รายงานภาวะเศรษฐกิจรายสัปดาห์ระหว่างวันที่ 20 - 24 พฤศจิกายน 2560

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday November 29, 2017 14:05 —กระทรวงการคลัง

Executive Summary

Indicators this week
  • เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 3 ปี 60 ขยายตัวที่ร้อยละ 4.3 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน
  • นักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เดินทางเข้าประเทศไทยในเดือนต.ค. 60 มีจำนวน 2.72 ล้านคน ขยายตัวร้อยละ 20.9
  • มูลค่าการส่งออกในเดือน ต.ค. 60 มีมูลค่า 20,083.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 13.1 ขณะที่มูลค่าการนำเข้ามีมูลค่า 19,868.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวที่ร้อยละ 13.5
  • ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรกรรมในเดือน ต.ค. 60 หดตัวร้อยละ 1.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
  • การเบิกจ่ายงบประมาณรวมในเดือน ต.ค. 60 ปี งปม. 60 เบิกจ่ายได้ 428.4 พันล้านบาท ลดลงร้อยละ -1.6 ต่อปี
  • รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ (หลังหักจัดสรรให้ อปท.) ในเดือนต.ค. 60 ได้จำนวน 192.4 พันล้านบาท ลดลงร้อยละ -6.6 ต่อปี
  • ฐานะการคลังของรัฐบาลตามระบบกระแสเงินสดในเดือน ต.ค. 60 ซึ่งเป็นเดือนแรกของปีงบประมาณ 61 พบว่า ดุลเงินงบประมาณขาดดุลจำนวน -244.6 พันล้านบาท
  • GDP ไตรมาสที่ 3 ปี 60 ของสหราชอาณาจักร (ตัวเลขคาดการณ์) ขยายตัวร้อยละ 1.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • GDP ไตรมาสที่ 3 ปี 60 ของสิงคโปร์ ขยายตัวร้อยละ 5.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • อัตราการว่างงานเดือน ต.ค. 60 ของสหภาพยุโรป อยู่ที่ร้อยละ 8.9 ต่อกำลังแรงงานรวม
  • การส่งออกของญี่ปุ่น ขยายตัวร้อยละ 14 ต่อปี
Economic Indicators: This Week

นักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เดินทางเข้าประเทศไทยในเดือน ต.ค. 60 มีจำนวน 2.72 ล้านคน ขยายตัวร้อยละ 20.9 ต่อปี และขยายตัวร้อยละ 1.9 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังหักผลทางฤดูกาลส่งผลทำให้มีรายได้จากการท่องเที่ยวต่างประเทศจำนวน 1.43 แสนล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 24.4 ต่อปี โดยนักท่องเที่ยวที่ขยายตัวได้ดีมาจาก จีน กัมพูชา เกาหลี และอินเดีย เป็นหลัก ทั้งนี้ ในช่วง 10 เดือนแรกของปี 60 มีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศทั้งสิ้น 28.82 ล้านคน ขยายตัวร้อยละ 6.7 ต่อปีสร้างรายได้ให้กับการท่องเที่ยวต่างประเทศทั้งสิ้น 1.47 ล้านล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 9.3 ต่อปี

ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม (TISI) ในเดือน ต.ค. 60 อยู่ที่ระดับ 85.9 ปรับตัวลดลงจากระดับ 86.7 ในเดือนก่อนหน้า ทั้งนี้ ค่าดัชนีฯที่ลดลงได้รับปัจจัยทั้งจากยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ สะท้อนจากการปรับลดลงของดัชนียอดคำสั่งซื้อและยอดขายภายในประเทศจากผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม ประกอบกับที่ฝนตกต่อเนื่องส่งผลให้หลายพื้นที่น้ำท่วม อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการเห็นว่าหากสถานการณ์ดังกล่าวคลี่คลายสู่ภาวะปกติ การบริโภคและการใช้จ่ายภายในประเทศจะกลับมาขยายตัวได้

ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์นั่งในเดือน ต.ค. 60 มีจำนวน 28,739 คัน คิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 24.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน หรือคิดเป็นการหดตัวร้อยละ 0.8 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า หลังขจัดผลทางฤดูกาล ซึ่งถือเป็นการขยายตัวต่อเนื่องติดต่อกันเป็นเดือนที่10 ตั้งแต่ต้นปี เป็นผลมาจากจากการแนะนำรถยนต์รุ่นใหม่ และเศรษฐกิจภาพรวมที่ปรับตัวดีขึ้น ทั้งนี้ ในช่วง 10 เดือนแรกของปี 60 ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์นั่งขยายตัวที่ร้อยละ 20.4 ต่อปี

ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ในเดือน ต.ค. 60 มีจำนวน 39,812 คัน คิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 6.1 ต่อปี และหดตัวที่ร้อยละ -18.3 ต่อเดือนหลังขจัดผลทางฤดูกาล ตามยอดจำหน่ายรถกระบะ 1 ตัน ที่ขยายตัวร้อยละ 22.9 ต่อปี และหดตัวร้อยละ -15.0 ต่อเดือนหลังขจัดผลทางฤดูกาล ทำให้ 10 เดือนแรกของปี 60 การจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ขยายตัวร้อยละ 6.6 ต่อปี

Economic Indicators: This Week

มูลค่าการส่งออกในเดือน ต.ค. 60 มีมูลค่า 20,083.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 8 ที่ร้อยละ 13.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน จากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 12.2 จากการขยายตัวดีเกือบทุกหมวดสินค้าหลัก โดยเฉพาะหมวดสินค้าอุตสาหกรรมที่ขยายตัวในระดับสูงที่ร้อยละ 13.8 ตามการขยายตัวดีของสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า และ ยานยนต์เป็นสำคัญ รวมถึงหมวดสินค้าเชื้อเพลิงที่ขยายตัวในระดับสูงเช่นกันที่ร้อยละ 40.1 นอกจากนี้ หมวดสินค้าเกษตรกรรมขยายตัวดีเช่นกันที่ร้อยละ 9.2 ตามการขยายตัวของยางพาราและมันสำปะหลังเป็นสำคัญ ขณะที่สินค้าอุตสาหกรรมเกษตรหดตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ -0.7 ส่งผลให้มูลค่าการส่งออกสินค้าในช่วง 10 เดือนแรกของปี 60 ขยายตัวร้อยละ 9.7

มูลค่าการนำเข้าในเดือน ต.ค. 60 มีมูลค่า 19,868.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวที่ร้อยละ 13.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 9.7 จากการขยายตัวเกือบทุกหมวดสินค้าหลัก โดยเฉพาะหมวดสินค้าเชื้อเพลิงที่กลับมาขยายตัวอีกครั้งในระดับสูงที่ร้อยละ 47.7 รวมถึงหมวดสินค้าวัตถุดิบที่ขยายตัวดีเช่นกันที่ร้อยละ 10.3 นอกจากนี้ หมวดสินค้าทุน สินค้าอุปโภคบริโภคก็สามารถขยายตัวได้เช่นกันที่ร้อยละ 6.1 และ 8.6 ตามลำดับ ขณะที่หมวดสินค้ายานยนต์กลับมาหดตัวอีกครั้งที่ร้อยละ -1.0 ส่งผลให้มูลค่าการนำเข้าสินค้าในช่วง 10 เดือนแรกของปี 60 ขยายตัวร้อยละ 14.6 ซึ่งจากการที่มูลค่าการนำเข้าสินค้าต่ำกว่ามูลค่าการส่งออกสินค้า ทำให้ดุลการค้าในเดือน ต.ค. 60 เกินดุล 0.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 3 ปี 60 ขยายตัวที่ร้อยละ 4.3 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 3.8 หรือคิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 1.0 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า หลังขจัดผลทางฤดูกาล โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนหลักจากการผลิตสาขาอุตสาหกรรมเพื่อการส่งออกที่ปรับตัวดีขึ้นตามการเพิ่มขึ้นของอุปสงค์ในตลาดโลก รวมทั้งการขยายตัวในเกณฑ์ดีของภาคบริการและการขยายตัวของภาคเกษตรที่ยังอยู่ในเกณฑ์สูง โดยเศรษฐกิจไทยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากสาขาเกษตรกรรมที่ขยายตัวในเกณฑ์สูงร้อยละ 9.9 เนื่องจากผลผลิตในหมวดพืชสำคัญ ปศุสัตว์ และการประมงขยายตัวได้ดี ส่วนการผลิตภาคนอกเกษตรขยายตัวดีขึ้นร้อยละ 3.8 ตามการขยายตัวของสาขาการผลิตอุตสาหกรรม สาขาการไฟฟ้า ก๊าซและการประปา และสาขาการขายส่งขายปลีก ในขณะที่สาขาบริการสำคัญๆ ยังขยายตัวเกณฑ์ดี แต่ชะลอตัวลงเล็กน้อย เช่น สาขาโรงแรมและภัตตาคาร สาขาการขนส่งและคมนาคม สาขาตัวกลางทางการเงิน ส่วนหนึ่งมาเป็นผลจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่ชะลอลง

Economic Indicators: This Week

ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรกรรมในเดือน ต.ค. 60 หดตัวร้อยละ -1.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน หรือคิดเป็นการหดตัวร้อยละ -1.1 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า หลังขจัดผลทางฤดูกาล หากพิจารณารายหมวดผลผลิตสินค้าเกษตรพบว่าหมวดประมงและหมวดปศุสัตว์ขยายตัวร้อยละ 5.3 และร้อยละ 5.1 ตามลำดับ ขณะที่หมวดพืชผลสำคัญหดตัวร้อยละ -4.1 โดยสินค้าสำคัญที่ผลผลิตหดตัว ได้แก่ ข้าวเปลือกเจ้า มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน และลองกอง ขณะที่สินค้าสำคัญที่ผลผลิตเพิ่มขึ้น ได้แก่ ยางพารา สับปะรด ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ สุกร ไก่เนื้อ ไข่ไก่ และกุ้งขาวแวนนาไม

ดัชนีราคาสินค้าเกษตรในเดือน ต.ค. 60 หดตัวร้อยละ -2.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน หดตัวชะลอลงจากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -6.1 หรือคิดเป็นการหดตัวร้อยละ -4.8 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล โดยเป็นการหดตัวของราคาในหมวดปศุสัตว์ ร้อยละ -9.0 และหมวดพืชผลสำคัญร้อยละ -0.9 ในขณะที่ราคาในหมวดประมงขยายตัวร้อยละ 1.2 โดยสินค้าที่ราคาปรับตัวลดลง ได้แก่ ราคาสุกรจากภาวะฝนตกและน้ำท่วมในหลายพื้นที่ ส่งผลให้ความต้องการบริโภคชะลอตัวลง ราคาปาล์มน้ำมันจากภาวะการค้ายังชะลอตัวและสต็อกน้ำมันอยู่ในเกณฑ์สูง และราคายางพาราจากผลผลิตที่ออกสู่ตลาดมากขึ้นและภาวะการค้ายังชะลอตัวต่อเนื่อง ส่วนสินค้าที่ราคาปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ มันสำปะหลัง ไก่เนื้อ และกุ้งขาวแวนนาไม

ภาษีจากการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ในเดือน ต.ค. 60 ขยายตัวร้อยละ 3.3 ต่อปี แต่หดตัวร้อยละ -6.7 ต่อเดือนหลังปรับผลทางฤดูกาล ทั้งนี้ 10 เดือนแรกของปี 60 ภาษีจากการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์หดตัวร้อยละ -2.0 ต่อปี

ภาษีมูลค่าเพิ่มที่รัฐบาลจัดเก็บได้ในเดือน ต.ค. 60 มีมูลค่า 63,712 ล้านบาท คิดเป็นการขยายตัว ณ ระดับราคาที่แท้จริงที่ร้อยละ 7.6 ต่อปี หรือคิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 2.1 ต่อเดือน หลังขจัดผลทางฤดูกาล โดยแบ่งเป็นมูลค่าการจัดเก็บภาษีจากการใช้จ่ายภายในประเทศ ขยายตัวที่ร้อยละ 6.5 ต่อปี ซึ่งเป็นผลมาจากเศรษฐกิจภายในประเทศที่ฟื้นตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ภาษีมูลค่าเพิ่มที่จัดเก็บจากการนำเข้าขยายตัวที่ร้อยละ 9.3 ต่อปี สอดคล้องกับการนำเข้าที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นเช่นกัน ทั้งนี้ ภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ระดับราคาที่แท้จริงในช่วง 10 เดือนแรกของปี 60 ขยายตัวร้อยละ 3.8 ต่อปี

Economic Indicators: This Week

การเบิกจ่ายงบประมาณรวมในเดือน ต.ค. 60 ปี งปม. 60 เบิกจ่ายได้ 428.4 พันล้านบาท ลดลงร้อยละ -1.6 ต่อปีโดยการเบิกจ่ายงบประมาณประจำปีปัจจุบันเบิกจ่ายได้ 413.9 พันล้านบาท ลดลงร้อยละ -2.0 ต่อปี แบ่งออกเป็น (1) รายจ่ายประจำ 381.7 พันล้านบาท ลดลงร้อยละ -3.3 ต่อปี และ (2) รายจ่ายลงทุน 32.2 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 17.0 ต่อปี ทั้งนี้ การเบิกจ่ายงบประมาณที่สำคัญ ได้แก่ รายจ่ายอื่นของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร 60,121 ล้านบาท เงินอุดหนุนของกระทรวงศึกษาธิการ 43,894 ล้านบาท และเงินอุดหนุนสำนักงานประกันสังคม 42,095 ล้านบาท

รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ (หลังหักจัดสรรให้ อปท.) ในเดือน ต.ค. 60 ได้จำนวน 192.4 พันล้านบาท ลดลงร้อยละ -6.6 ต่อปี แต่สูงกว่าประมาณการ 9.2 พันล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 5.0 ของประมาณการเอกสารงบปมทั้งนี้ การจัดเก็บรายได้ที่ลดลงมาจากการจัดเก็บภาษีฐานรายได้ลดลงร้อยละ -4.9 ต่อปี จากการจัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลลดลงร้อยละ -6.9 และภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่ลดลงร้อยละ -2.5 ต่อปี ขณะที่ภาษีฐานการบริโภคเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.8 ต่อปี

ฐานะการคลังของรัฐบาลตามระบบกระแสเงินสดในเดือน ต.ค. 60 ซึ่งเป็นเดือนแรกของปีงบประมาณ 61 พบว่า ดุลเงินงบประมาณขาดดุลจำนวน -244.6 พันล้านบาทและเมื่อรวมกับดุลเงินนอกงบประมาณที่ขาดดุล -15.0 พันล้านบาท ส่งผลให้ดุลเงินสดก่อนกู้ขาดดุล -259.5 พันล้านบาท และเงินคงคลัง ณ สิ้นเดือน ต.ค. 60 อยู่ที่ระดับ 304.8 พันล้านบาท

Global Economic Indicators: This Week

Eurozone: improving economic trend

อัตราการว่างงานเดือน ต.ค. 60 อยู่ที่ร้อยละ 8.9 ต่อกำลังแรงงานรวม ลดลงเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ร้อยละ 9.0 ต่อกำลังแรงงานรวม GDP ไตรมาสที่ 3 ปี 60 ขยายตัวร้อยละ 2.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หรือขยายตัวร้อยละ 0.6 จากไตรมาสก่อนหน้า (หลังขจัดผลทางฤดูกาล) ซึ่งเร่งขึ้นจากอัตราการขยายตัวในไตรมาสที่ 2 ปี 60 ที่ขยายตัวร้อยละ 2.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หรือขยายตัวร้อยละ 0.7 จากไตรมาสก่อนหน้า (หลังขจัดผลทางฤดูกาล) ดัชนี PMI ภาคอุตสาหกรรมเดือน พ.ย. 60 (ตัวเลขเบื้องต้น) อยู่ที่ระดับ 60.8 จุด เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 58.6 จุด ดัชนี PMI ภาคบริการเดือน พ.ย. 60 (ตัวเลขเบื้องต้น) อยู่ที่ระดับ 56.2 จุด เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 54.9 จุด ด้านดัชนี PMI รวม เดือน พ.ย. 60 (ตัวเลขเบื้องต้น) อยู่ที่ระดับ 57.5 จุด เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 55.9 จุด

Japan: mixed signal

การส่งออกขยายตัวร้อยละ 14 จากช่วงเดียวกันปีก่อนชะลอลงเล็กน้อยจากร้อยละ 14.1 เดือนก่อนหน้า ในขณะที่การนำเข้าขยายตัวร้อยละ 18.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นจากร้อยละ 12.1 เดือนก่อนหน้า ส่งผลให้ได้ดุลการค้า 285 พันล้านเยน ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ(PMI) (ตัวเลขเบื้องต้น) ภาคอุตสาหกรรมเดือน พ.ย. 60 อยู่ที่ระดับ 53.8 จุด เพิ่มขึ้นจากระดับที่ 52.8 จุดในเดือน ต.ค. 60

UK: worsening economic trend

GDP ไตรมาสที่ 3 ปี 60 (ตัวเลขคาดการณ์) ขยายตัวร้อยละ 1.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หรือขยายตัวร้อยละ 0.4 จากไตรมาสก่อนหน้า (หลังขจัดผลทางฤดูกาล) ซึ่งชะลอลงจากอัตราการขยายตัวในไตรมาสที่ 2 ปี 60 ที่ขยายตัวร้อยละ 1.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หรือขยายตัวร้อยละ 0.3 จากไตรมาสก่อนหน้า (หลังขจัดผลทางฤดูกาล)

US: improving economic trend

ยอดขายบ้านมือสอง เดือน ต.ค. 60 ขยายตัวร้อยละ 2.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -4.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน

Malaysia: worsening economic trend

อัตราเงินเฟ้อ เดือน ต.ค. 60 อยู่ที่ร้อยละ 3.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ลดลงจากเดือนก่อนที่อยู่ที่ร้อยละ 4.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน

Singapore: improving economic trend

GDP ไตรมาสที่ 3 ปี 60 ขยายตัวร้อยละ 5.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หรือขยายตัวร้อยละ 2.1 จากไตรมาสก่อนหน้า (หลังขจัดผลทางฤดูกาล) เร่งขึ้นจากอัตราการขยายตัวในไตรมาสที่ 2 ปี 60 ที่ขยายตัวร้อยละ 2.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หรือขยายตัวร้อยละ 0.5 จากไตรมาสก่อนหน้า (หลังขจัดผลทางฤดูกาล) อัตราเงินเฟ้อ เดือน ต.ค. 60 อยู่ที่ร้อยละ 0.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ทรงตัวจากเดือนก่อน

Hong Kong: mixed signal

อัตราเงินเฟ้อ เดือน ต.ค. 60 อยู่ที่ร้อยละ 1.5 เร่งขึ้นจากร้อยละ 1.4 ในเดือนก่อนหน้า

Taiwan อัตราการว่างงาน เดือน ต.ค. อยู่ที่ร้อยละ 3.69 ต่อกำลังแรงงานรวม ลดลงเล็กน้อยจากร้อยละ 3.71 ในเดือนก่อนหน้า ยอดค้าปลีก เดือน ต.ค. 60 ขยายตัวร้อยละ 2.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากร้อยละ 4.4 ในเดือนก่อนหน้า

Weekly Financial Indicators

ดัชนี SET ปรับตัวเพิ่มขึ้นในช่วงต้นสัปดาห์และปรับตัวลดลงในปลายสัปดาห์ สวนทางกับดัชนี MSCI AC Asia Pacific Index ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ดัชนี SET ณ วันที่ 23 พ.ย. 60 ปิดที่ระดับ 1707.38 จุด ด้วยมูลค่าซื้อขายเฉลี่ยวันที่ 20 พ.ย. - 23 พ.ย. 60 ที่ 52,599 ล้านบาทต่อวัน ทั้งนี้ ระหว่างวันที่ 20 - 23 พ.ย. 60 นักลงทุนต่างชาติซื้อหลักทรัพย์สุทธิ 251 ล้านบาท

อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลทุกช่วงอายโดยปรับเพิ่มขึ้นในช่วง 1-8 bps ยกเว้นพันธบัตรรัฐบาลระยะสันอายุ 3 เดือน ใน ระหว่างวันที่ 20 - 23 พ.ย. 60 มีกระแสเงินทุนของนักลงทุนต่างชาติไหลเข้าตลาดพันธบัตรสุทธิ 32,727.15 ล้านบาท

ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาเงินบาทแข็งค่าขึ้นร้อยละ 0.31 โดย ณ วันที่ 23 พ.ย. 60 เงินบาทปิดที่ 32.72 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ สอดคล้องกับเงินสกุลหลักอื่น ๆ ยกเว้นเงินวอนที่แข็งค่าขึ้น อย่างไรก็ตาม โดยรวมแล้วในสัปดาห์ที่ผ่านมา เงินบาทแข็งค่าขึ้นมากกว่าเงินสกุลเยน หยวน วอน และอ่อนตัวมากกว่าเงินสกุลยูโร ริงกิต ดอลลาร์สิงคโปร์ ส่งผลให้ดัชนีค่าเงินบาท (NEER) แข็งค่าขึ้นร้อยละ 0.07

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3253 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ