รายงานภาวะเศรษฐกิจรายสัปดาห์ระหว่างวันที่ 3 - 12 มกราคม 2561

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday January 16, 2018 14:26 —กระทรวงการคลัง

Executive Summary

Indicators this week
  • อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือน ธ.ค. 60 อยู่ที่ร้อยละ 0.78
  • สินเชื่อในสถาบันการเงินเดือน พ.ย. 60 ขยายตัวร้อยละ 3.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • เงินฝากในสถาบันการเงินเดือน พ.ย. 60 ขยายตัวร้อยละ 4.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • ดุลบัญชีเดินสะพัดเดือน พ.ย. 60 เกินดุล 5,285 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
  • ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยโดยรวมในเดือน ธ.ค. 60 อยู่ที่ระดับ 66.2
  • ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างในเดือน ธ.ค. 60 เท่ากับ 106.7 ขยายตัวร้อยละ 3.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน
  • ระดับสินทรัพย์สภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์ในเดือนพ.ย. 60 คิดเป็น 1.81 เท่าของสินทรัพย์สภาพคล่องที่ต้องดำรงตามกฎหมาย
  • หนี้สาธารณะคงค้าง ณ สินเดือน พ.ย. 60 มีจำนวนทั้งสิ้น 6,325.5 พันล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 41.7 ของ GDP
  • อัตราการว่างงานในเดือน ธ.ค. 60 อยู่ที่ร้อยละ 1.0 ของกำลังแรงงานทั้งหมด หรือคิดเป็นจำนวนผู้ว่างงาน 3.6 แสนคน
  • ปริมาณรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ในเดือน ธ.ค. 60 ขยายตัว ร้อยละ 1.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน
  • มูลค่าส่งออกของสหรัฐฯ เดือน พ.ย. 60 ขยายตัวร้อยละ 10.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • อัตราเงินเฟ้อของจีน เดือน ธ.ค. 60 อยู่ที่ร้อยละ 1.80 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคของยูโรโซน เดือน ธ.ค. 60 อยู่ที่ระดับ 0.5 จุด
Economic Indicators: This Week

อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือน ธ.ค. 60 อยู่ที่ร้อยละ 0.78 ลดลงจากเดือนก่อนหน้า โดยมีสาเหตุสำคัญมาจากการปรับตัวลดลงของราคาอาหารสด ได้แก่ เนื้อสัตว์ ผักและผลไม้ และไข่และผลิตภัณฑ์นม ขณะที่ราคาสินค้าหมวดอื่น ๆ มีระดับทรงตัวใกล้เคียงกับเดือนก่อนหน้า ทั้งนี้ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปและพื้นฐานของปี 2560 อยู่ที่ร้อยละ 0.7 และ 0.6 ตามลำดับ

สินเชื่อในสถาบันการเงินเดือน พ.ย. 60 มียอดคงค้าง 17.1 ล้านล้านบาท คิดเป็นการขยายตัว ร้อยละ 3.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อนหรือขยายตัวร้อยละ 0.2 จากเดือนก่อนหน้า (หลังขจัดผลทางฤดูกาล) โดยสินเชื่อจากธนาคารพาณิชย์และสินเชื่อสถาบันการเงินเฉพาะกิจขยายตัวเร่งขึ้น และเมื่อแยกประเภทการขอสินเชื่อ พบว่าสินเชื่อเพื่อธุรกิจขยายตัวร้อยละ 2.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้า ขณะที่ด้านสินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภคขยายตัวร้อยละ 3.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ทรงตัวจากเดือนก่อนหน้า

เงินฝากในสถาบันการเงินเดือน พ.ย. 60 มียอดคงค้าง 18.5 ล้านล้านบาท คิดเป็นการขยายตัว ร้อยละ 4.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ขยายตัวจากเดือนก่อนหน้าหรือหากขจัดผลทางฤดูกาลแล้วจะคิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 0.3 จากเดือนก่อนหน้า โดยเงินฝากในธนาคารพาณิชย์ขยายตัวร้อยละ 4.0 และเงินฝากในสถาบันการเงินเฉพาะกิจขยายตัวชะลอลงร้อยละ 6.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อน

ดุลบัญชีเดินสะพัดเดือน พ.ย. 60 เกินดุล 5,285 ล้านดอลลาร์สหรัฐเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนที่เกินดุล 3,535 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยเป็นผลมาจากดุลการค้าที่เกินดุล 3,335 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนจากมูลค่าการส่งออกและนำเข้า (ตามระบบ BOP) ขณะที่ดุลบริการ รายได้ และเงินโอน เกินดุล 1,950 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า จากรายรับจากภาคการท่องเที่ยวที่ขยายตัวดี ทั้งนี้ ในช่วง 11 เดือนแรกปี 60 ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 45,422 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

Economic Indicators: This Week

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยโดยรวมในเดือน ธ.ค. 60 อยู่ที่ระดับ 66.2 ปรับตัวดีขึ้นจากระดับ 65.2 ในเดือนก่อนปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 ติดต่อกันและเป็นระดับที่สูงสุดในรอบ 33 เดือนนับตั้งแต่เดือนเมษายน 2558 เป็นต้นมา การปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 ของดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคโดยรวม จะส่งผลให้ผู้บริโภคเริ่มกลับมามีความมั่นใจในการบริโภคสินค้าและบริการมากขึ้นในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ และเป็นปัจจัยเกื้อหนุนให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ร้อยละ 3.3 ถึง 4.3 ในปี 2561

ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างในเดือน ธ.ค. 60 เท่ากับ 106.7 ขยายตัวร้อยละ 3.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน โดยมีสาเหตุสำคัญจากการเพิ่มขึ้นของดัชนีราคาหมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กที่สูงขึ้นร้อยละ 10.1 ทั้งนี้ ในไตรมาส 4 ปี 60 ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างขยายตัวร้อยละ 3.6 ทำให้ทั้งปี 60 ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างขยายตัวร้อยละ 1.9 ต่อปี

ระดับสินทรัพย์สภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์ในเดือน พ.ย. 60 คิดเป็น 1.81 เท่าของสินทรัพย์สภาพคล่องที่ต้องดำรงตามกฎหมาย โดยยอดคงค้างสินทรัพย์สภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์ทั้งระบบในเดือนดังกล่าวอยู่ที่ 3.8 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก 3.7 ล้านล้านบาทในเดือนก่อนหน้า ทั้งนี้ ธปท. ได้ปรับเกณฑ์ การดำรงสินทรัพย์สภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์จากเกณฑ์เดิมที่ต้องดำรงสินทรัพย์สภาพคล่องไม่ต่ำกว่าร้อยละ 6 ของเงินรับฝากเป็นไม่ต่ำกว่า ร้อยละ 100 (หรือ 1.0 เท่า) ของประมาณการกระแสเงินสดไหลออกสุทธิในสภาวะวิกฤต(Liquidity Coverage Ratio: LCR) ตั้งแต่เดือน ม.ค. 59

หนี้สาธารณะคงค้าง ณ สินเดือน พ.ย. 60 มีจำนวนทั้งสิ้น 6,325.5 พันล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 41.7 ของ GDP และเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนก่อนหน้า พบว่า หนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นสุทธิ 18.6 พันล้านบาท ทั้งนี้ สถานะหนี้สาธารณะของไทยถือว่ามีความมั่นคง สะท้อนได้จากสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ยังอยู่ในระดับต่ำกว่ากรอบความยั่งยืนทางการคลังที่ตั้งไว้ไม่เกินร้อยละ 60 ของ GDP และหนี้สาธารณะส่วนใหญ่เป็นหนี้ระยะยาว โดยแบ่งตามอายุของเครื่องมือการกู้เงิน คิดเป็นร้อยละ 97.9 ของยอดหนี้สาธารณะ และเป็นหนี้ในประเทศ คิดเป็นร้อยละ 95.3 ของยอดหนี้สาธารณะ

Economic Indicators: This Week

การจ้างงานเดือน ธ.ค. 60 อยู่ที่ 37.2 ล้านคน ลดลง 1.7 แสนคน กลับมาหดตัวอีกครังที่ร้อยละ -0.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากการจ้างงานภาคเกษตรกรรมที่มีจำนวนการจ้างงานลดลง 3 แสนคน หรือคิดเป็นการหดตัวร้อยละ -2.4 อย่างไร ก็ตาม การจ้างงานภาคบริการมีจำนวนการจ้างงานเพิ่มขึ้น 1 แสนคน คิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 0.7 และการจ้างงานภาคอุตสาหกรรมมีจำนวนการจ้างงานเพิ่มขึ้นเช่นกัน 2 หมื่นคน คิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 0.2 สำหรับอัตราการว่างงานในเดือน ธ.ค. 60 อยู่ที่ร้อยละ 1.0 ของกำลังแรงงานทั้งหมด หรือคิดเป็นจำนวนผู้ว่างงาน 3.6 แสนคน

ปริมาณรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ในเดือน ธ.ค. 60 มีจำนวน 142,829 คัน คิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 1.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนชะลอลงจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 10.7 ซึ่งเป็นการขยายตัวในเขต กทม. ที่ร้อยละ 13.9 และหดตัวในเขตภูมิภาคที่ร้อยละ -1.6 ส่งผลให้ในไตรมาส 4 ปี 60 ปริมาณรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ขยายตัวได้ร้อยละ 6.5 ต่อปี ส่วนทั้งปี 60 ขยายตัวได้ร้อยละ 4.5 ต่อปี

Global Economic Indicators: This Week

US: mixed signal

มูลค่าส่งออก เดือน พ.ย. 60 ขยายตัวร้อยละ 10.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อน สูงสุดในรอบ 5 ปีกว่า ขณะที่มูลค่านำเข้าขยายตัวร้อยละ 8.4 ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 9.7 ทำให้ดุลการค้าขาดดุล 7.3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ด้านการจ้างงานนอกภาคเกษตร เดือน ธ.ค. 60 เพิ่มขึ้น 1.48 แสนตำแหน่ง ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้าที่เพิ่มขึ้น 2.52 แสนตำแหน่ง อย่างไรก็ตาม อัตราการมีส่วนร่วมในกำลังแรงงานอยู่ที่ร้อยละ 62.7 ของประชากรวัยทำงาน ทรงตัวจากเดือนก่อนหน้า ทำให้อัตราว่างงาน เดือน ธ.ค. 60 อยู่ที่ร้อยละ 4.1 ของกำลังแรงงานรวม ทรงตัวจากเดือนก่อนหน้า ซึ่งยังคงเป็นอัตราว่างงานที่ต่ำสุดในรอบ 17 ปี ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซือภาคบริการ เดือน ธ.ค. 60 อยู่ที่ระดับ 55.9 จุด ต่ำสุดในรอบ 4 เดือน จากดัชนีหมวดการสั่งซื้อสินค้าใหม่ที่ลดลงมากที่สุด

Eurozone: improving economic trend

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือน ธ.ค. 60 อยู่ที่ระดับ 0.5 จุด เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 0.1 จุด ยอดค้าปลีก เดือน พ.ย. 60 ขยายตัวร้อยละ 2.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 0.6 โดยหมวดสินค้าที่ไม่ใช่อาหาร (ไม่รวมเชื้อเพลิง) มีการขยายตัวสูงสุดที่ร้อยละ 4 ในส่วนอัตราการว่างงานเดือน พ.ย. 60 อยู่ที่ร้อยละ 8.7 ของกำลังแรงงานรวม ลดลงเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ร้อยละ 8.8 โดยอัตราการว่างงานในเยอรมนี ฝรั่งเศสและอิตาลี อยู่ที่ร้อยละ 3.6 9.2 และ 11.0 ของกำลังแรงงานรวม ตามลำดับ

China: mixed signal

อัตราเงินเฟ้อ เดือน ธ.ค. 60 อยู่ที่ร้อยละ 1.80 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 1.70 ในเดือนก่อนหน้า มูลค่าการส่งออก เดือน ธ.ค. 60 ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 10 ที่ร้อยละ 10.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 12.3 มูลค่าการนำเข้า เดือน ธ.ค. 60 ขยายตัวร้อยละ 5.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ต่ำสุดในรอบ 1 ปี ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 18.7 ส่งผลให้ดุลการค้า เดือน ธ.ค. 60 เกินดุล 5.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

Japan: improving economic trend

ยอดค้าปลีก เดือน พ.ย. 60 ขยายตัวร้อยละ 2.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 0.2 อัตราการว่างงาน พ.ย. 60 อยู่ที่ร้อยละ 2.7 ของกำลังแรงงานรวม ลดลงเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้า อัตราเงินเฟ้อ เดือน พ.ย. 60 อยู่ที่ร้อยละ 0.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้า ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม เดือน พ.ย. 60 ขยายตัวร้อยละ 3.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 5.9 จากการผลิตหมวดสินค้า ICT และผลิตภัณฑ์โลหะ (Fabricated Metals) ที่หดตัว

UK: worsening economic trend

มูลค่าส่งออก เดือน พ.ย. 60 ขยายตัวร้อยละ 4.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้า จากการส่งออกไปยังยุโรปตะวันตกที่หดตัวถึงร้อยละ -45.7 นอกจากนี้ การส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์หดตัวถึงร้อยละ -50.6 ขณะที่ มูลค่านำเข้า ขยายตัวร้อยละ 1.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้า จากการนำเข้าเครื่องจักรที่หดตัวร้อยละ -6.5 ทำให้ดุลการค้าขาดดุล 12 พันล้านปอนด์

Taiwan: improving economic trend

มูลค่าส่งออก เดือน ธ.ค. 60 ขยายตัวร้อยละ 14.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้า โดยการส่งออกไปจีนและฮ่องกงขยายตัวดี ขณะที่มูลค่านำเข้า ขยายตัวร้อยละ 12.2 เร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้า จากการนำเข้าน้ำมันที่เร่งขึ้น ทำให้เกินดุลการค้า 6.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ อัตราเงินเฟ้อ เดือน ธ.ค. 60 อยู่ที่ร้อยละ 1.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อนเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 1.5 ในเดือนก่อนหน้า

South Korea: improving economic trend

อัตราการว่างงานเดือน ธ.ค. 60 อยู่ที่ร้อยละ 3.6 ของกำลังแรงงานรวม ลดลงเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ร้อยละ 3.7

Indonesia: improving economic trend

ยอดค้าปลีก เดือน ธ.ค. 60 ขยายตัวร้อยละ 2.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ทรงตัวจากเดือนก่อน

Malaysia: mixed signal

ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม เดือน พ.ย. 60 ขยายตัวร้อยละ 5.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 3.4 จากการขยายตัวของสินค้าในภาคการผลิต ยอดค้าปลีก เดือน พ.ย. 60 ขยายตัวร้อยละ 10.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงเล็กน้อยจากเดือนก่อน

Philippines: worsening economic trend

มูลค่าส่งออก เดือน พ.ย. 60 ขยายตัวร้อยละ 1.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้า โดยการส่งออกไปญี่ปุ่นซึ่งมีสัดส่วนมากที่สุดหดตัวร้อยละ -17.5 และสินค้าอิเล็กทรอนิคส์ที่เป็นสินค้าส่งออกหลักชะลอตัวลง ในด้านของมูลค่านำเข้าขยายตัวร้อยละ 18.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้าจากการนำเข้าสินค้าธัญพืชและอุปกรณ์ยานพาหนะ ทำให้ดุลการค้าขาดดุล 3.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐผลผลิตภาคอุตสาหกรรม เดือนพ.ย. 60 หดตัวร้อยละ -9.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หดตัวเร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้า จากกลุ่มเคมีภัณฑ์ที่หดตัวเร่งขึ้น

Australia: improving economic trend

ยอดค้าปลีก เดือน พ.ย. 60 ขยายตัวร้อยละ 3.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นจากเดือนก่อน ที่ขยายตัวร้อยละ 1.6 ผลจากยอดขายทุกหมวดที่ขยายตัวดี เช่น หมวดร้านอาหาร หมวดเครื่องนุ่งห่ม และหมวดอาหารซึ่งมีสัดส่วนมากที่สุด เป็นต้น

Weekly Financial Indicators

ดัชนี SET ปรับตัวเพิ่มขึ้นสูงสุดเป็นประวัติการณ์ โดย ณ วันที่ 11 ม.ค. 61 ปิดที่ระดับ 1,802.80 จุด ด้วยมูลค่าซื้อขายเฉลี่ยวันที่ 8 - 11 ม.ค. 61 ที่สูงถึง 82,560 ล้านบาทต่อวัน นำโดยกลุ่มเหมืองแร่ กลุ่มบริการรับเหมาก่อสร้าง กลุ่มปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ และกลุ่มธนาคาร ทั้งนี้ นักลงทุนทั่วไปในประเทศและนักลงทุนบัญชีบริษัทหลักทรัพย์เป็นผู้ซื้อสุทธิ ขณะที่นักลงทุนสถาบันและต่างชาติขายสุทธิเพื่อทำกำไรหลังจากดัชนีฯ ปรับตัวขึ้นแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ทั้งนี้ ระหว่างวันที่ 8 - 11 ม.ค. 61 นักลงทุนต่างชาติขายหลักทรัพย์สุทธิ -9,198 ล้านบาท

อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลเกือบทุกช่วงอายุปรับลดลง 2-8 bps จากสัปดาห์ก่อนหน้า ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการประมูลตั๋วเงินคลังอายุ 28 วัน พันธบัตรรัฐบาลอายุ 5.37 ปีและ พันธบัตรรัฐบาลอายุ 49.63 ปี ที่มีนักลงทุนสนใจถึง 1.61 เท่า 4.44 เท่าและ 1.49 เท่าของวงเงินประมูล ตามลำดับ ทั้งนี้ ระหว่างวันที่ 8 - 11 ม.ค. 61 มีกระแสเงินทุนของนักลงทุนต่างชาติไหลเข้าจากตลาดพันธบัตรสุทธิ 19,091 ล้านบาท

เงินบาทแข็งค่าขึ้น โดย ณ วันที่ 11 ม.ค. 61 เงินบาทปิดที่ 32.05 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าขึ้นร้อยละ 0.71 จากสัปดาห์ก่อนหน้า สอดคล้องกับเงินเยนและริงกิตที่แข็งค่าขึ้นในอัตราที่ใกล้เคียงกัน อย่างไรก็ตาม เงินสกุลหลักอื่นๆ หลายสกุลอ่อนค่าลง อาทิ ยูโร วอน ดอลลาร์สิงคโปร์ และหยวน ส่งผลให้ดัชนีค่าเงินบาท (NEER) แข็งค่าขึ้นร้อยละ 0.64

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3253 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ