รายงานภาวะเศรษฐกิจการคลังประจำเดือนมีนาคม 2562 และไตรมาสที่ 1 ปี 2562

ข่าวเศรษฐกิจ Monday April 29, 2019 14:56 —กระทรวงการคลัง

“เศรษฐกิจไทยในเดือนมีนาคม 2562 และไตรมาสที่ 1 ปี 2562 มีสัญญาณแผ่วตัวลง จากอุปสงค์ภายนอกเป็นสำคัญ เนื่องจากการหดตัวของการส่งออกสินค้าตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกและการชะลอตัวของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศ ในขณะที่อุปสงค์ภายในประเทศยังสามารถขยายตัวได้ต่อเนื่อง โดยเฉพาะในด้านการบริโภคภาคเอกชนจากยอดจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มและปริมาณจำหน่ายรถยนต์นั้ง อย่างไรก็ตาม การลงทุนภาคเอกชนมีสัญาณชะลอตัวโดยเฉพาะในหมวดเครื่องมือเครื่องจักรสะท้อนจากปริมาณนำเข้าสินค้าทุน ในขณะที่เสถียรภาพเศรษฐกิจภายในและภายนอกประเทศยังอยู่ในระดับมั่นคง”

นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง พร้อมด้วยนายพิสิทธิ์ พัวพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค ในฐานะรองโฆษกสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เปิดเผยรายงานภาวะเศรษฐกิจการคลังประจำเดือนมีนาคม 2562 และไตรมาสที่ 1 ปี 2562 ว่า “เศรษฐกิจไทยในเดือนมีนาคม 2562 และไตรมาสที่ 1 ปี 2562 มีสัญญาณแผ่วตัวลง จากอุปสงค์ภายนอกเป็นสำคัญ เนื่องจากการหดตัวของการส่งออกสินค้าตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกและการชะลอตัวของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศ ในขณะที่อุปสงค์ภายในประเทศยังสามารถขยายตัวได้ต่อเนื่อง โดยเฉพาะในด้านการบริโภคภาคเอกชนจากยอดจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มและปริมาณจำหน่ายรถยนต์นั้ง อย่างไรก็ตาม การลงทุนภาคเอกชนมีสัญาณชะลอตัวโดยเฉพาะในหมวดเครื่องมือเครื่องจักรสะท้อนจากปริมาณนำเข้าสินค้าทุน ในขณะที่เสถียรภาพเศรษฐกิจภายในและภายนอกประเทศยังอยู่ในระดับมั่นคง” โดยมีรายละเอียดสรุปได้ดังนี้

เครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคภาคเอกชนในเดือนมีนาคม และไตรมาสที่ 1 ปี 2562 ปรับตัวดีขึ้น โดยภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ขยายตัวร้อยละ 2.2 ทำให้ไตรมาสที่ 1 ปี 2562 ภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ขยายตัวร้อยละ 1.7 ขณะที่การบริโภคสินค้าคงทนสะท้อนจากปริมาณการจำหน่ายรถยนต์นั่งขยายตัวเร่งขึ้นที่ร้อยละ 15.2 ทำให้ไตรมาสที่ 1 ปี 2562 ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์นั้งขยายตัวที่ร้อยละ 13.9 เช่นเดียวกันกับปริมาณรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ขยายตัวเร่งขึ้นที่ร้อยละ 2.3 คาดว่าเป็นจากนโยบายส่งเสริมการขายของผู้ผลิต ปริมาณการนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภค กลับมาขยายตัวร้อยละ 4.9 ทำให้ปริมาณการนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคไตรมาสที่ 1 ปี 2562 ขยายตัวที่ร้อยละ 0.7 สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวมอยู่ที่ระดับ 67.6 ปรับตัวลงเล็กน้อย อย่างไรก็ตามดัชนีดังกล่าว ณ ไตรมาสที่ 1 ปี 2562 อยู่ที่ 68.1 ปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาสที่แล้ว

เครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการลงทุนภาคเอกชนในเดือนมีนาคม 2562 และไตรมาสที่ 1 ปี2562 ส่งสัญญาณชะลอตัวจากเครื่องชี้การลงทุนหมวดเครื่องมือเครื่องจักร สะท้อนจากปริมาณจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ขยายตัวชะลอลงที่ร้อยละ 4.6 ส่งผลให้ไตรมาสที่ 1 ปี 2562 ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ยังคงขยายตัวได้ที่ร้อยละ 9.5 ขณะที่การลงทุนในหมวดก่อสร้าง สะท้อนจากปริมาณจำหน่ายปูนซีเมนต์ภายในประเทศ หดตัวที่ร้อยละ -10.3 ภาษีการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์หดตัวลงเล็กน้อยที่ร้อยละ -1.6 จากการหดตัวในหมวดภาษีหัก ณ ที่จ่ายจากการขายอสังหาริมทรัพย์ ร้อยละ -17.0 เป็นสำคัญ อย่างไรก็ตามดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างในเดือนมีนาคม 2562 กลับมาขยายตัวที่ร้อยละ 0.3 โดยมีสาเหตุสำคัญจากการขยายตัวของดัชนีราคาหมวดไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ และราคาผลิตภัณฑ์คอนกรีตก็ขยายตัวตามราคาปูนซีเมนต์ที่เพิ่มขึ้น

อุปสงค์จากต่างประเทศในเดือนมีนาคม 2562 และไตรมาสที่ 1 ปี 2562 สะท้อนจากการส่งออกสินค้าส่งสัญญาณหดตัว โดยมูลค่าการส่งออกสินค้าในเดือนมีนาคม 2562 มีมูลค่าเท่ากับ 21.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หดตัวร้อยละ -4.9 มาจากการหดตัวการส่งออกสินค้าอาทิ HDD แผงวงจรไฟฟ้า เครื่องจักรกล และน้ำมันสำเร็จรูป อย่างไรก็ตาม กลุ่มสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร ยังขยายตัวได้ดีต่อเนื่อง ส่วนกลุ่มสินค้าอุตสาหกรรมที่ขยายตัวเป็นบวกได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องใช้ไฟฟ้า โดยตลาดส่งออกสำคัญที่ขยายตัวได้ดี ได้แก่ ญี่ปุ่น เวียดนาม อินเดีย และสหราชอาณาจักร อย่างไรก็ตามไตรมาสที่ 1 ปี 2562 มูลค่าการส่งออกสินค้าหดตัวร้อยละ -1.6 ส่วนการนำเข้าสินค้ามีมูลค่าอยู่ที่ 19.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หดตัวร้อยละ -7.6 สาเหตุมาจากการนำเข้าเครื่องบินและทองคำที่ลดลง ทำให้มูลค่าการนำเข้าไตรมาสที่ 1 ปี 2562 หดตัวเฉลี่ยร้อยละ -1.2 ทั้งนี้ ดุลการค้าในเดือนนี้ยังคงเกินดุลจำนวน 2.0 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และทำให้ดุลการค้าในไตรมาสที่ 1 ปี 2562 ยังคงเกินดุลจำนวน 2.0 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

เครื่องชี้เศรษฐกิจไทยด้านอุปทานในเดือนมีนาคม 2562 ส่งสัญญาณชะลอตัว โดยเครื่องชี้เศรษฐกิจภาคการเกษตรสะท้อนจากดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตร หดตัวร้อยละ -1.9 โดยปัจจัยหลักในการหดตัวมาจากการหดตัวของสินค้าเกษตรในหมวดพืชผลสำคัญที่ อย่างไรก็ ตามสินค้าหมวดปศุสัตว์และหมวดประมงยังคงขยายตัว ทำให้ไตรมาสที่ 1 ปี 2562 ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรยังคงขยายตัวที่ร้อยละ 0.4 สำหรับจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เดินทางเข้าประเทศไทยมีจำนวน 3.47 ล้านคน หดตัวเล็กน้อยร้อยละ -0.7 ซึ่งเป็นผลจากจำนวนนักท่องเที่ยวชาวจีนที่หดตัว อย่างไรก็ดีนักท่องเที่ยวประเทศอื่นยังคงขยายตัวได้ดี ได้แก่ นักท่องเที่ยวอินเดีย ญี่ปุ่น และมาเลเซีย ทำให้ในไตรมาสที่ 1 ปี 2562 มีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ 10.8 ล้านคน ขยายตัวร้อยละ 1.8 สำหรับรายได้จากการท่องเที่ยวจากนักท่องเที่ยวต่างประเทศในเดือนมีนาคม 2562 มีมูลค่าเท่ากับ 184,451 ล้านบาท หดตัวร้อยละ -1.3 โดยเป็นการหดตัวของรายได้จากนักท่องเที่ยวชาวสวีเดน ขณะที่รายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ขยายตัวได้ดี อาทิ รายได้ของนักท่องเที่ยวอินเดีย ญี่ปุ่น และจีน ทำให้ในไตรมาสที่ 1 ปี 2562 มีรายได้จากการท่องเที่ยวรวมทั้งสิ้น 573,798 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 0.4 ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมอยู่ที่ระดับ 115.7 หดตัวที่ร้อยละ -2.5 ทำให้ไตรมาสที่ 1 ปี 2562 ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมอยู่ที่ระดับ 109.88 หดตัวร้อยละ -1.1 อย่างไรก็ตามดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม (TISI) อยู่ที่ระดับ 96.3 ปรับตัวสูงขึ้นจากเดือนก่อนหน้า

เสถียรภาพเศรษฐกิจภายในประเทศในเดือนมีนาคม 2562 และไตรมาสที่ 1 ปี 2562 ยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ร้อยละ 1.2 ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ร้อยละ 0.6 ทำให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไป และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน ณ ไตรมาสที่ 1 ปี 2562 อยู่ที่ร้อยละ 0.7 และร้อยละ 0.6ตามลำดับ สำหรับอัตราการว่างงานอยู่ที่ร้อยละ 0.9 ของกำลังแรงงานทั้งหมด ทำให้อัตราการว่างงานในไตรมาสที่ 1 ปี 2562 ลดลงไปอยู่ที่ร้อยละ 0.9 สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ณ สิ้นเดือนกุมภาพันธ์ 2562 อยู่ที่ร้อยละ 41.9 ต่อ GDP ซึ่งอยู่ภายใต้กรอบวินัยการเงินการคลังที่ตั้งเพดานไว้ไม่เกินร้อยละ 60 ต่อ GDP สำหรับเสถียรภาพภายนอกยังอยู่ในระดับมั่นคง และสามารถรองรับความเสี่ยงจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลกได้ สะท้อนจากทุนสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นเดือนมีนาคม ไตรมาสที่ 1 ปี 2562 อยู่ในระดับสูงที่จำนวน 212.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

เอกสารแนบ

“เศรษฐกิจไทยในเดือนมีนาคม 2562 และไตรมาสที่ 1 ปี 2562 มีสัญญาณแผ่วตัวลง จากอุปสงค์ภายนอกเป็นสำคัญ เนื่องจากการหดตัวของการส่งออกสินค้าตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกและการชะลอตัวของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศ ในขณะที่อุปสงค์ภายในประเทศยังสามารถขยายตัวได้ต่อเนื่อง โดยเฉพาะในด้านการบริโภคภาคเอกชนจากยอดจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มและปริมาณจำหน่ายรถยนต์นั้ง อย่างไรก็ตาม การลงทุนภาคเอกชนมีสัญาณชะลอตัวโดยเฉพาะในหมวดเครื่องมือเครื่องจักรสะท้อนจากปริมาณนำเข้าสินค้าทุน ในขณะที่เสถียรภาพเศรษฐกิจภายในและภายนอกประเทศยังอยู่ในระดับมั่นคง”

1. เครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคภาคเอกชนในเดือนมีนาคม และไตรมาสที่ 1 ปี 2562 ปรับตัวดีขึ้น สะท้อนจากรายได้จากการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ปริมาณจำหน่ายรถยนต์นั่ง และปริมาณรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ โดยภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ขยายตัวร้อยละ 2.2 ต่อปี และเมื่อปรับผลทางฤดูกาลออก (m-o-m SA) พบว่า หดตัวชะลอลงที่ร้อยละ -1.8 ต่อเดือน ทำให้ไตรมาสที่ 1 ปี 2562 ภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ขยายตัวร้อยละ 1.7 ขณะที่การบริโภคสินค้าคงทนสะท้อนจากปริมาณการจำหน่ายรถยนต์นั่งขยายตัวเร่งขึ้นที่ร้อยละ 15.2 ต่อปีและเมื่อปรับผลทางฤดูกาลออก (m-o-m SA) พบว่าขยายตัวร้อยละ 5.2 ต่อเดือน ทำให้ไตรมาสที่ 1 ปี 2562 ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์นั้งขยายตัวที่ร้อยละ 13.9 ตามเช่นเดียวกันกับปริมาณรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ขยายตัวเร่งขึ้นที่ร้อยละ 2.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่เมื่อปรับผลทางฤดูกาลออก (m-o-m SA) พบว่าขยายตัวร้อยละ 0.9 ทำให้ไตรมาสที่ 1 ปี 2562 ปริมาณรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่หดตัวเพียงร้อยละ 0.1 ปริมาณการนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภค กลับมาขยายตัวร้อยละ 4.9 และเมื่อปรับผลทางฤดูกาลออก (m-o-m SA) พบว่าขยายตัวร้อยละ 4.8 ต่อเดือน ทำให้ปริมาณการนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคไตรมาสที่ 1 2562 ขยายตัวที่ร้อยละ 0.7 สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวมอยู่ที่ระดับ 67.6 ปรับตัวลงเล็กน้อย อย่างไรก็ตามดัชนีดังกล่าว ณ ไตรมาสที่ 1 ปี 2562 อยู่ที่ 68.1 ปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาสที่แล้ว

2. เครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการลงทุนภาคเอกชนในเดือนมีนาคม 2562 และไตรมาสที่ 1 ปี2562 ส่งสัญญาณชะลอตัวจากเครื่องชี้การลงทุนหมวดเครื่องมือเครื่องจักร สะท้อนจากปริมาณจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ขยายตัวชะลอลงที่ร้อยละ 4.6 และเมื่อปรับผลทางฤดูกาล (m-o-m SA) พบว่าขยายตัวร้อยละ 0.1 ต่อเดือน ตามยอดจำหน่ายรถกระบะขนาด 1 ตันที่ขยายตัวร้อยละ 7.9 ส่งผลให้ไตรมาสที่ 1 ปี 2562 ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ยังคงขยายตัวได้ที่ร้อยละ 9.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่การลงทุนในหมวดก่อสร้าง สะท้อนจากปริมาณจำหน่ายปูนซีเมนต์ภายในประเทศ หดตัวที่ร้อยละ -10.3 และเมื่อปรับผลทางปรับผลทางฤดูกาล (m-o-m SA) หดตัวร้อยละ -3.7 ภาษีการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์หดตัวลงเล็กน้อยที่ร้อยละ -1.6 และหดตัวที่ร้อยละ -7.5 ต่อเดือนหลังปรับผลทางฤดูกาล จากการหดตัวในหมวดภาษีหัก ณ ที่จ่ายจากการขายอสังหาริมทรัพย์ ร้อยละ -17.0 เป็นสำคัญ อย่างไรก็ตามดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างในเดือนมีนาคม 2562 กลับมาขยายตัวที่ร้อยละ 0.3 โดยมีสาเหตุสำคัญจากการขยายตัวของดัชนีราคาหมวดไม้และผลิตภัณฑ์ไม้เนื่องไม้นำเข้ามีราคาสูงขึ้น ขณะเดียวกันราคาผลิตภัณฑ์คอนกรีตก็ขยายตัวร้อยละ 2.0 ตามราคาปูนซีเมนต์ที่เพิ่มขึ้น

3. การใช้จ่ายงบประมาณ สะท้อนจากการเบิกจ่ายงบประมาณรวม ในเดือนมีนาคม 2562 เบิกจ่ายได้จำนวน 225.1 พันล้านบาท โดยเป็นการเบิกจ่ายจากงบประมาณปีปัจจุบันจำนวน 200.7 พันล้านบาท แบ่งเป็นการเบิกจ่ายประจำ 159.9 พันล้านบาท และรายจ่ายลงทุน 40.8 พันล้านบาท และเป็นการเบิกจ่ายจากงบประมาณปีก่อน 24.5 พันล้านบาท ทำให้ในไตรมาสที่ 2 ปีงบประมาณ 2561 มีการเบิกจ่ายงบประมาณรวมทั้งสิ้น 730.2 พันล้านบาท โดยเป็นการเบิกจ่ายงบประมาณปีปัจจุบันจำนวน 669.2 พันล้านบาท แบ่งเป็นรายจ่ายประจำ 569.0 พันล้านบาท รายจ่ายลงทุน 100.2 พันล้านบาท และเป็นการเบิกจ่ายจากรายจ่ายปีก่อน 61.0 พันล้านบาท

4. อุปสงค์จากต่างประเทศในเดือนมีนาคม 2562 และไตรมาสที่ 1 ปี 2562 สะท้อนจากการส่งออกสินค้าส่งสัญญาณหดตัวอันมีสาเหตุหลักมาจากการหดตัวของสินค้าในหมวดอุตสาหกรรม โดยมูลค่าการส่งออกสินค้าในเดือนมีนาคม 2562 มีมูลค่าเท่ากับ 21.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หดตัวร้อยละ -4.9 ซึ่งส่วนประกอบของการหดตัวถึงร้อยละ -4.8 มาจากการหดตัวการส่งออกสินค้าอาทิ HDD แผงวงจรไฟฟ้า เครื่องจักรกล และน้ำมันสำเร็จรูป เป็นหลัก อย่างไรก็ ตามกลุ่มสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร ยังขยายตัวได้ดีต่อเนื่อง ส่วนกลุ่มสินค้าอุตสาหกรรม ที่ขยายตัวเป็นบวก อาทิ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องใช้ไฟฟ้า โดยตลาดส่งออกสำคัญที่ขยายตัวได้ดี ได้แก่ ญี่ปุ่น เวียดนาม อินเดีย และสหราชอาณาจักร เป็นต้น อย่างไรก็ตามไตรมาสที่ 1 ปี 2562 มูลค่าการส่งออกสินค้าหดตัวร้อยละ -1.6 ส่วนการนำเข้าสินค้ามีมูลค่าอยู่ที่ 19.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หดตัวร้อยละ -7.6 สาเหตุมาจากการนำเข้าเครื่องบินและทองคำที่ลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ทำให้มูลค่าการนำเข้าไตรมาสที่ 1 ปี 2562 หดตัวเฉลี่ยร้อยละ -1.2 ทั้งนี้ ดุลการค้าในเดือนนี้ยังคงเกินดุลจำนวน 2.0 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และทำให้ดุลการค้าในไตรมาสที่ 1 ปี 2562 ยังคงเกินดุลจำนวน 2.0 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

5. เครื่องชี้เศรษฐกิจไทยด้านอุปทานในเดือนมีนาคม 2562 ภาคเกษตรยังคงทรงตัว ขณะที่ภาคการท่องเที่ยวต่างชาติยังขยายตัวได้ และภาคอุตสาหกรรมชะลอลงเล็กน้อย โดยเครื่องชี้เศรษฐกิจภาคการเกษตรสะท้อนจากดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตร หดตัวร้อยละ -1.9 โดยปัจจัยหลักในการหดตัวมาจากการหดตัวของสินค้าเกษตรในหมวดพืชผลสำคัญที่หดตัวร้อยละ -2.9 อย่างไรก็ตาม สินค้าหมวดปศุสัตว์และหมวดประมงขยายตัวที่ร้อยละ 1.4 และร้อยละ 1.9 ตามลำดับ ทำให้ไตรมาสที่ 1 ปี 2562 ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรยังคงขยายตัวที่ร้อยละ 0.4 สำหรับจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เดินทางเข้าประเทศไทยมีจำนวน 3.47 ล้านคน หดตัวเล็กน้อยร้อยละ -0.7 และเมื่อปรับผลทางฤดูกาลออก (m-o-m SA) พบว่าหดตัวร้อยละ -0.8 ต่อเดือน ซึ่งเป็นผลจากจำนวนนักท่องเที่ยวชาวจีนที่หดตัวลงร้อยละ -1.87 เป็นสำคัญ อย่างไรก็ดีนักท่องเที่ยวประเทศอื่นยังคงขยายตัวได้ดี ได้แก่ นักท่องเที่ยวอินเดีย ญี่ปุ่น และมาเลเซีย ที่ขยายตัวร้อยละ 34.7 9.3 และ 5.4 ตามลำดับ ทำให้ในไตรมาสที่ 1 ปี 2562 มีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ 10.8 ล้านคน ขยายตัวร้อยละ 1.8 สำหรับรายได้จากการท่องเที่ยวจากนักท่องเที่ยวต่างประเทศในเดือนมีนาคม 2562 มีมูลค่าเท่ากับ 184,451 ล้านบาท หดตัวร้อยละ -1.3 โดยเป็นการหดตัวของรายได้จากนักท่องเที่ยวชาวสวีเดน ที่หดตัวร้อยละ -24.6 ขณะที่รายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ขยายตัวได้ดี อาทิ รายได้ของนักท่องเที่ยวอินเดีย ญี่ปุ่น และจีน ที่ขยายตัวร้อยละ 37.4 11.5 และ 1.1 ตามลำดับ ทำให้ในไตรมาสที่ 1 ปี 2562 มีรายได้จากการท่องเที่ยวรวมทั้งสิ้น 573,798 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 0.4 ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมอยู่ที่ระดับ 115.7 หดตัวที่ร้อยละ -2.5 ทำให้ไตรมาสที่ 1 ปี 2562 ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมอยู่ที่ระดับ 109.88 หดตัวร้อยละ -1.1 อย่างไรก็ตาม ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม (TISI) อยู่ที่ระดับ 96.3 ปรับตัวสูงขึ้นจากเดือนก่อนหน้า

6. เสถียรภาพเศรษฐกิจภายในประเทศในเดือนมีนาคม 2562 และไตรมาสที่ 1 ปี 2562 ยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ร้อยละ 1.2 เร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้าตามราคาอาหารสดและราคาพลังงาน ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ร้อยละ 0.6 ทำให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไป และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน ณ ไตรมาสที่ 1 ปี 2562 อยู่ที่ร้อยละ 0.7 และร้อยละ 0.6 ตามลำดับ สำหรับอัตราการว่างงานอยู่ที่ร้อยละ 0.9 ของกำลังแรงงานทั้งหมด คิดเป็นจำนวนผู้ว่างงาน 3.5 แสนคน เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนผู้ว่างงานลดลง 9.4 หมื่นคน ทำให้อัตราการว่างงานในไตรมาสที่ 1 ปี 2562 ลดลงไปอยู่ที่ร้อยละ 0.9 สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ณ สิ้นเดือนกุมภาพันธ์ 2562 อยู่ที่ร้อยละ 41.9 ต่อ GDP ซึ่งอยู่ภายใต้กรอบวินัยการเงินการคลังที่ตั้งเพดานไว้ไม่เกินร้อยละ 60 ต่อ GDP ตามพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 สำหรับเสถียรภาพภายนอกยังอยู่ในระดับมั่นคง และสามารถรองรับความเสี่ยงจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลกได้ สะท้อนจากทุนสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นเดือนมีนาคม ไตรมาสที่ 1 ปี 2562 อยู่ในระดับสูงที่จำนวน 212.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

ฉบับที่ 27/2562

วันที่ 29 เมษายน 2562

ที่มา: สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ