รายงานภาวะเศรษฐกิจรายสัปดาห์ระหว่างวันที่ 22 - 26 มกราคม 2561

ข่าวเศรษฐกิจ Monday January 29, 2018 14:21 —กระทรวงการคลัง

Executive Summary

Indicators this week
  • มูลค่าการส่งออกในเดือน ธ.ค. 60 มีมูลค่า 19,741.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวที่ร้อยละ 8.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน
  • มูลค่าการนำเข้าในเดือน ธ.ค. 60 มีมูลค่า 20,019.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐขยายตัวที่ร้อยละ 16.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน
  • ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม (TISI) ในเดือน ธ.ค. 60 อยู่ที่ระดับ 89.1 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 87.0 ในเดือนก่อนหน้า
  • การเบิกจ่ายงบประมาณรวมในเดือน ธ.ค. 60 ปี งปม. 61 เบิกจ่ายได้ 288.9 พันล้านบาทลดลงร้อยละ -19.3 ต่อปี
  • รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ (หลังหักจัดสรรให้ อปท.) ในเดือน ธ.ค. 60 ได้จำนวน 202.1 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.6 ต่อปี
  • ฐานะการคลังของรัฐบาลตามระบบกระแสเงินสดในเดือน ธ.ค. 60 พบว่า ดุลเงินงบประมาณขาดดุลจำนวน -80.1 พันล้านบาท
  • ภาษีจากการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ในเดือน ธ.ค. 60 หดตัวร้อยละ -8.9
  • ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์นั่งในเดือน ธ.ค. 60 มีจำนวน 41,449 คัน คิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 40.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
  • ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ในเดือน ธ.ค. 60 มีจำนวน 62,853 คัน คิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 9.5 ต่อปี
  • ภาษีมูลค่าเพิ่มที่รัฐบาลจัดเก็บได้ในเดือน ธ.ค. 60 ขยายตัว ณ ระดับ ราคาที่แท้จริงที่ร้อยละ 5.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน
  • GDP ไตรมาสที่ 4 ปี 60 ของเกาหลีใต้ ขยายตัวร้อยละ 3.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • GDP ไตรมาสที่ 4 ปี 60 ของฟิลินปินส์ ขยายตัวร้อยละ 6.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
Economic Indicators: This Week

มูลค่าการส่งออกในเดือน ธ.ค. 60 มีมูลค่า 19,741.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 10 ที่ร้อยละ 8.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน จากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 13.4 หรือเมื่อขจัดผลทางฤดูกาลแล้วหดตัวร้อยละ -4.4 จากเดือนก่อนหน้า โดยสินค้าที่ยังคงขยายตัวได้ดีต่อเนื่องมาจากหมวดสินค้าอุตสาหกรรมที่ขยายตัวร้อยละ 10.0 อาทิ สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า และยานยนต์เป็นสำคัญ ส่งผลให้มูลค่าการส่งออกสินค้าในปี 60 ขยายตัวที่ร้อยละ 9.9 นับเป็นระดับการขยายตัวสูงสุดในรอบ 6 ปีที่ผ่านมา

มูลค่าการนำเข้าในเดือน ธ.ค. 60 มีมูลค่า 20,019.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวที่ร้อยละ 16.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 13.7 หรือเมื่อขจัดผลทางฤดูกาลแล้วขยายตัวที่ร้อยละ 5.4 จากเดือนก่อนหน้า ผลจากการขยายตัวทุกหมวดสินค้าหลัก โดยเฉพาะหมวดสินค้าวัตถุดิบ สินค้าเชื้อเพลิง และสินค้าอุปโภคบริโภคที่ขยายตัวเร่งขึ้นในเดือนดังกล่าวที่ร้อยละ 19.9 29.7 และ 15.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ตามลำดับ ส่งผลให้มูลค่าการนำเข้าสินค้าในปี 60 ขยายตัวร้อยละ 14.7 ซึ่งจากการที่มูลค่าการนำเข้าสินค้าสูงกว่ามูลค่าการส่งออกสินค้า ทำให้ดุลการค้าในเดือน ธ.ค. 60 ขาดดุล -0.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ อย่างไรก็ดี ดุลการค้าโดยรวมทั้งปี 60 ยังคงเกินดุลที่ 13.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม (TISI) ในเดือน ธ.ค. 60 อยู่ที่ระดับ 89.1 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 87.0 ในเดือนก่อนหน้า ทั้งนี้ ค่าดัชนีฯที่เพิ่มขึ้นได้รับปัจจัยทั้งจากยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และต้นทุนประกอบการ ซึ่งในเดือน ธ.ค. พบว่า ค่าดัชนีฯ ที่สูงขึ้นเกิดจากอุปสงค์ภายในประเทศของสินค้าอุตสาหกรรมที่ยังส่งสัญญาณดี โดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ที่มียอดขายเพิ่มขึ้นจากงานมอเตอร์เอ็กซ์โป 2017 รวมทั้งสินค้าของขวัญของฝากในช่วงเทศกาลปีใหม่ นอกจากนี้ สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 102.8 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 102.0 ในเดือน พ.ย. เนื่องจากผู้ประกอบการเห็นว่าเศรษฐกิจไทยปี 2561 มีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องโดยมีการลงทุนภาครัฐเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญ

Economic Indicators: This Week

การเบิกจ่ายงบประมาณรวมในเดือน ธ.ค. 60 ปี งปม. 61 เบิกจ่ายได้ 288.9 พันล้านบาทลดลงร้อยละ -19.3 ต่อปีโดยการเบิกจ่ายงบประมาณประจำปีปัจจุบันเบิกจ่ายได้ 262.6 พันล้านบาท ลดลงร้อยละ -14.0 ต่อปี แบ่งออกเป็น (1) รายจ่ายประจำ 226.8 พันล้านบาท ลดลงร้อยละ -13.6 ต่อปี และ (2) รายจ่ายลงทุน 35.8 พันล้านบาท ลดลง ร้อยละ -16.4 ต่อปี ทั้งนี้ การเบิกจ่ายงบประมาณที่สำคัญ ได้แก่ รายจ่ายชำระหนี้ของกระทรวงการคลัง 52,040 ล้านบาท เงินอุดหนุนของกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น 49,422 ล้านบาท และงบลงทุนของกรมทางหลวง 11,147 ล้านบาท ทั้งนี้ รายจ่ายปีงบประมาณปัจจุบันในช่วง 3 เดือนแรกของปีงบประมาณ 61 สามารถเบิกจ่ายได้ 897.8 พันล้านบาท หรือคิดเป็นอัตราการเบิกจ่ายร้อยละ 31.0 ของวงเงินงบประมาณ (2,900.0 พันล้านบาท)

รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ (หลังหักจัดสรรให้ อปท.) ในเดือน ธ.ค. 60 ได้จำนวน 202.1 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.6 ต่อปีทั้งนี้ การจัดเก็บภาษีของกรมสรรพากรเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.7 ต่อปี จากการจัดเก็บภาษีฐานการบริโภคที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.1 ต่อปี ขณะที่ภาษีฐานรายได้จัดเก็บได้ลดลงร้อยละ -5.6 ต่อปี ทำให้ในช่วง 3 เดือนแรกของปีงบประมาณรายได้สุทธิ (หลังหักจัดสรรให้ อปท.) จัดเก็บได้ 547.7 พันล้านบาท ลดลงร้อยละ -0.1 ต่อปี หรือคิดเป็นร้อยละ 4.5 ของประมาณการเอกสารงปม.

ฐานะการคลังของรัฐบาลตามระบบกระแสเงินสดในเดือน ธ.ค. 60 พบว่า ดุลเงินงบประมาณขาดดุลจำนวน -80.1 พันล้านบาทและเมื่อรวมกับดุลเงินนอกงบประมาณที่ขาดดุล -3.6 พันล้านบาท ส่งผลให้ดุลเงินสดก่อนกู้ขาดดุล -80.1 พันล้านบาท และเงินคงคลัง ณ สิ้นเดือน ธ.ค. 60 อยู่ที่ระดับ 180.9 พันล้านบาท

Economic Indicators: This Week

ภาษีจากการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ในเดือน ธ.ค. 60 หดตัวร้อยละ -8.9 ต่อปี และหดตัวร้อยละ -10.6 ต่อเดือนหลังปรับผลทางฤดูกาล ทำให้ไตรมาส 4/60 ภาษีจากการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์หดตัวร้อยละ -0.8 ต่อปี หรือหดตัวร้อยละ -7.6 ต่อไตรมาสหลังขจัดผลทางฤดูกาล ทั้งนี้ ปี 60 ภาษีจากการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์หดตัวร้อยละ -2.0 ต่อปี

ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์นั่งในเดือน ธ.ค. 60 มีจำนวน 41,449 คัน คิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 40.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 34.9 ซึ่งถือเป็นการขยายตัวต่อเนื่องติดต่อกันเป็นเดือนที่ 12 ตั้งแต่ต้นปี ส่วนหนึ่งเป็นผลมาการจัดงาน Motor Expo ในช่วงต้นเดือนธันวาคม และจากการที่ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคมีการปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ในไตรมาสที่ 4 ปี 60 ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์นั่งขยายตัวได้ร้อยละ 33.9 ส่วนทั้งปี 60 ขยายตัวได้ร้อยละ 23.7 ต่อปี

ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ในเดือน ธ.ค. 60 มีจำนวน 62,853 คัน คิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 9.5 ต่อปี และขยายตัวที่ร้อยละ 5.5 ต่อเดือนหลังขจัดผลทางฤดูกาล ตามยอดจำหน่ายรถกระบะ 1 ตัน ที่ขยายตัวร้อยละ 8.4 ต่อปี และขยายตัวร้อยละ 5.3 ต่อเดือนหลังขจัดผลทางฤดูกาล ทำให้ไตรมาส 4/60 ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ขยายตัวร้อยละ 9.5 ต่อปี และหดตัวร้อยละ -2.8 ต่อไตรมาสหลังขจัดผลทางฤดูกาล ทั้งนี้ ในปี 60 การจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ขยายตัวร้อยละ 7.5 ต่อปี

ภาษีมูลค่าเพิ่มที่รัฐบาลจัดเก็บได้ในเดือน ธ.ค. 60 มีมูลค่า 65,971 ล้านบาท ขยายตัว ณ ระดับราคาที่แท้จริงที่ร้อยละ 5.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนหรือคิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 1.9 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน หลังขจัดผลทางฤดูกาล โดยแบ่งเป็นภาษีที่จัดเก็บจากการใช้จ่ายภายในประเทศขยายตัวที่ร้อยละ 6.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน โดยได้รับอนิสงค์จากมาตรการช็อปช่วยชาติ ขณะที่ภาษีมูลค่าเพิ่มที่จัดเก็บจากการนำเข้าขยายตัวที่ร้อยละ 4.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน สอดคล้องกับการนำเข้าที่ขยายตัวได้ดีเช่นกัน ทำให้ภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ระดับราคาที่แท้จริงในไตรมาสที่ 4 ขยายตัวร้อยละ 5.0 ทั้งนี้ ภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ระดับราคาที่แท้จริงทั้งปี 60 ขยายตัวได้ร้อยละ 3.8 ต่อปี

Global Economic Indicators: This Week

US: worsening economic trend

ตลาดอสังหาริมทรัพย์เดือน ธ.ค. 60 ส่งสัญญาณหดตัว โดยยอดขายบ้านมือสองเดือน ธ.ค. 60 หดตัวร้อยละ -2.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน โดยที่ยอดขายประเภทบ้านเดี่ยวและคอนโดมิเนียมมือสองหดตัวร้อยละ -2.3 และร้อยละ -2.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ตามลำดับ สอดคล้องกับราคากลางบ้านมือสองเดือน ธ.ค. 60 ที่หดตัวร้อยละ -0.2 จากเดือนก่อนหน้า (หลังขจัดผลทางฤดูกาล) โดยที่ราคาบ้านเดี่ยวมือสองทรงตัว ขณะที่ราคาคอนโดมือสองหดตัวร้อยละ -1.2 จากเดือนก่อนหน้า ด้านยอดขายบ้านใหม่เดือน ธ.ค. 60 หดตัวเช่นกันที่ร้อยละ -9.3 จากเดือนก่อนหน้า โดยยอดขายบ้านใหม่หดตัวมากที่สุดในภูมิภาคตะวันตกกลาง (Midwest) ที่ร้อยละ -10.0 จากเดือนก่อนหน้า

Eurozone: improving economic trend

ดัชนี PMI ภาคอุตสาหกรรมเดือน ม.ค. 61 (เบืองต้น) อยู่ที่ระดับ 59.6 จุด ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 60.6 จุด ขณะที่ดัชนี PMI ภาคบริการ (เบืองต้น) อยู่ที่ระดับ 57.6 จุด เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 56.6 จุด โดยในเดือน ม.ค. 61 มียอดคำสั่งซื้อสูงที่สุดเป็นอันดับ 2 ตั้งแต่ปี 50 ส่งผลให้ดัชนี PMI รวม (เบืองต้น) อยู่ที่ระดับ 58.6 จุด เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 58.1 จุด ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือน ม.ค. 61 อยู่ที่ระดับ 1.3 จุด เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 0.5 จุด สูงกว่าที่ตลาดคาดการณ์ที่ระดับ 0.6 จุด และยังเป็นระดับสูงที่สุดตั้งแต่ ส.ค. 43 เมื่อวันที่ 25 ม.ค. 61 ธนาคารกลางยุโรปประกาศคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 0.00 ต่อปี คงที่มาตั้งแต่ มี.ค. 59

Japan: improving economic trend

เมื่อวันที่ 20 ธ.ค. 60 ธนาคารกลางญี่ปุ่นมีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ร้อยละ -0.10 ต่อปี มูลค่าการส่งออก เดือน ธ.ค. 60 ขยายตัวร้อยละ 9.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้าโดยมูลค่าการส่งออกไปสหรัฐฯ จีน อาเซียน และยูโรโซนชะลอลง ขณะที่ มูลค่าการนำเข้าเดือนเดียวกันขยายตัวร้อยละ 14.9 ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้าทำให้ดุลการค้าเกินดุล 3.58 แสนล้านเยน อัตราเงินเฟ้อ เดือน ธ.ค. 60 อยู่ที่ร้อยละ 1.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนที่อยู่ที่ร้อยละ 0.6 ดัชนี PMI ภาคอุตสาหกรรม (เบืองต้น) เดือนม.ค. 61 ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 54.4 จุด สูงสุดในรอบ 47 เดือน สะท้อนถึงภาคการผลิตญี่ปุ่นที่เริ่มฟื้นตัวดีขึ้น

UK: mixed signal

อัตราการว่างงานเดือน พ.ย. 60 อยู่ที่ร้อยละ 4.3 ต่อกำลังแรงงานรวม ทรงตัวเป็นเดือนที่ 3 ติดต่อกันและเป็นอัตราการว่างงานที่ต่ำที่สุดในรอบ 42 ปี

Hong Kong: mixed signal

อัตราเงินเฟ้อ เดือน ธ.ค. 60 อยู่ที่ร้อยละ 1.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า จากราคาในหมวดอาหารและสินค้าคงทนที่ปรับตัวสูงขึ้นมาก มูลค่าการส่งออก เดือน ธ.ค. 60 ขยายตัวร้อยละ 6.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้าโดยมูลค่าการส่งออกไปจีนชะลอลง ขณะที่ มูลค่าการนำเข้าเดือนเดียวกันขยายตัวร้อยละ 9.0 ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้าทำให้ดุลการค้าเกินดุล 59 พันล้านดอลลาร์ฮ่องกง

South Korea: mixed signal

GDP ไตรมาสที่ 4 ปี 60 ขยายตัวร้อยละ 3.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อน แต่หากขจัดผลทางฤดูกาลแล้วจะหดตัวร้อยละ -0.2 จากไตรมาสก่อนหน้าส่งผลให้ GDP ปี 60 ขยายตัวร้อยละ 3.1 เร่งขึ้นจากปีก่อน โดยมีการลงทุนภาคเอกชนเป็นแรงขับเคลื่อน

Philippines: worsening economic trend

GDP ไตรมาสที่ 4 ปี 60 ขยายตัวร้อยละ 6.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หรือขยายตัวร้อยละ 1.5 จากไตรมาสก่อนหน้า (หลังขจัดผลทางฤดูกาล) ชะลอลงจากอัตราการขยายตัวในไตรมาสก่อนหน้า ส่งผลให้ GDP ปี 60 ขยายตัวร้อยละ 6.7 ชะลอลงจากปี 59 ที่ขยายตัวร้อยละ 6.9 เป็นผลมาจากการบริโภคทั้งภาครัฐและเอกชนที่ชะลอตัวลง

Singapore: mixed signal

อัตราเงินเฟ้อ เดือน ธ.ค. 60 อยู่ที่ร้อยละ 0.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ลดลงจากเดือนก่อนที่อยู่ที่ร้อยละ 0.6 โดยราคาหมวดขนส่งลดลงมากที่สุดโดยขยายตัวร้อยละ 1.4 ชะลอลงจากเดือนก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 2.6 ทำให้อัตราเงินเฟ้อทั้งปี 60 อยู่ที่ร้อยละ 0.6 เพิ่มขึ้นจากปี 59 ที่หดตัวร้อยละ -0.5

Malaysia: worsening economic trend

อัตราเงินเฟ้อ เดือน ธ.ค. 60 อยู่ที่ร้อยละ 3.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนเล็กน้อยที่อยู่ที่ร้อยละ 3.4 โดยอัตราเงินเฟ้อจากสินค้าประเภทอาหารและไม่ใช่อาหารอยู่ที่ร้อยละ 4.2 และ 3.3 ตามลำดับ ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อทั้งปี 60 อยู่ที่ร้อยละ 3.8 เพิ่มขึ้นจากปี 59 ที่อยู่ที่ร้อยละ 2.1 เมื่อวันที่ 25 ม.ค. 61 ธนาคารกลางมาเลเซียขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายจากร้อยละ 3.00 เป็นร้อยละ 3.25 ต่อปี เป็นการปรับขึ้นครั้งแรกในรอบ 3 ปี

Taiwan: worsening economic trend

ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม เดือน ธ.ค. 60 ขยายตัวร้อยละ 1.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้า จากการชะลอลงของผลผลิตหมวดเหมืองแร่ ยอดค้าปลีก เดือน ธ.ค. 60 ขยายตัวร้อยละ 2.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้า จากการหดตัวของยอดขายสินค้าประเภทอาหาร เครื่องดื่ม และยาสูบ และการชะลอตัวของสินค้าประเภทโทรคมนาคม

Weekly Financial Indicators

ดัชนี SET ปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยช่วงต้นสัปดาห์ โดยปิดตลาดสูงสุดเป็นประวัติการณ์ เมื่อวันที่ 24 ม.ค. 61 ที่ 1,831.78 ก่อนจะปรับตัวลดลงในช่วงปลายสัปดาห์ ซึ่งสวนทางกับดัชนี MSCI AC Asia Pacific Index ที่ปรับตัวสูงขึ้นจากต้นสัปดาห์ต่อเนื่องโดย ณ วันที่ 25 ม.ค. 61 ดัชนี SET ปิดที่ระดับ 1,819.29 จุด ด้วยมูลค่าซื้อขายเฉลี่ยทั้งสัปดาห์ที่สูงถึง 68,182.46 ล้านบาทต่อวัน ทั้งนี้ นักลงทุนสถาบันในประเทศและบัญชีบริษัทหลักทรัพย์เป็นผู้ซื้อสุทธิ โดยระหว่างวันที่ 22 - 25 ม.ค. 61 นักลงทุนต่างชาติขายหลักทรัพย์สุทธิ -1,271.98 ล้านบาท

อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลระยะสันปรับเพิ่มขึ้น 1-3 bps ในขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลระยะยาวเกือบทุกช่วงอายุปรับลดลง 1-3 bps จากสัปดาห์ก่อนหน้า สอดคล้องกับกระแสเงินทุนไหลเข้าของนักลงทุนต่างชาติ โดยที่ผลการประมูลตั๋วเงินคลังอายุ 28 วันและพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปี มีผู้สนใจประมูลถึง 1.79 เท่าและ 3.8 เท่าของวงเงินประมูล ตามลำดับ ทำให้ระหว่างวันที่ 22 - 25 ม.ค. 61 มีกระแสเงินทุนของนักลงทุนต่างชาติไหลออกจากตลาดพันธบัตรสุทธิ -3,863.55 ล้านบาท

เงินบาทแข็งค่าขึ้น โดย ณ วันที่ 25 ม.ค. 61 เงินบาทปิดที่ 31.42 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าขึ้นร้อยละ 1.68 จากสัปดาห์ก่อนหน้า สอดคล้องกับเงินสกุลหลักอื่นๆ ยกเว้นเงินวอนที่อ่อนค่าลง อย่างไรก็ตาม เงินบาทแข็งค่าขึ้นในอัตราที่สูงกว่าเงินสกุลอื่นๆ ยกเว้นเงินเยน ส่งผลให้ดัชนีค่าเงินบาท (NEER) แข็งค่าขึ้นร้อยละ 0.64

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3253 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ