รายงานภาวะเศรษฐกิจรายสัปดาห์ระหว่างวันที่ 7 - 11 มกราคม 2562

ข่าวเศรษฐกิจ Monday January 14, 2019 14:47 —กระทรวงการคลัง

Executive Summary

Indicators this week
  • อัตราการว่างงานในเดือน ธ.ค. 61 อยู่ที่ร้อยละ 0.9 ของกำลังแรงงานทั้งหมด
  • ระดับสินทรัพย์สภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์ในเดือน พ.ย. 61 คิดเป็น 1.81 เท่าของสินทรัพย์สภาพคล่องที่ต้องดำรงตามกฎหมาย
  • การจ้างงานนอกภาคเกษตรของสหรัฐฯ เดือน ธ.ค. 61 เพิ่มขึ้น 3.12 แสนตำแหน่งจากเดือนก่อนหน้า
  • อัตราเงินเฟ้อของจีน เดือน ธ.ค. 61 อยู่ที่ร้อยละ 1.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • ยอดค้าปลีกของสหภาพยุโรป เดือน พ.ย. 61 ขยายตัวร้อยละ 0.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • อัตราการว่างงานของสหภาพยุโรป เดือน พ.ย. 61 อยู่ที่ร้อยละ 7.9 ต่อกำลังแรงงานรวม
  • ยอดค้าปลีกของอินโดนีเซีย เดือน พ.ย. 61 ขยายตัวร้อยละ 3.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • มูลค่าการส่งออกของฟิลิปปินส์ เดือน พ.ย. 61 หดตัวร้อยละ -0.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • มูลค่าการนำเข้าของฟิลิปปินส์ เดือน พ.ย. 61 ขยายตัวร้อยละ 6.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
Economic Indicators: This Week

ผู้มีงานทำเดือน ธ.ค. 61 อยู่ที่ 37.9 ล้านคน เพิ่มขึ้น 6.7 แสนคน หรือขยายตัวที่ร้อยละ 1.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และหลังหักผลทางฤดูกาลแล้วหดตัวที่ร้อยละ -0.4 เมื่อเทียบจากเดือนก่อนหน้า หากเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน พบว่า ผู้มีงานทำภาคเกษตรมีการขยายตัวร้อยละ 1.3 ภาคอุตสาหกรรมขยายตัวที่ร้อยละ 8.5 และภาคบริการขหดตัวที่ร้อยละ -1.1 สำหรับอัตราการว่างงานในเดือน ธ.ค. 61 อยู่ที่ร้อยละ 0.9 ของกำลังแรงงานทั้งหมด มีจำนวนผู้ว่างงาน 3.5 แสนคน หดตัวที่ร้อยละ -4.0 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และหลังหักผลทางฤดูกาลแล้วขยายตัวที่ร้อยละ 13.4 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า

ระดับสินทรัพย์สภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์ในเดือน พ.ย. 61 คิดเป็น 1.81 เท่าของสินทรัพย์สภาพคล่องที่ต้องดำรงตามกฎหมาย โดยยอดคงค้างสินทรัพย์สภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์ทั้งระบบในเดือนดังกล่าวอยู่ที่ 3.6 ล้านล้านบาท ลดลงเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้า ทั้งนี้ ธปท. ได้ปรับเกณฑ์การดำรงสินทรัพย์สภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์จากเกณฑ์เดิมที่ต้องดำรงสินทรัพย์สภาพคล่องไม่ต่ำกว่าร้อยละ 6 ของเงินรับฝากเป็นไม่ต่ำกว่า ร้อยละ 100 (หรือ 1.0 เท่า) ของประมาณการกระแสเงินสดไหลออกสุทธิในสภาวะวิกฤต (Liquidity Coverage Ratio: LCR) ตั้งแต่เดือน ม.ค. 59

Global Economic Indicators: This Week

US: mixed signal

การจ้างงานนอกภาคเกษตร เดือน ธ.ค. 61 เพิ่มขึ้น 3.12 แสนตำแหน่งจากเดือนก่อนหน้า จากการจ้างงานในหมวดการศึกษาและสุขภาพ หมวดการผลิตสินค้าและหมวดการก่อสร้างที่เพิ่มขึ้นเป็นสำคัญนอกจากนี้ อัตราการมีส่วนร่วมในกำลังแรงงาน เดือน ธ.ค. 61 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้ามาอยู่ที่ร้อยละ 63.1 ของประชากรวัยแรงงาน ขณะที่อัตราการว่างงาน เดือน ธ.ค. 61 อยู่ที่ร้อยละ 3.7 ของกำลังแรงงานรวม ทรงตัวจากเดือนก่อนหน้าด้านรายได้เฉลี่ยภาคเอกชนปรับเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้ามาอยู่ที่ 964.29 ดอลลาร์สหรัฐต่อสัปดาห์ ขณะที่ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคบริการ (ISM) เดือน ธ.ค. 61 อยู่ที่ระดับ 57.6 จุด ลดลงจากเดือนก่อนหน้า จากดัชนีหมวดย่อยด้านราคา การเปลี่ยนแปลงของสินค้าคงค้าง และกิจกรรมทางด้านธุรกิจ ที่ลดลงมากที่สุด

Australia: mixed signal

ดัชนี PMI ภาคอุตสาหกรรม เดือน ธ.ค. 61 ลดลงมาอยู่ที่ 49.5 จุด จากราคาขายและการจัดส่งสินค้าที่ลดลง และดัชนีฯ ภาคบริการ เดือน ธ.ค. 61 อยู่ที่ระดับ 62.6 จุด เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน จากยอดสั่งซื้อและราคาปัจจัยการผลิตที่เพิ่มขึ้น ยอดค้าปลีก เดือน พ.ย. 61 ขยายตัวร้อยละ 3.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากเดือนก่อน จากสินค้าที่ใช้ในครัวเรือนขยายตัวชะลอลง มูลค่าการส่งออก เดือน พ.ย. 61 ขยายตัวเร่งขึ้นที่ร้อยละ 13.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากสินค้าเชื้อเพลิงที่ขยายตัวเร่งขึ้น ขณะที่มูลค่าการนำเข้าขยายตัวเร่งขึ้นที่ร้อยละ 11.8 จากหมวดอาหารที่เร่งตัวขึ้น ส่งผลให้เกินดุลการค้า 43.0 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย

China: worsening economic trend

อัตราเงินเฟ้อ เดือน ธ.ค. 61 อยู่ที่ร้อยละ 1.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ร้อยละ 2.2 โดยราคาสินค้าหมวดขนส่งลดลง ขณะที่ราคาอาหารและยาสูบปรับตัวสูงขึ้น

Japan: worsening economic trend

ดัชนี PMI ภาคบริการ เดือน ธ.ค. 61 ลดลงอยู่ที่ระดับ 51.0 จุด จากยอดขายใหม่ที่ลดลง ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือน ธ.ค. 61 อยู่ที่ระดับ 42.5 จุด ลดลงจากเดือนก่อนที่อยู่ที่ระดับ 42.7 จุด

Eurozone: worsening economic trend

ดัชนี PMI ภาคบริการ เดือน ธ.ค. 61 อยู่ที่ระดับ 51.2 จุด ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 53.4 จุด สะท้อนกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ลดลงในฝรั่งเศสเนื่องจากการประท้วงเสื้อกั๊กเหลือง ประกอบกับดัชนี PMI ภาคอุตสาหกรรมซึ่งประกาศในสัปดาห์ก่อนหน้าที่ลดลงเล็กน้อย ทำให้ดัชนี PMI รวม เดือน ธ.ค. 61 อยู่ที่ระดับต่ำสุดในรอบ 4 ปีที่ 51.1 จุด ลดลงจากเดือนก่อนหน้า ยอดค้าปลีก เดือน พ.ย. 61 ขยายตัวร้อยละ 0.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 2.2 จากยอดค้าปลีกในตลาดและแผงลอยที่ชะลอตัว ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือน ธ.ค. 61 อยู่ที่ระดับ -6.2 จุด ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ -3.9 จุด จากความเชื่อมั่นต่อสถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบันที่ปรับลดลง อัตราการว่างงานเดือน พ.ย. 61 อยู่ที่ร้อยละ 7.9 ต่อกำลังแรงงานรวม ลดลงเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ร้อยละ 8.0 ผลจากการลดลงของอัตราการว่างงานในอิตาลีและสเปน

Indonesia: improving economic trend

ยอดค้าปลีก เดือน พ.ย. 61 ขยายตัวร้อยละ 3.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 2.9 โดยยอดขายสินค้าหมวดอาหารและเชื้อเพลิงขยายตัวเร่งขึ้นดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือน ธ.ค. 61 อยู่ที่ระดับ 127 จุด เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 122.7 จุด โดยดัชนีความเชื่อมั่นต่อรายได้ในปัจจุบันปรับเพิ่มสูงสุดในรอบ 6 เดือน

Taiwan: worsening economic trend

มูลค่าการส่งออก เดือน ธ.ค. 61 หดตัวร้อยละ -3.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อน โดยการส่งออกอุปกรณ์ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ขยายตัวชะลอลงในขณะที่มูลค่าการนำเข้าขยายตัวร้อยละ 2.2 เร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้า ส่งผลให้เกินดุลการค้า 4.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ด้านอัตราเงินเฟ้อ เดือน ธ.ค. 61 อยู่ที่ร้อยละ -0.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ลดลงจากเดือนก่อนหน้า จากราคาหมวดอุปกรณ์ขนส่งและการสื่อสารที่หดตัวลง

South Korea: mixed signal

อัตราการว่างงาน เดือน ธ.ค. 61 อยู่ที่ร้อยละ 3.8 ของกำลังแรงงานรวม ทรงตัวจากเดือนก่อนหน้า

Philippines: worsening economic trend

มูลค่าการส่งออก เดือน พ.ย. 61 หดตัวร้อยละ -0.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หดตัวลดลงจากเดือนก่อนหน้า โดยมูลค่าส่งออกสินค้าหมวดโรงงานอื่นๆ และอิเล็กทรอนิกส์ชะลอตัวลงขณะที่มูลค่าการนำเข้า เดือน พ.ย. 61 ขยายตัวร้อยละ 6.8 ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้าโดยการนำเข้าชะลอลงทุกหมวดยกเว้นหมวดเครื่องจักรอุตสาหกรรมและอุปกรณ์ขยายตัวเร่งขึ้น ส่งผลให้ขาดดุลการค้าที่ 3.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

Malaysia: mixed signal

ผลผลิตอุตสาหกรรม เดือน พ.ย. 61 ขยายตัวร้อยละ 2.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 4.3 จากการผลิตเหมืองแร่ และสินค้าจากโรงงานที่หดตัวลง ยอดค้าปลีก เดือน พ.ย. 61 ขยายตัวร้อยละ 12.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นจากเดือนก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 11.2 จากยอดค้าส่งที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น

Singapore: worsening economic trend

ยอดค้าปลีก เดือน พ.ย. 61 หดตัวร้อยละ -2.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อนจากยอดขายคอมพิวเตอร์และยานยนต์ที่ลดลง

UK: mixed signal

ดัชนี PMI ภาคบริการ เดือน ธ.ค. 61 อยู่ที่ระดับ 51.2 จุด เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนที่อยู่ที่ระดับ 50.4 จุด จากดัชนีย่อยหมวดงานใหม่และกิจกรรมทางธุรกิจที่ฟื้นตัว ขณะที่ดัชนี PMI ภาคก่อสร้าง เดือน ธ.ค. 61 อยู่ที่ระดับ 52.8 จุด ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 53.4 จุด จากดัชนีย่อยการก่อสร้างเพื่อการพาณิชย์ที่ชะลอลง ทำให้ดัชนี PMI รวม เดือน ธ.ค. 61 อยู่ที่ระดับ 51.6 จุด เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้า

Weekly Financial Indicators

ดัชนี SET ช่วงต้นสัปดาห์นี้ปรับตัวสูงขึ้นจากสัปดาห์ก่อน และค่อนข้างทรงตัวในช่วงปลายสัปดาห์ สอดคล้องกับตลาดหลักทรัพย์อื่นๆ เช่น CSI300 (จีน) Nikkei225 (ญี่ปุ่น) และ MSCI (เอเชียแปซิฟิก) เป็นต้น จากหลักทรัพย์ในหลายหมวดธุรกิจที่ค่อนข้างทรงตัวเมื่อเทียบกับสัปดาห์ก่อน อาทิ หมวดธนาคาร หมวดของใช้ส่วนตัวและเวชภัณฑ์ และหมวดเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ทั้งนี้ ดัชนี SET ณ วันที่ 10 ม.ค. 62 ปิดที่ระดับ 1,587.63 จุด ด้วยมูลค่าซื้อขายเฉลี่ยระหว่างวันที่ 7-10 ม.ค. 62 ที่ 45,193 ล้านบาทต่อวัน โดยที่นักลงทุนทั่วไปในประเทศ นักลงทุนบัญชีบริษัทหลักทรัพย์และนักลงทุนต่างชาติเป็นผู้ขายสุทธิ ขณะที่นักลงทุนสถาบันในประเทศเป็นผู้ซื้อสุทธิ ทั้งนี้ ยังคงต้องติดตามสถานการณ์การเจรจาระหว่างเจ้าหน้าที่ระดับสูงของสหรัฐฯ และจีนเรื่องการค้าระหว่างประเทศในเร็วๆ นี้ รวมถึงสถานการณ์การปิดทำการบางส่วนชั่วคราวของสหรัฐฯ ที่จะเริ่มเข้าสู่สัปดาห์ที่สี่ ว่าสภาคองเกรสและทำเนียบขาวจะสามารถหาข้อสรุปร่วมกันได้เมื่อใด ทั้งนี้ ระหว่างวันที่ 7-10 ม.ค. 62 นักลงทุนต่างชาติขายหลักทรัพย์สุทธิ -2,413 ล้านบาท

อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล (อัตราฯ) ระยะสั้นปรับลดลง 0-5 bps ขณะที่อัตราฯ ระยะยาว ปรับเพิ่มขึ้น 4-22 bps จากสัปดาห์ก่อน โดยในสัปดาห์นี้ การประมูลพันธบัตรรัฐบาลอายุ 30 ปีมีนักลงทุนสนใจ 2.54 เท่าของวงเงินประมูล ทั้งนี้ระหว่างวันที่ 7-10 ม.ค. 62 มีกระแสเงินทุนของนักลงทุนต่างชาติไหลเข้าตลาดพันธบัตรสุทธิ 1,714 ล้านบาท

เงินบาทแข็งค่าขึ้นจากสัปดาห์ก่อน โดย ณ วันที่ 10 ม.ค. 62 เงินบาทปิดที่ 31.92 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าขึ้นร้อยละ 0.89 จากสัปดาห์ก่อนหน้า สอดคล้องกับเงินสกุลหลักอื่นๆ ที่แข็งค่าขึ้น อาทิ เยน ยูโร ริงกิต ดอลลาร์สิงคโปร์ และหยวน ขณะที่เงินวอนอ่อนค่าลง ทั้งนี้ เงินบาทแข็งค่าขึ้นน้อยกว่าเงินสกุลหลักอื่นๆ หลายสกุล ส่งผลให้ดัชนีค่าเงินบาท (NEER) อ่อนค่าลงร้อยละ -0.24

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3253 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ