รายงานภาวะเศรษฐกิจรายสัปดาห์ระหว่างวันที่ 8 - 12 กรกฎาคม 2562

ข่าวเศรษฐกิจ Monday July 15, 2019 16:31 —กระทรวงการคลัง

Executive Summary

Indicators this week
  • ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยโดยรวม ในเดือน มิ.ย. 62 ปรับตัวลดลงจากระดับ 64.8 ในเดือนก่อน มาอยู่ที่ระดับ 63.4
  • ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม (TISI) เดือน มิ.ย. 62 ปรับตัวลดลงจากระดับ 95.9 ในเดือนก่อน มาอยู่ที่ระดับ 94.5
  • ระดับสินทรัพย์สภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์ในเดือนพ.ค. 62 คิดเป็น 1.73 เท่าของสินทรัพย์สภาพคล่องที่ต้องดำรงตามกฎหมาย
  • ปริมาณการจำหน่ายปูนซีเมนต์ภายในประเทศในเดือน มิ.ย. 62 หดตัวร้อยละ -3.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
  • GDP ของสิงคโปร์ ไตรมาสที่ 2 ปี 62 (เบื้องต้น) ขยายตัวที่ ร้อยละ 0.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
Economic Indicators: This Week

ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยโดยรวมของ ม.หอการค้าไทย ในเดือน มิ.ย. 62 ปรับตัวลดลงจากระดับ 64.8 ในเดือนก่อน มาอยู่ที่ระดับ 63.4 ปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 และเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 21 เดือน นับตั้งแต่เดือน ต.ค. 60 เนื่องจากผู้บริโภคมีความกังวลเกี่ยวกับเสถียรภาพทางการเมืองในอนาคต นอกจากนี้ ผู้บริโภคยังมีความกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจไทยที่ยังฟื้นตัวช้าและกำลังซื้อของประชาชนยังไม่ฟื้นตัวขึ้นมากนัก ประกอบกับสถานการณ์ไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลกเนื่องจากสงครามการค้าที่ส่งผลกระทบในเชิงลบต่อการส่งออกและเศรษฐกิจไทย

ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม (TISI) เดือนมิ.ย. 62 ปรับตัวลดลงจากเดือน พ.ค. จากที่ระดับ 95.9 มาอยู่ที่ระดับ 94.5 โดยปัจจัยหลักที่ทำให้ความเชื่อมั่นเดือนนี้ปรับตัวลดลง เนิ่องจากผู้ประกอบการมีความกังวลเกี่ยวกับการเมืองที่มีการจัดตั้งรัฐบาลที่ล่าช้าอาจจะส่งผลต่อการดำเนินนโยบายภาครัฐ และการใช้จ่ายงบประมาณที่ชะลอตัว นอกจากนี้ ผู้ประกอบการมีความกังวลของเศรษฐกิจโลกที่อาจชะลอตัวลง จากความเสี่ยงความขัดแย้งทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนที่ยืดเยื้อ ขณะที่ความเชื่อมั่นคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าปรับตัวลดลงจากเดือนก่อนหน้าอยู่ที่ระดับ 101.3 จากเดือน พ.ค. ที่อยู่ระดับ 102.9

ระดับสินทรัพย์สภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์ในเดือน พ.ค. 62 คิดเป็น 1.73 เท่าของสินทรัพย์สภาพคล่องที่ต้องดำรงตามกฎหมาย โดยยอดคงค้างสินทรัพย์สภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์ทั้งระบบในเดือนดังกล่าวอยู่ที่ 3.9 ล้านล้านบาท ลดลงจากเดือนก่อนหน้า ทั้งนี้ ธปท. ได้ปรับเกณฑ์การดำรงสินทรัพย์สภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์จากเกณฑ์เดิมที่ต้องดำรงสินทรัพย์สภาพคล่องไม่ต่ำกว่าร้อยละ 6 ของเงินรับฝากเป็นไม่ต่ำกว่า ร้อยละ 100 (หรือ 1.0 เท่า) ของประมาณการกระแสเงินสดไหลออกสุทธิในสภาวะวิกฤต (Liquidity Coverage Ratio: LCR) ตั้งแต่เดือน ม.ค. 59

ปริมาณการจำหน่ายปูนซีเมนต์ภายในประเทศในเดือน มิ.ย. 62 หดตัวร้อยละ -3.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน นับเป็นการหดตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 5 แต่ยังคงขยายตัวร้อยละ 0.1 ต่อเดือน เมื่อปรับผลทางฤดูกาล ทำให้ไตรมาสที่ 2 ของปี 62 ปริมาณการจำหน่ายปูนซีเมนต์ภายในประเทศหดตัวร้อยละ -3.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

Global Economic Indicators: This Week

US: improving economic trend

การจ้างงานนอกภาคเกษตร เดือน มิ.ย. 62 เพิ่มขึ้น 2.24 แสนตำแหน่งจากเดือนก่อนหน้า จากการจ้างงานในหมวดการศึกษาและสุขภาพ และบริการทางธุรกิจและวิชาการ ที่ปรับเพิ่มขึ้นมากด้านอัตราการมีส่วนร่วมในกำลังแรงงาน เดือน มิ.ย. 62 อยู่ที่ร้อยละ 62.9 ของประชากรวัยแรงงาน ระดับ เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้า อย่างไรก็ตาม อัตราการว่างงาน เดือน มิ.ย. 62 เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 3.7 ของกำลังแรงงานรวม ด้านรายได้เฉลี่ยภาคเอกชน เดือน มิ.ย. 62 ปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 972.66 ดอลลาร์สหรัฐต่อสัปดาห์ และอัตราเงินเฟ้อ เดือน มิ.ย. 62 อยู่ที่ร้อยละ 1.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ลดลงจากเดือนก่อนหน้า

Japan: worsening economic trend

ผลผลิตอุตสาหกรรม เดือน พ.ค. 62 หดตัวร้อยละ -1.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ลดลงจากเดือนก่อนหน้า จากผลผลิตเหล็กและเหล็กกล้า โลหะประดิษฐ์ และธุรกิจที่ใช้เครื่องจักรที่หดตัวร้อยละ -5.1 -2.2 และ -5.9 ตามลำดับ

UK: worsening economic trend

มูลค่าการส่งออก เดือน พ.ค. 62 ขยายตัวชะลอลงที่ร้อยละ 2.7 จากช่วงเดียวกัน.ปีก่อน โดยสินค้าหมวดเคมีภัณฑ์ และเครื่องจักรซึ่งเป็นสินค้าส่งออกหลักหดตัว และสินค้าหมวดอาหารขยายตัวชะลอลงขณะที่มูลค่าการนำเข้าขยายตัวร้อยละ 0.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้าจากสินค้าหมวดเครื่องจักร และเชื้อเพลิงที่หดตัวลดลง ทำให้ขาดดุลการค้า 9.4 ล้านปอนด์ ด้านผลผลิตอุตสาหกรรม เดือน พ.ค. 62 ขยายตัวเร่งขึ้นที่ร้อยละ 0.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากสินค้าหมวดคงทนเพื่อการอุปโภคบริโภค และพลังงานที่ขยายตัวเร่งขึ้น

South Korea: worsening economic trend

อัตราการว่างงาน เดือน มิ.ย. 62 อยู่ที่ร้อยละ 4.0 กำลังแรงงานรวม ทรงตัวจากเดือนก่อนหน้า มูลค่าการส่งออก เดือน มิ.ย. 62 หดตัวที่ร้อยละ -13.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7 โดยการส่งออกไปยังจีนและสหรัฐฯ หดตัว มูลค่าการนำเข้า หดตัวร้อยละ -11.1 หดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 ส่งผลให้เกินดุลการค้าที่ 4.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

China: mixed signal

อัตราเงินเฟ้อ เดือน มิ.ย. 62 อยู่ที่ร้อยละ 2.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ทรงตัวจากเดือนก่อนหน้า โดยราคาสินค้าหมวดยาสูบและอาหาร และเครื่องนุ่งห่มยังขยายตัวต่อเนื่อง

Taiwan: improving economic trend

มูลค่าการส่งออก เดือน มิ.ย. 62 ขยายตัวร้อยละ 0.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ขยายตัวจากที่หดตัวติดต่อกัน 7 เดือน โดยการส่งออกไปยังจีนขยายตัวเร่งขึ้นจากที่หดตัวในเดือนก่อนหน้า ในขณะที่การส่งออกไปยังสหรัฐฯ ขยายตัวเร่งขึ้นในระดับสูง มูลค่าการนำเข้าขยายตัวที่ร้อยละ 6.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -5.9 ส่งผลให้เกินดุลการค้าที่ 3.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

Indonesia: worsening economic trend

ยอดค้าปลีก เดือน พ.ค. 62 ขยายตัวร้อยละ 2.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากร้อยละ 7.7 ในเดือนก่อนหน้า จากยอดขายสินค้าอะไหล่และส่วนประกอบ อาหาร และเครื่องใช้ไฟฟ้าในครัวเรือนที่ขยายตัวชะลอลง ขณะที่เชื้อเพลิงหดตัว

Malaysia: improving economic trend

อัตราการว่างงาน เดือน พ.ค. 62 อยู่ที่ร้อยละ 3.3 ต่อกำลังแรงงานรวม ลดลงจากเดือนก่อนหน้า ด้านผลผลิตอุตสาหกรรม เดือน พ.ค. 62 ขยายตัวร้อยละ 4.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า จากผลผลิตหมวดเหมืองแร่ที่ขยายตัวเร่งขึ้นขณะที่ยอดค้าปลีก เดือน พ.ค. 62 ขยายตัวเร่งขึ้นที่ร้อยละ 7.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อน โดยยอดขายสินค้าหมวดยานยนต์ที่ขยายตัวเร่งขึ้น และเมื่อวันที่ 9 ก.ค. 62 ธนาคารกลางมาเลเซียประกาศคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ร้อยละ 3.0 ต่อปี

Singapore: worsening economic trend

GDP ไตรมาสที่ 2 ปี 62 (เบื้องต้น) ขยายตัวที่ร้อยละ 0.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากไตรมาสก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 1.1 ด้านยอดค้าปลีกเดือน พ.ค. 62 หดตัวที่ร้อยละ -2.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อน โดยยอดขายสินค้าหมวดเครื่องใช้ในครัวเรือนหดตัวลง

Philippines: worsening economic trend

มูลค่าการส่งออก เดือน พ.ค. 62 ขยายตัวร้อยละ 1.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ทรงตัวจากเดือนก่อนหน้าโดยสินค้าหมวดอิเล็กทรอนิกส์ที่มีสัดส่วนมูลค่าส่งออกสูงสุดขยายตัวเร่งขึ้นขณะที่มูลค่าการนำเข้าหดตัวที่ร้อยละ -5.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้าโดยสินค้าหมวดอุปกรณ์การขนส่ง และเครื่องจักรอุตสาหกรรมหดตัวทำให้ขาดดุลการค้า 3.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

Weekly Financial Indicators

ดัชนี SET ในสัปดาห์นีโดยรวมปรับตัวเพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน โดยเฉพาะในช่วงปลายสัปดาห์ สอดคล้องกับตลาดหลักทรัพย์อื่นๆ ในต่างประเทศ เช่น DJIA (สหรัฐฯ) JCI (อินโดนีเซีย) และ PSEi (ฟิลิปปินส์) เป็นต้นทั้งนี้ ดัชนี SET ณ วันที่ 11 ก.ค. 62 ปิดที่ระดับ 1,740.45 จุด ด้วยมูลค่าซื้อขายเฉลี่ยระหว่างวันที่ 8-11 ก.ค. 62 ถึง 66,350 ล้านบาทต่อวัน โดยนักลงทุนต่างชาติเป็นผู้ซื้อสุทธิ ขณะที่นักลงทุนทั่วไปในประเทศ นักลงทุนสถาบันในประเทศ และนักลงทุนบัญชีบริษัทหลักทรัพย์เป็นผู้ขายสุทธิ ทั้งนี้ สำหรับประเด็นภายในประเทศ ยังคงต้องติดตามการเตรียมแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรีใหม่ และประเด็นระหว่างประเทศโดยเฉพาะด้านการค้าระหว่างประเทศ ทั้งนี้ ระหว่างวันที่ 8-11 ก.ค. 62 นักลงทุนต่างชาติซื้อหลักทรัพย์สุทธิ 5,708 ล้านบาท

อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลระยะสันและระยะกลางปรับเพิ่มขึ้น 0-1 bps ขณะที่พันธบัตรฯ ระยะยาวปรับลดลง 1-5 bps โดยในสัปดาห์นี้ การประมูลพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปี และ 30 ปี มีนักลงทุนสนใจ 2.96 และ 3.70 เท่าของวงเงินประมูล ตามลำดับ ทั้งนี้ระหว่างวันที่ 8-11 ก.ค. 62 มีกระแสเงินทุนของนักลงทุนต่างชาติไหลออกจากตลาดพันธบัตรสุทธิ -16,764 ล้านบาท

เงินบาทแข็งค่าขึ้นเล็กน้อยจากสัปดาห์ก่อน โดย ณ วันที่ 11 ก.ค. 62 เงินบาทปิดที่ 30.60 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าขึ้นร้อยละ 0.05 จากสัปดาห์ก่อนหน้า สอดคล้องกับเงินสกุลอื่นๆ อาทิ เงินริงกิต ดอลลาร์สิงคโปร์ และหยวน ขณะที่เงินเยน ยูโร และวอน อ่อนค่าลง ทั้งนี้ เงินบาทแข็งค่าขึ้นมากกว่าเงินสกุลหลักอื่นๆ ส่งผลให้ดัชนีค่าเงินบาท (NEER) แข็งค่าขึ้นร้อยละ 0.15

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3253 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ