รายงานภาวะเศรษฐกิจรายสัปดาห์ระหว่างวันที่ 11 - 15 มีนาคม 2562

ข่าวเศรษฐกิจ Monday March 18, 2019 15:05 —กระทรวงการคลัง

Executive Summary

Indicators this week
  • ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยโดยรวมในเดือน ก.พ. 62 ปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 69.0
  • อัตราการว่างงานในเดือน ก.พ. 62 อยู่ที่ร้อยละ 0.8 ของกำลังแรงงานทั้งหมด
  • ระดับสินทรัพย์สภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์ในเดือน ม.ค. 62 คิดเป็น 1.81 เท่าของสินทรัพย์สภาพคล่องที่ต้องดำรงตามกฎหมาย
  • ปริมาณการจำหน่ายปูนซีเมนต์ภายในประเทศในเดือน ก.พ. 62 ขยายตัวร้อยละ 1.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
  • อัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯ ในเดือน ก.พ. 62 อยู่ที่ร้อยละ 1.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • เมื่อวันที่ 15 มี.ค. 62 ธนาคารกลางญี่ปุ่นประกาศคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ร้อยละ -0.1 ต่อปี
  • ยอดค้าปลีกของจีน ในเดือน ม.ค.-ก.พ. 62 ขยายตัวร้อยละ 8.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมของยูโรโซน เดือน ม.ค. 62 หดตัว ร้อยละ -0.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
Economic Indicators: This Week

ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยโดยรวมของ ม.หอการค้าไทยในเดือน ก.พ. 62 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 67.7 ในเดือนก่อน มาอยู่ที่ระดับ 69.0 ซึ่งเป็นการปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ในรอบ 6 เดือน เนื่องจากเนื่องจากบรรยากาศการเลือกตั้งที่คึกคัก สถานการณ์สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน เริ่มคลี่คลายลงและการที่นักท่องเที่ยวจีนเริ่มกลับเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยมากขึ้นเป็นปกติ ประกอบกับราคาพืชผลทางการเกษตรหลายรายการที่เริ่มปรับตัวดีขึ้น ส่งผลให้กำลังซื้อในปัจจุบันกลับมาฟื้นตัว

ผู้มีงานทำเดือน ก.พ. 62 อยู่ที่ 37.8 ล้านคน เพิ่มขึ้น 1.8 แสนคน หรือขยายตัวที่ร้อยละ 0.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และหลังหักผลทางฤดูกาลแล้วหดตัวจากเดือนก่อนหน้าร้อยละ -0.3 หากเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน พบว่า ผู้มีงานทำภาคเกษตรมีการหดตัวลงที่ร้อยละ -6.1 ภาคอุตสาหกรรมขยายตัวที่ร้อยละ 1.7 และภาคบริการขยายตัวที่ร้อยละ 4.2 สำหรับอัตราการว่างงานในเดือน ก.พ. 62 อยู่ที่ร้อยละ 0.8 ของกำลังแรงงานทั้งหมด ต่ำสุดในรอบ 14 เดือน คิดเป็นจำนวนผู้ว่างงาน 3 แสนคน หดตัวที่ร้อยละ -38.9 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และหลังหักผลทางฤดูกาลแล้วหดตัวที่ร้อยละ -17.1 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า

ระดับสินทรัพย์สภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์ในเดือน ม.ค. 62 คิดเป็น 1.81 เท่าของสินทรัพย์สภาพคล่องที่ต้องดำรงตามกฎหมาย โดยยอดคงค้างสินทรัพย์สภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์ทั้งระบบในเดือนดังกล่าวอยู่ที่ 3.8 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า ทั้งนี้ ธปท. ได้ปรับเกณฑ์การดำรงสินทรัพย์สภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์จากเกณฑ์เดิมที่ต้องดำรงสินทรัพย์สภาพคล่องไม่ต่ำกว่าร้อยละ 6 ของเงินรับฝากเป็นไม่ต่ำกว่า ร้อยละ 100 (หรือ 1.0 เท่า) ของประมาณการกระแสเงินสดไหลออกสุทธิในสภาวะวิกฤต (Liquidity Coverage Ratio: LCR) ตั้งแต่เดือน ม.ค. 59

ปริมาณการจำหน่ายปูนซีเมนต์ภายในประเทศในเดือน ก.พ. 62 ขยายตัวร้อยละ 1.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่หดตัวร้อยละ -3.5 ต่อเดือน หลังปรับผลทางฤดูกาล ทำให้ 2 เดือนแรกของปี 62 ปริมาณการจำหน่ายปูนซีเมนต์ภายในประเทศขยายตัวร้อยละ 3.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

Global Economic Indicators: This Week

US: mixed signal

การจ้างงานนอกภาคเกษตร เดือน ก.พ. 62 เพิ่มขึ้น 2 หมื่นตำแหน่ง ต่ำสุดในรอบปีกว่า จากการจ้างงานในภาคการผลิตสินค้าและภาคก่อสร้างที่ลดลงถึง 3.2 และ 3.1 หมื่นตำแหน่ง ตามลำดับ อัตราเงินเฟ้อ เดือน ก.พ. 62 อยู่ที่ร้อยละ 1.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ลดลงจากเดือนก่อนหน้า จากราคาสินค้าในหลายหมวดที่ลดลง อาทิ เครื่องแต่งกาย นันทนาการ และการคมนาคมขณะที่ยอดค้าปลีก เดือน ม.ค. 62 ขยายตัวร้อยละ 2.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้า จากยอดค้าปลีกที่ไม่รวมยานยนต์และชิ้นส่วนประกอบที่ขยายตัวเร่งขึ้น สอดคล้องกับยอดคำสั่งซื้อสินค้าคงทน เดือน ม.ค. 62 ที่ขยายตัวร้อยละ 7.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้า จากยอดคำสั่งซื้อในหมวดเครื่องมือด้านการขนส่ง สินค้าคงทนที่ไม่รวมด้านความมั่นคง อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และเครื่องจักร ที่ขยายตัวเร่งขึ้นและยอดขายบ้านใหม่ เดือน ม.ค. 62 อยู่ที่ 6.07 แสนหลังต่อปีคิดเป็นการหดตัวร้อยละ -6.9 จากเดือนก่อนหน้า (ขจัดผลทางฤดูกาล) ผลจากยอดขายในแถบมิดเวสต์ (Midwest) ภาคใต้ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่หดตัวจากเดือนก่อนหน้า

China: worsening economic trend

อัตราเงินเฟ้อ เดือน ก.พ. 62 อยู่ที่ร้อยละ 1.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ปรับตัวลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่ร้อยละ 1.7 โดยดัชนีราคาสินค้าอาหารและยาสูบปรับตัวลดลง ยอดค้าปลีก เดือน ม.ค.-ก.พ. 62 ขยายตัวร้อยละ 8.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ทรงตัวจากเดือนก่อนหน้า โดยยอดขายเครื่องนุ่งห่มปรับตัวลดลงมาก ในขณะที่ยอดขายสินค้าโทรคมนาคมปรับตัวดีขึ้น

India: worsening economic trend

ผลผลิตอุตสาหกรรม เดือน ม.ค. 62 ขยายตัวชะลอลงที่ร้อยละ 1.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากการผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่หดตัวลง และอัตราเงินเฟ้อ เดือน ก.พ. 62 เร่งขึ้นที่ร้อยละ 2.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากราคาสินค้าหมวดอาหารและเชื้อเพลิงที่เร่งขึ้น

Eurozone: mixed signal

ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม เดือน ม.ค. 62 หดตัวร้อยละ -0.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -2.5 จากการที่ภาคการผลิตหดตัวลดลง

UK: mixed signal

ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม เดือน ม.ค. 62 หดตัวร้อยละ -0.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หดตัวเร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้า จากผลผลิตสินค้าคงทนที่ชะลอตัวลง มูลค่าการส่งออก เดือน ม.ค. 62 หดตัวร้อยละ -1.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้าจากการส่งออกเคมีภัณฑ์ที่หดตัวลดลงขณะที่ มูลค่าการนำเข้า เดือน ม.ค. 62 ขยายตัวร้อยละ 6.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้า และขาดดุลการค้าใน เดือน ม.ค. 62 ที่ 1.8 หมื่นล้านปอนด์

Japan: mixed signal

เมื่อวันที่ 15 มี.ค. 62 ธนาคารกลางญี่ปุ่นประกาศคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ร้อยละ -0.1 ต่อปี

South Korea: improving economic trend

อัตราการว่างงาน เดือน ก.พ. 62 อยู่ที่ร้อยละ 3.7 ของกำลังแรงงานรวม ปรับตัวลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่ร้อยละ 4.4

Hong Kong: improving economic trend

ผลผลิตอุตสาหกรรม ไตรมาส 4 ปี 61 ขยายตัวที่ร้อยละ 1.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 1.1 โดยสินค้าขั้นสุดท้ายขยายตัวเร่งขึ้น

Taiwan: worsening economic trend

มูลค่าการส่งออกเดือน ก.พ. 62 หดตัวที่ร้อยละ -8.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -0.3 เป็นการหดตัวติดต่อกันเดือนที่ 4 โดยการส่งออกไปยังฮ่องกงและจีนหดตัวเพิ่มขึ้น ในขณะที่ มูลค่าการนำเข้า หดตัวถึงร้อยละ -19.7 จากที่ขยายตัวร้อยละ 6.8 ในเดือนก่อนหน้า ส่งผลให้เกินดุลการค้าที่ 4.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ อัตราเงินเฟ้อ เดือน ก.พ. 62 อยู่ที่ร้อยละ 0.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ทรงตัวจากเดือนก่อนหน้า

Philippines: worsening economic trend

มูลค่าการส่งออกเดือน ม.ค. 62 หดตัวที่ร้อยละ -1.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อนหน้า หดตัวลดลงจากเดือนก่อน โดยมูลค่าการส่งออกเครื่องจักร และอุปกรณ์การขนส่งขยายตัวเร่งขึ้น ขณะที่มูลค่าการนำเข้า ขยายตัวที่ร้อยละ 5.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อนเร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวสูงถึงร้อยละ -9.4 โดยมูลค่านำเข้าสินค้าหมวดอุปกรณ์การขยายตัวเร่งขึ้น ส่งผลให้ขาดดุลการค้าที่ -3.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

Indonesia: mixed signal

มูลค่าการส่งออก ก.พ. 62 หดตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ -11.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน โดยการส่งออกน้ำมันดิบ และเหมืองแร่ลดลง ขณะที่มูลค่าการนำเข้าหดตัวเช่นกันที่ร้อยละ -14.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เนื่องจากการนำเข้าผลิตภัณฑ์จากน้ำมันที่ลดลง ส่งผลให้เกินดุลการค้า 300 ล้านดอลลาร์สหรัฐยอดค้าปลีก ก.พ. 62 ขยายตัวร้อยละ 10.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ขยายตัวเร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 7.2 โดยยอดขายชิ้นส่วนอะไหล่และอุปกรณ์เสริมขยายตัวเร่งขึ้น

Malaysia: mixed signal

ยอดค้าปลีก เดือน ม.ค. 62 ขยายตัวร้อยละ 10.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากเดือนก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 12.4 จากยอดยอดค้าส่งและค้าปลีกที่ชะลอตัวลงอัตราการว่างงาน เดือน ม.ค. 62 อยู่ที่ร้อยละ 3.2 ของกำลังแรงงานรวม ลดลงเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ร้อยละ 3.3 ซึ่งถือเป็นอัตราการว่างงานที่ต่ำที่สุดในรอบ 11 เดือน

Singapore: improving economic trend

ยอดค้าปลีก เดือน ม.ค. 62 ขยายตัวร้อยละ 7.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ขยายตัวเร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวที่ร้อยละ -5.9 และถือเป็นการขยายตัวสูงสุดในรอบ 3 ปีจากยอดขายของทุกหมวดสินค้าที่เพิ่มขึ้นโดยเฉพาะหมวดยานพาหนะ และเสื้อผ้า ร้องเท้าที่เพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด อัตราการว่างงาน ไตรมาส 4 ปี 61 อยู่ที่ร้อยละ 2.2 ของกำลังแรงงานรวม เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าเล็กน้อยที่ร้อยละ 2.1 ของกำลังแรงงานรวม

Weekly Financial Indicators

ดัชนี SET สัปดาห์นี้ทรงตัวช่วงต้นสัปดาห์ และปรับเพิ่มขึ้นช่วงกลางสัปดาห์ สอดคล้องกับตลาดหลักทรัพย์อื่นๆ เช่น DAX (เยอรมนี) TWSE (ไต้หวัน) และ KLCI (มาเลเซีย) เป็นต้น ทั้งนี้ ดัชนี SET ณ วันที่ 14 มี.ค. 62 ปิดที่ระดับ 1,635.88 จุด ด้วยมูลค่าซื้อขายเฉลี่ยระหว่างวันที่ 11-14 มี.ค. 62 ที่เพียง 37,940 ล้านบาทต่อวัน ด้วยแรงซื้อสุทธิจากนักลงทุนสถาบันในประเทศ นักลงทุนทั่วไปในประเทศ และนักลงทุนบัญชีบริษัทหลักทรัพย์ ขณะที่นักลงทุนต่างชาติเป็นผู้ขายสุทธิ สำหรับในสัปดาห์หน้ายังคงต้องติดตามนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) และการคาดการณ์เศรษฐกิจสหรัฐฯ ของ Fed ในวันที่ 19-20 มี.ค. 62 ทั้งนี้ ระหว่างวันที่ 11-14 มี.ค. 62 นักลงทุนต่างชาติขายหลักทรัพย์สุทธิ -3,060 ล้านบาท

อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล (อัตราฯ) ระยะสั้นและระยะยาวปรับเพิ่มขึ้น 0-3 bps จากสัปดาห์ก่อน ขณะที่อัตราฯ ระยะกลางบางส่วนปรับลดลง 0-4 bps โดยในสัปดาห์นี้ การประมูลพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปี มีนักลงทุนสนใจ 2.02 เท่าของวงเงินประมูล ทั้งนี้ระหว่างวันที่ 11-14 มี.ค. 62 มีกระแสเงินทุนของนักลงทุนต่างชาติไหลออกจากตลาดพันธบัตรสุทธิ -1,011 ล้านบาท

เงินบาทอ่อนค่าลงจากสัปดาห์ก่อน โดย ณ วันที่ 14 มี.ค. 62 เงินบาทปิดที่ 31.66 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าขึ้นร้อยละ 0.71 จากสัปดาห์ก่อนหน้า สอดคล้องกับเงินสกุลอื่นๆ อาทิ เยน ยูโร ดอลลาร์สิงคโปร์ และหยวน ทั้งนี้ เงินบาทแข็งค่าขึ้นมากกว่าเงินสกุลหลักอื่นๆ หลายสกุล ส่งผลให้ดัชนีค่าเงินบาท (NEER) แข็งค่าขึ้นร้อยละ 0.69

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3253 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ