รายงานภาวะเศรษฐกิจรายสัปดาห์ระหว่างวันที่ 15 - 19 มกราคม 2561

ข่าวเศรษฐกิจ Monday January 22, 2018 14:38 —กระทรวงการคลัง

Executive Summary

Indicators this week
  • ปริมาณการจำหน่ายปูนซีเมนต์ภายในประเทศในเดือน ธ.ค. 60 ขยายตัวร้อยละ 3.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า
  • นักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เดินทางเข้าประเทศไทยในเดือน ธ.ค. 60 มีจำนวนสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 3.53 ล้านคน ขยายตัวร้อยละ 15.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า
  • GDP จีน ไตรมาส 4 ปี 60 ขยายตัวร้อยละ 6.8 จากช่วง เดียวกันปีก่อน
  • มูลค่าการส่งออกของสหรัฐฯ ในเดือน พ.ย. 60 ขยายตัวร้อยละ 10.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ขณะที่มูลค่าการนำเข้าขยายตัวร้อยละ 8.4 ทำให้ดุลการค้าขาดดุล 5.0 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ
  • มูลค่าการส่งออกของยูโรโซน ในเดือน พ.ย. 60 ขยายตัว ร้อยละ 7.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ขณะที่ มูลค่าการนำเข้าขยายตัวร้อยละ 7.3 ทำให้ดุลการค้าเกินดุล 2.6 หมื่นล้านยูโร
  • ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมของญี่ปุ่น เดือน พ.ย. 60 ขยายตัว ร้อยละ 3.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • อัตราเงินเฟ้อของสหราชอาณาจักร เดือน ธ.ค. 60 อยู่ที่ร้อยละ 3.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมของอินเดีย เดือน พ.ย. 60 ขยายตัวที่ ร้อยละ 8.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • มูลค่าส่งออกของอินโดนีเซีย เดือน ธ.ค. 60 ขยายตัวร้อยละ 7.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ขณะที่มูลค่านำเข้าขยายตัวร้อยละ 17.8 ทำให้ดุลการค้าขาดดุล 270 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
Economic Indicators: This Week

ปริมาณการจำหน่ายปูนซีเมนต์ภายในประเทศในเดือน ธ.ค. 60 ขยายตัวร้อยละ 3.4 ต่อปี และหดตัวร้อยละ -0.2 ต่อเดือน หลังปรับผลทางฤดูกาล ทั้งนี้ ปริมาณการจำหน่ายปูนซีเมนต์ภายในประเทศในไตรมาส 4 ปี 60 ขยายตัวเป็นบวกที่ร้อยละ 3.1 ต่อปี และขยายตัวร้อยละ 3.1 ต่อไตรมาสหลังขจัดผลทางฤดูกาล ทำให้ทั้งปี 60 ปริมาณการจำหน่ายปูนซีเมนต์ภายในประเทศ ขยายตัวร้อยละ 1.3

นักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เดินทางเข้าประเทศไทยในเดือน ธ.ค. 60 มีจำนวนสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 3.53 ล้านคน ขยายตัวร้อยละ 15.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าและขยายตัวร้อยละ 1.7 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังหักผลทางฤดูกาล ส่งผลทำให้มีรายได้จากการท่องเที่ยวต่างประเทศจำนวน 1.91 แสนล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 21.0 ต่อปี โดยนักท่องเที่ยวที่ขยายตัวได้ดีมาจาก จีน รัสเซีย อินเดีย กัมพูชา ลาว กัมพูชา และเกาหลีใต้ เป็นหลัก ขณะที่ มาเลเซียหดตัวต่อเนื่องทั้งนี้ ในไตรมาสที่ 4 ปี 60 มีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศ 9.28 ล้านคน ขยายตัวร้อยละ 19.5 ต่อปี และ 0.1 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้าหลังหักผลทางฤดูกาล เป็นผลทำให้ทั้งปี 60 มีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศเดินทางเข้าประเทศไทยทั้งสิ้น 35.38 ล้านคน ขยายตัวร้อยละ 8.8 ต่อปี สร้างรายได้ให้กับการท่องเที่ยวต่างประเทศทั้งสิ้น 1.82 ล้านล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 11.7 ต่อปี

Global Economic Indicators: This Week

US: mixed signal

มูลค่าการส่งออก เดือน พ.ย. 60 ขยายตัวร้อยละ 10.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อน สูงสุดในรอบ 5 ปีกว่า ขณะที่มูลค่าการนำเข้าขยายตัวร้อยละ 8.4 ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 9.7 ทำให้ดุลการค้าขาดดุล 5.0 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ (ขจัดผลทางฤดูกาล)ขณะที่ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม เดือน ธ.ค. 60 ขยายตัวร้อยละ 3.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 3.5 โดยผลผลิตของสินค้าในหมวดพลังงานขยายตัวมากที่สุดที่ร้อยละ 8.0 ขณะที่ยอดสร้างบ้านใหม่ เดือน ธ.ค. 60 หดตัวร้อยละ -8.2 จากเดือนก่อนหน้า ผลจากยอดสร้างบ้านเดี่ยวและทาวน์โฮมที่หดตัว ขณะที่ยอดสร้างคอนโดมิเนียมขยายตัวดี และยอดใบอนุญาตก่อสร้างใหม่ เดือน ธ.ค. 60 หดตัวร้อยละ -0.1 จากเดือนก่อนหน้า โดยใบอนุญาตก่อสร้างคอนโดมิเนียมหดตัวถึงร้อยละ -4.3 จากเดือนก่อน

China: mixed signal

GDP ไตรมาส 4 ปี 60 ขยายตัวร้อยละ 6.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ทรงตัวจากไตรมาสก่อนหน้า และส่งผลให้ GDP ปี 60 ขยายตัวร้อยละ 6.9 เร่งขึ้นจากปีก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 6.7 โดยมีภาคการบริการเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจหลัก ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม เดือน ธ.ค. 60 ขยายตัวร้อยละ 6.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 6.1 ยอดค้าปลีก เดือน ธ.ค. 60 ขยายตัวร้อยละ 9.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้า จากยอดขายรถยนต์และอุปกรณ์โทรคมนาคมที่ชะลอตัวลง

Eurozone: mixed signal

มูลค่าการส่งออก เดือน พ.ย. 60 ขยายตัวร้อยละ 7.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้าโดยมูลค่าการส่งออกไปสหรัฐฯ และจีนชะลอลง ขณะที่มูลค่าส่งออกไปญี่ปุ่นหดตัวเร่งขึ้น ขณะที่ มูลค่าการนำเข้าเดือนเดียวกันขยายตัวร้อยละ 7.3 ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้าทำให้ดุลการค้าเกินดุล 2.6 หมื่นล้านยูโร อัตราเงินเฟ้อ เดือน พ.ย. 60 อยู่ที่ร้อยละ 1.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนที่อยู่ที่ร้อยละ 1.4

Japan: improving economic trend

ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม เดือน พ.ย. 60 ขยายตัวร้อยละ 3.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 5.9 จากการชะลอตัวลงของผลผลิตหมวดเครื่องจักรกลไฟฟ้า และอุปกรณ์ขนส่ง

UK: improving economic trend

อัตราเงินเฟ้อ เดือน ธ.ค. 60 อยู่ที่ร้อยละ 3.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ลดลงจากเดือนก่อน จากราคาหมวดสื่อสารที่ลดลงเป็นสำคัญทำให้อัตราเงินเฟ้อปี 60 เฉลี่ยที่ร้อยละ 2.7

India: improving economic trend

ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม เดือน พ.ย. 60 ขยายตัวที่ร้อยละ 8.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ผลจากหมวดผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคและสินค้าโครงสร้างพื้นฐาน ด้านอัตราเงินเฟ้อ เดือน ธ.ค. 60 อยู่ที่ร้อยละ 3.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ด้านมูลค่าการส่งออก เดือน ธ.ค. 60 ขยายตัวร้อยละ 12.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากเดือนก่อน ขณะที่ มูลค่าการนำเข้าขยายตัวร้อยละ 21.1 เร่งขึ้นจากร้อยละ 19.6 ในเดือนก่อน ทำให้ดุลการค้า เดือน ธ.ค. 60 ขาดดุล 14.9 พันล้านรูปี

South Korea: improving economic trend

เมื่อวันที่ 17 ม.ค. 61 ธนาคารกลางเกาหลีใต้มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ร้อยละ 1.50 ต่อปี ติดต่อกันเป็นเดือนที่ 2

Indonesia: worsening economic trend

มูลค่าส่งออก เดือน ธ.ค. 60 ขยายตัวร้อยละ 7.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากเดือนก่อน โดยการส่งออกหมวดน้ำมันสำเร็จรูปชะลอตัวจากเดือนก่อนค่อนข้างมากขณะที่มูลค่านำเข้าเดือนเดียวกันขยายตัวร้อยละ 17.8 ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้า โดยหากไม่รวมน้ำมันและก๊าซธรรมชาติแล้วการนำเข้าจะขยายตัวร้อยละ 17.4 ทำให้ดุลการค้าเดือน ธ.ค. 60 ขาดดุล 270 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เมื่อวันที่ 18 ม.ค. 60 ธนาคารกลางอินโดนีเซียคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 4.25 ต่อปี

Malaysia: improving economic trend

อัตราการว่างงานเดือน พ.ย. 60 (หลังขจัดผลทางฤดูกาล) อยู่ที่ร้อยละ 3.4 ต่อกำลังแรงงานรวม ลดลงเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ร้อยละ 3.5

Singapore: mixed signal

ยอดค้าปลีก เดือน พ.ย. 60 ขยายตัวร้อยละ 4.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -1.4 โดยยอดขายหมวดโทรคมนาคมและคอมพิวเตอร์ขยายตัวสูงถึงร้อยละ 16.8 มูลค่าการส่งออก เดือน ธ.ค. 60 ขยายตัวร้อยละ 0.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้า โดยการส่งออกไปฮ่องกงหดตัวถึงร้อยละ -13.1 ขณะที่มูลค่าการนำเข้าเดือนเดียวกันขยายตัวร้อยละ 1.6 ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้า โดยการนำเข้าเครื่องจักรและอุปกรณ์การขนส่งขยายตัวชะลอลงที่ร้อยละ 0.2 ทำให้ดุลการค้าในเดือน ธ.ค. 60 เกินดุล 4.5 พันล้านดอลลาร์สิงคโปร์

Australia: improving economic trend

ยอดขายยานพาหนะใหม่ เดือน ธ.ค. 60 ขยายตัวร้อยละ 4.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นจากเดือนก่อนผลจากยอดขายรถยนต์นั่งส่วนบุคคลและยอดขายยานพาหนะอื่นๆ ขยายตัวเร่งขึ้น ด้านอัตราการว่างงานเดือน ธ.ค. 60 อยู่ที่ร้อยละ 5.5 ของกำลังแรงงานรวม เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากเดือน พ.ย. 60 ที่อยู่ที่ร้อยละ 5.4 ของกำลังแรงงานรวม

Weekly Financial Indicators

ดัชนี SET ปรับตัวเพิ่มขึ้นและปิดที่ระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในวันที่ 17 ม.ค. 61 ที่ 1,828.88 จุด ก่อนจะปรับตัวลดลงในช่วงปลายสัปดาห์ โดย ณ วันที่ 18 ม.ค. 61 ปิดที่ระดับ 1,819.32 จุด ด้วยมูลค่าซื้อขายเฉลี่ยทั้งสัปดาห์ที่สูงถึง 82,047 ล้านบาทต่อวัน นำโดยหลักทรัพย์หมวดของใช้ส่วนตัวและเวชภัณฑ์ หมวดเงินทุนและหลักทรัพย์ และหมวดพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ทั้งนี้ นักลงทุนสถาบันในประเทศและนักลงทุนต่างชาติเป็นผู้ซื้อสุทธิ โดยระหว่างวันที่ 15 - 18 ม.ค. 61 นักลงทุนต่างชาติซื้อหลักทรัพย์สุทธิ 449 ล้านบาท

อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลเกือบทุกช่วงอายุปรับเพิ่มขึ้น 1-4 bps จากสัปดาห์ก่อนหน้า สอดคล้องกับที่กระแสเงินทุนไหลเข้าของนักลงทุนต่างชาติเริ่มลดลงจากสัปดาห์ก่อนหน้า โดยที่ผลการประมูลตั๋วเงินคลังอายุ 28 วันและพันธบัตรรัฐบาลอายุ 20 ปี มีผู้สนใจประมูลถึง 2.07 เท่าและ 1.32 เท่าของวงเงินประมูล ตามลำดับ ทำให้ระหว่างวันที่ 15 - 18 ม.ค. 61 มีกระแสเงินทุนของนักลงทุนต่างชาติไหลเข้าตลาดพันธบัตรสุทธิ 14,232 ล้านบาท

เงินบาทแข็งค่าขึ้น โดย ณ วันที่ 18 ม.ค. 61 เงินบาทปิดที่ 31.95 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าขึ้นร้อยละ 0.32 จากสัปดาห์ก่อนหน้า สอดคล้องกับเงินสกุลหลักอื่นๆ อย่างไรก็ตาม เงินสกุลหลักโดยมากแข็งค่าขึ้นในอัตราที่สูงกว่าเงินบาท อาทิ ยูโร หยวน ริงกิต ดอลลาร์สิงคโปร์ เยน และวอน ส่งผลให้ดัชนีค่าเงินบาท (NEER) อ่อนค่าลงร้อยละ -0.37

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3253 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ