รายงานภาวะเศรษฐกิจรายสัปดาห์ระหว่างวันที่ 9 - 11 เมษายน 2562

ข่าวเศรษฐกิจ Monday April 22, 2019 14:24 —กระทรวงการคลัง

Executive Summary

Indicators this week
  • ระดับสินทรัพย์สภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์ในเดือน ก.พ. 62 คิดเป็น 1.84 เท่าของสินทรัพย์สภาพคล่องที่ต้องดำรงตามกฎหมาย
  • ปริมาณการจำหน่ายปูนซีเมนต์ภายในประเทศในเดือน มี.ค. 62 หดตัวร้อยละ -10.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
Economic Indicators: This Week

ระดับสินทรัพย์สภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์ในเดือน ก.พ. 62 คิดเป็น 1.84 เท่าของสินทรัพย์สภาพคล่องที่ต้องดำรงตามกฎหมาย โดยยอดคงค้างสินทรัพย์สภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์ทั้งระบบในเดือนดังกล่าวอยู่ที่ 3.9 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า ทั้งนี้ ธปท. ได้ปรับเกณฑ์การดำรงสินทรัพย์สภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์จากเกณฑ์เดิมที่ต้องดำรงสินทรัพย์สภาพคล่องไม่ต่ำกว่าร้อยละ 6 ของเงินรับฝากเป็นไม่ต่ำกว่า ร้อยละ 100 (หรือ 1.0 เท่า) ของประมาณการกระแสเงินสดไหลออกสุทธิในสภาวะวิกฤต (Liquidity Coverage Ratio: LCR) ตั้งแต่เดือน ม.ค. 59

ปริมาณการจำหน่ายปูนซีเมนต์ภายในประเทศในเดือน มี.ค. 62 หดตัวร้อยละ -10.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และหดตัวร้อยละ -3.7 ต่อเดือน หลังปรับผลทางฤดูกาล ทำให้ในไตรมาสที่ 1 ของปี 62 ปริมาณการจำหน่ายปูนซีเมนต์ภายในประเทศหดตัวร้อยละ -3.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

Global Economic Indicators: This Week

US: mixed signal

การจ้างงานนอกภาคเกษตร เดือน มี.ค. 62 เพิ่มขึ้น 1.96 แสนตำแหน่งจากเดือนก่อนหน้า จากการจ้างงานในหมวดการศึกษาและสุขภาพ บริการทางธุรกิจและวิชาการ และนันทนาการ ที่ปรับเพิ่มขึ้นมาก อย่างไรก็ตาม อัตราการมีส่วนร่วมในกำลังแรงงาน เดือน มี.ค. 62 อยู่ที่ร้อยละ 63.0 ของประชากรวัยแรงงานระดับ ลดลงเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้า ทั้งนี้ อัตราการว่างงาน เดือน มี.ค. 62 ทรงตัวอยู่ที่ร้อยละ 3.8 ของกำลังแรงงานรวม ด้านรายได้เฉลี่ยภาคเอกชน เดือน มี.ค. 62 ปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 951.14 ดอลลาร์สหรัฐต่อสัปดาห์ และอัตราเงินเฟ้อ เดือน มี.ค. 62 อยู่ที่ร้อยละ 1.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากราคาสินค้าในหมวดอาหารและเครื่องดื่ม นันทนาการ การศึกษาและการสื่อสาร และการคมนาคม ที่ปรับตัวสูงขึ้น

China: mixed signal

อัตราเงินเฟ้อ เดือน มี.ค. 62 อยู่ที่ร้อยละ 2.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ร้อยละ 1.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากราคาสินค้าในหมวดอาหาร ยาสูบ และเครื่องดื่มแอลกอฮอร์ หมวดเครื่องนุ่งห่ม และหมวดคมนาคมและการสื่อสาร ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น

Taiwan: worsening economic trend

มูลค่าการส่งออก เดือน มี.ค. 62 หดตัวร้อยละ -4.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หดตัวลดลงจากเดือนก่อนหน้า จากการส่งออกไปยังเกาหลีใต้และสหรัฐฯ ที่ขยายตัวสูงถึงร้อยละ 36.9 และ 32.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ตามลำดับ ขณะที่มูลค่าการนำเข้าขยายตัวร้อยละ 6.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อน สวนทางกับเดือนก่อนหน้าที่หดตัว ส่งผลให้เกินดุลการค้า 3.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เกินดุลลดลงจากเดือนก่อนหน้า และอัตราเงินเฟ้อ เดือน มี.ค. 62 อยู่ที่ร้อยละ 0.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า

UK: improving economic trend

ผลผลิตอุตสาหกรรม เดือน ก.พ. 62 ขยายตัวร้อยละ 0.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน สวนทางกับเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -0.3 จากผลผลิตในหมวดสินค้าคงทนที่ขยายตัวร้อยละ 3.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้า ด้านมูลค่าการส่งออก เดือน ก.พ. 62 ขยายตัวร้อยละ 6.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน สวนทางกับเดือนก่อนหน้าที่หดตัว มูลค่าการนำเข้า เดือน ก.พ. 62 ขยายตัวร้อยละ 15.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้า ส่งผลให้ขาดดุลการค้าที่ 1.4 หมื่นล้านปอนด์ ขาดดุลลดลงจากเดือนก่อนหน้า

Japan: worsening economic trend

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือน มี.ค. 62 อยู่ที่ระดับ 40.5 จุด ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 41.2 จุด อยู่ในระดับต่ำสุดในรอบ 29 เดือน

Eurozone: mixed signal

เมื่อวันที่ 10 เม.ย. 62 ธนาคารกลางยุโรปมีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 0.0 ต่อปี และคาดว่าจะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไปจนถึงสิ้นปี 62

Australia: improving economic trend

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือน เม.ย. 62 อยู่ที่ระดับ 100.7 จุด เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 98.8 จุด จากมาตรการผ่อนคลายทางภาษีของรัฐบาลเป็นปัจจัยสำคัญ

South Korea: worsening economic trend

อัตราการว่างงาน เดือน มี.ค. 62 อยู่ที่ร้อยละ 3.8 ของกำลังแรงงานรวม เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ร้อยละ 3.7 ของกำลังแรงงานรวม

Malaysia: worsening economic trend

ผลผลิตอุตสาหกรรม เดือน ก.พ. 62 ขยายตัวร้อยละ 1.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 3.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน

Philippines: mixed signal

มูลค่าการส่งออก เดือน ก.พ. 62 หดตัวร้อยละ -0.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หดตัวลดลงจากเดือนก่อนหน้า ด้านมูลค่าการนำเข้า เดือน ก.พ. 62 ขยายตัวร้อยละ 2.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้า ส่งผลให้ขาดดุลการค้าที่ 2.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ขาดดุลลดลงจากเดือนก่อนหน้า

Indonesia: worsening economic trend

ยอดค้าปลีก เดือน มี.ค. 62 ขยายตัวร้อยละ 8.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 9.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เป็นผลจากยอดค้าปลีกหมวดพลังงานที่หดตัวเล็กน้อย

Weekly Financial Indicators

ดัชนี SET ในสัปดาห์นี้ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน สอดคล้องกับตลาดหลักทรัพย์อื่นๆ เช่น CSI300 (จีน) STI (สิงคโปร์) และ TWSE (ไต้หวัน) เป็นต้น ทั้งนี้ ดัชนี SET ณ วันที่ 10 เม.ย. 62 ปิดที่ระดับ 1,662.13 จุด ด้วยมูลค่าซื้อขายเฉลี่ยระหว่างวันที่ 9-10 เม.ย. 62 ที่ 43,942 ล้านบาทต่อวัน โดยนักลงทุนสถาบันในประเทศ นักลงทุนบัญชีบริษัทหลักทรัพย์ และนักลงทุนต่างชาติเป็นผู้ซื้อสุทธิ ขณะที่นักลงทุนทั่วไปในประเทศเป็นผู้ขายสุทธิ ทั้งนี้ ยังคงต้องติดตามตัวเลขผลการดำเนินงานในไตรมาสที่ 1 ปี 62 ของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ทั้งนี้ ระหว่างวันที่ 9-10 เม.ย. 62 นักลงทุนต่างชาติซื้อหลักทรัพย์สุทธิ 4,930 ล้านบาท

อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล (อัตราฯ) ระยะสั้นและระยะกลางส่วนใหญ่ปรับลดลง 0-3 bps ขณะที่อัตราฯ ระยะยาวปรับเพิ่มขึ้น 0-3 bps จากสัปดาห์ก่อน โดยในสัปดาห์นี้ไม่มีการประมูลตั๋วเงินคลังหรือพันธบัตรรัฐบาล ทั้งนี้ระหว่างวันที่ 9-10 เม.ย. 62 มีกระแสเงินทุนของนักลงทุนต่างชาติไหลออกจากตลาดพันธบัตรสุทธิ -7,599 ล้านบาท

เงินบาทอ่อนค่าลงจากสัปดาห์ก่อน โดย ณ วันที่ 10 เม.ย. 62 เงินบาทปิดที่ 31.83 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าลงร้อยละ -0.25 จากสัปดาห์ก่อนหน้า สอดคล้องกับเงินสกุลอื่นๆ อาทิ ริงกิต และวอน ขณะที่เงินเยน ยูโร ดอลลาร์สิงคโปร์ และหยวน แข็งค่าขึ้น ทั้งนี้ เงินบาทอ่อนค่าลงมากกว่าเงินสกุลหลักอื่นๆ ส่งผลให้ดัชนีค่าเงินบาท (NEER) อ่อนค่าลงร้อยละ -0.32

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3253 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ