รายงานภาวะเศรษฐกิจรายสัปดาห์ระหว่างวันที่ 17 - 20 ธันวาคม 2561

ข่าวเศรษฐกิจ Friday December 28, 2018 14:03 —กระทรวงการคลัง

Executive Summary

Indicators this week
  • ปริมาณรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ในเดือน พ.ย. 61 หดตัวร้อยละ -6.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
  • นักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เดินทางเข้าประเทศไทยในเดือนพ.ย. 61 ขยายตัวที่ร้อยละ 4.5 ต่อปี
  • ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์นั่งในเดือน พ.ย. 61 ขยายตัว ร้อยละ 12.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
  • ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ในเดือน พ.ย. 61 ขยายตัวร้อยละ 26.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
  • ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม (TISI) ในเดือน พ.ย. 61 อยู่ที่ระดับ 93.9
  • วันที่ 18-19 ธ.ค. 61 ธนาคารกลางสหรัฐฯ ปรับขึ้นอัตรา ดอกเบี้ยนโยบายร้อยละ 0.25 ต่อปี มาอยู่ที่ร้อยละ 2.25-2.50 ต่อปี
  • มูลค่าการส่งออกของสหภาพยุโรป เดือน ต.ค. 61 ขยายตัว ร้อยละ 11.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ขณะที่มูลค่าการนำเข้าขยายตัวร้อยละ 14.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
Economic Indicators: This Week

ปริมาณรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ในเดือน พ.ย. 61 มีจำนวน 159,014 คัน คิดเป็นการหดตัว ร้อยละ -6.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน และหดตัวร้อยละ -2.8 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล โดยเป็นหดตัวทั้งในเขต กทม. ร้อยละ -7.5 และเขตภูมิภาคขยายตัวร้อยละ -5.7 ส่งผลให้ในช่วง 11 เดือนแรกของปี 61 หดตัวที่ร้อยละ -3.5

นักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เดินทางเข้าประเทศไทยในเดือน พ.ย. 61 มีจำนวน 3.18 ล้านคน กลับมาขยายตัวที่ร้อยละ 4.54 ต่อปี และขยายตัวร้อยละ 3.1 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังหักผลทางฤดูกาล เป็นผลจากการขยายตัวของจำนวนนักท่องเที่ยวมาเลเซีย เป็นสำคัญ นอกจากนี้ นักท่องเที่ยวประเทศอื่นยังคงขยายตัวได้ดี เช่น นักท่องเที่ยวชาวอินเดีย และฮ่องกง ที่ขยายตัวในระดับสูง ร้อยละ 19.9 และ 21.1 ต่อปี ตามลำดับ ทั้งนี้ ส่งผลให้เดือน พ.ย. 61 มีรายได้จากการท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวต่างประเทศมูลค่า 167,418 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 5.18 ต่อปี

ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์นั่งในเดือน พ.ย. 61 มีจำนวน 35,446 คัน คิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 12.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล ขยายตัวร้อยละ 2.8 ซึ่งเป็นการขยายตัวต่อเนื่องติดต่อกันเป็นเดือนที่ 23 นับตั้งแต่มกราคม ปี 60 ส่งผลให้ในช่วง 11 เดือนแรกของ ปี 61 ปริมาณจำหน่ายรถยนต์นั่งขยายตัวร้อยละ 17.9 ต่อปี

ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ในเดือน พ.ย. 61 มีจำนวน 59,197 คัน คิดเป็นการขยายตัว ร้อยละ 26.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล หดตัวร้อยละ -1.5 ตามยอดจำหน่ายรถกระบะ 1 ตันที่ขยายตัวร้อยละ 27.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล หดตัวร้อยละ 1.1 ส่งผลให้ในช่วง 11 เดือนแรกของปี 61 ปริมาณจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ขยายตัวได้ร้อยละ 23.0 ต่อปี

Economic Indicators: This Week

ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม (TISI) ในเดือน พ.ย. 61 อยู่ที่ระดับ 93.9 ปรับเพิ่มขึ้นจากระดับ 92.6 ในเดือน ต.ค. เป็นการปรับเพิ่มขึ้นเป็นเวลาติดต่อกัน 2 เดือน ละเป็นค่าดัชนีฯ ที่สูงสุดในรอบ 66 เดือน ทั้งนี้ ค่าดัชนีที่เพิ่มขึ้นเกิดจากความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการทั้งขนาดย่อม กลาง และขนาดใหญ่ เนื่องผู้ประกอบการเร่งผลิตสินค้าชดเชยวันทำงานน้อยกว่าปกติในเดือนธันวาคม และมีการจัดกิจกรรมส่งเสริมการขาย โดยเฉพาะในกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ แฟชั่น อาหาร กลุ่มไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงการปรับลดของราคาน้ำมันส่งผลดีต่อต้นทุนประกอบการให้ลดลง ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า (TISI (E)) อยู่ที่ระดับ 107.4 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 106.7 ในเดือน ต.ค. เนื่องจากผู้ประกอบการเห็นว่าการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นจะส่งผลดีต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทย

Global Economic Indicators: This Week

US: mixed signal

ยอดสร้างบ้านใหม่ เดือน พ.ย. 61 ขยายตัวร้อยละ 3.2 จากเดือนก่อนหน้า (ขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว) เร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -1.6 จากยอดสร้างคอนโดมิเนียมที่ขยายตัวร้อยละ 24.9 จากเดือนก่อนหน้าสอดคล้องกับยอดใบอนุญาตก่อสร้างบ้านใหม่ เดือน พ.ย. 61 ที่ขยายตัวร้อยละ 5.0 จากเดือนก่อนหน้า (ขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว) เร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -0.4 โดยยอดใบอนุญาตก่อสร้างคอนโดมิเนียมขยายตัวสูงสุดที่ร้อยละ 15.4 จากเดือนก่อนหน้า ขณะที่ยอดขายบ้านมือสอง เดือน พ.ย. 61 อยู่ที่ 5.3 ล้านหลังต่อปี หรือคิดเป็นการหดตัวร้อยละ -4.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หดตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า จากยอดขายบ้านบ้านเดี่ยวและคอนโดมิเนียมที่หดตัวร้อยละ -4.7 และ 2.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ตามลำดับอย่างไรก็ตาม ราคากลางบ้านมือสอง เดือน พ.ย. 61 อยู่ที่ 257,700 ดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 1.0 จากเดือนก่อนหน้า โดยเป็นผลมาจากราคาบ้านเดี่ยวและคอนโดมิเนียมที่ขยายตัวร้อยละ 1.1 และ 0.4 จากเดือนก่อนหน้า ตามลำดับ และเมื่อวันที่ 18-19 ธ.ค. 61 ธนาคารกลางสหรัฐฯ มีมติ 9-0 เป็นเอกฉันท์ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายร้อยละ 0.25 ต่อปี มาอยู่ที่ร้อยละ 2.25-2.50 ต่อปี

Eurozone: mixed signal

ดัชนี PMI ภาคอุตสาหกรรม เดือน ธ.ค. 61 (เบื้องต้น) อยู่ที่ระดับ 51.4 จุด ลดลงเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 51.8 จุด จากดัชนีย่อยหมวดยอดสั่งซื้อสินค้าลดลงเป็นเดือนที่ 3 ติดต่อกัน ดัชนี PMI ภาคบริการ เดือน ธ.ค. 61 (เบื้องต้น) อยู่ที่ระดับ 51.4 จุด ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 53.4 จุด จากดัชนีย่อยหมวดธุรกิจใหม่ที่ชะลอลง ทำให้ดัชนี PMI รวม เดือน ธ.ค. 61 (เบื้องต้น) อยู่ที่ระดับ 51.3 จุด ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 52.7 จุดมูลค่าการส่งออก เดือน ต.ค. 61 ขยายตัวร้อยละ 11.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้า โดยมูลค่าส่งออกแร่ธาตุและเชื้อเพลิงขยายตัวเร่งขึ้นอย่างมากขณะที่ มูลค่าการนำเข้า เดือน ต.ค. 61 ขยายตัวร้อยละ 14.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้าทำให้เกินดุลการค้าใน เดือน ต.ค. 61 ที่ 1.4 หมื่นล้านยูโรอัตราเงินเฟ้อ เดือน พ.ย. 61 อยู่ที่ร้อยละ 2.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากเดือนก่อนที่อยู่ที่ร้อยละ 2.2 โดยระดับราคาหมวดพลังงานปรับลดลงมาก

Japan: worsening economic trend

มูลค่าการส่งออก เดือน พ.ย. 61 ขยายตัวร้อยละ 0.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 8.2 โดยมูลค่าการส่งออกไปยังจีนชะลอตัวลง ในขณะที่มูลค่าการส่งออกไปยังฮ่องกงและอังกฤษหดตัวในอัตราสูง มูลค่าการนำเข้าขยายตัวร้อยละ 12.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 19.9 ส่งผลให้ขาดดุลการค้า -7.4 แสนล้านเยน เมื่อวันที่ 20 ธ.ค. 61 ธนาคารกลางญี่ปุ่นประกาศคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ร้อยละ -0.1 ต่อปี

UK: mixed signal

อัตราเงินเฟ้อ เดือน พ.ย. 61 อยู่ที่ร้อยละ 2.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ลดลงเล็กน้อยจากเดือนก่อนที่อยู่ที่ร้อยละ 2.4 โดยระดับราคาอาหารและเครื่องดื่มที่ไม่มี แอลกอฮอลล์ลดลงเล็กน้อย

Malaysia: worsening economic trend

อัตราเงินเฟ้อ พ.ย. 61 อยู่ที่ร้อยละ 0.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ลดลงจากเดือนก่อนที่อยู่ที่ร้อยละ 0.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อน และเป็นอัตราเงินเฟ้อที่ต่ำที่สุดในรอบ 3 ปี โดยระดับราคาสินค้าหมวดที่ไม่ใช่สินค้าคงทนลดลงอย่างเห็นได้ชัด ขณะที่ระดับราคาหมวดเสื้อผ้าทรงตัว

Singapore: mixed signal

มูลค่าการส่งออก เดือน พ.ย. 61 ขยายตัวร้อยละ 6.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 20.4 จากการส่งออกสินค้าที่ไม่ใช่น้ำมันที่ชะลอลงอย่างเห็นได้ชัด ขณะที่มูลค่าการนำเข้าขยายตัวร้อยละ 9.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 19.8 จากการส่งออกสินค้าที่ชะลอลงทุกประเภทโดยเฉพาะสินค้าประเภทเครื่องจักรอุปกรณ์ขนส่งส่งผลให้ดุลการค้าเกินดุลลดลงที่ 3.4 พันล้านดอลลาร์สิงคโปร์

Indonesia: worsening economic trend

มูลค่าการส่งออก เดือน พ.ย. 61 หดตัวที่ร้อยละ -3.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 4.2 จากสินค้าอุตสาหกรรมที่ขยายตัวเร่งขึ้น ขณะที่มูลค่าการนำเข้าขยายตัวร้อยละ 11.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 24.0 จากการนำเข้าก๊าซธรรมชาติที่น้อยลงส่งผลให้ขาดดุลการค้า -2.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เมื่อวันที่ 19 ธ.ค. 61 ธนาคารกลางอินโดนีเซียประกาศคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ร้อยละ 6.0 ต่อปี ซึ่งเป็นการคงไว้ตั้งแต่วันที่ 15 พ.ย. 61 ที่ผ่านมา

Hongkong: mixed signal

อัตราการว่างงาน เดือน พ.ย. 61 อยู่ที่ร้อยละ 2.8 ของกำลังแรงงานรวม ลดลงเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้า อัตราเงินเฟ้อ เดือน พ.ย. 61 อยู่ที่ร้อยละ 2.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากราคาหมวดสินค้าอาหาร ที่พักอาศัย และเครื่องดื่มที่ปรับตัวลดลง

Weekly Financial Indicators

ดัชนี SET โดยรวมในสัปดาห์นี้ปรับตัวลดลงจากสัปดาห์ก่อน สอดคล้องกับตลาดหลักทรัพย์อื่นๆ เช่น DJIA (สหรัฐฯ) CSI300 (จีน) และ STI (สิงคโปร์) เป็นต้น จากหุ้นในหมวดธุรกิจบริการเฉพาะกิจ หมวดธุรกิจการท่องเที่ยวและสันทนาการ และหมวดธุรกิจสื่อและสิ่งพิมพ์ ที่ปรับตัวลดลงเป็นสำคัญ ทั้งนี้ ดัชนี SET ณ วันที่ 19 ธ.ค. 61 ปิดที่ระดับ 1,601.12 จุด ด้วยมูลค่าซื้อขายเฉลี่ยระหว่างวันที่ 17 - 19 ธ.ค. 61 ที่ 42,484 ล้านบาทต่อวัน โดยที่นักลงทุนสถาบันในประเทศ นักลงทุนบัญชีบริษัทหลักทรัพย์ และนักลงทุนต่างชาติ เป็นผู้ขายสุทธิ ทั้งนี้ ยังคงต้องติดตามสถานการณ์ด้านร่างงบประมาณชั่วคราวของสหรัฐฯ ว่าจะสามารถผ่านร่างดังกล่าวในวันที่ 21 ธ.ค. นี้ได้หรือไม่ ซึ่งหากไม่ผ่าน สหรัฐฯ อาจต้องเผชิญกับภาวะการปิดหน่วยงานรัฐ หรือ Government shutdown อีกครั้ง ทั้งนี้ ระหว่างวันที่ 17 - 19 ธ.ค. 61 นักลงทุนต่างชาติขายหลักทรัพย์สุทธิ -864 ล้านบาท

อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล (อัตราฯ) ระยะยาวส่วนมากปรับลดลง 2-10 bps ขณะที่อัตราฯ ระยะสั้นปรับตัวเพิ่มขึ้น 1-15 bps โดยในสัปดาห์นี้ไม่มีการประมูลตั๋วเงินคลังหรือพันธบัตรรัฐบาล ทั้งนี้ระหว่างวันที่ 17 - 19 ธ.ค. 61 มีกระแสเงินทุนของนักลงทุนต่างชาติไหลออกตลาดพันธบัตรสุทธิ -112 ล้านบาท

เงินบาทแข็งค่าขึ้นจากสัปดาห์ก่อน โดย ณ วันที่ 19 ธ.ค. 61 เงินบาทปิดที่ 32.70 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าขึ้นร้อยละ 0.23 จากสัปดาห์ก่อนหน้า สอดคล้องกับเงินสกุลหลักอื่นๆ ที่แข็งค่าขึ้น อาทิ เยน ยูโร ริงกิต ดอลลาร์สิงคโปร์ และหยวน ขณะที่เงินวอนอ่อนค่าลง ทั้งนี้ เงินบาทแข็งค่าขึ้นน้อยกว่าเงินสกุลหลักอื่นๆ หลายสกุล ส่งผลให้ดัชนีค่าเงินบาท (NEER) อ่อนค่าลงร้อยละ -0.16

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3253 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ