์ระหว่างวันที่ 29 พฤษภาคม - 2 มิถุนายน 2560

ข่าวเศรษฐกิจ Monday June 5, 2017 14:37 —กระทรวงการคลัง

Executive Summary

Indicators this week
  • ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างในเดือน พ.ค. 60 หดตัวร้อยละ -2.2
  • ปริมาณรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ในเดือน พ.ค. 60 ขยายตัว ร้อยละ 15.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน
  • อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือน พ.ค. 60 อยู่ที่ร้อยละ -0.04
  • รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ (หลังหักจัดสรรให้ อปท.) ในเดือนเม.ย. 60 ได้จำนวน 181.6 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.6
  • การเบิกจ่ายงบประมาณรวมในเดือนเม.ย. 60 ปีงปม. 60 เบิกจ่ายได้ทั้งสิ้น 217.2 พันล้านบาท ลดลงร้อยละ -2.9
  • ฐานะการคลังของรัฐบาลตามระบบกระแสเงินสดในเดือน เม.ย. 60 พบว่าดุลเงินงบประมาณขาดดุลจำนวน -40.6 พันล้านบาท
  • ดุลบัญชีเดินสะพัด เดือน เม.ย. 60 เกินดุล 2,906.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
  • ปริมาณการจำหน่ายเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กรวมภายในประเทศเดือน เม.ย. 60 หดตัวที่ร้อยละ -13.2
  • ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) ในเดือน เม.ย. 60 หดตัว ร้อยละ -1.7
  • หนี้สาธารณะคงค้าง ณ สิ้นเดือน เม.ย. 60 มีจำนวนทั้งสิ้น 6,267.9 พันล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 42.6 ของ GDP
Economic Indicators: This Week

ฐานะการคลังของรัฐบาลตามระบบกระแสเงินสดในเดือน เม.ย. 60 ปีงปม. 60 พบว่าดุลเงินงบประมาณขาดดุลจำนวน -40.6 พันล้านบาท และเมื่อรวมกับดุลเงินนอกงบประมาณที่เกินดุล 5.4 พันล้านบาท ส่งผลให้ดุลเงินสดก่อนกู้ขาดดุล -35.2 พันล้านบาท ทั้งนี้ ดุลเงินงบประมาณในช่วง 7 เดือนแรกของปีงบประมาณ 60 ขาดดุลจำนวน -613.1 พันล้านบาท และเมื่อรวมกับดุลเงินนอกงบประมาณที่ขาดดุล -17.4 พันล้านบาท ทำให้ดุลเงินสดก่อนกู้ขาดดุล -630.5 พันล้านบาท และรัฐบาลได้มีการกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุล 360.3 พันล้านบาท ทำให้ดุลเงินสดหลังกู้ขาดดุล -270.2 พันล้านบาท และเงินคงคลัง ณ สิ้นเดือน เม.ย. 60 อยู่ที่ระดับ 171.1 พันล้านบาท

การเบิกจ่ายงบประมาณรวมในเดือนเม.ย. 60 ปีงปม. 60 เบิกจ่ายได้ทั้งสิ้น 217.2 พันล้านบาท ลดลงร้อยละ -2.9 ต่อปีโดยการเบิกจ่ายงบประมาณประจำปีปัจจุบันเบิกจ่ายได้ 210.1 พันล้านบาท ลดลงร้อยละ -0.6 ต่อปี แบ่งออกเป็น (1) รายจ่ายประจำ 188.2 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.1 ต่อปี และ (2) รายจ่ายลงทุน 21.9 พันล้านบาท ลดลงร้อยละ -13.2 ต่อปี ทั้งนี้ การเบิกจ่ายงบประมาณที่สำคัญ ได้แก่ เงินอุดหนุนของกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น 35.1 พันล้านบาท และเงินอุดหนุนของกระทรวงศึกษาธิการ 14.1 พันล้านบาท ทั้งนี้ รายจ่ายปีงบประมาณปัจจุบันในช่วง 7 เดือนแรกของปีงบประมาณ 60 สามารถเบิกจ่ายได้ 1,662.9 พันล้านบาท หรือคิดเป็นอัตราการเบิกจ่ายร้อยละ 60.8 ของวงเงินงบประมาณ (2,733.0 ล้านล้านบาท)

รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ (หลังหักจัดสรรให้ อปท.) ในเดือนเม.ย. 60 ได้จำนวน 181.6 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.6 ต่อปีโดยการจัดเก็บภาษีฐานรายได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.8 ต่อปี จากการจัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลเพิ่มขึ้นร้อยละ 12.5 ต่อปี ขณะที่ภาษีฐานการบริโภคลดลงร้อยละ -1.8 ต่อปี ทำให้ในช่วง 7 เดือนแรกของปีงบประมาณรายได้สุทธิ (หลังหักจัดสรรให้ อปท.) จัดเก็บได้ 1,223.6 พันล้านบาท ลดลงร้อยละ -2.0 ต่อปี และสูงกว่าประมาณการ 4.9 พันล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 0.4 ของประมาณการเอกสารงบปม.

ดุลบัญชีเดินสะพัด เดือน เม.ย. 60 เกินดุล 2,906.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อนที่เกินดุล 2,575.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยเป็นผลมาจากดุลการค้าที่เกินดุล 1,450.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงจากเดือนก่อน จากมูลค่าการส่งออกและนำเข้า (ตามระบบ BOP) ที่ขยายตัวชะลอลงจากเดือนก่อน ขณะที่ดุลบริการ รายได้ และเงินโอน กลับมาเกินดุล 1,455.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สอดคล้องกับภาคการท่องเที่ยวที่ยังคงขยายตัวต่อเนื่อง ทั้งนี้ ในช่วง 4 เดือนแรกปี 60 ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 16,224.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

Economic Indicators: This Week

ภาษีมูลค่าเพิ่มที่รัฐบาลจัดเก็บได้ในเดือน เม.ย. 60 มีมูลค่า 61,216 ล้านบาท คิดเป็นอัตราการหดตัว ณ ระดับราคาที่แท้จริงที่ร้อยละ -2.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 5.0 หรือคิดเป็นการหดตัวร้อยละ -4.1 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังหักผลทางฤดูกาล โดยเป็นการหดตัวครั้งแรกในรอบ 4 เดือน เนื่องจากมูลค่าการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากการใช้จ่ายภายในประเทศหดตัวที่ร้อยละ -4.5 ขณะที่ภาษีมูลค่าเพิ่มที่จัดเก็บจากการนำเข้าขยายตัวชะลอลงที่ร้อยละ 0.9 ทั้งนี้ในช่วง 4 เดือนแรกของปี 60 ภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ระดับราคาที่แท้จริงขยายตัวที่ร้อยละ 1.9

ภาษีจากการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ในเดือน เม.ย. 60 หดตัวร้อยละ -47.2 ต่อปี เนื่องจากปัจจัยฐานสูงในเดือนเม.ย. 59 ซึ่งมีการเร่งโอน แต่ขยายตัวได้ร้อยละ 4.2 ต่อเดือนหลังปรับผลทางฤดูกาลออกแล้ว ทั้งนี้ ในช่วง ไตรมาสที่ 1 ของปี 60 ภาษีจากการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์หดตัวร้อยละ -8.8 ต่อปี หรือคิดเป็นการหดตัวร้อยละ -1.9 ต่อไตรมาส หลังขจัดผลทางฤดูกาล ทั้งนี้ในช่วง 4 เดือนแรกของปี 60 ภาษีจากการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ หดตัวที่ร้อยละ -22.0

ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) ในเดือน เม.ย. 60 หดตัวร้อยละ -1.7 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน จากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 0.0 หรือคิดเป็นการหดตัวร้อยละ -1.3 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า หลังขจัดผลทางฤดูกาล โดยเป็นผลจากการหดตัวของการผลิตอุตสาหกรรมในหมวดยานยนต์ เฟอร์นิเจอร์และเครื่องประดับ และหมวดเครื่องแต่งกายเป็นหลัก ขณะที่การผลิตอุตสาหกรรมในหมวดวิทยุ โทรทัศน์และผงวงจรรวม และหมวดแร่อโลหะ ขยายตัวได้ในเดือนนี้ ทั้งนี้ ในช่วง 4 เดือนแรกของปี 60 ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมหดตัวร้อยละ -0.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

ปริมาณการจำหน่ายเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กรวมภายในประเทศเดือน เม.ย. 60 หดตัวที่ร้อยละ -13.2 ต่อปี และเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังปรับผลทางฤดูกาลแล้ว พบว่าหดตัวร้อยละ -3.0 ต่อเดือน ทั้งนี้ 4 เดือนแรกของปี 60 ปริมาณการจำหน่ายเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กรวมภายในประเทศหดตัวร้อยละ -3.4 ต่อปี

ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างในเดือน พ.ค. 60 เท่ากับ 103.4 หดตัวร้อยละ -2.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน โดยมีสาเหตุสำคัญจากการลดลงของดัชนีราคาหมวดซีเมนต์ ลดลงร้อยละ 6.2 ทั้งนี้ ใน 5 เดือนแรกของปี 60 ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นร้อยละ 0.7 ต่อปี

Economic Indicators: This Week

อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือน พ.ค. 60 อยู่ที่ร้อยละ -0.04 โดยหากพิจารณาดัชนีราคาผู้บริโภคเทียบกับเดือนก่อนหน้า (%mom) พบว่าขยายตัวร้อยละ 0.15 ซึ่งปัจจัยหลักมาจากการปรับอัตราค่าไฟฟ้าผันแปร (Ft) ที่สูงขึ้น 12.52 สตางค์ต่อหน่วย ขณะที่หมวดพาหนะ มีแนวโน้มลดลงในภาพรวมตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก อย่างไรก็ดี สาเหตุที่อัตราเงินเฟ้อติดลบ เนื่องจากราคาผักและผลไม้ที่ลดลงเนื่องจากปัจจัยฐานที่สูงในปีก่อน ทั้งนี้ อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ร้อยละ 0.5

สินเชื่อในสถาบันการเงินเดือน เม.ย. 60 มียอดคงค้าง 16.8 ล้านล้านบาท คิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 3.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หรือขยายตัวร้อยละ 0.3 จากเดือนก่อนหน้า (หลังขจัดผลทางฤดูกาล) โดยสินเชื่อจากธนาคารพาณิชย์ขยายตัวเร่งขึ้น ขณะที่สินเชื่อสถาบันการเงินเฉพาะกิจขยายตัวชะลอลง และเมื่อแยกประเภทการขอสินเชื่อ พบว่าสินเชื่อเพื่อธุรกิจขยายตัวที่ร้อยละ 4.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้า ขณะที่ด้านสินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภคขยายตัวชะลอลงที่ร้อยละ 3.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน

เงินฝากในสถาบันการเงินเดือน เม.ย. 60 มียอดคงค้าง 18.1 ล้านล้านบาท คิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 3.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้า หรือหากขจัดผลทางฤดูกาลแล้วจะคิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 0.9 จากเดือนก่อนหน้า โดยเงินฝากในธนาคารพาณิชย์ขยายตัวเร่งขึ้นร้อยละ 1.6 และสถาบันการเงินเฉพาะกิจขยายตัวเร่งขึ้นที่ร้อยละ 4.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อน

หนีสาธารณะคงค้าง ณ สิ้นเดือน เม.ย. 60 มีจำนวนทั้งสิ้น 6,267.9 พันล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 42.6 ของ GDP และเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนก่อนหน้า พบว่า หนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นสุทธิ 101.4 พันล้านบาท ทั้งนี้ สถานะหนี้สาธารณะของไทยถือว่ามีความมั่นคง สะท้อนได้จากสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ยังอยู่ในระดับต่ำกว่ากรอบความยั่งยืนทางการคลังที่ตั้งไว้ไม่เกินร้อยละ 60 ของ GDP และหนี้สาธารณะส่วนใหญ่เป็นหนี้ระยะยาวโดยแบ่งตามอายุของเครื่องมือการกู้เงิน (คิดเป็นร้อยละ 96.9 ของยอดหนี้สาธารณะ) และเป็นหนี้ในประเทศ (คิดเป็นร้อยละ 94.9 ของยอดหนี้สาธารณะ)

ปริมาณรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ในเดือน พ.ค. 60 มีจำนวน 207,343 คัน คิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 15.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน จากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 16.3 โดยเป็นผลจากยอดจดทะเบียนในเขต กทม. ที่ร้อยละ 10.1 และในเขตภูมิภาคที่ขยายตัวร้อยละ 17.1 ตามรายได้เกษตรกรในเดือน เม.ย. ที่ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น ทำให้ใน 5 เดือนแรกของปี 60 ปริมาณรถจักรยานยนต์จดทะเบียน ขยายตัวได้ ร้อยละ 7.9

Global Economic Indicators: This Week

US: mixed signal

GDP ไตรมาส 1 ปี 60 (ตัวเลขปรับปรุง) ขยายตัวร้อยละ 2.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หรือร้อยละ 0.3 จากไตรมาสก่อนหน้า (ขจัดผลทางฤดูกาล) โดยการบริโภคภาคเอกชนและการบริโภคภาครัฐชะลอลงเล็กน้อย การลงทุนภาครัฐหดตัว ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนเร่งตัวขึ้นสูงสุดในรอบ 5 ไตรมาส ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือน พ.ค. 60 อยู่ที่ระดับ 117.9 จุด ปรับลดลงเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 119.4 จุด ดัชนีผู้จัดการฝ่ายซื้อ (ISM PMI) ภาคอุตสาหกรรม เดือน พ.ค.60 อยู่ที่ระดับ 54.9 จุด ใกล้เคียงกับเดือนก่อนโดยดัชนีย่อยหมวดคำสั่งซื้อสินค้าใหม่ หมวดสินค้าคงคลัง และหมวดการจ้างงานบ่งชี้การขยายตัว ขณะที่ดัชนีหมวดการจัดส่งสินค้าโดยผู้ขายชะลอตัว

Japan: mixed signal

อัตราการว่างงานเดือน เม.ย. 60 อยู่ที่ร้อยละ 2.8 ของกำลังแรงงานรวม ทรงตัวจากเดือนก่อน ยอดค้าปลีกเดือน เม.ย. 60 ขยายตัวร้อยละ 3.2 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เร่งขึ้นจากร้อยละ 2.1 ในเดือนก่อน ผลผลิตอุตสาหกรรม เดือน เม.ย. 60 ขยายตัวร้อยละ 5.7 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เร่งขึ้นจากร้อยละ 3.5 ในเดือนก่อน ดัชนี PMI ภาคอุตสาหกรรม เดือน พ.ค. 60 อยู่ที่ระดับ 53.1 จุด เพิ่มขึ้นจาก 52.7 จุด ในเดือนก่อน

Eurozone: improving economic trend

อัตราเงินเฟ้อ เดือน พ.ค. 60 อยู่ที่ร้อยละ 1.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ร้อยละ 1.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อน โดยมีสาเหตุหลักมาจากราคาด้านพลังงานที่ลดลง และด้านอัตราการว่างงาน เดือน เม.ย. 60 อยู่ที่ร้อยละ 9.3 ต่อกำลังงแรงงานรวม ลดลงเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ร้อยละ 9.4 ต่อกำลังแรงงานรวม และดัชนี PMI ภาคอุตสาหกรรม เดือน พ.ค. 60 อยู่ที่ระดับ 57.0 จุด สูงสุดในรอบ 6 ปีกว่า โดยมีปัจจัยสนับสนุนหลักจากยอดคำสั่งซื้อใหม่ที่เร่งขึ้น

UK: worsening economic trend

ดัชนี PMI ภาคอุตสาหกรรม เดือน พ.ค. 60 อยู่ที่ระดับ 56.7 จุด ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 57.3 จุด

China: mixed signal

ดัชนี PMI ภาคอุตสาหกรรม (จัดทำโดยทางการจีน) เดือน พ.ค. 60 ทรงตัวอยู่ที่ระดับ 51.2 จุด จากเดือนก่อนหน้า ขณะที่ดัชนีฯ ที่จัดทำโดย Caixin ปรับตัวลดลงอยู่ที่ ระดับ 49.6 จุด จาก 50.2 จุดในเดือนก่อน บ่งชี้การหดตัวของภาคการผลิตครั้งแรกในรอบ 11 เดือน

Hong Kong: worsening economic trend

ยอดค้าปลีก เดือน เม.ย. 60 ขยายตัวร้อยละ 0.1 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ชะลอลงจากร้อยละ 3.0 ในเดือนก่อน

India: worsening economic trend

GDP ไตรมาส 1 ปี 60 ขยายตัวร้อยละ 6.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอตัวลงจากไตรมาสก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 7.0 โดยมีการบริโภคภาคเอกชนและการบริโภคภาครัฐเป็นปัจจัยขับเคลื่อนเศรษฐกิจหลัก ดัชนี PMI ภาคอุตสาหกรรมเดือน พ.ค. 60 อยู่ระดับที่ 51.6 จุด ต่ำสุดในรอบสามเดือน

South Korea: mixed signal

ผลผลิตอุตสาหกรรม เดือน เม.ย. 60 หดตัวร้อยละ 1.7 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ชะลอจากร้อยละ 3.3 ในเดือนก่อน ยอดค้าปลีกเดือน เม.ย. 60 ขยายตัวร้อยละ 4.7 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เร่งขึ้นจากร้อยละ 4.4 ในเดือนก่อน อัตราเงินเฟ้อเดือน พ.ค. 60 อยู่ที่ร้อยละ 2.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 1.9 ในเดือนก่อน การส่งออก เดือน พ.ค. 60 ขยายตัวร้อยละ 13.3 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ชะลอตัวจากร้อยละ 24.1 ในเดือนก่อน โดยการส่งออกไปสหรัฐฯ หดตัวถึงร้อยละ -1.9 ขณะที่การนำเข้าขยายตัวร้อยละ 18.2 เร่งขึ้นจากเดือนก่อน ส่งผลให้ดุลการค้าเกินดุล 5.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐGDP ไตรมาส 1 ปี 60 ขยายตัวร้อยละ 2.9 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เร่งขึ้นจากร้อยละ 2.4 ในไตรมาสก่อน โดยการลงทุนภาคเอกชนขยายตัวสูงถึงร้อยละ 10.4

Taiwan: mixed signal

GDP ไตรมาส 1 ปี 60 ขยายตัวร้อยละ 2.6 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ชะลอตัวจากร้อยละ 2.8 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยมีปัจจัยสนับสนุนหลักคือการบริโภคภาคเอกชนและการส่งออก ดัชนี PMI ภาคอุตสาหกรรม เดือน พ.ค. 60 อยู่ที่ระดับ 53.1 จุด ลดลงจาก 54.4 จุด ในเดือนก่อน และเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 7 เดือน

Vietnam: mixed signal

การส่งออก เดือน พ.ค. 60 ขยายตัวร้อยละ 19.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้าและการนำเข้าเดือนขยายตัวร้อยละ 23.6 เร่งขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้า ทำให้ดุลการค้าขาดดุล -0.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐอัตราเงินเฟ้อ เดือน พ.ค. 60 อยู่ที่ร้อยละ 3.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้า จากดัชนีหมวดที่อยู่อาศัยและหมวดการขนส่งที่ชะลอลง ผลผลิตอุตสาหกรรม เดือน พ.ค. 60 ขยายตัวร้อยละ 7.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นจากเดือนก่อน จากการขยายตัวเร่งขึ้นของหมวดอุตสาหกรรม ยอดค้าปลีก เดือน พ.ค. 60 ขยายตัวร้อยละ 10.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้า จากการขยายตัวเร่งขึ้นของทุกหมวด ยกเว้นหมวดการท่องเที่ยว

Australia: mixed signal

ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรมเดือน เม.ย. 60 อยู่ที่ระดับ 54.8 จุดลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 59.2 จุด ขณะที่ยอดค้าปลีก เดือน เม.ย. 60 ขยายตัวร้อยละ 2.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 2.4 โดยยอดขายหมวดอาหารขยายตัวสูงถึงร้อยละ 5.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อน

Weekly Financial Indicators

ดัชนี SET ค่อนข้างทรงตัวในช่วงต้นสัปดาห์ ก่อนปรับลดลงและเคลื่อนไหวในกรอบแคบในช่วงปลายสัปดาห์ โดย ณ วันที่ 1 มิ.ย. 60 ดัชนีฯ ปิดที่ระดับ 1,563.11 จุด ด้วยมูลค่าซื้อขายเฉลี่ยที่ 39,070.93 ล้านบาทต่อวัน จากแรงซื้อของนักลงทุนสถาบันในประเทศ นักลงทุนบัญชีบริษัทหลักทรัพย์ และนักลงทุนต่างชาติ โดยสอดคล้องกับตลาดหลักทรัพย์หลัก เช่น Dow Jones ที่ปรับตัวไปในทิศทางเดียวกัน หลังตลาดคาดว่า Fed อาจขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมวันที่ 13-14 มิ.ย. นี้ ทั้งนี้ ระหว่างวันที่ 29 พ.ค. - 1 มิ.ย. 60 นักลงทุนต่างชาติซื้อหลักทรัพย์สุทธิ 921.11 ล้านบาท

อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลระยะกลางและระยะยาวลดลง 1-5 bps โดยในสัปดาห์ที่ผ่านมา การประมูลตั๋วเงินคลังอายุ 28 วันมีนักลงทุนสนใจถึง 1.69 เท่าของวงเงินประมูล นอกจากนี้ นักลงทุนยังให้ความสนใจกับการประมูลพันธบัตร ธกส. ในช่วงต้นสัปดาห์อีกด้วย อย่างไรก็ตาม ระหว่างวันที่ 29 พ.ค. - 1 มิ.ย. 60 มีกระแสเงินทุนของนักลงทุนต่างชาติไหลออกจากตลาดพันธบัตรสุทธิ 484.44 ล้านบาท หลังจากที่ไหลเข้ามามากในช่วงก่อนหน้านี้

ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา เงินบาทแข็งค่าขึ้น โดย ณ วันที่ 1 มิ.ย. 60 เงินบาทปิดที่ 34.12 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าขึ้นต่อเนื่องที่ร้อยละ 0.36 จากสัปดาห์ก่อน สอดคล้องกับเงินสกุลหลัก ได้แก่ เงินเยน ยูโร วอน และหยวน ในขณะที่เงินริงกิตและดอลลาร์สิงคโปร์อ่อนค่าลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับสัปดาห์ก่อนหน้า ส่งผลให้ดัชนีค่าเงินบาท (NEER) แข็งค่าขึ้นร้อยละ 0.15

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3253 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ