รายงานภาวะเศรษฐกิจรายสัปดาห์ระหว่างวันที่ 29 ตุลาคม - 2 พฤศจิกายน 2561

ข่าวเศรษฐกิจ Monday November 5, 2018 16:27 —กระทรวงการคลัง

Executive Summary

Indicators this week
  • การเบิกจ่ายงบประมาณรวมในเดือน ก.ย. 61 เพิ่มขึ้นร้อยละ 31.9 ต่อปี
  • รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ (หลังหักจัดสรรให้ อปท.) เดือน ก.ย. 61 เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.5 ต่อปี
  • ฐานะการคลังของรัฐบาลตามระบบกระแสเงินสดในเดือน ก.ย. 61 เกินดุลจำนวน 13.6 พันล้านบาท
  • ภาษีมูลค่าเพิ่มที่รัฐบาลจัดเก็บได้ในเดือน ก.ย. ขยายตัว ณ ระดับราคาที่แท้จริงที่ร้อยละ 0.8 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
  • ภาษีจากการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ในเดือน ก.ย. 61 ขยายตัว ร้อยละ 9.7 ต่อปี
  • ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือน ก.ย. 61 หดตัวที่ร้อยละ -2.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
  • ปริมาณการจำหน่ายเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กรวมภายในประเทศเดือน ก.ย. 61 หดตัวร้อยละ -7.9 ต่อปี
  • อัตราเงินเฟ้อในเดือน ต.ค. 61 อยู่ที่ร้อยละ 1.2
  • ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างในเดือน ต.ค. 61 ขยายตัวร้อยละ 1.2
  • ดุลบัญชีเดินสะพัดเดือน ก.ย. 61 เกินดุล 2,369.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
  • สินเชื่อในสถาบันการเงินเดือน ก.ย. 61 ขยายตัวร้อยละ 6.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • เงินฝากในสถาบันการเงินเดือน ก.ย. 61 ขยายตัวร้อยละ 5.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • GDP ไตรมาสที่ 3 ปี 61 (เบื้องต้น) ของสหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 3.0
  • GDP ไตรมาสที่ 3 ปี 61 (เบื้องต้น) ของยูโรโซน ขยายตัวร้อยละ 1.7
  • GDP ไตรมาสที่ 3 ปี 61 ของไต้หวัน ขยายตัวร้อยละ 2.3
Economic Indicators: This Week

การเบิกจ่ายงบประมาณรวมในเดือน ก.ย. 61 ปี งปม. 61 เบิกจ่ายได้ 278.6 พันล้านบาทเพิ่มขึ้นร้อยละ 31.9 ต่อปีโดยการเบิกจ่ายงบประมาณประจำปีปัจจุบันเบิกจ่ายได้ 256.3 พันล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 28.6 ต่อปี แบ่งออกเป็น (1) รายจ่ายประจำ 207.2 พันล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 38.9 ต่อปี และ (2) รายจ่ายลงทุน 49.1 พันล้านบาท ลดลง ร้อยละ -1.9 ต่อปี ทั้งนี้ การเบิกจ่ายงบประมาณที่สำคัญ ได้แก่ งบลงทุนของกรมทางหลวง 8,157 ล้านบาท งบลงทุนของกรมชลประทาน 7,783 ล้านบาท รายจ่ายชำระหนี้ของกระทรวงการคลัง 5,469 ล้านบาท เงินอุดหนุนของกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น 4,741 และงบลงทุนของกรมทางหลวงชนบท 4,195 ล้านบาท ทั้งนี้ รายจ่ายปีงบประมาณ 61 สามารถเบิกจ่ายได้ 2,792.1 พันล้านบาท หรือคิดเป็นอัตราการเบิกจ่ายร้อยละ 91.5 ของวงเงินงบประมาณ (3,050.0 พันล้านบาท)

รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ (หลังหักจัดสรรให้ อปท.) ในเดือน ก.ย. 61 ได้จำนวน 250.5 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.5 ต่อปี จากการจัดเก็บภาษีฐานบริโภคที่ขยายตัวร้อยละ 2.6 ต่อปี และการจัดเก็บภาษีฐานรายได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 15.5 ต่อปี ทำให้ในปีงบประมาณ 61 รายได้สุทธิ (หลังหักจัดสรรให้ อปท.) จัดเก็บได้ 2,528.0 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.1 ต่อปี หรือคิดเป็นร้อยละ 3.2 ของประมาณการเอกสารงปม.

ฐานะการคลังของรัฐบาลตามระบบกระแสเงินสดในเดือน ก.ย. 61 พบว่า ดุลเงินงบประมาณเกินดุลจำนวน 13.6 พันล้านบาทและเมื่อรวมกับดุลเงินนอกงบประมาณที่เกินดุล 81.7 พันล้านบาท ส่งผลให้ดุลเงินสดก่อนกู้เกินดุล 95.2 พันล้านบาท และเงินคงคลัง ณ สิ้นเดือน ก.ย. 61 อยู่ที่ระดับ 633.4 พันล้านบาท

Economic Indicators: This Week

ภาษีมูลค่าเพิ่มที่รัฐบาลจัดเก็บได้ในเดือน ก.ย. 61 มีมูลค่า 65,037 ล้านบาท คิดเป็นการขยายตัว ณ ระดับราคาที่แท้จริงที่ร้อยละ 0.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล หดตัวร้อยละ -7.6 โดยภาษีมูลค่าเพิ่มที่จัดเก็บจากการใช้จ่ายในประเทศหดตัวร้อยละ -3.6 และภาษีมูลค่าเพิ่มที่จัดเก็บจากการนำเข้าขยายตัวที่ร้อยละ 7.9 ส่งผลให้ในไตรมาสที่ 3 ของปี 61 ภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ระดับราคาที่แท้จริงขยายตัวเร่งขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้าที่ร้อยละ 6.6

ภาษีจากการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ในเดือน ก.ย. 61 ขยายตัวร้อยละ 9.7 ต่อปี แต่หดตัวร้อยละ -4.9 ต่อเดือนหลังปรับผลทางฤดูกาล ทั้งนี้ ไตรมาส 3 ปี 61 ภาษีจากการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ขยายตัวร้อยละ 14.9 ต่อปี

ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือน ก.ย. 61 หดตัวที่ร้อยละ -2.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และหลังขจัดผลทางฤดูกาลแล้วหดตัวที่ร้อยละ -3.3 จากเดือนก่อนหน้า ทำให้ไตรมาสที่ 3 ปี 61 ขยายตัวที่ร้อยละ 1.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ทั้งนี้ กลุ่มอุตสาหกรรมสำคัญที่ขยายตัวในเดือนนี้ ได้แก่ การผลิตน้ำมันปิโตรเลียม เครื่องแต่งกาย คอมพิวเตอร์อาร์ดิสไดฟ์ และแอร์ คอมเพรสเซอร์ ที่ขยายตัวร้อยละ 8.6, 15.2, 5.2 และ ร้อยละ 15.5 ตามลำดับ ขณะที่อัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ร้อยละ 66.3 ของกำลังการผลิตรวม เท่ากับเดือนก่อนหน้า

ปริมาณการจำหน่ายเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กรวมภายในประเทศเดือน ก.ย. 61 หดตัวร้อยละ -7.9 ต่อปี และเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังปรับผลทางฤดูกาลแล้ว พบว่า หดตัวร้อยละ -6.6 ต่อเดือน ทั้งนี้ ในไตรมาส 3 ของปี 61 ปริมาณการจำหน่ายเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กรวมภายในประเทศหดตัวที่ร้อยละ -3.7 ต่อปี หรือหดตัวร้อยละ -0.1 ต่อไตรมาส หลังปรับผลทางฤดูกาล

Economic Indicators: This Week

อัตราเงินเฟ้อในเดือน ต.ค. 61 อยู่ที่ร้อยละ 1.2 สูงขึ้นต่อเนื่องจากเดือนที่ผ่านมาในอัตราที่ชะลอลง โดยมีสาเหตุสำคัญจากการเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันส่งผลให้ราคาสินค้าหมวดพลังงานสูงขึ้น อย่างไรก็ดี ราคาสินค้าหมวดอาหารสดลดลง เนื่องจากเป็นช่วงฤดูของผักและผลไม้หลายชนิดออกสู่ตลาดในปริมาณมาก ทั้งนี้ อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ร้อยละ 0.7 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าเล็กน้อย

ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างในเดือน ต.ค. 61 เท่ากับ 108.1 ขยายตัวร้อยละ 1.2 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน โดยมีสาเหตุสำคัญจากการเพิ่มขึ้นของดัชนีราคาหมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กสูงขึ้นร้อยละ 2.0 ทั้งนี้ ในช่วง 10 เดือนแรกของปี 61 ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างขยายตัวร้อยละ 3.0

ดุลบัญชีเดินสะพัดเดือน ก.ย. 61 เกินดุล 2,369.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนที่เกินดุล 752.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยเป็นผลมาจากดุลการค้า (ตามระบบ BOP) ที่เกินดุล 1,962.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน เนื่องจากมูลค่าการนำเข้าสินค้าขยายตัวชะลอลง นอกจากนี้ ดุลบริการ รายได้ และเงินโอนเกินดุล 406.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า ตามการส่งกลับกำไรและเงินปันผลของบริษัทข้ามชาติที่ลดลงจากเดือนก่อนหน้า ทั้งนี้ ดุลบัญชีเดินสะพัดในช่วง 9 เดือนแรกของปี 61 เกินดุล 25,935.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

สินเชื่อในสถาบันการเงินเดือน ก.ย. 61 มียอดคงค้าง 18.1 ล้านล้านบาท คิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 6.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หรือขยายตัวร้อยละ 0.4 จากเดือนก่อนหน้า (หลังขจัดผลทางฤดูกาล) โดยสินเชื่อจากธนาคารพาณิชย์และสินเชื่อสถาบันการเงินเฉพาะกิจขยายตัวในอัตราที่เร่งขึ้น เมื่อแยกประเภทการขอสินเชื่อ พบว่าสินเชื่อเพื่อธุรกิจขยายตัวเร่งขึ้นที่ร้อยละ 7.1 จากช่วงเดียวกัน ปีก่อน และสินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภคขยายตัวชะลอลงที่ร้อยละ 5.5

เงินฝากในสถาบันการเงินเดือน ก.ย. 61 มียอดคงค้าง 19.1 ล้านล้านบาท คิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 5.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หรือหากขจัดผลทางฤดูกาลแล้วจะคิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 0.4 จากเดือนก่อนหน้า โดยเงินฝากในธนาคารพาณิชย์ขยายตัวในอัตราที่เร่งขึ้นที่ร้อยละ 5.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ขณะที่เงินฝากในสถาบันการเงินเฉพาะกิจขยายตัวชะลอลงที่ร้อยละ 5.1

Global Economic Indicators: This Week

US: mixed signal

GDP ไตรมาสที่ 3 ปี 61 (เบื้องต้น) ขยายตัวร้อยละ 3.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หรือร้อยละ 1.0 จากไตรมาสก่อนหน้า (ขจัดผลทางฤดูกาล) เร่งขึ้นจากไตรมาสก่อน จากการขยายตัวที่เร่งขึ้นของการลงทุนภาคเอกชนและการบริโภคภาคเอกชนเป็นสำคัญ ด้านอัตราเงินเฟ้อ (PCE) เดือน ส.ค. 61 อยู่ที่ร้อยละ 2.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ทรงตัวจากเดือนก่อนหน้า ด้านดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน เดือน ต.ค. 61 อยู่ที่ระดับ 137.9 จุด สูงสุดในรอบ 18 ปีกว่า จากดัชนีย่อยหมวดสถานการณ์ปัจจุบันและความคาดหวังในอนาคตที่ปรับตัวสูงขึ้นขณะที่ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคอุตสาหกรรม (ISM) เดือน ต.ค. 61 อยู่ที่ระดับ 57.7 จุด ลดลงจากเดือนก่อนหน้า จากดัชนีในหมวดการสั่งซื้อใหม่ที่ลดลงมากที่สุด

Eurozone: mixed signal

GDP ไตรมาสที่ 3 ปี 61 (เบื้องต้น) ขยายตัวร้อยละ 1.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หรือขยายตัวร้อยละ 0.2 จากไตรมาสก่อนหน้า (หลังขจัดผลทางฤดูกาล) ชะลอลงจากไตรมาสก่อนและต่ำกว่าที่ตลาดคาดการณ์ โดยเศรษฐกิจของอิตาลีชะงักงันเป็นครั้งแรกในรอบ 4 ปี ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือน ต.ค. 61 อยู่ที่ระดับ -2.7 จุด เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้า จากความเชื่อมั่นในด้านราคาทั้งปัจจุบันและอนาคตที่ปรับเพิ่มขึ้นอัตราเงินเฟ้อ เดือน ต.ค. 61 (เบื้องต้น) อยู่ที่ร้อยละ 2.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อน จากราคาทุกหมวดที่ปรับเพิ่มขึ้นอัตราว่างงานเดือน ก.ย. 61 อยู่ที่ร้อยละ 8.1 ของกำลังแรงงานรวม ทรงตัวจากเดือนก่อนโดยอัตราว่างงานในเยอรมนีและฝรั่งเศสทรงตัว ในอิตาลีเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ขณะที่ในสเปนลดลงเล็กน้อย

China: mixed signal

ดัชนี PMI ภาคอุตสาหกรรม (NBS) เดือน ต.ค. 61 อยู่ที่ระดับ 50.2 จุด ลดลงจากเดือนก่อน จากการชะลอตัวลงในทุกดัชนีย่อย สวนทางกับดัชนี PMI ภาคอุตสาหกรรม (Caixin) เดือนเดียวกันที่ปรับตัวสูงขึ้นเล็กน้อยที่ระดับ 50.1 จุด จากระดับ 50.0 ในเดือนก่อนหน้า จากดัชนีหมวดการผลิตและยอดสั่งซื้อสินค้าใหม่ปรับตัวขึ้นเพียงเล็กน้อย

Japan: worsening economic trend

ยอดค้าปลีก เดือน ก.ย. 61 ขยายตัวชะลอลงที่ร้อยละ 2.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อนโดยยอดขายสินค้าทั่วไปหดตัวร้อยละ -1.3 อัตราการว่างงาน เดือน ก.ย. 61 อยู่ที่ร้อยละ 2.3 ของกำลังแรงงานรวม ลดลงจากเดือนก่อนหน้า ผลผลิตอุตสาหกรรม เดือน ก.ย. 61 หดตัวร้อยละ -2.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อน โดยผลผลิตเกือบทุกหมวดหดตัวดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือน ต.ค. 61 อยู่ที่ระดับ 42.9 จุด ลดลงจากเดือนก่อน ดัชนี PMI ภาคอุตสาหกรรม เดือน ต.ค. 61 เพิ่มขึ้นที่ระดับ 52.9 จุด จากอุปสงค์จากต่างชาติและราคาผลผลิตที่เพิ่มขึ้น

South Korea: worsening economic trend

อัตราเงินเฟ้อ เดือน ต.ค. 61 เพิ่มขึ้นเล็กน้อยมาอยู่ที่ร้อยละ 2.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อน โดยราคาอาหารและเครื่องดื่มเพิ่มขึ้น มูลค่าการส่งออก เดือน ต.ค. 61 ขยายตัวร้อยละ 22.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นจากเดือนก่อน จากการส่งออกไปยังสหรัฐฯ ญี่ปุ่น และยุโรปที่ขยายตัวในอัตราสูง ขณะที่มูลค่าการนำเข้าขยายตัวเร่งขึ้นที่ร้อยละ 27.9 ส่งผลให้เกินดุลการค้า 6.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ดัชนี PMI ภาคอุตสาหกรรม เดือน ต.ค. 61 ปรับตัวลดลงที่ระดับ 51.0 จุด แต่ยังถือว่าอยู่ในระดับที่สูงเมื่อเทียบกับในอดีต โดยดัชนีหมวดยอดขายจากการส่งออกยังคงปรับตัวลดลง

Taiwan: worsening economic trend

GDP ไตรมาสที่ 3 ปี 61 ขยายตัวต่ำสุดในรอบ 6 ไตรมาสที่ร้อยละ 2.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน โดยการบริโภคภาคเอกชนขยายตัวชะลอลงที่ร้อยละ 1.9 และมูลค่าการส่งออกขยายตัวชะลอลงมากที่ร้อยละ 1.4 ดัชนี PMI ภาคอุตสาหกรรม เดือน ต.ค. 61 ปรับตัวลดลงที่ระดับ 48.7 จุด จากระดับ 50.8 จุด ในเดือนก่อน สะท้อนถึงภาคการผลิตที่หดตัว จากดัชนีย่อยหมวดการผลิตและธุรกิจใหม่ปรับตัวลดลงสูงสุดในรอบ 3 ปี

Hong Kong: mixed signal

ยอดค้าปลีก เดือน ก.ย. 61 ขยายตัวที่ร้อยละ 2.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้า โดยยอดขายหมวดยานพาหนะและหมวดเครื่องนุ่งห่มหดตัว

Vietnam: improving economic trend

อัตราเงินเฟ้อ เดือน ต.ค. 61 อยู่ที่ร้อยละ 3.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้า จากราคาเครื่องดื่ม บุหรี่ และค่าขนส่งที่เพิ่มขึ้น มูลค่าการส่งออก เดือน ต.ค. 61 ขยายตัวชะลอลงที่ร้อยละ 2.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากการส่งออกโทรศัพท์และส่วนประกอบที่หดตัว ขณะที่มูลค่าการนำเข้าขยายตัวเร่งขึ้นที่ร้อยละ 13.6 จากหมวดสินค้าอิเล็กทรอนิกส์และส่วนประกอบที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นส่งผลให้ดุลการค้าเกินดุลดลงที่ 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

Australia: worsening economic trend

ดัชนี PMI ภาคอุตสาหกรรม เดือน ต.ค. 61 ลดลงมาอยู่ที่ 58.3 จุด จากคำสั่งซื้อใหม่และการจ้างงานงานที่ขยายตัวชะลอลง ยอดค้าปลีก เดือน ก.ย. 61 ขยายตัวร้อยละ 2.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้า

India: improving economic trend

ดัชนี PMI ภาคอุตสาหกรรม เดือน ต.ค. 61 อยู่ที่ระดับ 53.1 จุด เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า โดยดัชนีย่อยหมวดยอดคำสั่งซื้อใหม่และการผลิตขยายตัวเร่งขึ้น

UK: worsening economic trend

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือน ต.ค. 61 อยู่ที่ระดับ -10.0 จุด ลดลงจากเดือนก่อน จากความเชื่อมั่นต่อสถานการณ์การเงินส่วนบุคคลและเศรษฐกิจภาพรวมที่ลดลง เมื่อวันที่ 1 พ.ย. 61 ธนาคารกลางอังกฤษคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 0.75 ต่อปี

Weekly Financial Indicators

ดัชนี SET โดยรวมปรับตัวสูงขึ้นจากสัปดาห์ก่อน สอดคล้องกับกับตลาดหลักทรัพย์อื่นๆ เช่น DJIA (สหรัฐฯ) CSI300 (จีน) และ STI (สิงคโปร์) เป็นต้น โดยดัชนี SET ณ วันที่ 1 พ.ย. 61 ปิดที่ระดับ 1,667.55 จุด ด้วยมูลค่าซื้อขายเฉลี่ยวันที่ 29 ต.ค.- 1 พ.ย. 61 ที่ 44,979 ล้านบาทต่อวัน จากแรงซื้อของนักลงทุนสถาบันในประเทศ ทั้งนี้ ยังคงต้องติดตามกรณีที่สหรัฐฯ จะคว่ำบาตรอิหร่าน โดยมีกำหนดวันที่ 4 พ.ย. 61 และผลการเลือกตั้งกลางเทอมของสหรัฐฯ ซึ่งจะมีขึ้นในวันที่ 6 พ.ย. 61 ว่าพรรครีพับลิกันจะยังคงรักษาคะแนนเสียงข้างมากในทั้งสองสภาได้หรือไม่ ทั้งนี้ ระหว่างวันที่ 29 ต.ค. - 1 พ.ย. 61 นักลงทุนต่างชาติขายหลักทรัพย์สุทธิ -4,729 ล้านบาท

อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลระยะสันปรับตัวเพิ่มขึ้น 0-4 bps ขณะที่พันธบัตรรัฐบาลระยะยาวปรับลดลง 1-6 bps โดยในสัปดาห์นี้ การประมูลพันธบัตรรัฐบาลอายุ 30 ปี มีนักลงทุนสนใจ 2.07 เท่าของวงเงินประมูล ทั้งนี้ระหว่างวันที่ 29 ต.ค. - 1 พ.ย. 61 มีกระแสเงินทุนของนักลงทุนต่างชาติไหลเข้าตลาดพันธบัตรสุทธิ 17,800 ล้านบาท

เงินบาทอ่อนค่าลงจากสัปดาห์ก่อน โดย ณ วันที่ 1 พ.ย. 61 เงินบาทปิดที่ 33.03 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าลงร้อยละ -0.33 จากสัปดาห์ก่อนหน้า สอดคล้องกับเงินสกุลหลักอื่นๆ อาทิ เยน ยูโร ริงกิต วอน ดอลลาร์สิงคโปร์ และหยวน ทั้งนี้ เงินบาทที่อ่อนค่าลงในอัตราที่มากกว่าเงินสกุลอื่นๆ เล็กน้อย ส่งผลให้ดัชนีค่าเงินบาท (NEER) อ่อนค่าลงร้อยละ -0.12

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3253 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ