รายงานภาวะเศรษฐกิจรายสัปดาห์ระหว่างวันที่ 28 ตุลาคม - 1 พฤศจิกายน 2562

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday November 7, 2019 14:11 —กระทรวงการคลัง

Executive Summary

Indicators this week
  • ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือน ก.ย. 62 หดตัวที่ร้อยละ -4.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
  • ปริมาณการจำหน่ายเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กรวมภายในประเทศเดือน ก.ย. 62 หดตัวที่ร้อยละ -17.8 ต่อปี
  • อัตราเงินเฟ้อทั่วไป เดือน ต.ค. 62 ขยายตัวร้อยละ 0.11 และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน ขยายตัวที่ร้อยละ 0.44 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • ดุลบัญชีเดินสะพัดเดือน ก.ย. 62 เกินดุล 3,530.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
  • สินเชื่อในสถาบันการเงินเดือน ก.ย. 62 ขยายตัวร้อยละ 3.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • เงินฝากในสถาบันการเงินเดือน ก.ย. 62 ขยายตัวร้อยละ 4.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • GDP ของสหรัฐฯ ไตรมาสที่ 3 ปี 62 ขยายตัวร้อยละ 2.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อน (ตัวเลขเบื้องต้น)
  • GDP ของฮ่องกง ไตรมาสที่ 3 ปี 62 หดตัวที่ร้อยละ -2.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อน (ตัวเลขเบื้องต้น)
Economic Indicators: This Week

ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือน ก.ย. 62 หดตัวที่ร้อยละ -4.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเป็นการหดตัว 5 เดือนติดต่อกัน และเมื่อขจัดผลทางฤดูกาลแล้วหดตัวตัวที่ร้อยละ -1.4 จากเดือนก่อนหน้า ทั้งนี้ ดัชนีฯ มีการหดตัวเกือบทุกอุตสาหกรรมสำคัญ โดยเฉพาะ อุตสาหกรรมน้ำมันปิโตรเลียมที่หดตัวร้อยละ -11.2 สาเหตุจากการหยุดซ่อมบำรุงโรงกลั่น อุตสาหกรรมยานยนต์ที่หดตัวร้อยละ -5.0 จากการหดตัวทั้งการผลิตเพื่อส่งออกและจำหน่ายในประเทศ และอุตสาหกรรมอาหารหดตัวที่ร้อยละ -1.4 ต่อปี รวมไตรมาสที่ 3 ดัชนีฯ หดตัวที่ร้อยละ -4.2 หดตัวเร่งขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -2.5 ส่งผลให้ 9 เดือนแรกปี 62 ดัชนีฯ หดตัวที่ร้อยละ -2.6 ต่อปี ขณะที่อัตราการใช้กำลังการผลิตเดือน ก.ย. อยู่ที่ร้อยละ 63.9 ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ร้อยละ 65.8 ของกำลังการผลิตรวม

ปริมาณการจำหน่ายเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กรวมภายในประเทศเดือน ก.ย. 62 หดตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ -17.8 ต่อปี และเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังปรับผลทางฤดูกาลแล้ว พบว่า หดตัวร้อยละ -7.0 ต่อเดือน โดยมีสาเหตุสำคัญมาจากการหดตัวของเหล็กที่ใช้เป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรม ได้แก่ เหล็กแผ่นรีดร้อนชนิดม้วน และเหล็กแผ่นรีดเย็น หดตัวร้อยละ -30.3 และ -30.0 ต่อปี ตามลำดับ หดตัวตามการชะลอตัวของการส่งออกเช่นเดียวกับเหล็กที่ใช้ในการก่อสร้างที่ชะลอตัวเช่นเดียวกัน ทำให้ในไตรมาส 3 และช่วง 9 เดือนแรกของปี 62 ปริมาณการจำหน่ายเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กรวมภายในประเทศ หดตัวร้อยละ -12.0 และ -7.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนตามลำดับ

อัตราเงินเฟ้อทั่วไป เดือน ต.ค. 62 สูงขึ้นร้อยละ 0.11 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้า เนื่องจากสถานการณ์ราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศมีการปรับตัวลดลงตามราคาตลาดโลก ทั้งนี้ อัตราเงินเฟ้อที่ยังขยายตัวสูงขึ้นเป็นผลมาจากราคาสินค้าหมวดอาหารและเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอร์ปรับตัวสูงขึ้นร้อยละ 2.22 โดยเฉพาะสินค้าข้าว ผลิตภัณฑ์จากแป้ง อาหารสด ข้าวเหนียว ข้าวสารเจ้าและผักสด เมื่อหักอาหารสดและพลังงานออกแล้ว เงินเฟ้อพื้นฐาน ขยายตัวที่ร้อยละ 0.44 ทั้งนี้ เงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ย 10 เดือนแรกของปี 2562 สูงขึ้นร้อยละ 0.74

Economic Indicators: This Week

ดุลบัญชีเดินสะพัดเดือน ก.ย. 62 เกินดุล 3,530.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงจากเดือนก่อนที่เกินดุล 3,990.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยดุลการค้า (ตามระบบ BOP) เกินดุลลดลงมาอยู่ที่ 2,686.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จากมูลค่าการส่งออกที่ลดลงมากกว่ามูลค่าการนำเข้าที่ลดลงจากเดือนก่อนหน้า ขณะที่ดุลบริการ รายได้ และเงินโอนเกินดุลที่ 844.0 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าเล็กน้อย ตามการส่งกลับกำไรและเงินปันผลที่ลดลงจากเดือนก่อน ทั้งนี้ ดุลบัญชีเดินสะพัดในช่วง 9 เดือนแรกของปี 62 เกินดุลรวม 26,406.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

สินเชื่อในสถาบันการเงินเดือน ก.ย. 62 มียอดคงค้าง 18.8 ล้านล้านบาท คิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 3.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หรือขยายตัวร้อยละ 0.2 จากเดือนก่อนหน้า (หลังขจัดผลทางฤดูกาล) โดยสินเชื่อจากธนาคารพาณิชย์และสินเชื่อสถาบันการเงินเฉพาะกิจขยายตัวในอัตราที่ชะลอลง เมื่อแยกประเภทการขอสินเชื่อ พบว่าสินเชื่อเพื่อธุรกิจขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงที่ร้อยละ 2.5 และสินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภคขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงที่ร้อยละ 4.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อน

เงินฝากในสถาบันการเงินเดือน ก.ย. 62 มียอดคงค้าง 20.1 ล้านล้านบาท คิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 4.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หรือหากขจัดผลทางฤดูกาลแล้วจะคิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 0.7 จากเดือนก่อนหน้า โดยสินเชื่อจากธนาคารพาณิชย์ขยายตัวในอัตราเร่งขึ้นที่ร้อยละ 5.1 ขณะที่สินเชื่อสถาบันการเงินเฉพาะกิจขยายตัวในอัตราชะลอลงที่ร้อยละ 5.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ตามลำดับ

Global Economic Indicators: This Week

US: worsening economic trend

GDP ไตรมาสที่ 3 ปี 62 ขยายตัวร้อยละ 2.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อน (ตัวเลขเบื้องต้น) หรือร้อยละ 0.5 จากไตรมาสก่อนหน้า (ขจัดผลทางฤดูกาล) โดยเป็นการขยายตัวที่ชะลอลงจากไตรมาสก่อนหน้า จากการบริโภคภาคเอกชนและการลงทุนภายในประเทศที่ชะลอลงเป็นสำคัญ ด้านดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน ต.ค. 62 อยู่ที่ระดับ 125.9 จุด ลดลงจากเดือนก่อนหน้า และเมื่อวันที่ 29-30 ต.ค. 62 คณะกรรมการนโยบายการเงินสหรัฐฯ (Federal Open Market Committee: FOMC) มีมติ 8-2 เสียง ให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง ระดับ25 bps มาอยู่ที่ร้อยละ 1.50-1.75 ต่อปี

China: mixed signal

ดัชนีฯ (PMI)ภาคอุตสาหกรรม (NBS) เดือน ต.ค. 62 อยู่ที่ระดับ 49.3 จุด ลดลงจากที่ระดับ 49.8 ในเดือนก่อนหน้า โดยดัชนีย่อยหมวดคำสั่งซื้อสินค้าส่งออกลดลง ดัชนีฯ (PMI) ภาคอุตสาหกรรม (Caixin) เดือน ต.ค. 62 อยู่ที่ระดับ 51.7 จุด ปรับตัวสูงขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 51.4 โดยดัชนีย่อยหมวดยอดงานใหม่ขยายตัวเร่งขึ้น สูงที่สุดในรอบ 81 เดือน

Eurozone: mixed signal

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือน ต.ค. 62 อยู่ที่ระดับ -7.6 จุด ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ -6.5 จุด อัตราการว่างงาน เดือน ก.ย. 62 อยู่ที่ร้อยละ 7.5 ต่อกำลังแรงงานรวม ทรงตัวจากเดือนก่อนหน้า .อัตราเงินเฟ้อ(ตัวเลขเบื้องต้น) เดือน ต.ค. 62 อยู่ที่ร้อยละ 0.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ลดลงเล็กน้อยจากร้อยละ 0.8 ในเดือนก่อนหน้า จากราคาสินค้ากลุ่มพลังงานที่ชะลอลง ด้านGDP ไตรมาสที่ 3 (ตัวเลขเบื้องต้น) ปี 62 ขยายตัวร้อยละ 1.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงเล็กน้อยจากไตรมาสก่อนหน้าที่ร้อยละ 1.2

India: worsening economic trend

ดัชนีฯ ภาคอุตสาหกรรม เดือน ต.ค. 62 อยู่ที่ระดับ 50.60 จุด ปรับตัวลดลงจากที่ระดับ 51.4 จุดในเดือนก่อนหน้า

Japan: improving economic trend

ผลผลิตอุตสาหกรรม (เบื้องต้น) เดือน ก.ย. 62 ขยายตัวร้อยละ 1.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อน โดยผลผลิตหมวดธุรกิจที่ใช้เครื่องจักร อุปกรณ์ขนส่งและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่เร่งขึ้น ยอดค้าปลีก เดือน ก.ย. 62 ขยายตัวที่ร้อยละ 9.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้า โดยยอดขายสินค้าหมวดสินค้าทั่วไป อาหารและเครื่องดื่ม ยานยนต์และของใช้ในครัวเรือนเร่งขึ้น อัตราการว่างงาน เดือน ก.ย. 62 อยู่ที่ร้อยละ 2.4 ต่อกำลังแรงงานรวม เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคอย่ที่ระดับร้อยละ 36.3 จุด เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 35.9 จุด และเมื่อวันที่ 31 ต.ค. 62 ธนาคารกลางญี่ปุ่นมีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ -0.1 ต่อปี

South Korea: mixed signal

ผลผลิตอุตสาหกรรม เดือน ก.ย. 62 ขยายตัวร้อยละ 0.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้า ยอดค้าปลีก เดือน ก.ย. 62 ขยายตัวที่ร้อยละ 1.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้า อัตราเงินเฟ้อ เดือน ต.ค. 62 อยู่ที่ร้อยละ 0.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า มูลค่าส่งออก เดือน ต.ค. 62 หดตัวร้อยละ -14.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน โดยมูลค่าส่งออกไปยูโรโซน จีนและญี่ปุ่นที่หดตัว ขณะที่มูลค่านำเข้าหดตัวร้อยละ 14.6 ส่งผลให้เกินดุลการค้า 5.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ดัชนี PMI ภาคอุตสาหกรรม เดือน ต.ค. 62 อยู่ที่ระดับ 48.4 จุด เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า โดยดัชนีย่อยหมวดความเชื่อมั่นภาคธุรกิจเพิ่มขึ้น ขณะที่อุปสงค์และการส่งออกชะลอลง

Malaysia: improving economic trend

ดัชนี PMI รวมเดือน ต.ค. 62 อยู่ที่ 49.3 จุด เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 47.9 จุด โดยการผลิตสินค้า ยอดการสั่งซื้อ และอัตราการจ้างงานเพิ่มสูงขึ้น

Hong Kong: worsening economic trend

GDP ไตรมาสที่ 3 ปี 62 (เบื้องต้น) หดตัวที่ร้อยละ -2.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ลดลงจากไตรมาสก่อนหน้าที่ขยายตัวที่ร้อยละ 0.5 หรือหดตัวที่ร้อยละ -3.2 (ขจัดผลทางฤดูกาล) จากไตรมาสก่อนหน้า ทั้งนี้ เศรษฐกิจฮ่องกงเข้าสู่ภาวะทดทอยเป็นครั้งแรงนับตั้งแต่ปี 52

Indonesia: worsening economic trend

ดัชนี PMI รวมเดือน ต.ค. 62 อยู่ที่ 47.7 จุด ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 49.1 จุด เป็นการลดระดับลงอย่างต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 จากผลผลิตสินค้า และยอดการสั่งซื้อที่ลดลง อัตราเงินเฟ้อ เดือน ต.ค. 62 อยู่ที่ร้อยละ 3.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้า จากราคาสินค้าทุกหมวดที่ลดลง ยกเว้นหมวดการศึกษาที่ทรงตัว

Australia: worsening economic trend

อัตราเงินเฟ้อ ไตรมาสที่ 3 ปี 62 อยู่ที่ร้อยละ 1.7 เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อน ขณะที่ ดัชนีฯ ภาคอุตสาหกรรม เดือน ต.ค. 62 อยู่ที่ระดับ 51.6 จุด ลดลงต่ำที่สุดในรอบ 3 เดือน จากคำสั่งซื้อใหม่และสินค้าคงคลังที่ลดลง

Taiwan: worsening economic trend

ดัชนีฯ (PMI) ภาคอุตสาหกรรม เดือน ต.ค. 62 อยู่ที่ระดับ 49.8 จุด ปรับตัวลดลงจากที่ระดับ 50.0 จุดในเดือนก่อนหน้า สะท้อนถึงเศรษฐกิจภาคการผลิตที่หดตัว โดยดัชนีย่อยหมวดยอดงานใหม่หดตัวลง

Vietnam: worsening economic trend

มูลค่าการส่งออก เดือน ต.ค. 62 หดตัวที่ร้อยละ -0.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ขณะที่มูลค่าการนำเข้าชะลอตัวที่ร้อยละ 3.5 ส่งผลให้ขาดดุลการค้าที่ 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ผลผลิตอุตสาหกรรม เดือน ต.ค. 62 ขยายตัวร้อยละ 9.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้า เนื่องจากผลผลิตอุตสาหกรรมในหมวดของแต่งบ้าน อัตราเงินเฟ้อ เดือน ต.ค. 62 อยู่ที่ร้อยละ 2.24 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้า ยอดค้าปลีก เดือน ต.ค. 62 ขยายตัวร้อยละ 11.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 11.86

Weekly Financial Indicators

ดัชนี SET ในสัปดาห์นี้โดยรวมปรับตัวลดลงจากสัปดาห์ก่อน สอดคล้องกับดัชนีตลาดหลักทรัพย์ในต่างประเทศ เช่น JCI (อินโดนีเซีย) เป็นต้น ทั้งนี้ ดัชนี SET ณ วันที่ 31 ต.ค. 62 ปิดที่ระดับ 1,601.49 จุด ด้วยมูลค่าซื้อขายเฉลี่ยระหว่างวันที่ 28 - 31 ต.ค. 62 ที่ 59,568 ล้านบาทต่อวัน โดยนักลงทุนต่างชาติ นักลงทุนทั่วไปในประเทศ และนักลงทุนบัญชีบริษัทหลักทรัพย์ เป็นผู้ขายสุทธิ ขณะที่นักลงทุนสถาบันในประเทศเป็นผู้ซื้อสุทธิ สำหรับในสัปดาห์หน้ายังคงต้องติดตามผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินในวันที่ 6 พ.ย. 62 ว่าจะมีการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายหรือไม่ ทั้งนี้ ระหว่างวันที่ 28 - 31 ต.ค. 62 นักลงทุนต่างชาติขายหลักทรัพย์สุทธิ -5,520 ล้านบาท

อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลทุกช่วงอายุ ปรับเพิ่มขึ้น 0-4 bps จากสัปดาห์ก่อน โดยในสัปดาห์นี้ไม่มีการประมูลตั๋วเงินคลังหรือพันธบัตรรัฐบาล ทั้งนี้ระหว่างวันที่ 28 - 31 ต.ค. 62 มีกระแสเงินทุนของนักลงทุนต่างชาติไหลเข้าตลาดพันธบัตรสุทธิ 1,713 ล้านบาท

เงินบาทแข็งค่าขึ้นจากสัปดาห์ก่อน โดย ณ วันที่ 31 ต.ค. 62 เงินบาทปิดที่ 30.18 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าขึ้นร้อยละ 0.33 จากสัปดาห์ก่อนหน้า สอดคล้องกับเงินสกุลหลักอื่น ๆ อาทิ เงิน เยน ยูโร ริงกิต วอน ดอลลาร์สิงคโปร์ และหยวน ทั้งนี้ เงินบาทแข็งค่าขึ้นมากกว่าเงินสกุลหลักอื่น ๆ หลายสกุล ส่งผลให้ดัชนีค่าเงินบาท (NEER) แข็งค่าขึ้นร้อยละ 0.12

ที่มา: สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ