รายงานภาวะเศรษฐกิจรายสัปดาห์ระหว่างวันที่ 3 - 7 กรกฎาคม 2560

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday July 13, 2017 14:08 —กระทรวงการคลัง

Executive Summary

Indicators this week
  • อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือน มิ.ย. 60 อยู่ที่ร้อยละ -0.05
  • สินเชื่อในสถาบันการเงินเดือน พ.ค. 60 มียอดคงค้าง 16.8 ล้านล้านบาท คิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 3.3
  • เงินฝากในสถาบันการเงินเดือน พ.ค. 60 มียอดคงค้าง 18.2 ล้านล้านบาท คิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 3.8
  • ดุลบัญชีเดินสะพัด เดือน พ.ค. 60 เกินดุล 1,129.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
  • ปริมาณรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ในเดือน มิ.ย. 60 มีจำนวน 195,108 คัน คิดเป็นการหดตัวร้อยละ -2.6
  • ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยโดยรวมใน เดือน มิ.ย. 60 อยู่ที่ระดับ 63.4
  • ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างในเดือน มิ.ย. 60 เท่ากับ 103.5 หดตัวร้อยละ -0.7
  • หนีสาธารณะคงค้าง ณ สินเดือน พ.ค. 60 มีจำนวนทั้งสิ้น 6,347.8 พันล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 42.9 ของ GDP
  • มูลค่าการส่งออกของสหรัฐฯ เดือน พ.ค. 60 อยู่ที่ 128.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือขยายตัวร้อยละ 7.1
  • ดัชนี PMI ภาคอุตสาหกรรมของญี่ปุ่นเดือน มิ.ย. 60 อยู่ที่ระดับ 52.4 จุด
  • อัตราการว่างงานของสหภาพยุโรป เดือน พ.ค. 60 อยู่ที่ร้อยละ 9.3 ต่อกำลังแรงงานรวม
  • การส่งออกของเกาหลีใต้เดือน มิ.ย. 60 ขยายตัวร้อยละ 13.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
Economic Indicators: This Week

อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือน มิ.ย. 60 อยู่ที่ร้อยละ -0.05 เป็นการติดลบต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 โดยมีสาเหตุหลักมาจากราคาสินค้าประเภทผักและผลไม้ที่มีการหดตัวถึงร้อยละ -6.37 จากปัจจัยฐานสูงในช่วงเดียวกันของปีก่อน จากภาวะภัยแล้ง นอกจากนี้ ราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศมีการขยายตัวชะลอลงอย่างมากเมื่อเทียบกับช่วงต้นปี โดยในเดือน มิ.ย. 60 สินค้าหมวดยานพาหนะและน้ำมันเชื้อเพลิง ขยายตัวเพียงร้อยละ 0.28 เทียบกับไตรมาสแรกที่ขยายตัวมากถึงร้อยละ 7.8 จึงเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้อัตราเงินเฟ้อมีค่าติดลบในเดือนนี้

สินเชื่อในสถาบันการเงินเดือน พ.ค. 60 มียอดคงค้าง 16.8 ล้านล้านบาท คิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 3.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หรือขยายตัวร้อยละ 0.3 จากเดือนก่อนหน้า (หลังขจัดผลทางฤดูกาล) โดยสินเชื่อจากธนาคารพาณิชย์ขยายตัวชะลอลง ขณะที่สินเชื่อสถาบันการเงินเฉพาะกิจขยายตัวเร่งขึ้น และเมื่อแยกประเภทการขอสินเชื่อ พบว่าสินเชื่อเพื่อธุรกิจขยายตัวที่ร้อยละ 3.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้า ขณะที่ด้านสินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภคขยายตัวเร่งขึ้นที่ร้อยละ 3.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน

เงินฝากในสถาบันการเงินเดือน พ.ค. 60 มียอดคงค้าง 18.2 ล้านล้านบาท คิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 3.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึนจากเดือนก่อนหน้า หรือหากขจัดผลทางฤดูกาลแล้วจะคิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 0.6 จากเดือนก่อนหน้า โดยเงินฝากในธนาคารพาณิชย์ขยายตัวเร่งขึ้นร้อยละ 2.1 และสถาบันการเงินเฉพาะกิจขยายตัวเร่งขึ้นที่ร้อยละ 5.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อน

ดุลบัญชีเดินสะพัด เดือน พ.ค. 60 เกินดุล 1,129.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงจากเดือนก่อนที่เกินดุล 2,906.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยเป็นผลมาจากดุลการค้าที่เกินดุล 2,231 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนจากมูลค่าการส่งออกและนำเข้า (ตามระบบ BOP) ที่ขยายตัวเร่งขึ้นจากเดือนก่อน ขณะที่ดุลบริการ รายได้ และเงินโอน ขาดดุล - 1,101.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้ ในช่วง 5 เดือนแรกปี 60 ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 19,239 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

Economic Indicators: This Week

ปริมาณรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ในเดือน มิ.ย. 60 มีจำนวน 195,108 คัน คิดเป็นการหดตัวร้อยละ -2.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน จากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 15.4 โดยเป็นผลจากยอดจดทะเบียนในเขต กทม. ขยายตัวที่ร้อยละ 0.5 และในเขตภูมิภาคที่หดตัวร้อยละ -3.5 ตามราคาสินค้าเกษตรที่ลดลง ทั้งนี้ในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปี 60 รถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ ขยายตัวได้ที่ร้อยละ 8.3

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยโดยรวมในเดือน มิ.ย. 60 อยู่ที่ระดับ 63.4 ลดลงจากระดับ 64.3 ในเดือนก่อน ปรับตัวลดลงเป็นเดือนที่สอง เนื่องจาก ความกังวลปัญหาค่าครองชีพและราคาสินค้าที่ยังอยู่ในระดับสูง ประกอบกับราคาพืชผลทางการเกษตรโดยเฉพาะ ยางพารา และมันสำปะหลัง ที่ยังทรงตัวในระดับต่ำ ทั้งนี้ ความเชื่อมั่นในไตรมาสมาสที่ 2 อยู่ที่ระดับ 64.4

ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างในเดือน มิ.ย. 60 เท่ากับ 103.5 หดตัวร้อยละ -0.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน โดยมีสาเหตุสำคัญจากการลดลงของดัชนีราคาหมวดซีเมนต์ ลดลงร้อยละ -5.5 ทั้งนี้ ในไตรมาส 2 ของปี 60 ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างหดตัวร้อยละ -1.0 ต่อปี และ 6 เดือนแรกของปี 60 ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างขยายตัวร้อยละ 0.5 ต่อปี

หนีสาธารณะคงค้าง ณ สิ้นเดือน พ.ค. 60 มีจำนวนทั้งสิ้น 6,347.8 พันล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 42.9 ของ GDP และเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนก่อนหน้า พบว่า หนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นสุทธิ 79.9 พันล้านบาท ทั้งนี้ สถานะหนี้สาธารณะของไทยถือว่ามีความมั่นคง สะท้อนได้จากสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ยังอยู่ในระดับต่ำกว่ากรอบความยั่งยืนทางการคลังที่ตั้งไว้ไม่เกินร้อยละ 60 ของ GDP และหนี้สาธารณะส่วนใหญ่เป็นหนี้ระยะยาวโดยแบ่งตามอายุของเครื่องมือการกู้เงิน (คิดเป็นร้อยละ 95.8 ของยอดหนี้สาธารณะ) และเป็นหนี้ในประเทศ (คิดเป็นร้อยละ 95.0 ของยอดหนี้สาธารณะ)

Global Economic Indicators: This Week

US: mixed signal

มูลค่าการส่งออก เดือน พ.ค. 60 อยู่ที่ 128.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือขยายตัวร้อยละ 7.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งตัวจากเดือนก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 7.1 ขณะที่มูลค่าการนำเข้า อยู่ที่ 202.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 9.1 เร่งตัวจากเดือนก่อน ส่งผลให้ดุลการค้าขาดดุล 46.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่ดัชนีผู้จัดการฝ่ายซื้อ (PMI) ภาคอุตสาหกรรม เดือน มิ.ย. 60 อยู่ที่ระดับ 57.8 จุด เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า จากดัชนีหมวดคำสั่งซื้อใหม่ หมวดการผลิต และหมวดการจ้างงานที่ปรับเพิ่มขึ้นมาก และ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายซื้อ (PMI) ภาคบริการ เดือน มิ.ย. 60 อยู่ที่ระดับ 57.4 จุด เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า จากดัชนีหมวดคำสั่งซื้อใหม่และหมวดการผลิตที่ปรับเพิ่มขึ้นมาก

Japan: mixed signal

ดัชนี PMI ภาคอุตสาหกรรมเดือน มิ.ย. 60 อยู่ที่ระดับ 52.4 จุด ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 53.1 จุด ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคบริการ เดือน มิ.ย. 60 อยู่ที่ระดับ 53.3 จุด เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 53.0 จุด

Eurozone: mixed signal

อัตราการว่างงาน เดือน พ.ค. 60 อยู่ที่ร้อยละ 9.3 ต่อกำลังแรงงานรวม ทรงตัวจากเดือนก่อนหน้า ขณะที่อัตราเงินเฟ้อ เดือน มิ.ย. 60 อยู่ที่ร้อยละ 1.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ปรับตัวลงเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ร้อยละ 1.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ยอดค้าปลีก เดือน พ.ค. 60 ขยายตัวร้อยละ 2.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ทรงตัวจากเดือนก่อนหน้าด้านดัชนี PMI ภาคอุตสาหกรรมเดือน มิ.ย. 60 อยู่ที่ระดับ 57.4 จุด เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 57.0 จุด ขณะที่ดัชนี PMI ภาคบริการ เดือน มิ.ย. 60 อยู่ที่ระดับ 55.4 จุด ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 56.3 จุด ด้านดัชนี PMI รวม เดือน มิ.ย. 60 อยู่ที่ระดับ 56.3 จุด ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 56.8 จุด

UK: worsening economic trend

ดัชนี PMI ภาคอุตสาหกรรมเดือน มิ.ย. 60 อยู่ที่ระดับ 54.3 จุด ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 56.7 จุด ดัชนี PMI ภาคบริการ เดือน มิ.ย. 60 อยู่ที่ระดับ 53.4 จุด ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 53.8 จุด และดัชนี PMI ภาคก่อสร้าง เดือน มิ.ย. 60 อยู่ที่ระดับ 54.8 จุด ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 56.0 จุด

Australia: mixed signal

เมื่อวันที่ 4 ก.ค. 60 ธนาคารกลางออสเตรเลียคงอัตราดอกเบียนโยบายไว้ที่ร้อยละ 1.5 ต่อปี

South Korea: mixed signal

การส่งออกเดือน มิ.ย. 60 ขยายตัวร้อยละ 13.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 13.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน การนำเข้าเดือน มิ.ย. 60 ขยายตัวร้อยละ 18.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 19.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อน และในเดือน มิ.ย. 60 เกินดุลการค้าที่ 1.1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ด้านอัตราเงินเฟ้อ เดือน มิ.ย. 60 อยู่ที่ร้อยละ 1.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ลดลงเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ร้อยละ 2.0

Taiwan: improving economic trend

ดัชนี PMI ภาคอุตสาหกรรมเดือน มิ.ย. 60 อยู่ที่ระดับ 53.3 จุด เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 53.1 จุดด้านอัตราเงินเฟ้อ เดือน มิ.ย. 60 อยู่ที่ร้อยละ 1.0 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ร้อยละ 0.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อน

Singapore: improving economic trend

ดัชนี PMI ภาคอุตสาหกรรมเดือน มิ.ย. 60 อยู่ที่ระดับ 50.9 จุด เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า จากดัชนีหมวดคำสั่งซื้อใหม่ หมวดสินค้าคงคลัง และหมวดการผลิตที่ปรับเพิ่มขึ้นมาก

Vietnam: improving economic trend

ดัชนี PMI ภาคอุตสาหกรรมเดือน มิ.ย. 60 อยู่ที่ระดับ 52.5 จุด เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 51.6 จุด

Indonesia: mixed signal

ดัชนี PMI ภาคอุตสาหกรรมเดือน มิ.ย. 60 อยู่ที่ระดับ 49.5 จุด ปรับตัวลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 50.6 จุด อัตราเงินเฟ้อ เดือน มิ.ย. 60 ขยายตัวร้อยละ 4.37 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งตัวขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 4.33 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน

Malaysia: worsening economic trend

ดัชนี PMI ภาคอุตสาหกรรมเดือน มิ.ย. 60 อยู่ที่ระดับ 46.9 จุด ปรับตัวลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 48.7 จุด

Philippines: worsening economic trend

อัตราเงินเฟ้อ เดือน มิ.ย. 60 ขยายตัวร้อยละ 2.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 3.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน

India: mixed signal

ดัชนี PMI ภาคอุตสาหกรรมเดือน มิ.ย. 60 อยู่ที่ระดับ 50.9 จุด ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 51.6 จุด ขณะที่ดัชนี PMI ภาคบริการ เดือน มิ.ย. 60 อยู่ที่ระดับ 53.1 จุด เพิ่มขึ้นจากเดือนกือนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 52.2 จุด

Weekly Financial Indicators

ดัชนี SET ปรับตัวลดลงในสัปดาห์ที่ผ่านมาโดย ณ วันที่ 6 ก.ค. 60 ดัชนีฯ ปิดที่ระดับ 1,569.64 จุด ด้วยมูลค่าซื้อขายเฉลี่ยที่ 36,185.52 ล้านบาทต่อวัน จากแรงขายของนักลงทุนสถาบันในประเทศและนักลงทุนบัญชีบริษัทหลักทรัพย์ ทั้งนี้ ระหว่างวันที่ 3 ก.ค. - 6 ก.ค. 60 นักลงทุนต่างชาติซื้อหลักทรัพย์สุทธิ 2,203.59 ล้านบาท

อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลปรับลดลงในเกือบทุกช่วงอายุ ซึ่งในสัปดาห์นี้มีการประมูลตั๋วเงินคลังอายุ 91 วัน และพันธบัตรรัฐบาลอายุ 50 ปี ที่มีนักลงทุนสนใจถึง 2.29 เท่า และ 1.14 เท่าของวงเงินประมูล ตามลำดับ ทั้งนี้ระหว่างวันที่ 3 ก.ค. - 6 ก.ค. 60 มีกระแสเงินทุนของนักลงทุนต่างชาติไหลออกตลาดพันธบัตรสุทธิ 2.9 พันล้านบาท

ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาเงินบาทอ่อนค่าลง โดย ณ วันที่ 6 ก.ค. 60 เงินบาทปิดที่ 34.06 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าลงร้อยละ 0.30 จากสัปดาห์ก่อน สอดคล้องกับเงินสกุลหลัก ได้แก่ เงินเยน ยูโร ริงกิต วอน ดอลลาร์สิงคโปร์ และหยวน นอกจากนี้ ดัชนีค่าเงินบาท (NEER) อ่อนค่าลงร้อยละ 0.01

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3253 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ